นายกฯลุย'เพชรบุรี'คุมนํ้าท่วม!


เพิ่มเพื่อน    

    "ศูนย์ ฉก.ชั่วคราวในภาวะวิกฤติ" ประกาศน้ำล้นสปิลเวย์เขื่อนแก่งกระจานแล้ว คาดถึงตัวเมืองเพชร-อ.บ้านแหลม เที่ยงคืน 7 ส.ค.นี้ เอ่อท่วมเขตชุมชนสูง 50 ซม. "บิ๊กฉัตร" สั่งเร่งระบายน้ำให้กระทบชาวบ้านน้อยที่สุด พร้อมเสริมคันกั้นน้ำและติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี "ประยุทธ์" เปลี่ยนคิวจากลพบุรีมาเพชรบุรี ดูสถานการณ์น้ำ 8 ส.ค.นี้ ฉุนสื่อเสนอข่าวน้ำท่วมขยายพื้นที่ทำ ปชช.ตื่นตระหนก "อุทยานฯ" ปิดท่องเที่ยวน้ำตกป่าละอู 
    เมื่อวันที่ 6 ส.ค. นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ออกประกาศฉบับที่ 2/2561 เรื่องสถานการณ์แม่น้ำเพชรบุรี ว่าเวลา 12.00 น. วันที่ 6 ส.ค. น้ำเริ่มไหลล้นทางระบายน้ำล้น (สปิลเวย์) เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และปริมาณน้ำดังกล่าวทยอยไหลลงแม่น้ำเพชรบุรี จากนั้นจะเคลื่อนตัวถึงเขื่อนเพชรและจะไหลผ่านตัวเมืองเพชรบุรีลงสู่อ่าวไทย ที่อำเภอบ้านแหลมตามลำดับ 
    ประกาศฉบับที่ 2 ระบุว่า จากผลการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประเมินว่าน้ำที่ไหลล้นจากเขื่อนแก่งกระจานจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่สองฝั่งริมแม่น้ำเพชรบุรีในวันนี้ เวลา 24.00 น. และจะเคลื่อนตัวถึงอำเภอเมืองเพชรบุรีและอำเภอบ้านแหลมในวันที่ 7 ส.ค.61 เวลา  24.00 น.เป็นต้นไป โดยระดับน้ำจะเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำและในเขตชุมชน สูงประมาณ 50  เซนติเมตร
    "ดังนั้นจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยกรมชลประทาน จังหวัดเพชรบุรี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมเผชิญเหตุและแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำเพชรบุรีเตรียมรับสถานการณ์ และเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำเพชรบุรีไหลเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ในระยะต่อไป" ท้ายประกาศฉบับที่ 2 ระบุ
    นอกจากนี้ ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติยังได้สรุปสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำว่า มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่งที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกิน 80% ของความจุ  ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนน้ำอูน เขื่อนวชิราลงกรณ
    สำหรับเขื่อนแก่งกระจาน ได้เร่งพร่องระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีและระบบชลประทาน รวมถึงการพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำ โดยกาลักน้ำ/เครื่องสูบน้ำ ส่งผลให้สามารถเลื่อนระยะเวลาน้ำล้นทางระบายน้ำล้น (Spillway) ออกไปอีก
    ส่วนเขื่อนน้ำอูนนั้น ได้ควบคุมการระบายน้ำออกจากเขื่อน 3.50 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มการระบายน้ำโดยวิธีกาลักน้ำและเครื่องสูบน้ำอีก 0.3 ล้าน ลบ.ม. และได้แจ้งเตือนและให้ติดตามสถานการณ์น้ำในสกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งมีลำน้ำอูนและลำน้ำสงคราม
    สำหรับเขื่อนวชิราลงกรณ สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำยังคงปกติ ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณรีสอร์ตที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย โดยได้ทยอยเพิ่มการระบายน้ำให้เป็น 43 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ภายในวันที่ 6 ส.ค.61 และแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ
    สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ พบว่าปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มี 49,445 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 70% ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมี 3,129  ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61% รับน้ำได้อีก 23,445 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำที่มีความจุเกิน 100% ขนาดใหญ่ 1 แห่ง อ่างเก็บน้ำน้ำอูน (102%) ขนาดกลาง 23 แห่ง (เพิ่มขึ้น 8 แห่ง) ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 22 แห่ง (เพิ่มขึ้น 7 แห่ง) และภาคตะวันออก 1 แห่ง (ลดลง 1 แห่ง)
    อ่างเก็บน้ำเฝ้าระวัง (มากกว่า 80-100%) ขนาดใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน (99%)  เขื่อนศรีนครินทร์ (87%) เขื่อนวชิราลงกรณ (84%) ขนาดกลาง 67 แห่ง (เพิ่มขึ้น 1 แห่ง) แยกเป็น  ภาคเหนือ 9 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 45 แห่ง (เพิ่มขึ้น 5 แห่ง)  ภาคตะวันออก 8 แห่ง (เพิ่มขึ้น  1 แห่ง)  ภาคกลาง 2 แห่ง (เท่าเดิม) และภาคใต้ 3 แห่ง (ลดลง 1 แห่ง) 
เร่งระบายน้ำจากเขื่อน
    ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พร้อมด้วยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ผอ.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.), นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน, นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์  รองอธิบดีกรมชลประทาน และรองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เดินทางลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ความจุน้ำ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร  ซึ่งขณะนี้มีน้ำเต็มเกือบ 100% แล้ว และมีน้ำล้นสปิลเวย์เมื่อเช้าวันนี้ (6 ส.ค.) เวลา 10.30 น. เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์การระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ดังกล่าว 
    จากนั้น พล.อ.ฉัตรชัยและคณะร่วมประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมของจังหวัดจากนางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งนายสมเกียรติและนายทองเปลวชี้แจงถึงเรื่องการบรรเทาสาธารณภัยให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น
    ต่อมาคณะของ พล.อ.ฉัตรชัยเดินทางไปยังสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน เพื่อติดตามการตรวจระดับน้ำของเขื่อน รวมทั้งขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสภาพพื้นที่โดยรอบของอ่างเก็บน้ำและแนวทางไหลของน้ำจากอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานไปยังแม่น้ำเพชรบุรี ผ่านพื้นที่ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด และลงเฮลิคอปเตอร์ที่มณฑลทหารบกที่ 15 (มทบ.15) ค่ายรามราชนิเวศน์ อ.เมืองเพชรบุรี และตรวจคันกั้นน้ำที่ริมแม่น้ำเพชรด้านทิศตะวันออกของ มทบ.15 
    พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนเซินติญและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่เทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน  กรมชลประทานได้คาดการณ์น้ำที่ไหลผ่านสปิลเวย์สูงสุดที่ 100 ลบ.ม./วินาที หรือ 8.64 ล้าน ลบ.ม./วัน  ในวันที่ 10 ส.ค.61 โดยมีระดับน้ำสูงขึ้นจากสันสปิลเวย์ประมาณ 0.5-0.6 ม. ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. 61 เป็นต้นไป คาดว่าจะมีน้ำจากการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานประมาณ 210 ลบ.ม./วินาที  และหากมีฝนตกในพื้นที่แม่น้ำเพชรบุรี จะมีปริมาณน้ำ 230-250 ลบ.ม./วินาที คาดว่าจะทำให้แม่น้ำเพชรบุรีมีปริมาณน้ำผ่านสูงสุดในวันที่ 12 ส.ค.61
    พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 230-250 ลบ.ม./วินาที ประกอบด้วย 1.หน่วงน้ำ ตัดน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้าย ฝั่งขวา รวม 55 ลบ.ม./วินาที และผันเข้าคลองระบาย D9 ในอัตรา 35 ลบ.ม./วินาที ทั้งสองส่วนตัดน้ำก่อนถึงเขื่อนเพชรได้ 90 ลบ.ม./วินาที 2.ระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรในอัตรา 140-160 ลบ.ม./วินาที ซึ่งแม่น้ำเพชรบุรีมีการพร่องน้ำเตรียมไว้แล้ว ประกอบกับการเสริมคันกั้นน้ำจะไหลผ่านหนองหญ้าปล้อง ท่ายาง บ้านลาด โดยไม่มีผลกระทบ และจะไหลผ่านเมืองเพชรบุรีซึ่งมีความกว้างของแม่น้ำเพชรบุรีไม่มาก ทำให้มีระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง/พื้นที่ชุมชน 0.2-0.3 ม.     
    "มาตรการเตรียมการช่วยเหลือคือ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมชุมชน จำนวน 30 เครื่อง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีเพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่ระบายน้ำได้ช้า จำนวน 44 เครื่อง เตรียมยานพาหนะ เครื่องจักรกล เช่น รถโกยตัก จำนวน 7 คัน ประจำในพื้นที่เพื่อขุดเปิดทางน้ำ" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
    รองนายกฯ กล่าวว่า ใน 3-4 วันนี้หากมีปริมาณน้ำเข้ามามากอีก จะมีการปรับแผนระบายน้ำเพิ่มเติม แต่หากไม่มีน้ำเพิ่มเติมการดูแลประชาชนก็จะอยู่ในระยะเวลาอันสั้น ขณะเดียวกัน ปภ.และจังหวัด ได้เตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตนได้สั่งให้ชี้แจงประชาชนให้มากขึ้นถึงการระบายน้ำ เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวป้องกัน พร้อมกันนี้ผู้ว่าฯ ร่วมกับทหารและเจ้าหน้าที่ จ.เพชรบุรีได้เตรียมกระสอบทรายให้ประชาชนในจุดที่อาจจะได้รับผลกระทบ 
ซัดสื่อทำ ปชช.แตกตื่น
    "ส่วนด้านปลายน้ำที่จะออกอ่าวไทย ก็ได้มีการเตรียมเครื่องมือในการผลักดันน้ำออกให้เร็วที่สุด  และจากที่ตนลงพื้นที่ดูวันนี้ ตั้งแต่อ่างเก็บน้ำแก่งกระจานจนถึงตัวเมือง ขณะนี้ยังไม่มีจุดใดที่น้ำล้นตลิ่ง  อาจมีเพียงแพที่อยู่ในน้ำยกสูงขึ้นเท่านั้น และเชื่อว่าการทำงานบูรณาการครั้งนี้จะลดผลกระทบจากน้ำท่วมและการระบายน้ำได้ดี" รองนายกฯ กล่าว
    อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่ พล.อ.ฉัตรชัยจะลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ได้ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำที่ทำเนียบรัฐบาลตอนหนึ่งว่า สิ่งที่เราต้องการคือ ควบคุมให้น้ำที่ระบายออกจากเขื่อนสร้างผลกระทบแก่ชาวบ้านข้างล่างให้น้อยที่สุด 
    ถามว่า สถานการณ์น้ำในขณะนี้ถือว่าเอาอยู่ใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า อาจจะใช้คำนี้ไม่ค่อยดี  แต่พยายามดูแลอย่างเต็มที่ ซึ่งเรามีศูนย์น้ำอัจฉริยะคอยติดตามตลอด 24 ชม. ถ้าพบว่ามีเหตุการณ์พื้นที่ไหนน่าเป็นห่วงก็จะรายงานให้ตนทราบ
    "ที่ผ่านมาเราได้พร่องน้ำล่วงหน้าเป็นเดือนแล้ว อย่างกรณีของเขื่อนแก่งกระจานนั้นน้ำไหลเข้ามาวันเดียวกว่า 120 ล้าน ลบ. เกินขีดปกติ ในส่วนที่ชาวบ้านวิจารณ์การทำงานเรื่องการระบายน้ำนั้น  จริงๆ แล้วการระบายนี้มีหลักเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำ ซึ่งเป็นเกณฑ์ป้องกันน้ำแล้งและน้ำท่วม โดยช่วง  2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เขื่อนทุกประเทศอยู่ในระดับมาตรฐานหมด ถ้าระบายน้ำเกินก็อาจจะเจอปัญหาภัยแล้ง แต่กลายเป็นว่าในช่วงที่ผ่านมาน้ำเข้ามาเยอะมาก ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤติวันนี้แล้ว เราก็ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันไป" รองนายกฯ กล่าว
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.เพชรบุรีว่า เดี๋ยวจะไป ซึ่งขั้นตอนวันนี้ได้ให้ส่วนราชการลงพื้นที่ไปก่อน ไม่ใช่นายกฯ จะไปก่อน จะไปให้วุ่นวายทำไม ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูเรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยมี พล.อ.ฉัตรชัยลงไปดูในพื้นที่ จากนั้นตนถึงจะลงไปดู เขาต้องทำงานแบบนั้นไม่ใช่หรือ     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะลงไปดูเพื่อให้ทราบว่าจะต้องเสริมอะไรให้เขา  ตอนนี้คาดว่าสถานการณ์น้ำเรายังรับมือได้ แต่ตนไม่อยากจะบอกว่ามันต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือร้อยห้าสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ถ้าฝนตกมากกว่าเกณฑ์ก็ต้องเตรียมการแก้ปัญหา จะแก้กันอย่างไร และจากการตรวจสอบเขื่อน ขณะนี้ก็ยังแข็งแรงอยู่ และในวันหน้าถ้าปริมาณน้ำมากกว่านี้ หรือใช้เวลานานกว่านี้จะปลอดภัยหรือไม่ ก็ต้องไปว่ากันอีกที
    "สิ่งที่วันนี้อยากจะขอร้องคือ ขอให้สื่ออย่าทำให้ประชาชนตื่นตระหนก บางทีก็วิพากษ์วิจารณ์ นำไปพูดจนภาคประชาชนตื่นไปหมด สิ่งที่เราควรจะช่วยกันในวันนี้ ควรจะศึกษามาตรการของทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเตรียมการอะไรไว้บ้าง ต้องสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนให้ทุกคนร่วมมือ ตรงไหนที่เป็นพื้นที่ความเสี่ยงต้องมีการเก็บข้าว ย้ายสัตว์เลี้ยงหรือไม่ หรือต้องอพยพไปอยู่กับเพื่อนกับญาติ สื่อต้องแนะนำแบบนี้ ไม่ใช่บอกแต่เพียงว่าสถานการณ์น้ำขยายไปอำเภอนั้นอำเภอนี้ น้ำจะท่วม  สื่อได้แนะนำอะไรไปบ้าง ข้าราชการ รัฐบาลพูดปากเปล่าไปกับสื่อทุกวัน แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้รับการขยาย แล้วจะเกิดอะไร ก็ตายเจ็บเหมือนเดิม สรุปว่าไม่ช่วยอะไรกันเลย เหมือนเดิมว่ากันข้างเดียว  เดี๋ยวเขื่อนจะพัง ประชาชนจะเดือดร้อน ผมถามว่าวันนี้รัฐบาลทำอะไรหรือเปล่า หรืออยู่เฉยๆ" นายกฯ กล่าวด้วยอารมณ์หงุดหงิด
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ในวันที่ 8 ส.ค.นี้ เพื่อติดตามสถานการณ์และรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำ พร้อมเยี่ยมเยียนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ  โดยได้เลื่อนกำหนดการเดิมที่จะลงพื้นที่ดูสภาพน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ออกไปก่อน
    ด้านนายมานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขณะนี้สถานการณ์ระดับน้ำเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่บริเวณหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ (กจ 10 ) ห้วยแม่สะเลียง วันนี้มีระดับน้ำที่สูงขึ้นกว่าเมื่อวานถึง 1  เมตร และคาดว่าจะเพิ่มระดับขึ้นอีก 
    "ได้ประกาศปิดบริการกางเต็นท์ทุกจุด และปิดท่องเที่ยวน้ำตกป่าละอูเป็นการชั่วคราว พร้อมทั้งกำชับให้หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ทุกหน่วย และเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอดเวลา เพื่อเตรียมอพยพและเข้าช่วยเหลือชาวบ้านหากได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว" หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกล่าว
    ที่ จ.ขอนแก่น พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม เป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือและติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมประชุม
    พล.อ.อ.ประจินกล่าวหลังการประชุมว่า ผู้ว่าฯ ทั้ง 20 จังหวัดภาคอีสานได้นำเสนอข้อมูลแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และการแก้ไขปัญหาในภาพรวมมานำเสนอ โดยเป็นการนำเสนอในรูปแบบของกลุ่มจังหวัดและภาพรวมในระดับภูมิภาค ซึ่งแผนการบริหารจัดการน้ำนั้นจะเริ่มจากกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน ภาคอีสานตอนกลาง และภาคอีสานตอนล่าง โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติมารับฟังและจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกันในภาพรวม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"