จากพื้นที่ไร้ประโยชน์ เต็มไปด้วยกองขยะที่มีมลพิษและอันตราย แต่ด้วยการรวมพลังของคนในชุมชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ จนบัดนี้ได้เปลี่ยนพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่สุขภาวะให้เด็ก เยาวชน และคนทั่วไปเข้าไปใช้ประโชน์ได้อย่างสร้างสรรค์
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้ หลังมหาวิทยาลัยสยาม ได้มีงานแถลงข่าวเปิด “สวนพื้นที่สุขภาวะ และห้องสมุดกำแพง” โดยเป็นความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรุงเทพมหานคร (กทม.), ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.), มหาวิทยาลัยสยาม และภาคีเครือข่าย ร่วมกันพัฒนาพื้นที่รกร้าง กองขยะขนาดใหญ่ ให้กลายเป็นสวนพื้นที่สุขภาวะสำหรับคนในชุมชนพื้นที่สุขภาวะหลังมหาวิทยาลัยสยาม รุ่งฟ้า 36
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส.มียุทธศาสตร์ส่งเสริมการจัดการให้เกิดพื้นที่สุขภาวะหรือปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน และยังต้องครอบคลุมสุขภาวะในมิติอื่นๆ ทั้งมิติด้านจิตใจ สังคมและปัญญา โดยผลการดำเนินงานของ สสส.ในปีที่ผ่านมาเกิดพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ 9 รูปแบบการจัดการ เช่น พื้นที่สุขภาวะในเขตประกอบการอุตสาหกรรม พื้นที่สุขภาวะระดับย่านเมือง และระดับชุมชน เป็นต้น และมี 2 รูปแบบที่สามารถพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ได้ คือ ศูนย์การเรียนรู้ส่งเสริมกิจกรรมทางกายผู้สูงอายุ และลานกีฬาพัฒน์ 1 ชุมชนเคหะคลองจั่น ทั้งนี้ สวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้หลังมหาวิทยาลัยสยาม ถือเป็นพื้นที่สุขภาวะต้นแบบชุมชนที่มีความยืดหยุ่น เป็นพื้นที่สุขภาวะชุมชนในเขต กทม.ที่ส่งเสริมสุขภาวะทุกมิติ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ 7 รูปแบบ ได้แก่ ด้านกายภาพ การมองเห็น การพูด การเข้าสังคม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การใช้ตรรกะ และการฟัง
“สวนพื้นที่สุขภาวะหลังมหาวิทยาลัยสยามมีการปรับพื้นที่และสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย รวมทั้งยังมีมุมห้องสมุดกำแพงแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีข้อมูลสุขภาพบนกำแพงและมีหนังสือจริงให้คนในชุมชนได้ยืมไปอ่าน ผมขอขอบคุณความร่วมมือจาก กทม., ศวพช. และมหาวิทยาลัย ที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือจากคนชุมชนและหน่วยงานทุกภาคส่วน นำไปสู่การจัดการข้อจำกัดเชิงพื้นที่ โดยคาดหวังว่ารูปแบบนี้จะถูกขยายผลไปสู่พื้นที่เขตอื่นของ กทม. เพื่อการเปลี่ยนแปลงสร้างสุขภาวะที่ดีของคนเมืองกรุงต่อไป” ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว
นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงบทบาทความร่วมมือของ กทม.ต่อการพัฒนาสวนแห่งนี้ว่า กทม.ได้ประกาศนโยบายเปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมให้เป็น “พื้นที่ชุมชนสามัคคี สร้างสุขภาวะดีเพื่อชีวิต” 1 เขต 1 ชุมชน มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ชาวชุมชน เป็นศูนย์กลางพบปะสังสรรค์ ออกกำลังกาย และจัดกิจกรรมเพื่อส่วนรวม ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความปลอดภัย สร้างความสัมพันธ์และความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยรูปแบบนี้จะให้ทุกเขตนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของชุมชนนั้นๆ สำหรับสวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้หลังมหาวิทยาลัยสยามเป็นตัวอย่างพื้นที่พัฒนามาจากพื้นที่รกร้าง จนกลายเป็นสวนพื้นที่สุขภาวะที่มีความสมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน ส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือของคนในชุมชน ตั้งแต่ขั้นตอนการร่วมคิด ร่วมทำ จนไปถึงร่วมใช้ประโยชน์ กทม.พร้อมที่จะเป็นกลไกในการหนุนเสริมและขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่สุขภาวะ เกิดพื้นที่สีเขียว พื้นที่เพื่อกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกาย และกิจกรรมทางสังคมของชุมชนต่อไป
ขณะที่ ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสยามได้ร่วมทำงานพัฒนาพื้นที่สุขภาวะร่วมกับเขตภาษีเจริญ และชุมชนรอบข้างมาโดยตลอด ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเริ่มจากการพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้เกิดขึ้นรอบๆ มหาวิทยาลัย ส่งเสริมชุมชนให้เห็นความสำคัญของคำว่าพื้นที่สุขภาวะที่ชุมชนได้ประโยชน์ หากชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาให้พื้นที่สุขภาวะเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ เพราะมหาวิทยาลัยสยามเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในเขตภาษีเจริญ จึงเหมือนเป็นความรับผิดชอบในฐานะสถานศึกษาในพื้นที่นั่นเอง
สำหรับสวนพื้นที่สุขภาวะแห่งการเรียนรู้หลังมหาวิทยาลัยสยาม เกิดจากแนวคิดที่อยากกลับมาพัฒนาพื้นที่หลังบ้านของเราเองให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นแหล่งเรียนรู้ นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชน จึงเริ่มจากการพูดคุยกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กทม., สำนักงานเขตภาษีเจริญ และ สสส. โดยหน้าที่ของมหาวิทยาลัยสยามคือเป็นส่วนเชื่อมประสานระหว่างชุมชนกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง
“ทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้เป็นนโยบายที่นักศึกษาจะต้องร่วมเรียนรู้การเข้าถึงและรับผิดชอบสังคมและชุมชน โดยจะเน้นให้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้เป็นห้องทดลองเสมือนจริง (Living LAB) สำหรับให้นักศึกษาทุกคณะได้ฝึกปฏิบัติเรียนรู้ทุกสาขาวิชาจากชุมชน ด้วยมุ่งหวังในการสร้างนักศึกษาที่มิใช่เรียนรู้วิชาในห้องเรียน แต่ต้องเรียนรู้ศาสตร์จากสังคม จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตในปัจจุบันได้ด้วยความรู้สึกจิตสำนึกที่ต้องเกื้อกูลสังคม และคาดว่าจะขยายต่อไปในพื้นที่อื่นๆ ของ กทม.” อธิการบดี ม.สยาม กล่าว
ด้านนายสัณห์ฉัตร ศรีอรุณสว่าง เจ้าของบ้านกำแพงติดกับสวนพื้นที่สุขภาวะ กล่าวว่า ถ้าย้อนหลังไปเมื่อสมัยตนเป็นเด็ก พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม สวนผลไม้ และเมื่อความเป็นเมืองเข้ามา สวนก็หายไป กลายเป็นกองขยะขนาดใหญ่ตั้งอยู่ข้างบ้านตน ช่วงแรกที่ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนมีแนวคิดจะเริ่มเข้ามาฟื้นฟูพื้นที่ให้กลายเป็นสวนสาธารณะไม่มีใครคิดว่าเป็นไปได้ เนื่องจากกองขยะใหญ่มากสูงเท่ากำแพง รวมถึงข้อจำกัดของคนในชุมชนที่มาจากหลากหลายอาชีพ การรวมตัวจึงน่าจะเป็นไปได้ยาก แต่เมื่อกระบวนการประชาคมเริ่มขึ้น กลายเป็นว่าได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนอย่างจริงจัง ทุกคนพร้อมใจสนับสนุนความร่วมมือ ทั้งลงเงิน ลงแรง ลงส่วนที่แบ่งปันได้ จนในที่สุดก็เกิดเป็นสวนพื้นที่สุขภาวะและห้องสมุดกำแพง พื้นที่สีเขียว พื้นที่สุขภาพ และความภาคภูมิใจของคนในชุมชน
ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย จึงเกิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบ ที่เปลี่ยนพื้นที่ไร้ค่ากลายเป็นพื้นที่สุขภาวะเพื่อประโยชน์ในชุมชน.
เปิดตัว"คู่มือโรงเรียนรักเดิน"
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เปิดเผยว่า สสส.เปิดตัวคู่มือโรงเรียนรักเดิน เพื่อนำเสนอแนวทางและเทคนิคในการออกแบบและส่งเสริมการเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน เปิดกว้างให้แต่ละโรงเรียนนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสม หรือเสริมในกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยให้การเพิ่มกิจกรรมทางกายในโรงเรียนเป็นเรื่องสนุกและส่งเสริมสุขภาพ มีงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ยืนยันตรงกันว่าเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง มีความคล่องตัว มีความกระฉับกระเฉง อารมณ์แจ่มใส สมองของเด็กจะมีความตื่นตัวในทุกมิติ ส่งผลกับการเรียนรู้การจดจำได้ดี นอกจากนี้ การส่งเสริมให้เด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกายผ่านการเล่น หรือการทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ มีส่วนช่วยกระตุ้นการส่งสัญญาณประสาทหรือคลื่น ไฟฟ้าในสมองที่เชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทเพิ่มขึ้น
คู่มือโรงเรียนรักเดิน พัฒนามากจากการทำโครงการโรงเรียนเดินสะสมก้าว เมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับโรงเรียนนำร่อง 16 แห่ง เพื่อใช้เป็นงานต้นแบบส่งเสริมให้เด็กช่วงวัยมัธยมต้นและมัธยมปลายเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น รวมทั้งปลูกฝังให้เห็นประโยชน์ของการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นโครงการได้มีการทดสอบสมรรถภาพทางกายของเด็กนักเรียนที่เข้าร่วม ปรากฏว่าเด็กที่ร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ มีสมรรถภาพทางกายที่ดีขึ้น กระตุ้น ให้เด็กเกิดการเคลื่อนไหวทางกาย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เกิดทัศนคติที่ดีต่อการทำกิจกรรมทางกาย
"จากผลสำรวจการมีกิจกรรมทางกายระดับประเทศ โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และ สสส. พบว่า ในปี 2557 กลุ่มวัยเด็กมีกิจกรรมทางกายลดลง จากร้อยละ 67.6 ในปี 2555 เหลือร้อยละ 63.2 โดยเฉพาะกลุ่มเด็กในเขตเมือง มีภาวะเฉื่อยและเนือยนิ่งสูงถึง 13.5 ชั่วโมงต่อวัน สาเหตุหลักมาจากการใช้เวลาส่วนใหญ่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมกับเวลานั่งเรียนทั้งในเวลาปกติและเรียนพิเศษนอกเวลา ทำให้คาดการณ์ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีเด็กไทยถึง 1 ใน 5 ที่อยู่ในภาวะอ้วน และมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมไปถึงผลกระทบต่อการพัฒนาการเรียนรู้" ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม กล่าว
กิจกรรมโรงเรียนรักเดิน เป็นการรณรงค์ให้เยาวชนมีความเข้าใจและเกิดทัศนคติที่ดีต่อการเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะพัฒนาไปสู่การสร้างสุขภาพที่ดีสอดคล้องกับนโยบายของ สสส. ที่ต้องการให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นเพื่อสุขภาพที่ดี ทั้งนี้ ผู้สนใจรับคู่มือดังกล่าวและข้อมูลในโครงการโรงเรียนรักเดินได้ที่ช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ @ โรงเรียนรักเดิน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |