ปลอดบุหรี่ในชุมชน เลิกสูบก็เจอสุข5วิถี


เพิ่มเพื่อน    

            องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันงดสูบบุหรี่โลก” โดยในปี 2561 ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ว่า "บุหรี่ตัวร้าย ทำลายหัวใจ (Tobacco Break Heart)" ด้วยเหตุนี้ โต้โผสำคัญในเมืองไทยอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อทำให้เด็ก เยาวชน สังคม โดยเฉพาะคนในระดับชุมชนลด ละ เลิกการเสพควันมรณะ ป้องกันโรคร้ายต่างๆ มากมาย   

            เมื่อเร็วๆ นี้ สสส.ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อออกแบบการรณรงค์และขับเคลื่อนกิจกรรม “เลิกสูบ ก็เจอสุข : 5 วิถี ปลอดบุหรี่โดยชุมชนท้องถิ่น” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลยุทธ์การรณรงค์ “เลิกสูบ ก็เจอสุข” ทบทวนปัญหาและออกแบบกิจกรรมการรณรงค์การควบคุมยาสูบในพื้นที่เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และพัฒนากลไกการรณรงค์ในระดับพื้นที่

            ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก 1) กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุราของประชากร ครั้งที่ 18 ปี 2560 พบว่าคนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดและลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 20.7 ในปี 2557 เหลือร้อยละ 19.9 ในปี 2558 และลดลงมาเหลือร้อยละ 19.1 ในปี 2560 โดยผู้ชายลดลงมากกว่าผู้หญิง คือผู้ชายลดลงจากร้อยละ 40.5 ในปี 2557 เหลือร้อยละ 39.3 ในปี 2558 และเหลือร้อยละ 37.7 ในปี 2560 สำหรับผู้หญิงลดลงจากร้อยละ 2.2 ในปี 2557 เหลือร้อยละ 1.8 ในปี 2558 และเหลือร้อยละ 1.7 ในปี 2560

            ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการขับเคลื่อนโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 โดยใช้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชวนคนในพื้นที่มาลดบุหรี่ ซึ่ง อสม.มีกว่า 1 ล้านคน หาก อสม. 1 คน ชวนได้ 3 คน แล้วเลิกสำเร็จ 1 คน เท่ากับช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงได้กว่า 1 ล้านคน ซึ่งการเลิกบุหรี่โดยหักดิบจะเป็นวิธีที่เร็วที่สุดในการเลิกบุหรี่ในระยะเร่งด่วน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลการชักชวนให้เลิกบุหรี่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร

            นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาระยะยาวโดยการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ทำให้เยาวชนเห็นถึงพิษภัยและอันตรายของบุหรี่ ซึ่งพบว่าในปี 2560 อายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเริ่มขยับเพิ่มขึ้นจากอายุ 17.8 ปี ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 18 ปี ในปี 2560

            “เป้าหมายการลดอัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยที่รับมาจากองค์การอนามัยโลกคือ ภายในปี 2568 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า จะต้องลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงให้เหลือประมาณ 9 ล้านคน หรือลดลงให้ได้อีก 1 ล้านคนภายใน 7 ปี เฉลี่ยแล้วต้องลดคนสูบบุหรี่ให้ได้ 2.5 แสนคนทุกปี จึงจะประสบความสำเร็จไปถึงเป้าหมายได้” ดร.นพ.บัณฑิตกล่าว

            นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า จากการดำเนินงานด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าชุมชนท้องถิ่นเป็นอีกหนึ่งกลไกในพื้นที่ที่สามารถสร้างนวัตกรรมและสร้างมาตรการทางสังคม เป็นอีกแนวทางจัดการปัญหาในพื้นที่ได้ ในปี 2561 จึงมุ่งเน้นไปที่การใช้กลไกในพื้นที่กำหนดมาตรการทางสังคม และการพัฒนาระบบการบริการ เพื่อการควบคุมการสูบบุหรี่ในพื้นที่ โดยใช้ 5 ปฏิบัติการสำคัญ คือ ข้อ 1 สร้างบุคคลต้นแบบ ข้อ 2 เพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ ข้อ 3 สร้างคลินิกเลิกบุหรี่ ข้อ 4 เพิ่มกติกาทางสังคม ข้อ 5 บังคับใช้กฎหมายผ่าน “3 กลยุทธ์” ประกอบด้วย สร้าง, เสริม และส่วนร่วม

            พร้อมใช้กลยุทธ์ ข้อ 1 สร้าง อาทิ สร้างนักรณรงค์ จิตอาสา ที่ทำหน้าที่ในการสร้างการรับรู้และสร้างความตระหนักถึงพิษภัยและผลกระทบจากการบริโภคยาสูบ ข้อ 2 เสริม อาทิ เสริมทักษะ เสริมความรู้ความเข้าใจถึงพิษภัย โทษของการบริโภคยาสูบ ให้กลุ่มนักสูบหน้าเดิมเข้าสู่กระบวนการลด ละ เลิก และป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น และยังเสริมทักษะให้แก่ทุนทางสังคมที่ทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการควบคุมการบริโภคยาสูบในพื้นที่ เช่น อสม. คนต้นแบบ แกนนำชุมชน เป็นต้น เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นนักรณรงค์และขับเคลื่อนในพื้นที่

            ข้อ 3 ส่วนร่วม เป็นปฏิบัติการของการรวมตัว ร่วมกัน เพื่อเสริมพลังซึ่งกันและกันในการขับเคลื่อนงาน อาทิ เครือข่ายผู้นำชุมชนไม่สูบบุหรี่ เครือข่าย อสม.ไร้ควัน เครือข่ายบ้านไร้ควัน กลุ่มเยาวชน รวมถึงร่วมกันกำหนดมาตรการควบคุมในพื้นที่ กำหนดจุดห้ามสูบ อาทิ มาตรการของกลุ่มในชุมชน มาตรการของหน่วยงานและองค์กร และมาตรการของชุมชน เช่น ห้ามสูบบุหรี่ในงานบุญ กำหนดเงื่อนไขการรับสมัครบุคลากร หรือสมาชิกกลุ่มทางสังคมที่สูบบุหรี่ เป็นต้น โดยการดำเนินการตามกลยุทธ์ทั้ง 3 สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการพัฒนาและนำข้อมูลไปใช้ในการดำเนินงาน ทั้งข้อมูลสถานการณ์, ข้อมูลประสบการณ์การทำงาน, ข้อมูลแนวโน้ม ความคาดหวัง และข้อมูลทุนทางสังคม

            นายมูฮัมหมัด สมะแอ รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบาโงสะโต อ.ระแงะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า การสร้างมาตรการทางสังคมในการควบคุมการบริโภคยาสูบ “มัสยิดลูโบ๊ะบาตู ต้นแบบปลอดบุหรี่ 100%” โดยชุมชนร่วมกันกำหนดให้เป็นข้อตกลงของชุมชน โดยมีกลุ่มทางสังคมที่มีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนร่วมกัน กำหนดมาตรการเพื่อลด ละ เลิกบุหรี่ มีผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรมในพื้นที่ โดยมีกติกาที่บังคับใช้ เช่น กำหนดเป็นวาระชุมชน ต้องคุตบะห์ (ปาฐกถาธรรมวันศุกร์) อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา คณะกรรมการมัสยิดที่ยังสูบบุหรี่ต้องเข้าคลินิกเลิกบุหรี่ 100% ห้ามสูบบุหรี่ต่อหน้าเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และขยายเครือข่ายชวนเลิกบุหรี่ เยาวชนต้นแบบ 1 คน ชวนเพื่อน 1 คน

            นอกจากนี้ยังมีการบำบัดและฟื้นฟู “ชีฟาอ์ โมเดล” ซึ่งเป็นนวัตกรรมรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพเพื่อเลิกบุหรี่ โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเจ๊ะเกได้คิดค้นนวัตกรรมเลิกบุหรี่ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เป็นไปตามครรลองของศาสนาอิสลาม และเป็นรูปแบบกิจกรรมที่พัฒนามาจากผลการวิจัยชุมชนประเด็นบุหรี่ในพื้นที่เป็นข้อมูลประกอบกัน กิจกรรมและกระบวนการของการแก้ปัญหาที่ได้ผลจริงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนที่สำคัญที่สุดคือ กลุ่มเป้าหมายจะมิใช่เพียงแค่สามารถเลิกบุหรี่ได้ แต่ในตัวกิจกรรมนั้น กลุ่มเป้าหมายจะสามารถยกระดับศรัทธาและศาสนาของตนเองให้ดีขึ้นควบคู่ไปด้วย

            เชื่อว่าพลังของผู้นำท้องถิ่น นอกจากสร้างความรู้ความเข้าใจโทษของบุหรี่ให้คนในชุมชนทราบแล้ว ยังมั่นใจว่าจะส่งพลังต่อไปให้เด็กและเยาวชนไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติดนี้อีกด้วย.

 

จับมือภาคีใต้ขจัดยาเสพติด

            นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวภายหลังการลงนามความร่วมมือการจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพจากสุรา ยาสูบ และยาเสพติดในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส. มอ.) ว่า ศอ.บต.ในฐานะเป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว การศึกษา สิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการและส่งเสริมสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการสูบบุหรี่และการเสพยาเสพติดในกลุ่มเยาวชนและแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน เพื่อให้ได้รับการแก้ไขร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

            ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพและบทบาทของส่วนท้องถิ่นให้เกิดระบบกลไกการดูแลสุขภาพ ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งของ สสส. ซึ่งเชื่อว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนนั้นจำเป็นต้องสร้างกลไกเชิงสังคม นโยบาย สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เพื่อลดการบริโภคยาสูบและควันบุหรี่มือสอง ปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้ตกเป็นนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งการที่ท้องถิ่นเข้าใจงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ มีกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงประชาชนได้ โดยสถานการณ์การบริโภคยาสูบและดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนในปัจจุบัน ยังพบว่าประชากรที่อยู่นอกเขตเทศบาลมีการบริโภคยาสูบและดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่าในเขตเทศบาล จึงจำเป็นต้องสนับสนุนกลไกด้วยการพัฒนาศักยภาพกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น และกลไกอาสาสมัครเพื่อการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพจากสุรา ยาสูบ และยาเสพติด ให้เกิดภาคีเครือข่ายนักสร้างสุขภาวะที่จะช่วยกันลดพฤติกรรมเสี่ยงประชาชนอย่างมีคุณภาพ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"