จ้างเขียนโจมตีบิ๊กตู่ 'ดอน'แฉสื่อนอกรับงานขวางนายกฯไทยนั่งประธานอาเซียน


เพิ่มเพื่อน    

    คสช.เคาะทำไพรมารีโหวต 2 ทาง ให้ทำระดับภาคกับใช้วิธีการอื่น แต่ไม่ยกเลิก มอบ "วิษณุ" หารือ กกต.ชุดใหม่เลือกแนวทางเดียว "บิ๊กตู่" โยนสื่อถาม "มาร์ค" คสช.เกี่ยวอะไรกับก๊กการเมือง วอนให้มองด้วยความเป็นธรรม ปราม "สุเทพ" เดินสายต้องขออนุญาต คสช.ปัดล้มผู้ตรวจการเลือกตั้ง อ้างให้ กกต.ใหม่-เก่าร่วมคัดสรรให้เหมาะสม "มีชัย" ข้องใจ สนช.ไปยุ่งทำไม ชี้ช่อง กกต.ใหม่แก้ไขได้ ด้านเลขาฯ กกต.ยันทำตาม กม.ยกเลิกไม่ได้ "ดอน" แฉจ้างสื่ออินโดฯ เขียนสกัด "ประยุทธ์" นั่ง ปธ.อาเซียน
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 7 สิงหาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงเช้าวันเดียวกันว่า ได้เสนอแนวทางการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เกี่ยวกับประเด็นการจัดทำไพรมารีโหวตต่อที่ประชุม คสช. 2 แนวทาง คือ 1.การทำจัดทำไพรมารีโหวตระดับภาค และ 2.ใช้วิธีการอื่นๆ ในการรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกพรรคการเมืองในการคัดเลือกผู้สมัครตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ร่างไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่ง คสช.เห็นชอบทั้ง 2 แนวทางดังกล่าว เพราะไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแน่นอน โดยมอบหมายให้ตนไปหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ เพื่อตัดสินใจเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง
    นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนอีก 2 แนวทางที่เคยพูดถึงก่อนหน้านี้ คือ 1.ไม่ต้องมีการทำไพรมารีโหวตเลย กับ 2.ยกเลิกการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก โดยให้ไปทำในการเลือกตั้งครั้งต่อไปแทนนั้น คสช.ให้ตัดออกไป เพราะเสี่ยงจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร เนื่องจากไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกเลย อย่างไรก็ตาม หลังจากเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป จะต้องกลับไปทำไพรมารีโหวตแบบเดิม เว้นแต่สภาที่มาจากการเลือกตั้งทำการแก้ไข
     นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทยอยส่งข้อมูลร่างดังกล่าวที่ได้จัดทำใน 4 แนวทางตามที่นายวิษณุมอบหมายไว้ไปให้นายวิษณุพิจารณา ซึ่งกำลังหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอยู่ ส่วนที่จะส่งให้ คสช.พิจารณานั้น เป็นเรื่องที่นายวิษณุเป็นผู้ดำเนินการ
    มีรายงานว่า ในที่ประชุม คสช.ได้มีการหารือถึงการยกเลิกข้อบัญญัติบางประการในคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งเรื่องของการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จะต้องมีการคลายล็อกในบางเรื่อง อาทิ การจัดทำไพรมารีโหวต การประชุมใหญ่พรรคการเมืองเก่า และยังได้ประเมินสถานการณ์การเมืองก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง
    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงผลการประชุม คสช. เป็นการดำเนินการในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการปลดล็อกอะไรต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการหารือกันก่อน เพื่อไปสู่แนวทางมาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการ
    ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เตรียมจัดคาราวานเดินสายปราศรัยทั่วประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า บอกไปแล้วว่าในช่วงนี้ทุกคนต้องขออนุญาตขึ้นมาว่าจะทำอะไร ส่วนจะได้รับอนุมัติหรือไม่ เป็นเรื่องของ คสช.จะพิจารณา โดยจะมองในประเด็นความสงบสุข สันติสุข ถ้าทุกคนไปไหนมาไหนก็ได้ หรือมีอภิสิทธิ์นั้นตามปกติไม่ได้ จะเห็นว่ารัฐบาลวันนี้ผ่อนผันไปเยอะแล้ว มันก็ไม่ใช่กลุ่มนั้นกลุ่มนี้อย่างเดียว ทุกกลุ่มก็เคลื่อนไหวกันหมด แต่เราไม่ต้องการสร้างผลกระทบกับการจราจร หรือสร้างความวุ่นวาย เพราะวันนี้ยังไม่ได้ผ่อนผันเรื่องการเลือกตั้งการหาเสียงเลย อันนั้นคงต้องรอกฎหมายเลือกตั้งลงมาก่อน คสช.จึงจะคลายล็อกต่างๆ ให้สามารถดำเนินการได้ทุกอย่าง ขอให้รอซักนิด
คสช.ไม่เกี่ยวก๊กการเมือง
    “ในส่วนของการทำงานทางการเมือง อย่างที่บอกไปแล้ว ใครจะพูดอะไรก็พูดไป แต่อย่าบิดเบือนก็แล้วกัน ทั้งนี้ต้องดูกติกาของ คสช.ด้วย การเดินสายต่างๆ เหล่านี้ คสช.ดูอยู่แล้วไม่ต้องห่วง ถ้ามีอะไรที่ไม่ดีขึ้นมา ไม่ใช่เอื้อประโยชน์กับใครหรอก”
    เมื่อถามว่า จะหยุดตอบโต้เรื่องการเมืองไปนานแค่ไหน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่พูดนี้ไม่มีการเมืองหรือ  ทำไมจะปวดท้องหรือ การเมืองจะถามอะไรลองยกตัวอย่างมา เมื่อถามว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผิดปกติหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มีมั้ง ถ้ามีคงพูดแล้วแหละ ไม่มีหรอก ก็อย่าไปบอกว่าเข้าข้างโน้นข้างนี้ ไม่มี ตอนนี้ดูในภาพรวมอยู่ การเดินสายของพรรคการเมืองต้องขออนุญาต ต้องดูด้วยว่าเขาเดินไปอย่างไร เขาเดินถนนไปหรือเปล่า ถ้าเขาไปพูดจาในที่รโหฐาน ที่ต่างๆ ก็ว่าไป ก็อย่าไปให้ความสำคัญตรงนี้
    “ให้สื่อไปถามนายอภิสิทธิ์ ไม่เกี่ยวอะไรกับ คสช. ผมเป็นหัวหน้า คสช. ผมยังไม่ได้เกี่ยวอะไรกับใครสักคน แต่จะมองอะไรก็มองได้ ขอให้มองด้วยความเป็นธรรมหน่อย มองอดีต ปัจจุบัน อนาคต การเมืองไทยจะไปอย่างไร และการเลือกตั้งจะได้รัฐบาลมาอย่างไร หรือได้ส.ส.มาอย่างไร ประชาชนเข้าใจการเลือกตั้งดีพอหรือยัง ไม่ใช่รณรงค์การเลือกตั้ง อยากเลือกตั้งแล้วได้อะไรกลับมา วันหน้าใครรับผิดชอบ ก็โทษ คสช.อีกใช่ไหม” หัวหน้า คสช.กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า คสช.เป็น 1 ใน 3 ก๊กการเมืองไทย 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า มองการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ไม่เอา ไม่เอา ขี้เกียจฟัง เพื่อไทย ประชาธิปัตย์” เมื่อถามว่าแล้วสนใจพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ไม่สนใจทุกพรรค”
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการประชุม คสช.มีการพูดถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองจะกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้งหรือไม่ว่า ก็ไม่เห็นมีอะไร เลิกพูดเรื่องนี้ได้แล้ว   ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทยเตรียมเคลื่อนไหวในลักษณะคาราวานเพื่อหาสมาชิกพรรค จะสามารถทำได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า อะไรที่ผิดจากที่ตกลงกันไว้ก็ผิด ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบที่ คสช.วางไว้
    ขณะที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ระบุ รปช.รอรับขันหมากได้ตั้งรัฐบาลผสมแน่นอนว่า นายสุเทพเคยบอกว่าจะไม่เล่นการเมือง พอกลับมาเล่นก็บอกว่าตระบัดสัตย์เพื่อชาติ ครั้งนี้บอกว่าจะไม่รับตำแหน่งในพรรค ไม่ลงสมัคร ส.ส. แต่เป็นเจ้าของพรรคเองเลยหรือไม่ อุปมาเหมือนกับนายสุเทพบอกว่าจะไม่เดินบนถนนสายการเมือง แต่ครั้งนี้วิ่งบนถนนเลยหรือไม่ การเป็นเจ้าของพรรคเสียเอง เข้าข่ายเล่นการเมืองยิ่งกว่าการลงสมัคร ส.ส.หรือไม่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ว่าที่หัวหน้าพรรค รปช. ยอมรับแล้วว่าพรรค รปช.เป็นพรรคของ กปปส. การบอกว่ารอขันหมากมาสู่ขอไปเป็นรัฐบาล ถือว่าเป็นการไม่เคารพประชาชนหรือไม่ เพราะการจะเป็นรัฐบาลหรือไม่ได้เป็นต้องฟังเสียงประชาชน และเมื่อถึงวันเลือกตั้ง เสียงของประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบเองว่าพรรคใดจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 7 ส.ค. กลุ่มสามมิตรภายใต้การนำของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร ได้พบปะกับกลุ่มผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และอดีตผู้สมัครส.ส.สระบุรี อาทิ นายเสน่ห์ เลาหะพานิช อดีตรองนายกอบจ.สระบุรีและอดีตผู้สมัคร ส.ส.สระบุรี พรรคภูมิใจไทย, นายชนัตถ์ นันทปัญญา อดีตรองนายกเทศมนตรีเมืองพระพุทธบาทและอดีตผู้สมัคร ส.ส.สระบุรี พรรคภูมิใจไทย และ จ.ส.ต.พิชิต ประมูลศิลป์ อดีตผู้สมัครส.ส.สระบุรี พรรคมัชฌิมาธิปไตย ทั้งนี้ กลุ่มผู้นำท้องถิ่นสระบุรีได้สะท้อนปัญหาของประชาชนใน จ.สระบุรี เนื่องจากที่ผ่านมานายสมศักดิ์ได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มชาวนาและผู้ปลูกยาสูบ โดยนำสิ่งที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนความเห็นเสนอไปยังรัฐบาลผ่านช่องทางต่างๆ  จนได้รับการแก้ปัญหาจากรัฐบาล 
กลุ่มสระบุรีซบสามมิตร
    "อีกทั้งกลุ่มผู้นำท้องถิ่นสระบุรียังชื่นชอบในนโยบายของกลุ่มสามมิตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการช่วยพี่น้องเกษตรกรกลุ่มต่างๆ หรือการสร้างความปรองดองของคนในชาติอีกด้วย ดังนั้น กลุ่มผู้นำท้องถิ่นสระบุรีจึงได้หารือกัน และยินดีที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มสามมิตร รวมทั้งในอนาคตอาจจะพัฒนาไปเป็นผู้สมัคร ส.ส.สระบุรีของพรรคการเมืองที่กลุ่มสามมิตรจะไปสังกัดด้วย" นายธนกรกล่าว 
    สำหรับกรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อล้มการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้น  พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นการแก้กฎหมายเพื่อล้มล้างอย่างที่สื่อถามมา เป็นเรื่องของการที่จะทำอย่างไรให้ กกต.ใหม่และ กกต.ชุดเก่าได้ร่วมมือคัดสรรผู้ตรวจการเลือกตั้งเหล่านี้ให้เกิดความเหมาะสม ตนยังไม่ได้มองว่าจะไปล้มอะไรตรงไหนเลย และไม่เคยไปแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระทั้งสิ้น เป็นเรื่องการพิจารณาร่วมกัน วันนี้ต้องให้เกียรติกับ กกต.ใหม่ด้วย เพราะต้องเป็นคนทำงานต่อไป กกต.เก่าก็ต้องส่งมอบหน้าที่ ฉะนั้นต้องให้สองคณะนี้มีการพูดคุยหารือกันว่าจะทำอย่างไร
    ผู้สื่อข่าวถามถึงการใช้มาตรา 44 เพื่อเปิดทางให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งก่อน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "มันใช่หน้าที่ที่ไหนล่ะ
     ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นมือไม้ของ กกต.ในการทำงานในรูปแบบที่ไม่ได้เป็นคณะกรรมการเพื่อให้การทำงานเกิดความรวดเร็ว ส่วนตัวยังไม่ทราบถึงแนวทางที่สมาชิก สนช.ได้เสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่รู้ว่าทำไม สนช.ถึงไปยุ่ง เพราะนี่มันมือไม้ของ กกต. คงเป็นความคิดของ สนช.ที่จะมีการเสนอ ส่วนที่วิจารณ์การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้มีเหตุผลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งอาจไม่ถูกสเปกนั้น ก็เป็นเรื่องนานาจิตตัง เวลาที่ สนช.ตั้งคณะกรรมการหรือคณะกรรมาธิการ ก็ไม่ได้แปลว่าคนข้างนอกจะพอใจ อะไรที่เป็นอำนาจของคนอื่นก็ต้องฟังคนอื่น
    "ต้องควบคู่กันไป ใครที่ถูกตั้งมาแล้วก็เป็นอำนาจของ กกต. แต่ กกต.ชุดใหม่ก็มีสิทธิจะดำเนินการเช่นกัน เพราะเท่าที่ดูประกาศของ กกต.ทำให้ไม่แน่ใจว่า กกต.ได้ดำเนินการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งแล้วหรือไม่ เพราะในตอนท้ายของประกาศดังกล่าวระบุว่า ประกาศมาเพื่อทราบเสนอความคิดเห็น และจะได้แต่งตั้งต่อไป ซึ่งดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้ตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ดังนั้นหากยังไม่ได้ตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง เท่ากับว่า กกต.ชุดใหม่สามารถเข้ามาพิจารณาได้ และคิดว่าน่าจะแก้ไข หากพบว่ามีบุคคลที่ไม่เหมาะสม" นายมีชัยกล่าวถึงหลักการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ควรให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดปัจจุบันหรือชุดใหม่
     นายมีชัยกล่าวด้วยว่า เมื่อมีการดำเนินการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ กกต.แล้ว โดยปกติควรสอบถามความคิดเห็น กกต. เพราะขนาด กรธ.ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังต้องฟัง กกต.เป็นหลัก แต่หาก สนช.จะเสนอร่างกฎหมายแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ย่อมทำได้ เพราะเป็นอำนาจทางนิติบัญญัติ
กกต.ยันไม่ล้มผู้ตรวจ
    ส่วนนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิก สนช. ในฐานะผู้รวบรวมรายชื่อ สนช.เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.เกี่ยวกับที่มาของผู้ตรวจการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยว่า ไม่เป็นไร  เพราะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ใครที่ถูกใจก็ชม ไม่ถูกใจก็ด่า แต่ยืนยันว่าทำตามหน้าที่ท้วงติงในสิ่งที่เห็นว่าไม่รัดกุม การให้ กกต.ไปออกระเบียบคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งเอง มีโอกาสถูกการเมืองครอบงำได้ในอนาคต จึงควรระบุที่มาของการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งให้ชัดเจนลงไปกฎหมายลูกโดยตรงจะเหมาะสมกว่า โดยมารยาทแล้วควรให้ กกต.ชุดใหม่เป็นผู้คัดเลือกทั้งหมด ชุดเก่าจะไปลุกลี้ลุกลนเลือกทำไม ทั้งที่ชุดใหม่ได้รับความเห็นชอบ เตรียมจะเข้ามาทำงานแล้ว เหตุใดไม่ให้ กกต.ชุดใหม่เป็นผู้เลือก เหมือนเอาหัวมาจากที่หนึ่ง เอาตัวมาจากอีกที่ แล้วมาสวมจะเกิดเอกภาพในการทำงานหรือไม่ คนที่ชุดเก่าเลือกเข้ามา จะเกรงใจชุดใหม่หรือไม่ 
         "ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการเซตซีโรผู้ตรวจการเลือกตั้ง 616 คนที่ กกต.ชุดปัจจุบันเห็นชอบมาทั้งหมด แต่ใครที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ยังมีสิทธิกลับมาใหม่ได้ ถ้ามีคุณสมบัติเข้าข่าย โดยควรให้ กกต.ชุดใหม่คัดเลือก ส่วนที่ กรธ.ระบุเป็นการแก้ไขกฎหมายลูกแบบเข้ารกเข้าพงนั้น ไม่ขอตอบโต้ แต่ยืนยันท้วงติงเพื่อให้เกิดความรอบคอบ ส่วนที่ กกต.ยืนยันจะไม่ทบทวนรายชื่อ 616 คนที่เห็นชอบไปแล้ว แม้ กกต.ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำผิดมารยาท เหมือนคนเป็นอธิบดีจะเกษียณอายุในสิ้นเดือน ก.ย. แต่รีบแต่งตั้งข้าราชการในเดือน ส.ค. ถามว่าเหมาะสมหรือไม่" นายมหรรณพกล่าว 
    ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ออกมาแล้ว เราก็ต้องดำเนินการตามระเบียบ แต่ถ้าหากกฎหมายเปลี่ยนไป เราก็ค่อยมาพิจารณาอีกที เพราะ กกต.เป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ผู้ออกกฎหมาย ซึ่งได้ดำเนินการคัดสรรผู้ตรวจการเลือกตั้งออกมาแล้ว และได้ปิดประกาศไว้ที่จังหวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนช่วยตรวจสอบในเรื่องคุณสมบัติ หากประชาชนมีข้อมูล ก็ขอให้ยื่นคำร้องเข้ามา เราก็จะพิจารณาประกอบ ซึ่งคาดว่าต้นเดือน ก.ย.จะประกาศผลได้ หลังจากนั้นจะต้องมีการอบรมผู้ตรวจการเลือกตั้ง แล้วก็มีการประเมิน ถ้าประเมินไม่ผ่านก็จะคัดออก ส่วนการเลือกตั้ง ส.ว.ที่จะเกิดขึ้น คงจะต้องใช้ผู้ตรวจการเลือกตั้งชุดนี้ดำเนินการเลย เนื่องจากเมื่อดู พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ สนช.นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา หากนับไป 90 วัน คือประมาณวันที่ 15 ก.ย. พ.ร.บ.ส.ว.จะมีผลบังคับใช้ ดังนั้นกระบวนการต่างๆ ต้องเริ่มแล้วเพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งส.ว.
จ้างสื่อเขียนด่านายกฯ
    เมื่อถามว่า เหมาะสมหรือไม่ที่จะมาแก้ไขกฎหมายในตอนนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า พ.ร.ป.กกต.ก็ออกโดยสนช. ขณะที่ตัวแก้ไขก็ขอแก้โดย สนช. ดังนั้น สนช.คงจะดูอย่างรอบคอบแล้วว่าควรจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่การจะให้ยกเลิกผู้ตรวจการเลือกตั้งไปก่อนนั้น เท่าที่ดูจากระเบียบแล้ว คงจะไม่ได้ และผู้ตรวจการเลือกตั้งถือเป็นเครื่องมือของ กกต. ถ้าไม่มีแล้วเกิดการทุจริตหรือฮั้วกันในการเลือกตั้ง ส.ว. ก็อาจจะกลายเป็นจุดบกพร่องของการทำงานได้
    นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการทำหนังสือขอส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศอังกฤษว่า ขณะนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ส่วนที่มีข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางไปฮ่องกงแล้วนั้น ตนยังไม่ได้อ่านรายงานจากเจ้าหน้าที่อย่างละเอียด ส่วนจะทำหนังสือไปเหมือนกับอังกฤษหรือไม่ ต้องรอให้มันชัดเจนก่อน ไม่เช่นนั้นหากมีข่าวว่าเดินทางไปไหน เราต้องทำหนังสือหมด ตามขั้นตอนต้องยื่นไปยังประเทศที่มีที่อยู่แน่นอน ไม่ใช่ไปชั่วคราว ยืนยันหน่วยงานที่ตามอยู่ได้มีการปรึกษาหารือกันตลอด
     เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้กังวลกับการทำหนังสือขอส่งตัว นายดอนกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับประเทศอังกฤษ แต่เราจะไม่คาดการณ์ล่วงหน้าว่าอังกฤษจะทำอย่างไรหลังจากเรามีหนังสือไป กระบวนการต่างๆ ของไทยผ่านกระบวนการยุติธรรม และทุกประเทศยึดถือ มันชัดเจนยิ่งกว่าเรื่องการเมือง หรือหลักการที่นำมาอ้างกัน
    ส่วนกรณีคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ แสดงความคิดเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานอาเซียน เพราะมาจากเผด็จการนั้น รมว.การต่างประเทศกล่าวว่า เรื่องนี้จากที่ตนไปร่วมประชุม รมว.ต่างประเทศอาเซียนที่ประเทศสิงคโปร์มา ไม่มีใครพูดเรื่องนี้เลย เวลาประชุมทวิภาคีก็ไม่มีใครถาม จึงไม่ควรทำให้เป็นเรื่องใหญ่ในเรื่องที่ต่างชาติเขาไม่สนใจ ในทางตรงกันข้าม เขารอคอยวันที่เราเป็นประธานอาเซียน อยากให้เราทำนู่นทำนี่ ความเป็นจริงเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับข่าวที่ปรากฏ
    “ข่าวที่ปรากฏไม่ทราบว่าใครวานใครมา ใครจ้างใครมาเขียน หรืออะไร ขณะนี้กำลังตรวจสอบอยู่ เพราะช่วงนี้มันมีกระแสประเภทนี้อยู่ มีรายงานกลับมาว่า คนที่เขียนไม่ใช่เจ้าของนามปากกาที่ปรากฏ แต่เป็นอีกคนที่ไปขอใช้ชื่อ อะไรทำนองนี้ ขอใช้ ไม่ใช่แอบอ้างใช้ นี่เป็นรายงานที่เราได้รับมา คงต้องตรวจสอบเพิ่มเติม” นายดอนกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"