ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลทรัมป์กับอิหร่านเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหลังสหรัฐยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (JCPOA) เพียงฝ่ายเดียว ในขณะที่คู่สัญญาอื่นๆ (รัสเซีย จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนีและอิหร่าน) ยังคงรักษาข้อตกลงเดิม พร้อมกับออกมาตรการคว่ำบาตร ห้ามบริษัทเอกชนซื้อขายน้ำมันกับอิหร่าน ทั้งยังห้ามประเทศอื่นๆ ด้วย ขู่ว่าใครซื้อขายน้ำมันอิหร่านจะถูกเล่นงาน
วุฒิสมาชิก ลินซีย์ เกรแฮม (Lindsey Graham) ย้ำว่าอิหร่านคือภัยร้ายแรงสุดของอเมริกาในขณะนี้ พยายามสร้างอาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาลพร้อมที่จะล้มระบอบอิหร่าน
ก่อนหน้านั้นทรัมป์กล่าวถึงอิหร่านว่าอย่าได้ข่มขู่สหรัฐอเมริกาอีก มิฉะนั้นจะถูกตอบโต้สาสมอย่างที่ไม่กี่ประเทศเคยประสบมาก่อน
ด้านประธานาธิบดีโรฮานีโต้ว่า “คุณทรัมป์อย่าเล่นหางสิงโต เพราะคุณจะเสียใจ” หากทำสงครามจะกลายเป็นหายนะ อิหร่าน “จะไม่ยอมจำนนต่อคำขู่” ถ้าอิหร่านส่งออกน้ำมันไม่ได้ ประเทศอื่นๆ จะส่งออกไม่ได้เช่นกัน พร้อมปิดช่องแคบฮอร์มุซ (Straits of Hormuz) เป็นโอกาสอันดีที่ทั่วโลกจะเห็นนโยบายต่อต้านมุสลิมและความเป็นเชื้อชาตินิยมสุดโต่งของรัฐบาลสหรัฐ
บทความนี้จะวิเคราะห์ด้วย 2 มุมมอง คือ “มองอย่างไม่มีเหตุผล” กับ “มองอย่างมีเหตุผล”
มองอย่างไม่มีเหตุผล :
มุมมองอย่างไม่มีเหตุผลอธิบายว่าเนื่องจากรัฐบาลทรัมป์ยึดถืออิหร่านเป็นปรปักษ์สำคัญลำดับต้นตั้งแต่เริ่มรัฐบาล เป็นศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐ การพูดโจมตีอิหร่านอีกครั้งจึงไม่ใช่ของแปลก การพูดว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามร้ายแรง หวังสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ส่งเสริมก่อการร้าย บ่อนทำลายความมั่นคงประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องเก่าๆ พูดที่ซ้ำมาแล้วหลายรอบ
การที่ประธานาธิบดีทรัมป์พูดถึงอีกครั้งจึงเหมือนนำหนังเก่ามาฉายซ้ำ ที่อาจถือว่าใหม่คือการถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ทรัมป์กล่าวว่า JCPOA “เป็นเรื่องน่าละอายของสหรัฐอเมริกา” “เป็นข้อตกลงห่วยที่สุดในประวัติศาสตร์” “ไม่ควรทำข้อตกลงแบบนี้เลย”
ถ้าใช้แนว “มองอย่างไม่มีเหตุผล” คำพูดของทรัมป์รอบล่าสุดเป็นเพียงการยั่วยุ เกิดสงครามน้ำลายสักพัก ท้ายที่สุดไม่มีผลอะไร ทรัมป์ได้ทำสิ่งที่ต้องการแล้ว
มองอย่างมีเหตุผล :
ถ้ามองอย่างมีเหตุผล เป็นไปได้ว่าทรัมป์กำลังทดสอบปฏิกิริยาจากนานาชาติและคนอเมริกันอีกครั้ง เหตุเพราะที่ผ่านมาหลายนโยบายบั่นทอนคะแนนนิยมของตน มีผลต่อคะแนนนิยมของพรรครีพับลิกัน ที่การเลือกตั้งกลางเทอมกำลังจะมาถึง (เลือกตั้ง ส.ส., ส.ว. กลางสมัยรัฐบาล)
อีกด้านคือมุมมองต่อสหรัฐจากสายตานานาชาติย่ำแย่ลงมาก อาจเป็นการทดสอบปฏิกิริยานานาชาติหากสหรัฐต้องการเล่นงานอิหร่านให้หนักกว่านี้
ยุทธศาสตร์แม่บทสหรัฐกำหนดเป้าหมายล้มล้างระบอบอิหร่านมาหลายทศวรรษแล้ว เป็นนโยบายเดียวกับพวกซาอุฯ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาอิหร่านจึงตกเป็นเป้า ถูกคว่ำบาตรเรื่อยมา ในสมัยโอบามาแม้จะคลายคว่ำบาตรบ้างแต่ไม่ยุติทั้งหมด บัดนี้นโยบายของทรัมป์ดำเนินตามยุทธศาสตร์แม่บทเดิมอย่างเต็มที่
สนับสนุนกลุ่มประท้วงในประเทศอิหร่าน
เมื่อช่วงสิ้นปี 2017 จนถึงต้นปี 2018 ประชาชนอิหร่านจำนวนหนึ่งชุมนุมประท้วงรัฐบาล การประท้วงเริ่มที่เมืองมัชฮัด (Mashhad - เมืองใหญ่อันดับ 2 ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ใกล้อัฟกานิสถาน) จากนั้นกระจายไปหลายสิบเมือง
ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มการจ้างงานและลดอัตราเงินเฟ้อ มีการชุมนุมต่อเนื่องหลายวัน ท่ามกลางการชุมนุมมีบางคนที่ใช้อาวุธ หวังก่อความรุนแรง ทำลายทรัพย์สินราชการ รวมทั้งสถานที่ศาสนา
การชุมนุมดำเนินต่อเนื่องหลายวัน มีรายงานผู้เสียชีวิตหลายสิบราย หลายพันคนถูกจับกุม เหล่านี้ชี้ว่าไม่ใช่การชุมนุมเล็กๆ แน่นอน
ควรเข้าใจว่าการชุมนุมรอบนี้เกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลทรัมป์ยังไม่ยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ ยังไม่ประกาศห้ามซื้อขายน้ำมันกับอิหร่าน
6 เดือนต่อมาหรือกลางปีที่ผ่านมา มีเหตุชุมนุมประท้วงใหญ่อีกรอบ ด้วยสาเหตุเดิมคือปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา
ในการชุมนุมรอบนี้ ผู้ชุมนุมบางคนกังวลเรื่องการคว่ำบาตรจากสหรัฐด้วย
แม้ว่าคนอิหร่านจะคุ้นเคยกับการคว่ำบาตร แต่วิตกกังวลต่อการคว่ำบาตรที่อาจรุนแรงมากในยุคทรัมป์ เพราะจะซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้หนักกว่าเดิม ตัวเลขว่างงานที่รัฐบาลประกาศอยู่ที่ร้อยละ 12.3 และคาดว่าจะสูงขึ้นอีก
เศรษฐกิจอิหร่านอ่อนแอเป็นเรื่องจริง ประชาชนบางส่วนไม่พอใจรัฐบาลเป็นเรื่องจริง แม้มีข้อโต้แย้งว่าคนเหล่านี้ถูกต่างชาติจ้างวาน เสี้ยมสอนให้ต่อต้านรัฐบาล
ค่าเงินเรียลอิหร่านหล่นฮวบ
พร้อมๆ กับการชุมนุมประท้วงรอบกลางปี ปลายเดือนมิถุนายนเงินเรียลในตลาดมืดซื้อขายกันที่ 90,000 เรียลต่อดอลลาร์ ส่วนหนึ่งมาจากการที่นักลงทุนต่างชาติขาดความมั่นใจต่อการลงทุนในอิหร่าน แม้ยังไม่กระทบโดยตรงมากนัก แต่กระแสวิตกกังวลพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว
รัฐบาลอิหร่านชี้ว่าเป็นแผนใช้สงครามเศรษฐกิจบ่อนทำลายจากสหรัฐ และยอมรับว่าผู้ชุมนุมบางส่วนไม่พอใจนโยบายรัฐที่ไม่โปร่งใสพอ
ปลายเดือนกรกฎาคม อัตราแลกเปลี่ยนเงินเรียลในตลาดมืดอ่อนตัวลงอีกอยู่ที่ 112,000 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐ
ถ้ามองอย่างมีเหตุผล การที่ประธานาธิบดีทรัมป์พูดโจมตีอิหร่านในช่วงนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งของแผนบั่นทอนอิหร่าน สงครามน้ำลายยิ่งแรงเพียงไรยิ่งส่งผลร้ายต่ออิหร่าน
ที่ผ่านมารัฐบาลอิหร่านจะตอบโต้สหรัฐเรื่อยมา จึงควรคิดว่าหากทรัมป์พูดจาหาเรื่องอีกครั้ง อิหร่านน่าจะตอบโต้ และครั้งนี้เป็นเช่นนั้น
สหรัฐสามารถเล่นงานอิหร่านได้ง่ายๆ โดยอาศัยปากทรัมป์
ประธานาธิบดีโรฮานียอมรับว่าสหรัฐใช้สงครามจิตวิทยาและสงครามเศรษฐกิจเพื่อสร้างความแตกแยกในอิหร่าน ทำให้ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นและไม่มั่นใจอนาคต
อิหร่านคือภัยร้ายแรงที่สุดของอเมริกา :
ถ้ายึดว่าความตึงเครียดกรณีเกาหลีเหนือผ่อนคลายแล้ว จะเหลืออิหร่านเพียงประเทศเดียวที่เป็นภัยร้ายแรงด้านความมั่นคง
ลักษณะหนึ่งที่โดดเด่นมาก ในยุค America First คือรัฐบาลทรัมป์พร้อมทำทุกอย่าง แม้ละเมิดกติกาสากล ละเมิดความชอบธรรม ในกรณีอิหร่านที่เห็นชัดคือการยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ JCPOA เพียงฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA - หน่วยงานสหประชาชาติที่ดูแลนิวเคลียร์ทั่วโลก) ประกาศเรื่อยมาว่าอิหร่านทำตามข้อตกลงทุกข้อ (ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี รัสเซียและจีนยอมรับเช่นกัน) อิหร่าน ณ วันนี้ไม่เป็นภัยอาวุธนิวเคลียร์ ใช้นิวเคลียร์เพื่อสันติเหมือนประเทศอื่นๆ แต่รัฐบาลทรัมป์ไม่ยอมรับข้อสรุปนี้ ตัดสินด้วยตัวเองว่าอิหร่านยังเป็นภัยนิวเคลียร์ สวนทางข้อสรุปของ IAEA (และอีก 5 ประเทศคู่สัญญา)
เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมวิเคราะห์ต่อได้ว่ารัฐบาลทรัมป์พร้อมทำทุกอย่างด้วยข้ออ้างตรรกะของตัวเองแม้จะขัดแย้งกับนานาชาติก็ตาม ข้อตกลงใดๆ ที่สหรัฐเคยทำกับประเทศใด ไม่ว่าจะทวิภาคีหรือพหุภาคี จะลับหรือไม่ลับ รัฐบาลสหรัฐพร้อมถอนตัวออกเสมอ
สหรัฐเล่นงานอิหร่านได้อีกไหม :
ถ้าใช้ตัวอย่างจากอดีต รัฐบาลทรัมป์อาจโจมตีอิหร่านด้วยขีปนาวุธ เหมือนที่เคยทำกับซีเรียและอิรักโดยอ้างเหตุผลบางเรื่อง เช่น ใช้อาวุธเคมี กำลังเร่งสร้างระเบิดนิวเคลียร์ สนับสนุนก่อการร้าย
ซึ่งหมายถึงยกระดับการเผชิญหน้าที่รัฐบาลสหรัฐดำเนินเป็นขั้นเป็นตอน คล้ายกับที่เคยทำกับอิรักและซีเรีย จนนำสู่สงครามล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน ประกาศสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอัสซาด จนซีเรียกลายเป็นสงครามกลางเมืองดังที่ปรากฏ
ถ้ามองภาพรวมและพิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามแนวคิดทำลายอิหร่าน การเพิ่มแรงกดดันอิหร่านในช่วงนี้เป็นจังหวะอันดี หวังให้ปัจจัยทั้งภายในกับภายนอกที่ต้านระบอบเสริมแรงกัน ถ้าแม้นไม่สามารถล้มระบอบก็ขอให้เกิดสงครามกลางเมือง อิหร่านถดถอยอ่อนแอย้อนกลับหลายสิบปี ดังเช่นซีเรียที่กลายเป็นซากปรักหักพังและยังไม่รู้ว่าจะสงบได้เมื่อไร
เพียงเท่านี้นับว่าประสบความสำเร็จแล้ว อิทธิพลชีอะห์อิหร่านที่มีต่อทั่วโลกจะลดต่ำลงมาก ทั้งยังมีประโยชน์อีกหลายเรื่องในระดับภูมิภาค
ไม่ว่ารัฐบาลอิหร่านจะยอมเจรจาหรือไม่ หากรัฐบาลสหรัฐคิดจะเล่นงาน ย่อมทำได้เสมอ เพราะอิหร่านภัยคือร้ายแรงที่สุดของอเมริกา.
------------------------
ภาพ : โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |