ภาพที่ชาวไทยเห็นชินตา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเยี่ยมพสกนิกรทุกหนแห่งของประเทศ ครั้งหนึ่งพระองค์เสด็จฯ เยือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่กันเป็นส่วนใหญ่ ทรงเล็งเห็นว่าชาวบ้านมีฝีมือด้านหัตถกรรม จึงมีพระราชดำริส่งเสริมอาชีพให้แก่ชาวบ้านเพื่อได้มีรายได้เพิ่มเติมจากการทำเกษตรที่อาจเสียหายจากภัยธรรมชาติ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการกำเนิดมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หนุนงานหัตถกรรมไทยให้พัฒนาจนปัจจุบัน
เพื่อเผยแพร่งานฝีมือด้านจิตรกรรมและหัตถกรรมให้เป็นที่รู้จัก ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดงานนิทรรศการ “ความหลากหลายทางจิตรกรรม ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 12 สิงหาคม เพื่อสืบสานพระราชปณิธานที่ทรงอนุรักษ์งานฝีมือของไทยและเผยแพร่ผลงานชิ้นเยี่ยมกว่า 1,000 ชิ้น ณ ไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ใน ร.9 เป็นประธานเปิดงาน
พล.อ.เธียรศักดิ์ พะลายานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ กล่าวว่า นิทรรศการจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ของศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ ที่มีการสืบทอดสกุลช่างและพัฒนางานถึงปัจจุบัน เป็นผลงานของครูและนักเรียนศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ คนไทยจะเห็นถึงความงดงาม และตระหนักถึงการอนุรักษ์ศิลปะประจำชาติ ภายในงานจัดแสดงผลงานของแผนกต่างๆ ในศูนย์ศิลปาชีพฯ อาทิ แผนกช่างวาดภาพสีน้ำมันแสดงพระสาทิสลักษณ์สีน้ำมัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โดยอาจารย์สมาน คลังจัตุรัส แผนกช่างจิตรกรรมประยุกต์ แสดงผลงานจานกลมทะเลอันดามันที่ทำจากกระเบื้อง 2 มิติ มีภาพท้องทะเลทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ส่วนแผนกช่างเครื่องเคลือบดินเผานำประติมากรรมสื่อผสมยุ้งข้าวมาให้ชม แล้วยังมีภาพลายไทย ล้วนเป็นสุดยอดผลงานระดับประเทศ นอกจากนี้ มีการจำหน่ายผลงานเพื่อจัดหารายได้สมทบทุนการฝึกอบรมศิลปาชีพแก่บุตรหลานเกษตรกรผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการทั่วประเทศอีกด้วย
ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ, พล.อ.เธียรศักดิ์ พะลายานนท์ และวิเวก อรุณรัตน์
อาจารย์สุธีร์ สัตตบุษย์ อาจารย์หัวหน้าแผนกช่างเขียนภาพลายไทย กล่าวว่า ลายไทยลายรดน้ำเป็นศิลปะที่มีเสน่ห์และใช้จินตนาการของผู้วาดในการถ่ายทอดเรื่องราวลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ไทย การลงเส้น การลงสีด้วยการปิดทองเป็นเทคนิคดั้งเดิม มีบ้างใช้วัสดุอุปกรณ์สมัยใหม่ หรือนำเอาเรื่องราวในสังคมปัจจุบันมาประยุกต์เพื่อให้ภาพน่าสนใจมากขึ้น ผู้ทำหน้าที่สืบสานน้อยลง ตนเกษียณแล้ว แต่ยังทำหน้าที่ให้ความรู้ที่ศูนย์ศิลปาชีพฯ ดังพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ใน ร.9 ให้อนุรักษ์และถ่ายทอดศิลปะเหล่านี้แก่ลูกหลานไทย เพื่อนำไปต่อยอดเป็นอาชีพ ทำให้ตนมีกำลังใจและมีแรงสอนจนกว่าจะหมดลมหายใจ
เกตุวลี นภาศัพท์ และพาสินี ลิ่มอติบูลย์ กรรมการ บ.สยามพารากอน
เกศริน บางทราย ผู้ช่วยครูในแผนกช่างเครื่องเคลือบดินเผา เล่าว่า อดีตพ่อแม่ของตนมีอาชีพก่อสร้าง รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้ฝึกงานในศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ เลือกเรียนรู้การทำเครื่องเคลือบดินเผาและทำเป็นอาชีพ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ศิลปาชีพฯ ไม่ได้ให้แค่อาชีพและความรู้ แต่ให้อิสระในการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานหรือผลิตภัณฑ์
“เครื่องเคลือบดินเผามีหลายขนาดและพัฒนาลวดลายจากใบไม้วางทับเป็นแบบพิมพ์ ปัจจุบันมีลายลูกไม้จากผ้าได้รับความนิยม ผลงานแต่ละชิ้นมีจุดเด่น สร้างงาน สร้างรายได้ รวมถึงชาวบ้านอีกมากมายคุณภาพชีวิตดีขึ้น โชคดีที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบารมีของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใย ไม่เคยทอดทิ้งคนยากจน” เกศรินเล่าด้วยความสุข
ร่วมดื่มด่ำจิตรกรรมและหัตถกรรมชั้นเยี่ยมของประเทศได้ในนิทรรศการ "ความหลากหลายทางจิตรกรรม ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ" ตั้งแต่วันนี้-12 ส.ค.ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ภายในงานมีการสาธิตเขียนลายผ้าบาติก การทำเครื่องเคลือบเซรามิกและวาดลวดลายบนกระเบื้องให้ได้ชม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |