การเมืองเรื่อง 'หิมะถล่ม'


เพิ่มเพื่อน    

    พรรคการเมืองหนึ่งบอกว่าเลือกตั้งครั้งใหม่นี้จะได้ชัยชนะท่วมท้น ไม่ใช่เพียงแค่ landslide แต่จะเป็นแบบ avalanche (อ่านว่า อะวาแลนช์)
    คำแรกแปลว่า "แผ่นดินถล่ม" คำหลังคือ "หิมะถล่ม"
    มีคนถามผมว่ามีความต่างกันอย่างไร? และการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีปรากฏการณ์ "ถล่มทลาย"  อย่างนี้จริงหรือ?
    ผมตอบคำถามหลังก่อน บอกว่าผมไม่ทราบว่าเลือกตั้งคราวหน้าพรรคไหนจะชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดขนาดไหน แต่ที่รู้แน่ๆ คือมีปัจจัยใหม่ๆ หลายประการที่ต้องพิจารณาก่อนที่จะประเมินว่าผลเลือกตั้งจะออกมาในแนวทางไหน
    เพราะปัจจัยใหม่ๆ นี่แหละจะมีอะไรแปลกๆ ให้เราเห็น และบางเรื่องบางราวอาจเป็นสิ่งใหม่ที่เราไม่เคยพบไม่เคยเห็นมาก่อนเลย
    ใครที่ยังใช้วิธีการวิเคราะห์หรือประเมินแบบเก่าอาจจะต้องทำใจเอาไว้ว่า คำทำนายทายทักวันนี้อาจผิดเต็มประตูเลยก็ได้
    เช่นที่ใครคิดว่าสามารถ "ดูด" อดีต ส.ส.จากพรรคอื่นแล้วเท่ากับเพิ่มโอกาสที่พรรคตัวเองจะได้ที่นั่งเพิ่มตามสถิติเก่าๆ นั้นอาจกำลังประเมินสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงพอสมควร
    เพราะไม่มีอะไรรับรองว่าคนที่เคยได้รับเลือกตั้งครั้งก่อนๆ จะรักษาเก้าอี้ในเขตเดิมได้แน่นอน 
    อีกทั้งไม่มีใครยืนยันได้ว่าผู้ใช้สิทธิ์จะใช้ข้อพิจารณาเดิมในการเลือกผู้ที่จะเข้าไปเป็นตัวแทนของเขา
    เพราะปัจจัยใหม่หลายเรื่องที่อาจพลิกผันสถานการณ์และภาพการเมืองไทยในปีหน้าได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจได้
    ต้องไม่ลืมว่าไทยไม่มีการเลือกตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี อะไรต่อมิอะไรได้เปลี่ยนแปรไปทั้งในระดับที่มองเห็นด้วยตาเปล่าและที่อยู่ใต้ผิวน้ำ ไม่ปรากฏเด่นชัด แต่อาจมีพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงที่หลายคนคาดไม่ถึง
    ปัจจัยของคนไทยที่มีโอกาสใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งแรก 7-8 ล้านคนก็ไม่ควรจะถูกมองข้าม หากจะประเมินว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นไปตามครรลองเก่าหรือไม่
    หลายคนคัดค้านเงื่อนไขหลายข้อในรัฐธรรมนูญใหม่ แต่หากเดินหน้าตามกฏกติกาที่เห็นกันอยู่ขณะนี้ การกาบัตรและผลการนับคะแนนอาจทำให้การคาดการณ์ผลการเลือกตั้งในเขตต่างๆ แตกต่างไปจากวิธีการประเมินแบบเดิมๆ
    กติกาว่าด้วยการ "เลือกตั้งเบื้องต้น" หรือ primary vote ที่กลายเป็นวิธีการกลั่นกรองตัวแทนของพรรคการเมืองที่จะเสนอให้ประชาชนเลือกแบบใหม่เอี่ยมอ่อง จะมีผลต่อการเลือกตั้งมากน้อยเพียงใดยังเป็นคำถามใหญ่
    ประกอบกับวิธีนับคะแนนจากการกาบัตรเลือกตั้งครั้งนี้ กับการคำนวณคะแนนเพื่อกำหนดจำนวน ส.ส.ในบัญชีรายชื่อหรือ party list จะทำให้การคาดคะเนว่าพรรคไหนจะได้ที่นั่งเท่าไหร่เป็นเรื่องที่ต้องใคร่ครวญกันใหม่กันเลยทีเดียว
    อีกทั้งต้องไม่ลืมว่านี่จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่มีการใช้ social media ในการหาเสียงและนำเสนอนโยบายต่อประชาชนอย่างกว้างขวางกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา 
    ต้องไม่ลืมวิเคราะห์อิทธิพลของโซเชียลมีเดียต่อการเลือกตั้งในประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงในเพื่อนบ้านของเราที่ผ่านมา
    การใช้โซเชียลมีเดียสามารถเจาะไชเข้าไปถึงแต่ละกลุ่มบุคคลในสังคมอย่างกว้างขวาง และอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกับการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้อย่างเกินความคาดหมายได้
    ต้องไม่ลืมว่าเมื่อมีการใช้สื่อสังคมในทุกรูปแบบแล้ว วิธีการสร้างข่าวปลอม ปล่อยข่าวเท็จหรือที่เรียกว่า fake news เพื่อทำให้เกิดกระแสโอนเอียงไปยังผู้สมัครใด พรรคไหนทั้งทางบวกและทางลบ จะเป็นประเด็นร้อนแรงที่ทั้งสังคมต้องจับตาและตรวจสอบอย่างรอบด้าน
    หากมีการใช้ Big Data เพื่อวิเคราะห์แบบ Analytics เพื่อผลักดันให้ผลการเลือกตั้งไปทางใดทางหนึ่งอย่างไม่ชอบมาพากล มีคำถามว่าผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นกรรมการการเลือกตั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น จะมีความพร้อมในการตั้งรับนวัตกรรมของการกำหนดทิศทางการตัดสินใจของประชาชนที่ทั้งน่าสนใจและน่ากังวลมากน้อยเพียงใด
    หากการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้เป็นการแข่งขันกันในด้านตัวบุคคลว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป การแข่งขันจะดุเดือดไปทางหนึ่ง
    แต่หากประเด็นสำหรับการตัดสินใจของประชาชนอยู่ที่นโยบายที่พรรคการเมืองนำเสนอ ทั้งพรรคใหม่และเก่า ทั้งเล็กและใหญ่ การแข่งขันจะอยู่ที่ "ประชานิยม" แบบเก่ากับ "รัฐสวัสดิการ" แบบใหม่ที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
    หรือหากการแข่งขันอันแหลมคมเกี่ยวโยงกับทั้งตัวบุคคลและนโยบายในสังคมยุคใหม่ ก็เชื่อได้ว่าจะเป็นการประลองกำลังกันในทุกรูปแบบ
    และในสมรภูมิเลือกตั้งครั้งนี้จะมีเรื่อง "เกินความคาดหมาย" ได้มากมายหลายด้านหากสมการเปลี่ยนแปรไป เช่น
    ถ้าชนชั้นกลางเบื่อหน่ายการเมืองแบบเก่าๆ ต้องการการเมืองคุณภาพ
    ถ้าคนรุ่นใหม่ตัดสินใจรวมตัวกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการฉีกแนวการลงคะแนนเสียง
    ถ้าเกิดกระแสไม่เอาทหาร
    ถ้าเกิดกระแสไม่เอานักการเมืองน้ำเน่า
    ถ้าเกิดกระแสความไม่พอใจสั่งสมถึงจุด "กาบัตรพลิกแผ่นดิน"
    หากเป็นเช่นนั้นคำว่า Avalanche หรือ "หิมะถล่ม" แทนเพียง Landslide หรือ "แผ่นดินถล่ม" ก็อาจจะกลายเป็นความจริงได้
    แต่ที่สำคัญคือ "หิมะจะถล่มฝั่งไหน" เท่านั้นเอง!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"