“อิทธิพร”นำทัพ คุมหางเสือ7กกต. จัดเลือกตั้ง62 ภารกิจพิสูจน์ ของจริง-ปลอม?


เพิ่มเพื่อน    

     เข้าสู่ช่วงเตรียมนับหนึ่งการทำหน้าที่ของ 5 เสือกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่แล้ว หลังมีการเปิดเผยจาก พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ได้นำรายชื่อนายอิทธิพร บุญประคอง ว่าที่ประธาน กกต.คนใหม่ และว่าที่ กกต.ใหม่อีก 4 คน ขึ้นทูลเกล้าฯ เรียบร้อยเมื่อวันศุกร์ที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา

                ขณะเดียวกัน ว่าที่ กกต.ใหม่อีก 2 คนที่ต้องสรรหา-เห็นชอบกันใหม่เพื่อให้ครบ 7 ชื่อ ทางนายพรเพชร ในฐานะหนึ่งในกรรมการสรรหาฯ กกต. ก็เปิดเผยว่า นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานกรรมการสรรหาฯ กกต. ได้เรียกประชุมนัดแรกในวันที่ 8 ส.ค. เพื่อหารือเรื่องกระบวนการขั้นตอนการสรรหาฯ ในส่วนของกรรมการ ก่อนที่จะส่งชื่อไปให้ที่ประชุม สนช.โหวตเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ

                เท่ากับว่า หลังจากนี้ก็รอ 5 เสือ กกต.ชุดใหม่ อันประกอบด้วย อิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และอดีตเอกอัคราชทูตไทยประจำ เคนยา และกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ในฐานะว่าที่ประธาน กกต. และอีก 4 ว่าที่ กกต. คือ สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ นักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ธวัชชัย เทิดเผ่าไทย อดีตผู้ว่าฯ หลายจังหวัด และอดีตสมาชิก สปท., ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และปกรณ์ มหรรณพ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา เข้าทำหน้าที่กันได้แล้ว ส่วน กกต.ชุดปัจจุบันที่มีศุภชัย สมเจริญ เป็นประธาน ก็เตรียมนับถอยหลัง เก็บของออกจากห้องทำงาน เพื่อให้ กกต.ชุดใหม่เข้ามารับไม้ต่อ เข้าทำนอง เก่าไป-ใหม่มา ภายใต้การส่งมอบงานต่างๆ ที่ค้างคาไว้ ที่จะไม่เกิดสภาวะมีรอยต่อ-สุญญากาศแน่นอน

                ทั้งนี้ เมื่อดูตามวงงานของว่าที่ กกต.ชุดใหม่ที่รออยู่ จะพบว่าภารกิจใหญ่ที่รออยู่ก็คงไม่พ้น 3 เรื่องหลักที่เป็นอำนาจหน้าที่หลักของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายว่าด้วย กกต. อันประกอบด้วย

                1.การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.

                ที่ถือเป็นภารกิจใหญ่สุดของ กกต. และเป็นด่านหินในการพิสูจน์ฝีมือของ กกต.ชุดใหม่ว่าเป็นของจริงหรือของปลอมกับงานใหญ่ครั้งนี้ เพราะหากมีการเลือกตั้งในปี 2562 ก็จะเป็นการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 8 ปี หลังคนไทยได้เลือกตั้ง ส.ส.ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2554 ส่วนการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 หลังยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภา ตอนม็อบ กปปส.ไม่นับ เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

                โดยกระบวนการทำงานของ กกต.จะเกิดขึ้นหลังมีการโปรดเกล้าฯ ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ที่ก็จะต้องมีการดำเนินไปตามขั้นตอนต่างๆ เพียงแต่เนื่องจากบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.มีการเขียนไว้ให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 90 วัน แต่ฝ่าย กกต.ก็ได้เสนอต่อฝ่ายรัฐบาล-คสช.ไปแล้วว่า ในช่วงการรอ 90 วันดังกล่าว ควรต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ไปพลางก่อน เช่น การใช้มาตรา 44 เพื่อให้อำนาจ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งได้ โดยไม่ต้องรอหลังกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.บังคับใช้ ที่ต้องรอไปอีก 90 วัน เพื่อที่จะได้ให้ กกต.ไปดำเนินการเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นก่อน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ

เพราะการแบ่งเขตเลือกตั้ง กกต.ต้องใช้เวลาประมาณ 55 วัน เนื่องจากต้องทำหลายขั้นตอน เช่น แบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จก็ต้องมีการไปรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ โดยหากมีการคัดค้านก็จะต้องใช้เวลาอีกพอสมควร กว่าจะส่งเรื่องให้ กกต.ชี้ขาด ขณะเดียวกัน หากแบ่งเขตช้าก็จะทำให้พรรคการเมืองเตรียมตัวในการทำ ไพรมารีโหวต ไม่ทันการณ์ ซึ่งแนวทางการให้อำนาจ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งได้ดังกล่าว ก็ดูเหมือนฝ่ายรัฐบาลและ คสช.จะเอาด้วย โดยแลกกับการไม่ต้อง ปลดล็อกพรรคการเมือง

                การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นดังกล่าว ที่ล่าสุดสำนักงาน กกต.ได้รับแจ้งจากรัฐบาลว่าจะอนุมัติงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งให้ จำนวนเงิน 4,000 ล้านบาท จากที่สำนักงาน กกต.ขอไป 5,500 ล้านบาท แต่ดูแล้วสำนักงาน กกต.คงมีการขอรัฐบาลให้เพิ่มงบประมาณให้อีก

เลือกตั้ง 4,000 ล้านบาทที่จะมีขึ้นบนเดิมพันความคาดหวังของคนไทยทั้งประเทศ ที่ต้องการเห็นการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีการซื้อเสียงหรือมีก็ต้องไม่รุนแรง และคนทำผิดต้องถูกลงโทษ ทำให้ภารกิจการจัดเลือกตั้งดังกล่าว จึงเป็นงานหินของ กกต.ชุดใหม่แน่นอน ซึ่งหากฝ่าด่านนี้ไปได้ ทำผลงานออกมาได้ดีระดับหนึ่ง เช่น บริหารจัดการเลือกตั้งโดยราบรื่น ให้ความเป็นธรรมกับทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่-พรรคเล็ก อีกทั้งสำนักงาน กกต.สามารถรณรงค์จนทำให้เป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์กันจำนวนมากในระดับไม่ต่ำกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันกลไกต่างๆ ของ กกต.เช่น ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่เป็นเรื่องใหม่ของการเมืองไทย ที่มาแทน กกต.จังหวัด สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการตรวจจับการทุจริตการเลือกตั้ง จนได้คนผิดมาลงโทษ

                หาก กกต.ชุดใหม่ทำผลงานได้ตามเป้าข้างต้น แบบนี้ก็สอบผ่าน ได้รับการยอมรับแน่นอน แต่หากตรงกันข้าม ถ้า กกต.บริหารจัดการเลือกตั้งโดยมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นมากมาย หรือจัดเลือกตั้งโดยประชาชนไม่ยอมรับ มองว่า มีการเลือกปฏิบัติ จัดเลือกตั้งไม่โปร่งใส ไปเอื้อหรือช่วยเหลือผู้สมัครบางพรรคการเมืองให้ชนะการเลือกตั้ง แบบนี้ กกต.ชุดใหม่นอกจากสอบไม่ผ่านแล้ว ยังอาจอยู่โดยไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนก็ได้

2.เรื่องการให้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่

คือเป็นภารกิจในลักษณะการอำนวยการให้มีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นไปตามร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ที่อยู่ระหว่างการรอโปรดเกล้าฯ ซึ่งเมื่อได้รายชื่อครบถ้วนแล้วในส่วนของ ส.ว.ที่มาจากการสมัครและคัดเลือกกันเองของผู้สมัครในสาขาวิชาชีพต่างๆ ทาง กกต.ก็จะส่งไปให้ คสช.คัดเลือกให้เหลือไม่เกิน 50 ชื่อ ส่วน ส.ว.อีก 200 ชื่อจะมาจากขั้นตอนที่คณะกรรมการสรรหาฯ จะพิจารณารายชื่อส่งไปให้ คสช.เอง รวมเป็น ส.ว. 250 ชื่อ

                3.การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น

                เรื่องดังกล่าว แม้ฝ่ายรัฐบาลจะเปิดเผยว่าอาจจะมีการส่งร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่มีประมาณ 6 ฉบับ ไปให้ สนช.พิจารณาได้ภายในเดือน ส.ค.นี้ แต่หากดูจากท่าทีของรัฐบาลผ่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ก็เคยแสดงท่าทีไว้ชัดเจนว่าต้องการให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ส.ส. เช่นเดียวกับที่ทาง กกต.ก็เคยเสนอความเห็นแบบไม่เป็นทางการไปยังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มือกฎหมายรัฐบาล ว่า ต้องการให้การเลือกตั้ง ส.ส. กับการเลือกตั้งท้องถิ่นห่างกันประมาณ 3 เดือน

ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดหลังการเลือกตั้ง ส.ส. โดยหากมีการเลือกตั้ง ส.ส.ในเดือน ก.พ.ปีหน้า ก็อาจได้เห็นการเลือกตั้งท้องถิ่นช่วงเดือน พ.ค. ปี 2562

อย่างไรก็ตาม เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น กฎหมายว่าด้วย กกต.เปิดช่องให้ กกต. ไม่ต้องเป็นเจ้าภาพหลักก็ได้ในการจัดการเลือกตั้ง สามารถให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งได้ตามที่กฎหมายว่าด้วย กกต. มาตรา 27วรรคสอง บัญญัติไว้ดังนี้

“การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้คณะกรรมการมีอํานาจดําเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งภายใต้

การควบคุมดูแลของคณะกรรมการ กับให้มีอํานาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง

ในการดําเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอํานาจควบคุมดูแลการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามหน้าที่และอํานาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายอื่น

การเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ มีข้อมูลออกมาก่อนหน้านี้ว่า ท้องถิ่นที่ครบวาระตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังไม่มีการเลือกตั้งสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นจำนวน 8,410 อัตรา ที่แยกเป็น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

ดังนั้น สนามเลือกตั้งท้องถิ่นก็มีความสำคัญไม่น้อย ยิ่งที่ผ่านมาพบว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นความดุเดือดในการแข่งขัน โดยเฉพาะ การซื้อเสียง หนักหน่วงไม่แพ้การเลือกตั้งใหญ่ เผลอๆ บางพื้นที่อาจรุนแรงหนักกว่าด้วย เนื่องจากการเมืองท้องถิ่นปัจจุบัน จะมีอำนาจในการบริหารงบประมาณ โดยเฉพาะงบโครงการต่างๆ ในพื้นที่และจังหวัด ที่มีเม็ดเงินจำนวนมาก จนทำให้นักการเมืองสนามใหญ่ ระดับอดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.หลายสมัย ยังหันเหไปลงการเมืองท้องถิ่น เพื่อหวังไปคุมงบประมาณและฐานเสียงในพื้นที่ ผนวกกับการเลือกตั้งท้องถิ่นจะไม่ค่อยถูกจับตามองมากเหมือนการเลือกตั้งใหญ่ ทำให้การแข่งขันมีการใช้ทั้งเงิน-อิทธิพล-กระสุนดินดำ อัดกันเต็มที่ เพื่อให้ได้รับชัยชนะ ดังนั้นหากสุดท้ายถ้า กกต.จะไม่ลงมาคุมการเลือกตั้งท้องถิ่นเต็มตัว แต่ก็ต้องคอยดูแลไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมายกันอย่างโจ๋งครึ๋มแล้วเข้าไปถอนทุนกันภายหลัง

ซึ่งสนามเลือกตั้งท้องถิ่นที่ถูกจับตามองมากสุดก็คงไม่พ้น สนามเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. หลังคนกรุงเทพฯ ว่างเว้นจากการเลือกผู้ว่าฯ กทม.มาร่วม 5 ปี เพราะเลือกครั้งสุดท้าย ก็ตอนปี 2556 ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ชนะการเลือกตั้ง รวมถึงการเลือกตั้ง นายกฯ อบจ. ทั่วประเทศ ก็ถูกจับตามองว่าจะมีความเข้มข้นดุเดือดเช่นกัน

3 ภารกิจสำคัญข้างต้นทั้งการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.-การอำนวยการในการคัดเลือก ส.ว.ชุดใหม่-การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ล้วนเป็นงานสำคัญที่รอ กกต.ชุดใหม่ ภายใต้การคุมหางเสือของ อิทธิพร บุญประคอง-ว่าที่ประธาน กกต.คนใหม่ ที่ถูกมองว่าเป็น ม้ามืดนั่งประธาน กกต. จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ กกต.ชุดใหม่จะทำพลาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด.

                                                                                                ทีมข่าวการเมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"