จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดตัวโครงการ “จุฬาฯอารี” โครงการบูรณาการสหศาสตร์ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย โดยระดมคณาจารย์ในศาสตร์สาขาต่างๆ รวมองค์ความรู้เพื่อผู้สูงอายุในสังคมเมือง ตลอดจนจับมือกับภาครัฐ 16 หน่วยงาน อาทิ กรมกิจการผู้สูงอายุฯ ซึ่งนำโดย “ธนาภรณ์ พรมสุวรรณ” อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ โดยล่าสุดได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การสานพลังเพื่อรองรับสังคมสูงวัย” เพื่อร่วมกันเก็บข้อมูลพื้นฐานปัญหา และความต้องการของผู้สูงวัย ตลอดจนให้การช่วยเหลือในชุมชนแออัดของ กทม.ที่นำร่อง 2 ชุมชน อาทิ ชุมชนวังทองหลาง และชุมชนแพร่งภูธร ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 3 ปี
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เปิดเผยว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีหน้าที่หลักในการสร้างคน สร้างองค์ความรู้และรับใช้สังคม ได้ดำเนินการโครงการ “จุฬาฯ อารี” (Chulalongkorn University Platform for Ageing Research Innovation : Chula ARi) ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการ สหศาสตร์ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย โครงการนี้เป็นการรวมคณาจารย์จุฬาฯ ในสาขาต่างๆ ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงวัยมาผนึกความร่วมมือกัน รวมทั้งร่วมมือกับกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในการนำองค์ความรู้ไปช่วยเหลือผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสุขภาพ ที่อยู่อาศัย ฯลฯ โดยเน้นที่ผู้สูงวัยในสังคมเมือง เริ่มจากในกรุงเทพมหานคร การดำเนินโครงการในระยะแรกใช้เวลา 3 ปี ความคาดหวังต่อโครงการนี้อยากเห็นองค์ความรู้จากจุฬาฯ ได้มีโอกาสนำไปใช้จริง และเกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคมในวงกว้างต่อไป”
รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ เล่าให้ฟังว่า สำหรับรูปแบบของ “จุฬาฯ อารี” นั้นเป็นโครงการบูรณการศาสตร์ ไม่ใช่การจัดตั้งศูนย์ถาวร แต่เป็นการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ ทั้งอาจารย์และนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์ฯ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมทั้งสิ้น 16 แห่ง โดยร่วมมือกันลงพื้นที่เก็บข้อมูลผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ทางจุฬาฯได้ใช้ “แอปพลิเคชันสำรวจข้อมูล” เข้ามาช่วยเก็บประวัติผู้สูงอายุ ทั้งเรื่องของสุขภาพ ตลอดความต้องการพื้นฐาน และปัญหาในการดำรงชีพ หรือเป็นการร่วมคิดร่วมทำ เพื่อช่วยเหลือแก้ไข้ทั้งปัญหาสุขภาพ รายได้ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตของผู้สงวัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยให้ดียิ่งขึ้น ในโอกาสรองรับสังคมผู้สูงวัยที่จะมาถึง โดยเบื้องต้นจะเริ่มใน 2 ชุมชนเมืองที่มีผู้สูงวัยอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น อีกทั้งเป็นชุมชนเก่าแก่ อาทิ ชุมชนแพร่งภูธร และชุมชนวังทองหลาง ทั้งนี้โครงการ “จุฬาฯ อารี” จะมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 3 ปี แต่ปัจจุบันอยู่ในช่วงเริ่มต้นประมาณ 2 เดือน
“รูปแบบหลักๆ ของโครงการ “จุฬาฯ อารี” เมื่อเราได้ทำการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของผู้วัยจากทั้ง 2 ชุมชนแล้ว ซึ่งถือเป็นชุมชนเริ่มต้นใน กทม. ตรงนี้จะทำให้เรามีข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐ หรือ กทม.ในการลงพื้นที่ไปดูแลและช่วยเหลือคนสูงวัย เช่น ทำให้รู้ว่าในชุมชนดังกล่าวมีผู้ป่วยติดเตียงอยู่กี่ราย และจะให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง หรือแม้แต่เรื่องของการออมเงินต่างๆ
ตรงนี้ทางจุฬาฯ ก็จะประสานให้หน่วยงานในภาคีทั้ง 16 แห่ง เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการออมเงินให้กับคุณตาคุณยาย หรือแม้แต่การส่งผู้เชี่ยวชาญไปปรับสภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้เอื้อต่อการอยู่อาศัย เช่น การปรับทางเดินสาธารณะในชุมชนให้เรียบ เหมาะกับการกับสัญจร เพื่อป้องกันผู้สูงวัยสะดุดหกล้ม หรือปรับสภาพภายในบ้านให้เหมาะกับการอยู่อาศัย ไม่ได้เดินขึ้นบันไดและสะดุดหกล้ม เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่าร่วมกันดูแลสุขภาพผู้สูงอายุทุกมิติ โดยมีโครงการ “จุฬาฯ อารี” เป็นศูนย์ในการให้ข้อมูลแก่หน่วยงานที่จับมือกัน เพื่อไปให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากเราไม่สามารถทำงานเพียงลำพังได้”
แม้จะเป็นตัวกลางในการหาฐานข้อมูลผู้สูงอายุ และกระจายความร่วมมือไปยังหน่วยงานภาคีทั้ง 16 แห่ง แต่ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ก็ได้ให้ความช่วยเหลือในการดูแลสุขภาพผู้สูงวัยภายใน 2 ชุมชนดังกล่าว โดยการพัฒนา 2 นวัตกรรม อาทิ “แอปพลิเคชันดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง” และการนำ “หุ่นยนต์ฟื้นฟูกำลังแขน” มาใช้ดูแลผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน
“ปัจจุบันอยู่ในขั้นการพัฒนาและเลือกฟังก์ชันให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน สำหรับ “แอปพลิเคชันดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง” ถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้แพทย์ สามารถติดต่อกับผู้สูงอายุที่ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้ ส่วนหนึ่งก็ลดการที่ผู้ป่วยจะต้องกลับและไป รพ.เพื่อไปพบแพทย์บ่อยๆ ลงได้ ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวไม่เพียงช่วยวัดฟังก์ชันร่างกายผู้ป่วยแล้ว แต่ถ้ามีเหตุฉุกเฉิน แอปดังกล่าวก็จะเตือนไปยังลูกหลานได้เลย หรือช่วยให้คนป่วยคุยกับคุณหมอคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทันที เพื่อลดความรุนแรงของโรคลง
นอกจากนี้ยังมี “หุ่นยนต์ฟื้นฟูกำลังแขน” เพื่อเข้าไปเสริมการทำงานของนักกายภาพบำบัด ทั้งจากศูนย์ดูแลสุขภาพของ กทม., โรงพยาบาลภาคี ที่ลงไปช่วยผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคอัมพฤต, อัมพาตในชุมชน ซึ่งข้อดีของนวัตกรรมดังกล่าวจะมีความเที่ยงตรง และสามารถบอกได้ว่าหากผู้ป่วยมีภาวะกำลังแขนอ่อนแรงจะต้องออกกำลังกายในปริมาณแค่ไหน ที่สำคัญผลงานนวัตกรรมดังกล่าวเป็นของนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ได้ร่วมมือกันคิดสร้างสรรค์”
ทั้งนี้ โครงการ “จุฬาฯ อาสา” มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 3 ปี และภายใน 2 ปีแรก ตั้งเป้าที่จะขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ใน กทม.ที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่หนาแน่น กล่าวได้ว่าปัจจุบันเป็นช่วงของการทดลองก่อน แต่ถ้าหากครบกำหนดระยะเวลาและได้การตอบรับที่ดี ก็จะดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุได้อย่างเต็มรูปแบบ
“ประโยชน์ที่ผู้สูงอายุจะได้รับจากโครงการ “จุฬาฯ อาสา” คือการที่ผู้สูงวัยไม่เพียงมีอายุยืนยาวและสามารถอยู่กับลูกหลานได้นานยิ่งขึ้น แต่การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ ก็จะได้รับการพัฒนาไปด้วยเช่นกัน อาทิ การปรับสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้เอื้อต่อการอยู่อาศัย, การที่ผู้สูงอายุรู้จักการออมเงิน กระทั่งแม้ผู้ที่ป่วยติดเตียงก็สามารถได้รับการดูแลที่ทั่วถึงและเหมาะสมยิ่งขึ้น ที่ลืมไม่ได้ยังส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของคนวัยเกษียณให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสังคมให้พัฒนา ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาตระหนักถึงการดูแลรักษาสุขภาพให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้เป็นผู้สูงวัยที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย หรือรู้จักวิธีที่จะดูแลตัวเองโดยไม่เป็นภาระของลูกหลาน”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |