หม่อมอุ๋ยตะเพิดบิ๊กป้อมไขก๊อก!


เพิ่มเพื่อน    

 

อดีตทหารป้อง "บิ๊กป้อม" ไม่ผิดกฎหมาย อ้างเพื่อนเซนต์คาเบรียลให้ยืมนาฬิกาหรู  "หม่อมอุ๋ย" ปัดไม่รู้เรื่องกระทุ้งไขก๊อก ชี้แรงบีบสังคมเยอะขนาดนี้อยู่ไม่ได้แล้ว แนะ "บิ๊กตู่" ดูตัวอย่าง "ป๋า" กล้าฟัน โพลสะท้อนรัฐบาลไม่ค่อยมีจริยธรรม ข่าวประวิตรกระทบภาพลักษณ์ 

    เมื่อวันที่ 21 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม ว่าในช่วงค่ำได้เดินทางไปร่วมงานวันกองทัพบก ที่สโมสรทหารบก โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยมีรัฐมนตรีทหาร ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ท่ามกลางกระแสกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ต่อกรณีการครอบครองนาฬิกาหรู 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ พล.อ.ประวิตรจะออกมาชี้แจงว่าเป็นนาฬิกาที่ยืมเพื่อนมาใส่และคืนไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมทำหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปถึง 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถลดกระแสโจมตีจากสังคมออนไลน์ แม้แต่สื่อต่างประเทศ อาทิ เว็บไซต์ Daily Mail ของอังกฤษ, เว็บไซต์ นสพ. The Straits Times ของสิงคโปร์, สำนักข่าว ABC News ของสหรัฐอเมริกา นำเสนอข่าวดังกล่าว
    ล่าสุด แหล่งข่าวจากอดีตทหารเกษียณอายุราชการยืนยันว่า หนึ่งในเพื่อนของ พล.อ.ประวิตรที่ให้ยืมนาฬิกาคือ นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเซนต์คาเบรียล และเป็นกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่เสียชีวิตไปเมื่อต้นปี 2560 โดยในตอนนั้น มีทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ไปร่วมงานพิธีศพ
    "นายปัฐวาทเป็นคนที่ชอบสะสมนาฬิกาหรู มีหลายร้อยเรือน และให้เพื่อนสนิทยืมใส่ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเรื่องนายปัฐวาทให้เพื่อนยืมนาฬิกาใส่ เป็นเรื่องที่เพื่อนกลุ่มเซนต์คาเบรียลรู้กันหมด หม่อมอุ๋ย (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล) ก็รู้ดี ส่วนจะให้ยืมเมื่อไหร่ ไม่ทราบ แต่ถ้ามองในแง่กฎหมาย ถือว่า พล.อ.ประวิตรไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ที่สำคัญจะชี้แจงให้สังคมเข้าใจได้หรือไม่ นี่คือประเด็น" แหล่งข่าวจากอดีตทหารเกษียณอายุราชการระบุ
    ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และเพื่อนร่วมรุ่นเซนต์คาเบรียลของ พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ "ไทยโพสต์" ถึงกรณีดังกล่าวว่า  ไม่ทราบว่ากลุ่มเพื่อนเซนต์คาเบรียลมีการให้ยืมนาฬิการะหว่างกันหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้สนใจ เท่าที่ทราบนายปัฐวาทได้สะสมนาฬิกาจริง แต่นายปัฐวาทเสียชีวิตไปแล้ว ขออย่าดึงเขามายุ่งเลย 
    "แต่ไม่ต้องห่วงหรอก เรื่องนี้เดี๋ยวก็สอบสวนเสร็จแล้ว เดี๋ยวเขาก็ลาออก แรงบีบจากสังคมขนาดนี้ ใครจะไปยืนอยู่ ดูจากแรงบีบทั้งสื่อ ทั้งสังคม ผมก็รู้แล้ว คนเราเจอแรงบีบจากสังคมยังไงก็อยู่ไม่ได้ แต่ผมไม่รู้ว่าเขาจะตัดสินใจอย่างไร แต่หากเป็นผม ผมลาออกแต่แรกแล้ว ก็เราทำผิด เราต้องรับผิดชอบ เว้นเสียแต่เราไม่ผิด" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรระบุ
     ส่วนเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน แต่เกี่ยวกับมารยาททางการเมือง เมื่อเรารู้ว่าไม่ได้รายงานบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป.ป.ช. ก็ลาออก เท่านั้นเอง ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องคดี  เขาไม่ได้ทำผิดโดยการโกงใคร เพียงแต่ผิดกฎเกณฑ์ ซึ่งกฎเกณฑ์คือกฎเกณฑ์ เมื่อมารับตำแหน่งทางการเมืองต้องยอมรับ
ยกป๋าเตือนสติบิ๊กตู่
    เมื่อถามว่า หาก พล.อ.ประวิตรไม่ได้ตัดสินใจจะลาออก จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลหรือไม่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า กระทบแน่ หาก พล.อ.ประยุทธ์ยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ แน่นอนว่าต้องกระทบต่อตัวนายกฯ ด้วย ไม่เหมือนสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษยังเป็นนายกรัฐมนตรี ที่หากมีรัฐมนตรีคนใดทำอะไรที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรม ท่านจัดการทุกครั้ง หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่จัดการ แสดงว่าไม่ใส่ใจในเรื่องที่เกี่ยวกับจริยธรรมในการทำงาน ไม่ใช่เรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน 
    เมื่อถามย้ำว่า ในฐานะที่เป็นเพื่อนเซนต์คาเบรียล มีความเป็นห่วง พล.อ.ประวิตรหรือไม่ อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า "ก็ผมไม่ได้ทำอะไรนี่ เราก็อยู่ส่วนของเรา ปล่อยเขา เขาน่าจะคิดออกนะ เพราะเจอแรงกดดันจากสังคมเยอะเหลือเกิน"   
    “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,189 คน ระหว่างวันที่ 16-20 ม.ค.2561 ในหัวข้อ "ข่าว" ที่กระทบต่อสังคมไทยในสายตาประชาชน ปรากฏว่า ข่าวนาฬิกาหรู พล.อ.ประวิตร อยู่ในอันดับ 2 โดยประชาชน 48.02% เห็นว่ามีผลกระทบ คือ    แสดงถึงความไม่โปร่งใส กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ขาดความน่าเชื่อถือ ประชาชนเกิดความสงสัย ฯลฯ ส่วนแนวทางแก้ไขคือ ออกมาชี้แจง มีเหตุผลประกอบที่เชื่อถือได้ มีการตรวจสอบที่โปร่งใส ชัดเจน ไม่ปกป้องพวกพ้อง ฯลฯ 
    ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17-18 ม.ค.2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  
    จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ควรมีมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.24 ระบุว่าเป็นความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส รองลงมาร้อยละ 13.04 ระบุว่าเป็นการไม่ใช้อำนาจ ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือพวกพ้อง เช่น การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ การใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ, ร้อยละ 12.56 เป็นการเอาใจใส่ และความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ, ร้อยละ 6.80 เป็นการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เคารพกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของบ้านเมือง, ร้อยละ 6.64 เป็นการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาประเทศชาติอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติหรือแบ่งแยก 
    ร้อยละ 2.00 เป็นการรักษาความเป็นระบอบประชาธิปไตย รับฟังเสียงส่วนน้อย ยึดหลักการมีส่วนร่วม, ร้อยละ 1.84 เป็นการไม่สร้างความแตกแยกในสังคม หรือไม่กล่าวหาฝ่ายตรงข้าม ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง, ร้อยละ 1.28 มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ, ร้อยละ 1.20 ยึดหลักความพอเพียง ใช้ทรัพย์สินของราชการเป็นประโยชน์ เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด และร้อยละ 0.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ผลการสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าในสังคมไทยประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการใช้อำนาจ ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือพวกพ้อง หรือยังไม่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทับซ้อนเท่าที่ควร 
รบ.ไม่ค่อยมีจริยธรรม
    ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในภาพรวม (ได้แก่ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) พบว่า ร้อยละ 42.00 ระบุว่าไม่ค่อยมีจริยธรรม, ร้อยละ 10.48 มีจริยธรรมมาก, ร้อยละ 31.28 มีจริยธรรมค่อนข้างมาก, ร้อยละ 11.20 ไม่มีจริยธรรมเลย และร้อยละ 5.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันยังเชื่อว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในภาพรวมไม่ค่อยมีจริยธรรม ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายของ คสช. ที่ต้องการเน้นจริยธรรมและการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในการบริหารราชการแผ่นดิน
    สำหรับการตัดสินใจของประชาชนหากต้องเลือกระหว่าง “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เก่ง มีผลงาน แต่ ไม่มีจริยธรรม” กับ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีจริยธรรม แต่ ไม่เก่ง มีผลงานน้อย” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.88 ระบุว่าจะเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีจริยธรรม แต่ไม่เก่ง มีผลงานน้อย ขณะที่ร้อยละ 17.36 จะเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เก่ง มีผลงาน แต่ไม่มีจริยธรรม, ร้อยละ 3.68 ไม่เลือกทั้งสองแบบ และร้อยละ 4.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ แสดงให้เห็นว่ามากกว่าสามในสี่ของประชาชนยังยอมรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่เก่งแต่ไม่โกงได้ มากกว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เก่งแต่โกง
    ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้ประเทศไทยมีแต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ดี เก่ง มีผลงาน และมีจริยธรรม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 35.20 ระบุว่าควรมีบทลงโทษทางวินัยอย่างเคร่งครัด รองลงมา ร้อยละ 29.52 ระบุควรมีหน่วยงานตรวจสอบคุณธรรม จริยธรรม และความประพฤติของนักการเมือง, ร้อยละ 21.44 ระบุควรมีระบบคัดกรองนักการเมืองน้ำดี มีคุณภาพ, ร้อยละ 19.60 ระบุประชาชนต้องไม่ซื้อสิทธิขายเสียง, ร้อยละ 14.80 ระบุควรแก้ไขที่ระบบการศึกษาของไทย 
    ร้อยละ 14.00 ระบุควรสร้างค่านิยมใหม่ๆ ปรับทัศนคติ ค่านิยมคนไทยบางกลุ่มที่ยึดติดกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่มีจริยธรรม แต่เก่ง มีผลงานหรือทัศนคติที่ว่าโกงได้ แต่ขอให้ประเทศพัฒนา, ร้อยละ 1.68 ระบุอื่นๆ ได้แก่ มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง, เร่งปฏิรูปการเมืองและนักการเมือง, ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และร้อยละ 3.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ แสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้มีการลงโทษผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่โกง ต้องมีการตรวจสอบ และมีการคัดกรองนักการเมืองที่ดี
    "กล่าวโดยสรุป ประชาชนต้องการผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส แต่ยังไม่ให้ความสำคัญเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนมากนัก อย่างไรก็ตาม ประชาชนมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในปัจจุบันไม่ค่อยมีจริยธรรม ซึ่งผลการสำรวจนี้ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เน้นเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต นอกจากนี้ประชาชนยังทนและยอมรับได้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่เก่งแต่ไม่โกง มากกว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เก่งแต่โกง และประชาชนต้องการให้มีการลงโทษผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่โกง ต้องมีการตรวจสอบที่เข้มข้น และมีการคัดกรองนักการเมืองที่ดี" นิด้าโพลระบุ
    นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของคนในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตรวจพบว่ามีรัฐมนตรี 3 รายเข้าข่ายถือหุ้นสัมปทานที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีต รมช.ศึกษาธิการ, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งบางรายได้ร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปนานแล้ว และหาก กกต.ตรวจสอบโดยเร็วคงจะได้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ทั้งนี้ เห็นได้ชัดจากการยื่นบัญชีเมื่อพ้นจากตำแหน่งยังถือหุ้นสัมปทานอยู่
    นายเรืองไกรกล่าวว่า เรื่องนี้นายกฯ ควรมีส่วนรับผิดชอบด้วย เพราะนายกฯ ควรตรวจสอบก่อนว่าคนที่จะเป็นรัฐมนตรีไม่ควรถือหุ้นสัมปทาน ไม่ใช่ปล่อยให้ผ่านไปจนตนมาตรวจพบ โดยในวันที่ 23 ม.ค. เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปที่สำนักงาน กกต. เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนให้ กกต.ตรวจสอบ อย่างไรก็ตามนายกฯ มักพูดย้ำให้คนทำตามกฎหมาย แต่คนในรัฐบาลกลับมีเรื่องที่คาใจสังคมในเรื่องการไม่ทำตามหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายออกมาเรื่อยๆ จนทำให้เริ่มรู้สึกว่า สมัยต่อไปคงพิจารณาว่าจะสนับสนุนนายกฯ คนนี้อีกหรือไม่.        


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"