36สนช.ล้มผู้ตรวจเลือกตั้ง กรธ.ขวางอัดเข้ารกเข้าพง


เพิ่มเพื่อน    

    36 สนช.ลุยแก้ พ.ร.ป.กกต.ล้มกระดานผู้ตรวจการเลือกตั้ง เขียนกติกาสรรหาใหม่ อ้างหวั่นการเมืองครอบงำ "วิษณุ" ปัดใบสั่งรัฐบาล ชี้ กกต.ชุดใหม่โละได้ไม่จำเป็นต้องแก้ กม. "บุญส่ง" แจงรีบตั้งให้สอดรับ กม.ลูก ส.ว. ยันทำตามกติกาป้องละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กรธ.เอือม สนช.เข้ารกเข้าพง
    เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากสมาชิก สนช.จำนวนหนึ่งว่ามีความประสงค์เสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับประเด็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่าการกำหนดให้กกต.สามารถออกระเบียบเพื่อเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งได้นั้นอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอน จึงคิดว่าควรบัญญัติไว้ในกฎหมายเพื่อให้เกิดความแน่นอน เพราะเมื่อ กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แล้วอาจจะมีการแก้ไขระเบียบอีก
    ทั้งนี้ได้แจ้งแก่สมาชิก สนช.ไปว่ากระบวนการของการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากต้องดำเนินกระบวนการใน 2 ขั้นตอนที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.การรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 และ 2.การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาแล้ว อย่างไรก็ตาม การเสนอแก้ไขกฎหมาย กกต.ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับตัวบุคคลเป็นหลัก แต่อยู่บนเหตุผลทางกฎหมาย ซึ่งตนเองยังไม่ได้เห็นรายละเอียดของการแก้ไขกฎหมาย
      ด้านนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิก สนช. ในฐานะผู้รวบรวมรายชื่อ สนช.เสนอแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.กล่าวว่า สาระสำคัญของการเสนอแก้ไขร่างดังกล่าวคือ การเพิ่มมาตรา 28/1 กำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง มาทำหน้าที่คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง  แทนการให้ กกต.ไปออกระเบียบคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งเหมือนใน พ.ร.ป.กกต.ฉบับปัจจุบัน เนื่องจาก สนช.หลายคนห่วงว่าการให้ กกต.ไปออกระเบียบการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง อาจมีความหละหลวมไม่รอบคอบรัดกุมเพียงพอ เพราะระเบียบ กกต.สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัยของ กกต.แต่ละชุดที่เข้ามาทำหน้าที่ อาจเป็นช่องว่างให้การได้มาซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งถูกครอบงำจากฝ่ายการเมืองได้ในอนาคต 
    ทั้งนี้ จึงควรกำหนดที่มาของผู้ตรวจการเลือกตั้งให้ชัดเจนว่า มาจากคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยระบุลงใน พ.ร.ป.กกต.โดยตรง ทั้งนี้โครงสร้างของคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งมี 7 คน ดังนี้ 1.ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน 2.หัวหน้าผู้พิพากษาจังหวัด 3.หัวหน้าสำนักงานอัยการจังหวัด 4.ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด 5.ประธานหอการค้าจังหวัด 6.ประธานอุตสาหกรรมจังหวัด และ 7.ผู้อำนวยการ กกต.จังหวัด โดยให้ทำหน้าที่คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งอย่างน้อย 16 คนต่อจังหวัด เพื่อส่งต่อให้ กกต.คัดเลือกให้เหลือ 8 คนต่อจังหวัด  
    "หากให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีที่มาจากระเบียบ กกต.อาจเกิดความไม่เป็นเอกภาพในการทำงาน  เพราะ กกต.ชุดเก่าเป็นผู้คัดเลือก แต่ กกต.ชุดใหม่เป็นผู้เข้ามาปฏิบัติงาน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหัวแล้ว ควรเปลี่ยนลำตัวแขนขาด้วย ไม่ใช่เอาหัวมาสวมอย่างเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ได้รับการคัดเลือกจาก กกต.ชุดปัจจุบันไม่ดี แต่ต้องการให้ที่มาของผู้ตรวจการเลือกตั้งมีความชัดเจนรัดกุม ไม่มีเจตนาต้องการล้มผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ได้รับการคัดเลือกจาก กกต.ชุดปัจจุบัน ผู้ผ่านการคัดเลือกจาก กกต.ชุดปัจจุบันก็มีสิทธิ์กลับมาดำรงตำแหน่งได้ หากผ่านเงื่อนไขตามกฎหมาย กกต.ที่เสนอแก้ไขใหม่" นายมหรรณพระบุ
      อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลหรือ กกต.เห็นว่ามีทางออกอื่นที่ดีกว่าก็ยอมรับ ไม่ได้ดันทุรังต้องเอาให้ได้ แค่เป็นห่วงว่าระเบียบเดิมที่ทำไปอาจเกิดปัญหาในอนาคต เป็นการทำด้วยความหวังดี ไม่ได้มีใบสั่งจากใครให้แก้ไข ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอขอแก้ไขอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ยังไม่รู้จะผ่านความเห็นชอบจาก สนช.หรือไม่
ฉะ กกต.ไร้มารยาท
    นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช.กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งใน สนช.ที่ร่วมลงชื่อขอแก้ไขร่างพ.ร.ป.กกต. โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า กกต.ชุดปัจจุบันรีบร้อนตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่รอ กกต.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ คล้ายกับกรณีโยกย้ายข้าราชการภายใต้รัฐมนตรีคนที่จะหมดวาระ  ขณะที่รัฐมนตรีคนใหม่ที่จะเข้ามาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตรรกะที่เกิดขึ้นจึงเห็นด้วยว่าการกระทำของ กกต.ชุดปัจจุบันน่าเกลียด เมื่อพูดถึงมารยาทแล้วไม่ควรทำ จึงลงนามรับรอง ซึ่งสิ่งที่ สนช.ทำไม่ใช่การแทรกแซงอำนาจของ กกต.ชุดปัจจุบัน แต่อย่างน้อยควรดึงไว้หน่อย  
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเสนอแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว สนช.เข้าชื่อเสนอขอแก้ไขทั้งหมด 36 คน  เป็น สนช.สายพลเรือนทั้งหมด ไม่มีสายทหารร่วมลงชื่อ เพื่อให้เห็นว่าไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ โดยมีนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ เป็นแกนนำรวบรวมรายชื่อ และมี สนช.อาทิ  นายกล้านรงค์ จันทิก, นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ร่วมลงชื่อด้วย เพราะเห็นว่ากระบวนการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.กกต.ฉบับปัจจุบันยังไม่มีความรัดกุม โดยแนวทางแก้ไขจะไปเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาล ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งชุดเก่าที่ กกต.ชุดปัจจุบันสรรหาไว้แล้วให้พ้นสภาพไป และให้มีการดำเนินการสรรหาใหม่ตามกระบวนการที่นายมหรรณพนำเสนอในรอบนี้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลเห็นสอดคล้องด้วย ส่วนหนึ่งเนื่องจากรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ กกต.ชุดปัจจุบันเห็นชอบในขณะนี้ ส่วนใหญ่ถูกมองว่าอิงกับฝ่ายการเมืองบางขั้วมากเกินไป
    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ได้มีการนำร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ฉบับที่ สนช.จำนวน 36 คนเข้าชื่อเสนอมาลงในเว็บไซต์ www.senate.go.th เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 โดยมีกำหนดรับฟังความคิดเห็นเป็นเวลา 15 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.-18 ส.ค. ปรากฏว่าผลสำรวจความเห็นของประชาชนล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.-6 ส.ค. รวม 4 วัน มีผู้เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นเกือบ 1,200 ครั้ง ผลปรากฏว่ามีผู้เห็นด้วยกับการแก้ไขร่างดังกล่าวเกือบ 100% ใน 6 คำถามที่มีการตั้งประเด็นให้ตอบ โดยมีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยเพียงไม่กี่เสียงเท่านั้น
    ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวได้ทดลองร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พบว่าการเข้าไปตอบแบบสอบถามนั้นไม่จำเป็นต้องกรอกชื่อ นามสกุล เลขที่บัตรประชาชน เพื่อยืนยันความมีตัวตน โดยจะเข้าไปตอบแบบสอบถามร่วมแสดงความคิดเห็นกี่ครั้งก็ได้ ไม่มีการจำกัดใดๆ
    นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.)  เปิดเผยว่า เรื่องนี้คงจะมีการคุยกันในวิป สนช.วันที่ 7 ส.ค.นี้ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยแก้ไขกฎหมาย แล้วออกบทเฉพาะกาลให้มีผลย้อนหลังล้มผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีการเลือกไปก่อนหน้านี้อาจมีปัญหาได้ เพราะผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือถ้าจะให้ กกต.ทบทวนการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่คงเป็นเรื่องยาก อีกทั้งต้องถามความเห็นทั้งจากรัฐบาลและผู้ปฏิบัติคือ กกต.ด้วยจึงต้องใช้เวลา 
    พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช.กล่าวว่า เห็นว่าควรมีการพูดคุยรับฟังเหตุผลจาก กกต.ก่อน และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไขกฎหมายเพราะต้องผ่านความเห็นจาก กกต.ด้วย ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการ สนช. ดังนั้นหาก กกต.ไม่เห็นด้วยร่างแก้ไขกฎหมายก็อาจตกได้
    นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ไม่ได้กำหนดว่าต้องแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งเมื่อใด แต่ต้องให้มีก่อนมีการประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งตามกฎหมายแล้ว กกต.ชุดปัจจุบันไม่ผิด แต่จะเหมาะสมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนที่พิลึกพิลั่นอยู่ที่ท้ายประกาศของ กกต.ที่ระบุไว้ หากใครพบว่ารายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งใดมีปัญหา ให้ยื่นเรื่องคัดค้านที่สำนักงาน กกต. หากทำแบบนี้เท่ากับว่าถ้าผู้ตรวจการเลือกตั้งคนใดมีปัญหา กกต.ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร 
    ส่วนการอ้างแก้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.เพื่อให้กำหนดการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่ เพราะหลายรายมีความสัมพันธ์กับพนักงานในสำนักงาน กกต.และ กกต.ชุดปัจจุบันนั้น ต้องถามว่าหากแก้พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.แล้วสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่ อะไรจะเป็นหลักประกันว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งจะไม่มีความเกี่ยวพันกับ กกต.ชุดใหม่หรือ สนช.ชุดนี้ หากเป็นแบบนี้แล้วจะทำอย่างไร ซึ่งข้อเสนอแก้พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.เพื่อโละผู้ตรวจการเลือกตั้ง ถือว่าเข้ารกเข้าพงกันหมดแล้ว ถ้าผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ได้รับเลือกมา ไม่ขาดคุณสมบัติ แล้วจะไปหาเหตุอะไรมายกเลิกเขา ปัญหาดังกล่าวมีทางออก ไม่น่าถึงขั้นเสนอแก้ไขกฎหมาย
วิษณุปัดใบสั่งรัฐบาล
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามระเบียบ กกต.สามารถสรรหาผู้สมัครได้ ส่วนที่มี สนช.บางส่วนเสนอแก้ไขก็สามารถทำได้ แต่ต้องทำให้ถูกขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเข้าใจว่าคงไม่ได้แก้เรื่องคุณสมบัติ อาจเป็นการแก้ไขเรื่องวิธีการได้มา โดยยืนยันไม่มีใบสั่งอะไรจากรัฐบาล เพราะถ้าจะมีใบสั่ง สั่งห้ามคัดเลือกตั้งแต่แรกแล้วไม่ดีกว่าหรือ   
    ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าชื่อที่ได้มาอาจไม่ถูกใจรัฐบาลนั้น นายวิษณุกล่าวว่ายังไม่เห็น ใครเป็นใครยังไม่รู้ และจากนี้ กกต.ยังต้องส่งชื่อไปให้จังหวัดพิจารณา หากจังหวัดคัดค้านว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียต้องเอาออก ดังนั้นกระบวนการยังไม่แล้วเสร็จ การที่ กกต.ต้องเดินหน้าคัดเลือกเพราะกระบวนการยาว  หากยังไม่เสร็จ กกต.ชุดใหม่เข้ามาจะเดินหน้าต่อหรือล้มเพื่อสรรหาใหม่ก็ได้ ไม่เกี่ยวกับการแก้กฎหมาย หากจะแก้กฎหมายคือต้องแก้เรื่องอื่น ถ้าหวังผลแค่ระงับตรงนี้มีช่องทางอื่นที่ทำได้ 
    ขณะที่นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการ กกต.ชี้แจงว่า กระบวนการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้นได้เตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนเดือน เม.ย.61 แล้ว เนื่องจากคาดว่า กกต.ชุดใหม่จะเข้ามาพิจารณาภายในช่วงดังกล่าว แต่ว่าที่ กกต.ชุดนั้นกลับไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ดังนั้นเราจะต้องพิจารณาว่าระยะเวลาที่จะต้องแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ทั้งการคัดเลือก การแต่งตั้ง การประชาพิจารณ์จากประชาชนในพื้นที่ การอบรมความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมทั้งประกาศระเบียบที่เกี่ยวข้องหลายสิบฉบับเพื่อให้มีความรู้เรื่องกฎหมาย เพราะการทำงานผู้ตรวจการการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่เสี่ยง มีโอกาสผิดพลาดจนถูกดำเนินคดีเยอะพอสมควร ซึ่งการที่ กกต.คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งครั้งนี้คาดว่าจะสามารถปฏิบัติงานได้ภายในเดือน ก.ย. ซึ่งจะเป็นช่วงจังหวะที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มาของ ส.ว.มีผลบังคับใช้
    "ไม่ใช่ว่า กกต.ชุดปัจจุบันรีบแต่งตั้ง แต่เป็นกระบวนการที่เราจะต้องรีบทำ หาก พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มาของ ส.ว.มีผลบังคับใช้ ผู้ตรวจการเลือกตั้งจะต้องทำงานทันที และหาก กกต.ชุดนี้ไม่ได้แต่งตั้งไว้ก็จะมีปัญหา จะโดนถล่มหนักเลยว่าทำไมไม่จัดการให้เรียบร้อย ทำไมละเลยขนาดนี้ บางทีอาจจะถูกกล่าวหาว่า กกต.ชุดปัจจุบันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลจริงๆ ไม่ได้เป็นการวางอำนาจอะไรเลย"  นายบุญส่งกล่าวและว่า อย่างไรก็ตามการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งผ่านจังหวัดมาแล้ว ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีอัยการจังหวัด ผู้บังคับการจังหวัด และบุคคลอื่นๆ อีก ซึ่งมีการกลั่นกรองมาเรียบร้อยแล้ว
    ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า สนช.ต้องการโละผู้ตรวจการเลือกตั้งที่คัดเลือกมาแล้วนั้น นายบุญส่งกล่าวว่าไม่ขอให้ความเห็น แต่ไม่ว่าจะสรรหาอย่างไรก็แล้วแต่ หากผู้สมัครผู้ตรวจการเลือกตั้งยังใช้คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามเหมือนเดิม จะได้คนทำงานที่ไม่แตกต่างกันเลย ทั้งนี้ กกต.คงไม่ชี้แจงเหตุผลในการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งในครั้งนี้ไปยัง สนช. และยืนยันว่าสิ่งที่ กกต.ชุดปัจจุบันทำไปนั้นทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ
    อย่างไรก็ตาม คิดว่าการเมืองเข้ามาแทรกแซงไม่ได้ เพราะหากผู้ตรวจการเลือกตั้งทำหน้าที่แล้วไม่เป็นกลาง ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต มีอคติ หรือมีคนมาร้องคัดค้าน กกต.สามารถปลดออกจากตำแหน่งได้ทันที และหาก กกต.ชุดใหม่เห็นว่ามีปัญหาตามที่ระเบียบกำหนด สามารถเปลี่ยนได้ตามที่ระเบียบกำหนดไว้ 
    เมื่อถามว่า กกต.จะทบทวนสิ่งที่ดำเนินการมาแล้วหรือไม่ นายบุญส่งกล่าวว่า ทบทวนได้ที่ไหน  หมดงบประมาณไปเยอะแล้ว ทำมาโดยชอบตามระเบียบตามกติกาทั้งหมด. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"