ซุ่มยืดเวลา120วัน! สนช.เอาใจรัฐบาล-คสช.การเมืองถล่ม‘โมฆบุรุษ’


เพิ่มเพื่อน    

  อึ้ง! กมธ.ร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.อุบเงียบดันให้ขยายเวลาเป็น 120 วัน ไม่ใช่แค่ 90 วัน อยู่กันให้รากงอกไปเลย วัดใจที่ประชุม สนช.โหวต 3 ทางเลือก 25 ม.ค.นี้ ขณะที่ กมธ.ปัดพัลวันไม่ได้สมคบคิดหรือรับใบสั่งจาก คสช. อ้างหวังดีหากไม่ขยายเวลาพรรคการเมืองไม่มีทางทำไพรมารีโหวตได้ทัน ด้านปชป.โต้อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ สีข้างถูจนถลอก ชี้ทั้งสนช.-คสช.ได้ประโยชน์ เตือนอันตรายเชื้อไฟ ปชช.จะระเบิด ชทพ.-พท.ย้อนนายกฯ รับปากนานาชาติไว้แล้ว หากผิดสัญญาประชาคมจะกลายเป็นตัวตลก-โมฆบุรุษ   

      เมื่อวันอาทิตย์ มีรายงานว่าสำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช.ในวันพฤหัสบดีที่ 25 ม.ค.นี้ พบประเด็นหลายเรื่องที่น่าสนใจในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เช่นในมาตรา 2 ที่เป็นประเด็นใหญ่ หลัง กมธ.เสียงข้างมากมีการแก้ไขจากร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)คือแก้เป็น "ให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา"  
    โดยปรากฏว่า กมธ.จากฝ่าย กรธ. นำโดยนายประพันธ์ นัยโกวิท ไม่เห็นด้วย และขอสงวนความเห็นให้ใช้ของเดิมตามที่ กรธ.ส่งมา คือให้ใช้บังคับหลังการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป แต่ก็พบว่า กมธ.จากฝ่าย สนช.คือนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ที่เป็นโฆษก กมธ.ชุดนี้ และนายธานี อ่อนละเอียด ได้ขอสงวนความเห็นเป็น "ให้ใช้บังคับหลังประกาศใช้แล้วหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป"
    จึงเท่ากับว่ามาตราดังกล่าวที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในเวลานี้ ว่าจะทำให้โรดแมปการเลือกตั้งเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า ไม่ใช่ปลายปีนี้ จะมี 3 แนวทางที่ สนช.จะพิจารณากันในวันที่ 25 ม.ค. คือ 1.ให้ใช้บังคับทันที 2.ให้ใช้หลังประกาศใช้ไปแล้ว 90 วัน และ 3.ให้ใช้หลังประกาศใช้ไปแล้ว 120 วัน ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม สนช.ว่าจะเอาด้วยกับแนวทางไหน 
    ขณะที่เนื้อหาส่วนอื่นๆ ในหลายมาตราของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว พบว่า กมธ.ส่วนใหญ่จะยืนตามร่างเดิมของ กรธ. แต่มีที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น การตัดเรื่องการคืนเงินของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หากผู้สมัครส.ส.ได้คะแนนไม่ถึงร้อยละห้าของผู้มาใช้สิทธิในเขตเลือกตั้งของตัวเอง ที่เดิม กรธ.เขียนให้สำนักงาน กกต.ต้องคืนเงินค่าสมัครให้พรรคการเมืองต้นสังกัด เพื่อให้เป็นรายได้พรรค แต่ กมธ.มีการตัดเรื่องนี้ออกทั้งหมด นอกจากนี้ เรื่องการทำโพลช่วงเลือกตั้ง ก็มีการเขียนเพิ่มเติมไปว่า หากการทำโพลมีเจตนาไม่สุจริตให้ถือว่ามีความผิด รวมถึงยังเขียนไว้อีกว่า ในการสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้งของสำนักงาน กกต. ทาง กกต.อาจจัดเวทีประชันนโยบายการบริหารประเทศสำหรับพรรคการเมืองได้ด้วย 
    ที่น่าสนใจคือ กมธ.มีการเขียนแก้ไขเพิ่มเติม เรื่องระยะเวลาการออกเสียง โดยร่างเดิมของ กรธ.ให้ประชาชนไปออกเสียงเลือกตั้งแบบเดิมคือช่วง 08.00-16.00 น. ก็พบว่าร่างของ สนช.มีการแก้ไขเพิ่มเวลาการลงคะแนนให้มากขึ้นอีก 2 ชั่วโมง คือให้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในช่วง 07.00-17.00 น. 
      ด้านนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษก กมธ.ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยระบุกรณีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ให้ขยายเวลาบังคับใช้ออกไป 90 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นการสมคบคิดกันเพื่อต่ออำนาจให้รัฐบาลและ สนช.ว่า ยืนยันว่าไม่ใช่การสมคบคิดเพื่อต่ออำนาจให้ใคร แต่ กมธ.ดูจากความพร้อมการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก เพราะขณะนี้มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ขยับเวลาการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองเป็นเดือนมี.ค.และเดือนเม.ย. รวมถึงการประชุมใหญ่พรรคการเมืองจะทำได้ต้องรอหลังจากที่ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน 
อ้างทำไพรมารีโหวตไม่ทัน
    "เงื่อนไขเหล่านี้หากให้ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยที่กติกายังไม่เปิดให้ทำได้ ก็จะทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้อยู่ดี ดังนั้นจึงทอดระยะเวลาบังคับใช้ไป 90 วัน เพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาเตรียมตัวและความพร้อมในการเลือกตั้ง เพราะถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ไม่มีความพร้อมทั้งในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รัฐบาล และพรรคการเมืองจะเกิดปัญหาตามมา"
    นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ส่วนข้อวิจารณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น กมธ.พร้อมรับฟัง แต่หน้าที่ของ กมธ.มีแค่การกลั่นกรองกฎหมาย ส่วนคนที่จะชี้ขาดคือที่ประชุม สนช. รวมทั้งหากผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ไปแล้ว ถ้า กกต.ไม่เห็นด้วย ก็มีสิทธิ์ตั้ง กมธ.ร่วมโต้แย้งได้ ขอให้เชื่อมั่นว่า กมธ.ทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ เพื่อช่วยให้ สนช.ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นๆ ต่อไปในช่วงที่เลื่อนโรดแมปออกไป รวมถึงไม่เกี่ยวข้องกับการแลกตั๋วเป็น ส.ว.สรรหาล่วงหน้า ไม่อยากให้มองเป็นประเด็นทางการเมือง กมธ.เพียงแค่ต้องการดำเนินการในแง่มุมกฎหมายให้เกิดความรอบคอบ ทำงานตรงไปมา ไม่มีใบสั่ง ซึ่งในวันที่ 22 ม.ค. จะแถลงชี้แจงรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.อีกครั้ง เพื่อตอบข้อสงสัยต่างๆ
    นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กมธ.ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.กล่าวว่า นักการเมืองเขามีสิทธิ์ที่จะคิดเช่นนั้น และ กมธ.ก็ไม่สามารถไปห้ามความคิดของพรรคการเมืองได้ กมธ.ทำหน้าที่พิจารณากฎหมายเราจะรู้และทราบข้อเท็จจริงอย่างดีที่สุดว่า การกำหนดวันเวลาหรือการเขียนกฎหมายดังกล่าว มีความจำเป็นหรือเหตุผลอะไร จะเห็นได้ว่า กรธ.และ กกต.ก็ไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด แต่อาจจะมีข้อห่วงกังวลอยู่บ้างเกี่ยวกับเรื่องของข้อกฎหมายที่อาจจะไปขัดหรือลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น
    “เหตุผลบางอย่างที่มีความจำเป็นก็ไม่สามารถพูดออกไปได้ทั้งหมด แต่อยากให้ทราบว่าที่บอกว่า การกำหนด 90 วันนั้น เพราะ สนช.คิดจะยืดอายุการทำงานของตัวเองไปอีก 2-3 เดือน อยากบอกตามตรงว่าการทำงาน สนช. แค่ยืดเวลาไปซัก 2-3 เดือน ก็ไม่มีผลประโยชน์อะไรต่อพวกเราเลย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทำเพื่อยืดเวลาตัวเอง” นายกิตติศักดิ์กล่าว
    นายเสรี สุวรรณภานนท์ กมธ.ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ.ได้มีการพิจารณาเรื่องระยะเวลาที่กำหนดไว้เดิมตามรัฐธรรมนูญนั้น เกรงว่าจะทำให้พรรคการเมืองดำเนินการไม่ทันในหลายเรื่อง เช่น เรื่องของสมาชิกพรรค เรื่องไพรมารีโหวต รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ซึ่งในที่ประชุมก็มีผู้เสนอมาว่า หากเป็นเช่นนี้ เมื่อพรรคการเมืองยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ อาจจะทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าไม่สุจริตเที่ยงธรรมได้ ซึ่งเป็นความหวังดีต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าของคณะกรรมาธิการฯ เท่านั้น 
เลื่อน 3 เดือนจะเป็นไรไป
       “ยืนยันว่าเป็นความหวังดีของ กมธ.เท่านั้น และต้องทำความเข้าใจด้วยว่าไม่ได้เป็นใบสั่งใคร แต่เป็นความหวังดีในที่ประชุม ซึ่งมีผู้เสนอมา ก็ต้องมีการอธิบายทำความเข้าใจ ซึ่งผมและนายวันชัย สอนศิริเป็นเสียงข้างน้อยในที่ประชุมร่วมกับ กรธ.ที่เป็น กมธ.ด้วย เหตุผลที่ผมไม่เห็นด้วยนั้น เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง จะทำให้สังคมมีความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นใบสั่งของผู้มีอำนาจ และจะทำให้กระทบต่อรัฐบาลและ คสช. พอข่าวออกไปก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ซึ่งเดิมทีตกลงกันว่าหากใครเสนอก็ให้ไปสงวนคำแปรญัตติไว้เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ สนช.เพื่อพิจารณา แต่เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุม กมธ.ก็โหวตว่าให้แก้ไขในส่วนนี้ไปเลย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าข้อเสนอของ กมธ.เสียงข้างมากก็เป็นความตั้งใจดีที่จะทำให้การเลือกตั้งในครั้งหน้ามีความบริสุทธิ์ยุติธรรม” นายเสรีกล่าว
    ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ในฐานะ กมธ.สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ไม่มีใบสั่งหรือการส่งซิกให้ สนช.ขยายเวลาการบังคับใช้ร่างกฎหมายดังกล่าว แต่เป็นเรื่องที่ กมธ.เห็นว่ามีความจำเป็นต้องขยายเวลาการบังคับใช้ เพื่อให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ทัน ต้องยอมรับว่าขณะนี้ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง และ กมธ.รวบรวมความเห็นการทำกฎหมายลูกฯ เห็นว่าหากบังคับใช้กฎหมายทันที เชื่อว่าจะทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถทำไพรมารีโหวตในส่วนของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคได้ทัน ซึ่งจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ยืนยันว่าข้อเสนอจากพรรคการเมืองที่จะให้ยกเลิกการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกนั้นเป็นไปไม่ได้ 
    “ผมเห็นด้วยกับการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย กมธ.รับฟังความเห็นการทำกฎหมายลูกได้คุยกันมาตั้งแต่ต้นว่า พรรคการเมืองไม่มีทางทำไพรมารีโหวตได้ทัน อุตส่าห์แก้ไขให้แล้ว และเลื่อนไปอีกเพียง 3 เดือน ไม่น่าจะมีปัญหา หากยังไม่ได้ปลดล็อก ถามว่าถ้าเลือกตั้งเลยแล้วทำไม่ทัน ใครต้องรับผิดชอบ จะมาหาเหตุว่าให้ยกเลิกการทำไพรมารีโหวตในครั้งแรก ผมไม่เห็นด้วย ไม่อย่างนั้นเราจะปฏิรูปการเมืองกันทำไม รีบเลือกตั้งไปแล้ว ได้นักการเมืองที่ไม่ใช่นักการเมืองของประชาชน แต่เป็นนักการเมืองของนายทุนอีก ปัญหาเดิมก็กลับมา เกิดการประท้วงกันอีก ผมคิดว่าเราขยายเวลาออกไปอีกแค่ 2-3 เดือน จะเป็นไรไป” 
    นายสมชายกล่าวย้ำว่า การขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไป อาจส่งผลให้การเลือกตั้งขยับออกไปอีกไม่เกิน 3 เดือน เชื่อว่าไม่มีผลกระทบอะไรต่อบรรยากาศในบ้านเมือง แต่กลับเป็นเรื่องดี เพราะขณะนี้ประชาชนบางส่วนยังไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง
    ทางด้านฝ่ายการเมือง นายองอาจ คล้ามไพบูลย์  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่มีคนของรัฐบาลออกมาบอกว่าเรื่องนี้เป็นดุลยพินิจของกรรมาธิการและ สนช. รัฐบาลและ คสช.ไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้  อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ เพราะกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. เป็นกฎหมาย 1 ใน 4 ฉบับของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจนว่า เมื่อกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้เสร็จเรียบร้อยมีผลบังคับใช้ ก็จะเข้าสู่การเลือกตั้ง ถ้าผู้มีอำนาจต้องการขยายเวลาการเลือกตั้งออกไป ก็ต้องใช้ช่องทางของการออกกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ให้ต่อท่ออำนาจออกไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะจัดการทุกอย่างตามแผนให้เข้าที่เข้าทาง เพราะนอกจากจะแต่งตัวพรรคใหม่ยังไม่เสร็จแล้ว การอัดฉีดเม็ดเงินลงไปในพื้นที่ด้วยหลากหลายโครงการประชานิยมในรูปแบบประชารัฐบวกไทยนิยม ที่ถมลงไป ก็ยังออกดอกออกผลไม่เต็มที่พอที่จะกระชากความศรัทธาของประชาชนต่อผู้มีอำนาจให้เพิ่มมากขึ้น จนมั่นใจได้ว่าหนทางข้างหน้าจะปูด้วยกลีบกุหลาบ ด้วยเหตุผลนี้เอง จึงน่าจะมีความเป็นไปได้ที่ผู้มีอำนาจจะส่งซิกไปยัง สนช.ให้ขยายเวลาเลือกตั้งออกไป เพื่อจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยตามเป้าหมาย
สนช.-คสช.สมคบคิด
    ส่วนที่โฆษก กมธ.อ้างว่าเพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งของ คสช.ที่ 53/2560 ที่กำหนดกระบวนการทางธุรการของพรรคการเมืองใหม่ที่จะเริ่มเดือนมีนาคมนี้   นายองอาจกล่าวว่า เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะถ้าผู้มีอำนาจไม่เข้ามายุ่งกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง  ด้วยการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ขัดรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์ให้พรรคที่จะจัดตั้งใหม่ และบอนไซพรรคที่มีอยู่แล้ว โดยปล่อยให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามปกติ หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้เมื่อหลายเดือนก่อน ก็คงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องใช้ช่องทางการขยายเวลาเลือกตั้งออกไปผ่านการทำกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.    
    "ขอฝากไปยังผู้มีอำนาจว่า การดำเนินการทางการเมืองเพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ เป็นไปในลักษณะเอาสีข้างเข้าถูมากขึ้นเรื่อยๆ เกรงว่าถ้าเอาสีข้างเข้าถูเพิ่มมากขึ้น นอกจากสีข้างจะถลอกแล้ว ระวังจะถลอกไปทั้งตัว ควรเอาเวลาที่มาคิดแผนแก้เกมอำนาจ  ไปแก้ไขเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนที่ยังร้องระงมกันอยู่ทั่วบ้านทั่วเมืองขณะนี้ น่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชนคนหาเช้ากินค่ำมากกว่า" นายองอาจกล่าว 
    นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กมธ.อ้างว่ามีเหตุผลบางอย่างที่มีความจำเป็น ก็ไม่สามารถพูดได้ทั้งหมด และที่ยืดอายุการทำงานของ สนช.ไปอีก 2-3 เดือน ไม่มีผลประโยชน์อะไรนั้น นายกิตติศักดิ์ออกมาแถลงแก้เกี้ยวแก้ผ้าเอาหน้ารอดเท่านั้น เพราะการเขียนกฎหมายให้มีผลนับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 90 วัน เท่ากับเล็งเห็นผลแล้วว่ายืดอายุ สนช.ออกไปอีก 90 วันเต็ม เงินเดือน สนช.และผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญอีกเดือนละ 2-3 แสน พร้อมสิทธิประโยชน์ รับประทานอาหารฟรี กาแฟฟรี โดยสารเครื่องบินทุกสายฟรี รถไฟชั้น 1 ฟรี ก็ยืดเวลาออกไปอีก 90 วันเช่นกัน 
    "จึงสรุปได้อย่างชัดเจนว่า การที่ กรธ.วิสามัญ พ.ร.ป.ฉบับนี้พยายามร่างกฎหมายตอบสนองทหารผู้มีอำนาจทางเมือง ก็เพราะ 1.เป็นลิ่วล้อ ที่ไม่สามารถปฏิเสธคำสั่งคนที่แต่งตั้งตนเองเข้ามาเป็น สนช.ได้ 2.ตนเองก็ได้ประโยชน์ 2 เด้ง คือ 2.1 สนช.ทุกคนได้ผลประโยชน์ทับซ้อน คือได้เงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ 2.2 ได้เป็น ส.ว.จากการแต่งตั้งของ คสช.ทุกคน ถ้ายังซ้ายหันขวาหันถูกก็ได้เป็น ส.ว.หมดทุกคน"  
    นายวัชระกล่าวย้ำว่า เป็นใบสั่งของทหารที่มีอำนาจทางการเมืองอย่างแน่นอน เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมา สนช.เป็นลูกไล่ของรัฐบาลและ คสช.มาตลอดเวลา และปรากฏว่าไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ที่กฎหมาย พ.ร.ป.นี้จะประกาศใช้บังคับภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วัน ทำให้คำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ต่อนานาชาติว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยไม่มีการเลื่อนการเลือกตั้งอย่างแน่นอน กลายเป็นการกล่าวคำเท็จต่อประชาคมโลก นานาชาติจะไม่ให้การเชื่อถือประชาธิปไตยแบบไทยๆ อีกต่อไป 
    "การออกกฎหมายลูกที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามกฎหมายหรือไม่ อยากให้ สนช.ดูสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วเป็นตัวอย่างในกรณีออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ทราบว่า ป.ป.ช.กำลังชี้มูลความผิดอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย สนช.ชุดนี้ก็เช่นกัน ระวังกรรมสนองในอนาคต แม้มี คสช.ในวันนี้ ก็ไม่อาจช่วยอะไรท่านได้ คำสั่งของ คสช.เทียบเท่าเพียง พ.ร.บ.เท่านั้น ไม่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลของท่านต้องมาสนองตัณหาการเมืองของคนบางคน หรือความเหิมเกริมในอำนาจของ สนช. ออกกฎหมายตามอำเภอใจ ตามใจ คสช." นายวัชระกล่าว 
เตือนเชื้อไฟ ปชช.ระเบิด
    นายศุภชัย ศรีหล้า อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าผู้มีอำนาจต้องการยืดเวลาอยู่ในอำนาจตนเองต่อไป โดยจะทำอย่างไรก็ทำได้ด้วยวิธีการร้อยแปด ช่วงที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า พอมีอำนาจก็หลงอยู่ในอำนาจ เพราะคนรอบข้างสรรเสริญเยินยอ แต่อยากฝากว่า ความรู้สึกของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ตนได้สัมผัสมา มีความเดือดร้อน ความทุกข์ยาก สะสมอัดอั้นคุกรุ่นอยู่ในใจ การหาเหตุเลื่อนเลือกตั้งในแนวบีบบังคับเพื่อยื้ออำนาจต่อไปเรื่อยๆ ขอให้ระวังเชื้อไฟในใจประชาชนจะระเบิดขึ้นมา ซึ่งถือว่าเปราะบาง และอันตรายมาก ถ้าถึงวันนั้นจะไม่มีใครคุมสถานการณ์อยู่ และผู้มีอำนาจจะเสียใจ  
    "ผมอยู่กับชาวบ้าน รู้เลยว่าสถานการณ์ของผู้มีอำนาจเดินต่อลำบาก โดยเฉพาะประเด็นความไม่ชอบมาพากลเรื่องแหวนและนาฬิกาของคนรอบข้าง ผู้มีอำนาจที่สังคมยังคาใจ สนช.ยังเป็นอีกหนึ่งตัวการสร้างปัญหา และที่อันตรายอีกเรื่องคือการทำงานทั้งที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติร่างกติกา ร่างกฎหมายเพื่อการปฏิรูปเดินหน้าประเทศ แต่ขณะนี้กลับแสดงพฤติกรรมทำหน้าที่แบบหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมายเสียเอง รวมถึงกรณีที่บอกว่ามีสื่อและนักการเมืองจะมาล้มรัฐบาล คสช.ก็เช่นกัน วันนี้คงไม่มีใครทำอันตรายท่านได้ มีแต่ท่านทำตัวพวกท่านเองที่เกิดมีปัจจัยล่อแหลมในขณะนี้ ทำตัวเองทั้งนั้น โปรดอย่าไปโทษคนอื่น" นายศุภชัยกล่าว
    นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์เรื่องเดียวกันว่า ตอนนี้เป็นเพียงเสียงข้างมากของกรรมาธิการ แต่สุดท้ายต้องไปจบที่ สนช. ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร สนช.คือหนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย ที่มี คสช.อยู่ด้วย และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า เชื่อว่าน่าจะมีเจตนารมณ์ที่ตรงกัน นายกฯ วางไว้ว่าจะต้องเป็นไปตามโรดแมป คือหลังจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว 150 วัน คือเดือนพฤศจิกายน ซึ่งนายกฯ ได้ให้สัญญาประชาคมไว้แล้ว ซึ่งคนทั้งโลกรู้หมดแล้วว่าประเทศไทยจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งในปีนี้ ประชาคมยุโรปจึงได้ผ่อนปรนและปลดล็อกให้ประเทศไทย เพราะเชื่อในภาวะผู้นำของนายกฯ และ คสช.
    "หาก สนช.ทำสิ่งตรงข้ามกับแม่น้ำ 5 สาย นายกฯและประเทศไทยจะเสียหายอย่างไร และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ นายกฯ ประเทศไทยจะกลายเป็นตัวตลก เมื่อ สนช.ก็เป็นหนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย ควรทำงานไปในทิศทางเดียวกัน อย่าไปหมิ่นน้ำใจของประชาชน อย่าไปคิดว่าจะทำอะไรกับประชาชนก็ได้ วันนี้ประชาชนตั้งความหวังเอาไว้สูงมาก สะท้อนจากทุกโพลที่ออกมาเห็นว่าประชาชนอยากกลับไปสู่สนามการเลือกตั้งแล้ว เมื่อประชาชนได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถพึ่งพาอาศัยได้ มีสะพานเชื่อมทอด มีตัวแทนเชื่อมระหว่างพรรคการเมือง กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่วันนี้ไม่มี ประชาชนเหมือนกำลังว้าเหว่ ไม่รู้จะหันไปทางไหน จึงอยากให้ สนช.ทุกคนหวนกลับไปมองภาพตัวเองเมื่อวันที่รับตำแหน่ง และยืนปฏิญาณตนในสภา ที่กล่าวไว้ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ แล้วจะยอมเสียสัตย์กับตัวเองหรือ ตนจากรอดูในวันที่ 25 ม.ค.นี้ จะเป็นการวัดใจว่าสนช.เลือกยืนอยู่ข้างไหน" นายสมศักดิ์กล่าว 
    ส่วนกรณีที่ กมธ.บอกว่าการขยายเวลาออกไปอีก 90 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งของ คสช.ที่ 53/ 2560 ที่กำหนดกระบวนการทางธุรการของพรรคการเมืองใหม่ ที่จะเริ่มเดือน มี.ค.นี้ รวมทั้งการรีเซตสมาชิกพรรคของพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้ว นายสมศักดิ์กล่าวว่า ตอนที่ยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ต้องรู้อยู่แล้ว เพราะ คสช.อยู่ใน สนช.ก็มี เชื่อว่ากรรมาธิการก็มีอยู่ใน คสช. และปรึกษาหารือกันก่อนยกร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา ดังนั้นต้องคิดและคำนึงรอบด้านแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นข้ออ้าง 
    นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นกันว่า หากมีการขยับวันเลือกตั้งออกไปจากเดือน พ.ย.61 ตามที่เคยประกาศไว้ ผลเสียย่อมเกิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นผู้ให้คำมั่นสัญญา ผลเสียที่เกิดกับตัวบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา ย่อมตกแก่บุคคลนั้นเป็นการเฉพาะ เช่น อาจถูกกล่าวว่าเป็นโมฆบุรุษ เป็นบุคคลที่เชื่อถือไม่ได้ เป็นคนที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องบุคคล แต่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย ผลเสียย่อมเกิดแก่ประเทศตามไปด้วย โดยเฉพาะมิตรประเทศหรือนักลงทุน จะเชื่อมั่นประเทศไทยอย่างไรเมื่อผู้นำฝ่ายบริหารผิดคำมั่นสัญญากับประชาชนและชาวโลกซ้ำซาก จนเสียหายไปถึงหน้าตาของประเทศ หากความเชื่อมั่นประเทศถดถอย ใครจะรับผิดชอบ ทางแก้คือต้องปฏิบัติตามคำพูด ตามคำมั่นสัญญา เพื่อหน้าตาประเทศ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นประเทศให้กลับคืนมาบ้าง 
วิกฤติศรัทธา 4 ด้าน
    "ประชาชนที่แสดงออกผ่านโพลต้องการการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาขน ถ้ามองประเด็นการรักษาคำมั่นสัญญาของผู้นำประเทศไม่ออกจริงๆ ก็สมควรที่จะเป็นโมฆบุรุษ และถือเป็นกรรมของประเทศ ที่คนไทยส่วนรวมต้องมาร่วมรับความถดถอยทางด้านความเชื่อมั่นประเทศอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน" นายชวลิตกล่าว
    ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เขียนข้อความเผยแพร่สื่อมวลชน ระบุว่า กลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบันกำลังสร้าง 4 วิกฤติให้เกิดขึ้น คือ 1. “วิกฤติศรัทธาผู้นำ” จาก “โรคเลื่อน” ผู้นำที่พูดจาไร้หลักการ เลื่อนลอย เปลี่ยนแปลงตามอำเภอใจของตนตลอดเวลา วิกฤติจากโรคเลื่อนจากโรดแมป ที่ประกาศต่อคนไทยและโลก ถือเป็นความล้มละลายของภาวะผู้นำ ในความน่าเชื่อถือ 2.“วิกฤติความโปร่งใส” เกิดจากทีมงานคนรอบข้างและเครือญาติสนิทของผู้นำความเสื่อมทรุดทางด้านความโปร่งใส ข้อคลางแคลงใจ ที่กำลังเป็นข่าวฮือฮาดังระดับโลกคือเรื่อง “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน” เมื่อถูกสังคมตั้งคำถาม ก็ไม่สามารถให้เหตุผลที่ยืนยันความโปร่งใสของเจ้าของเรื่องได้ การให้เหตุผลที่มักง่าย ยิ่งนานไปยิ่งมีปรากฏการณ์ที่ขยายความไม่โปร่งใสครึกโครมมากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา 
    3.“วิกฤติหลักการ” ใช้หลักกูแทนปกครองโดย อำเภอใจ แทนหลักนิติธรรม และเลือกใช้หลักกฎหมายแบบเลือกปฏิบัติ เป็นการใช้อำนาจปกครองประเทศและผู้เห็นต่าง เพื่อตอบสนองอำเภอใจของผู้นำการใช้อภินิหารทางกฎหมายซึ่งแท้ที่จริงคือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ กำราบผู้ที่เป็นภัยต่ออำนาจของตน การใช้เล่ห์ เพทุบาย สมคบคิดกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกับกลุ่มผู้นำ เพื่อหาช่องทางสืบต่ออำนาจเป็นการบิดเบือนหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ของพวกพ้องตนอย่างน่าละอาย 4.“วิกฤติผลงาน” เพื่อให้คนจนหมดทั้งประเทศ ผลงานที่ออกมาสู่สายตาสาธารณชน ที่รัฐบาลพยายามใช้ทุกช่องทางโฆษณาว่าประสบความสำเร็จน่าพึงพอใจ แต่มีนักวิชาการและสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อย ที่สะท้อนด้านที่เป็นความล้มเหลวของคณะผู้มีอำนาจ โดยวิจารณ์ว่าผลงานที่ออกมาอำนวยความสุขและผลประโยชน์ให้แก่เครือข่ายของชนชั้นนำ บริษัทชั้นนำใหญ่ๆ/เครือญาติและพวกพ้องของกลุ่มผู้มีอำนาจมากกว่าเป็นประโยชน์ของประชาชน 
    "วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 4 ประการ นำไปสู่ความเสื่อมถอยของกลุ่มอำนาจ ทำให้สังคมเห็นเจตนาที่เปิดเผยชัดเจนขึ้น เรื่องความต้องการในการสืบทอดอำนาจ ของคณะผู้มีอำนาจในปัจจุบัน และที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงสถานะและบทบาทของกลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบัน จากคนกลางที่อ้างว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ประเทศ กลายเป็นผู้เล่นหลัก ที่ต้องการเข้ามาสืบต่ออำนาจ โดยพยายามชิงความได้เปรียบ วันนี้เราไม่อาจพึ่งพาการตรวจสอบใดๆ ได้ บทบาทและกระบวนการตรวจสอบจากกลไกของภาคประชาชน กำลังทำงานอย่างเข้มแข็ง เพื่อแก้วิกฤติจากความคิดและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเอง" นายภูมิธรรมกล่าว      
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกรุงเทพโพลล์ระบุว่า ประชาชนร้อยละ 70.6% อยากได้นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง และคะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ลดลงอย่างชัดเจนว่า ถึงเวลาที่รัฐบาล คสช.ต้องฟังประชาชน ต้องสำรวจตัวเองและยอมรับความจริง สิ่งที่ทำมาแก้ไขปัญหาของประเทศสำเร็จหรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน ราคาสินค้าเกษตรที่ต้นทุนการผลิตสูง แต่ราคาขายตกต่ำ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก จนกระจาย ปัญหาการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่ปราบไปปราบมาดันมาพันกับคนของรัฐบาลและ คสช.เองหรือไม่ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ที่ยังไม่คืบหน้า 
    "แม้แต่เรื่องโรดแมปเลือกตั้ง ยังลับลวงพราง คิดเอาเปรียบกันแบบการเมืองโบราณ จนไม่เหลือความเชื่อมั่นว่าตกลงจะได้เลือกตั้งกันปีไหน วันนี้ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ อยากเห็นการเลือกตั้งในปี 2561 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นมาก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งก็ด้วยปัจจัยที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งถ้าไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามา มีแต่ปัจจัยลบและความไม่ชัดเจน จะกลายเป็นวิกฤติศรัทธากระทบต่อเชื่อมั่นของประเทศในทุกภาคส่วน หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ คะแนนนิยมอาจลดต่ำลงอีกหรือไม่" นายอนุสรณ์กล่าว
    นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ผลโพลที่ออกมาสะท้อนชัดถึงอย่างไรคนอยากได้นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่า พอเสียทีรัฐบาลที่มาจากหลังคาออกทางประตู แต่ต้องการรัฐบาลที่มาตามตรอกออกทางประตูมากกว่า แม้รัฐบาลประชาธิปไตยอาจมีขัดแย้งบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ควรปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของการเมือง ผลออกมาเช่นนี้ ชัดเจนคนไทยรู้สถานการณ์การเมืองดี สิ่งที่พอบอกได้คือรัฐบาลเมื่อไม่ได้มาจากประชาชน แม้ดูเหมือนแข็งแรง แต่พอมีเรื่องมีปัญหาทั้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รายได้คนระดับล่างถึงกลางลดลง คนทำลำบาก รัฐบาลเมื่อเจอเช่นนี้ ก็ทำให้พับได้เช่นกัน
    นายโสภณ เพชรสว่าง สมาชิกกลุ่มสโมสร ส.ส.กล่าวถึงกรณีนายเอกพร รักความสุข สมาชิกในกลุ่มเตรียมตั้งพรรคพลังพลเมืองว่า นายเอกพรเป็นคนมีความรู้ความสามารถ เป็นคนดี หากสามารถรวมอดีตส.ส.คุณภาพ ไม่มีแผล มารวมกันได้ก็ดี ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ประชาชนได้ตัดสินใจ เท่าที่ทราบการประกาศให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่พรรคของนายทุน ถือเป็นสิ่งที่ดี ที่ผ่านมาประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งการเลือกหัวหน้า กรรมการบริหาร กำหนดนโยบายเลย ส่วนในอนาคต หากมีการทาบทามตน จะไปอยู่ด้วยหรือไม่นั้น แม้วันนี้ยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย คิดว่านโยบายของเขาที่ผ่านมาก็ใช้ได้ ส่วนพรรคพลังพลเมือง ขอดูนโยบาย การบริหาร การรวมกัน ใครจะเป็นหัวหน้า เบื้องต้นเห็นด้วยกับแนวคิดจะตัดนายทุนออกจากพรรคการเมือง และควรเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำให้ได้ ผ่านรูปแบบการรวมตัวของสหกรณ์ นอกจากนี้ ขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ปลดล็อกให้นักการเมืองพรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมได้แล้ว     
    ส่วนความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ ช่วงค่ำได้ไปร่วมงานเลี้ยงรับรองเนื่องในวันกองทัพบก ปี 2561 ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี และบรรดาทูตานุทูต ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศ ร่วมในงาน 
    นอกจากนี้ยังมีคณะรัฐมนตรี อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม,  พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม มาร่วมงาน และบุคคลสำคัญ ได้แก่ พล.อ.เทพพงษ์ ทิพย์จันทร์ ปลัดกระทวงกลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ 
    ทั้งนี้ เจ้าสัวบุญชัย เบญจรงคกุล นักธุรกิจชื่อดัง พร้อมภรรยา ตั๊ก บงกช คงมาลัย, นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ผู้บริหารบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บุคคลใกล้ชิด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เปิดเผยว่า ที่ พล.อ.เปรมไม่ได้เดินทางมาเป็นประธานงานเลี้ยงรับรองวันกองทัพบกตามกำหนดการที่สโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดีรังสิต เนื่องจากร่างกายอ่อนเพลีย และทานอาหารได้น้อย แต่ไม่ได้เป็นอะไรมากนัก แพทย์จึงขอให้พักผ่อนตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.เปรมมีอาการดีขึ้นแล้ว โดยเมื่อวันเสาร์สามารถเดินออกกำลังกายในบ้านสี่เสาเทเวศร์ตามปกติ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"