เทรนด์ของการดำเนินธุรกิจก็จะมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุค ตามสมัย ตามความต้องการของผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งตามกระแสของโลกให้เกิดการยอมรับ เกิดชื่อเสียง เกิดยอดขายที่ดีขึ้น แต่เรื่องที่เป็นกระแสอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใด ก็ต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ผู้บริโภคจะมอง และยังเป็นการแสดงถึงภาพลักษณ์องค์กรที่ดีอีกด้วย
ผลิตภัณฑ์อย่างเดียวกัน หากเป็นสมัยก่อนคนก็จะเลือกจากการความชอบ ความคุ้นเคย หรือราคา แต่ปัจจุบันหากผลิตภัณฑ์นั้นถูกเคลมว่าเป็นสินค้าที่รักษ์โลกแล้วด้วย ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เรียกความสนใจจากผู้บริโภคได้ ไม่ใช่แค่กลุ่มธุรกิจที่ผลิตสินค้า แต่ยังรวมถึงกลุ่มบริการอีกด้วย
จึงไม่แปลกที่หลายๆ บริษัทพยายามทำให้ภาพลักษณ์องค์กรของตัวเองออกมาเป็นรูปแบบรักสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยคำว่า รักษ์โลก ออกมาเสนออยู่อย่างไม่ขาดสาย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีหากการดำเนินธุรกิจในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นที่เคยมองว่าเป็นการเบียดเบียนทรัพยากรของธรรมชาติ สร้างความเสียหายให้กับโลก กลับมาดำเนินงานอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
และในช่วงนี้เองเทรนด์รักษ์โลกก็เกิดการกระพือขึ้นอีกครั้ง แต่เป็นคำใหม่ที่ถูกบัญญัติขึ้นมาว่า เป็นการดำเนินธุรกิจให้มุ่งสู่ ”เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือเซอร์คูลาร์อีโคโนมี” (Circular Economy) ซึ่งก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อมนั่นเอง โดยตั้งอยู่บน 3 หลักการ ได้แก่ 1.การรักษาและเสริมทุนด้านธรรมชาติ ผ่านการจัดการ ควบคุมทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด โดยเริ่มจากการสร้างประโยชน์หรือคุณค่าของทรัพยากรในทุกโอกาสที่สามารถทำได้ การจัดการระบบหมุนเวียนของทรัพยากรจะนำไปสู่การเลือกการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด ผ่านการดำเนินการโดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ
หลักการที่ 2.การใช้ประโยชน์ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการหมุนเวียนผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ และวัตถุต่างๆ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งทั้งนี้จะนำไปสู่การออกแบบการแปรรูปทรัพยากรหลังจากที่ทรัพยากรผ่านการใช้งาน การซ่อมแซม และการนำมาใช้อีกครั้ง เพื่อคงการหมุนเวียนของส่วนประกอบและวัตถุต่างๆ ภายในเศรษฐกิจ 3.การรักษาประสิทธิภาพของระบบ ผ่านการออกแบบเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบ จากผลิตภัณฑ์ หลักการดังกล่าวครอบคลุม ทั้ง การลดผลกระทบด้านลบต่างๆ การจัดการผลกระทบด้านลบต่างๆ ที่มาจากการใช้ทรัพยากร
เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงถูกยกขึ้นมาเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจยุคนี้ รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจที่จะมองไปยังอนาคตด้วย ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรให้เข้ากับแนวคิดดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการรับรู้ การยอมรับของสังคม ซึ่งเอกชนในประเทศไทยเองก็มีการหยิบยกสิ่งนี้ขึ้นมา และประกาศตัวเองเป็นองค์กรที่จะดำเนินงานตามแนวคิดข้างต้น
อย่างเช่นล่าสุด บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี เปิดตัวว่าจะดำเนินงานของบริษัท โดยยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรของโลกในปัจจุบัน โดยมีการขับเคลื่อนผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1.การลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต เช่น กระดาษลูกฟูก ที่ใช้วัตถุดิบลดลง 25% แต่คงความแข็งแรงเท่าเดิม 2.การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิมด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลง หรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น และ 3.การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ จะช่วยให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมที่สามารถใช้ทรัพยากรได้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้องค์กรลดต้นทุนจากการใช้ทรัพยากรและมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และยังส่งผลดีให้กับผู้บริโภคอย่างเราเองด้วย เพราะจะเป็นการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ลบภาพที่เคยเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมจะทำลายสิ่งแวดล้อมไปได้เลย.
ณัฐวัฒน์ หาญกล้า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |