กทม. Big Cleaning Day ถนนข้าวสาร วานซืน
พอลงมือทำ.........
ก็สะท้อนปัญหาสังคมเมือง ปัญหาเมือง และปัญหาสืบเนื่องจากผู้บริหารเมือง คือ กทม.
เห็นแล้ว "หน่ายใจ"!
ย้อนไป ๔๐-๕๐ ปี ปัญหาของ กทม.คือ "หาบเร่"
แต่ปัจจุบัน "หาบเร่" แทบสูญพันธุ์ ที่มาเป็นปัญหาหลักของ กทม.แทน คือ ร้านค้าประเภท "แผงลอย"
"หาบเร่กับแผงลอย" ไม่ใช่คนละเรื่องเดียวกัน หากแต่มันคนละโลกกันเลยทีเดียว
ทำไมจึงว่า "คนละโลก" ก็ค่อยๆ คุยกันไป แล้วรู้เอง
ขณะ กทม.ลงมือทำความสะอาด จัดระเบียบทางเท้าถนนข้าวสาร
ผมดูข่าวโทรทัศน์ เห็นหญิงหนึ่ง ต้องบอกว่า...เธอใหญ่มาก!
ลักษณะเจ้าแม่ "ทรงอิทธิพล-ทรงอำนาจ" คุมแผงลอยทั้งหมดย่านถนนข้าวสาร
เธอประจันหน้าคนเทศกิจ แสดงบทผู้ทรงอำนาจเหนือให้ทุกคนเห็น
จัดจ้านจนน่าเป็นเจ้าหน้าที่เทศกิจมากกว่าคน กทม.แหยๆ ที่เป็นลูกไล่ให้เธอในฉากข่าว
ลองฟังดูก็ได้..........
".....ท่านกำลังทำลายวิถีถนนข้าวสารที่เขาสร้างกันมา ผู้ค้าบริเวณถนนข้าวสาร นักท่องเที่ยวล้นไปบริเวณนอกไม่น้อยกว่า ๒ กิโลเมตร
สร้างความเจริญให้บริเวณรอบเท่าไหร่ ปกครองท้องถิ่นไม่เคยมีงบมา
ในขณะเดียวกัน จะมาทำลายผู้ค้าคืออะไร......
ไปตั้งร้านกันให้หมด (เสียงลูกสมุนขานรับ) ถ้าไม่ได้ขาย ก็ไม่ได้ขายด้วยกัน อย่าเห็นแก่ตัวกัน"
ฟังแล้วขย้อน........
ขอถามเลย ใน กทม...ใครใหญ่?
สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ เรอะ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ เรอะ
ไม่รู้...รู้แต่ว่า เห็น "กร่าง" นางนี้ ต้องยอมรับ
ที่ "ถนนข้าวสาร" เจ๊...ใหญ่!
หญิงทรงอิทธิพลเหนือ กทม.นางนี้ พูดเต็มปาก การยึดทางเท้าตั้งแผงลอย จนคนใช้เดินไม่ได้
เป็น "วิถีถนนข้าวสาร"!?
และเธอตีค่าการที่คนลงไปเดินในถนนแทนทางเท้าว่า นั่นคือการ "สร้างความเจริญ" ให้ย่านนั้น และบริเวณรอบๆ
จากที่พวกเธอ "ยึดทางเท้า" ไปทำมาค้าขาย!?
ทัศนคติอุบาทว์นี้ เธอได้แต่ใดมา อยากรู้จริงๆ
แต่ต้องยอมรับว่า มัน "สะท้อนจริง" ในสังคมไทย สังคมเมืองใหญ่ และ กทม.ชัดเจนมาก
ชัดเจนว่า นอกจาก "หมาแลกคุ เสื้อผ้าแลกไข่ ตกเขียวแลกคะแนน" ในบ้านนอกแล้ว
ใน กทม.คำว่า "ผ่อนผัน"........
ทำให้กรุงเทพฯ ไร้ระเบียบ, โสโครก, รุงรัง, ตั้งได้-ตั้งไม่ได้, จอดได้-จอดไม่ได้, สร้างได้-สร้างไม่ได้, เปิดได้-เปิดไม่ได้
และทำให้เกิดคำว่า "เทศโกย"
เป็นคำใช้แทนกันกับคำว่า "เทศกิจ"!?
การปล่อยปละแล้วและเล็ม "สมประโยชน์" ซึ่งกันและกัน ต่อเนื่องไปนานๆ
"ทุกฝ่าย-ทุกเขต" จะเข้าไปติดและทึกทักเป็นสิ่งถูกต้อง ใครเข้าไปรื้อ-ไปแก้ไข มันจึงยาก และอำนาจจะถูกท้าทาย
มันเป็นปัญหา "สังคมเชิงซ้อน" ทางบริหารและปกครองไปแล้ว
ชาวบ้าน พ่อค้า-แม่ขาย ที่ทำผิดกฎหมาย มัน "ปลายเหตุ"
ถ้าจะแก้ให้กรุงเทพฯ สมนามนครอมรรัตนโกสินทร์ได้ผลจริงๆ
ต้องแก้ที่ "คณะบริหาร กทม." ซึ่งเป็น "ต้นเหตุ" ให้ได้ก่อน
ทุกวันนี้ คน "อ้างความจน" แล้วทำอะไรก็ได้ เห็นทั่ว
ไม่อ้างเฉยๆ........
ยังใช้เป็นเงื่อนไขเรียกร้องเอาสิทธิพิเศษโน่น-นี่จากรัฐอยู่ร่ำไป!
ก็เพราะการเมืองเรื่องคะแนนเสียงแลกอำนาจกินเมืองนั่นแหละ
หัว คือนักการเมืองส่าย ลำตัวและหาง คือคนในระบบบริหารและปกครอง จึงกระดิกตาม เป็นธรรมดา
"อ้างจน" ทำอะไรก็ได้ ว่าหนักแล้ว
นี่มาเจอ ยึดถนน-ยึดทางเท้า ยึดบ้าน-ยึดเมือง ค้าขายตามใจชอบ แล้วอ้างเป็นวิถีสร้างความเจริญให้บ้านเมือง
ถ้า กทม.ไม่จริงจังให้คนหันมาเกรงกลัวระเบียบบ้าน-กฎหมายเมือง.......
ต่อไป จะมีคนอ้างซ่อง อ้างบ่อน อ้างอบายมุข กระทั่งอ้างยาเสพติด ว่านั่น เป็นวิถีสร้างเศรษฐกิจและความเจริญให้บ้านเมือง!
ที่ฝนตกเป็นน้ำท่วม ส่วนหนึ่งก็จากท่อระบายตัน มันตันเร็วเพราะอะไร?
ไม่เพราะพวกอ้างจน อ้างสร้างวิถี แล้วทำแบบเห็นแก่ได้ดอกหรือ?
ตั้งแผง-ตั้งร้านขายในถนน-บนทางเท้า สารพัดขยะ สารพัดของเสีย ก็กวาดและเทลงถนน ลงท่อระบาย
ที่ กทม.ผ่อนผันในบางถนน........
เทศกิจแต่ละเขต ไม่ใช่ไปตีเส้น-เก็บส่วยหากินจนเป็นวัฒนธรรมฝังรากชั่วล่ะ
ควรควบคุม ให้สะอาด ให้เป็นเวลา อย่าปล่อยให้ตอกพื้นขึงเต็นท์ ล้างกระทะ ล้างชาม สาดโครมลงพื้น ลงโคนต้นไม้ ลงท่อระบาย
ทั้งโสโครก ทั้งตัน ทางเท้าแตกฉิบหาย อย่างเห็นทุกวันนี้
"โกงแบ่งกัน" นั่นน่ะ อย่าไปเอามาเป็นตัวอย่างกระทำเลย
จะทำหรือไม่ทำอีกเรื่อง......
แต่ถ้าหย่อนยานในความรับผิดชอบเป็นอาจิณ พวกฝ่าฝืนกฎระเบียบ ก็จะทึกทักเป็นความชอบธรรม
และนั่น การตีเส้นแบ่งพื้นที่หากิน ก็จะพัฒนารูปแบบขยายเป็น "เขตปกครองส่วย" ซ้อนอยู่ในพื้นที่ ๑,๕๖๘ ตารางกิโลเมตร ที่เรียก กทม.
๕๐ หัวหน้าเขต เป็น ๕๐ หัวหน้าเขตปกครอง!
คนจนจริงๆ น่ะ ไม่มีปัญญา "ตั้งแผง" ขายของบนทางเท้าได้หรอก
ถึงเทศกิจไม่จับ ก็จะถูกมาเฟียถิ่นกระทืบ!
ที่จะตั้งโต๊ะ ตั้งแผง บนทางเท้า ลามลงมาในถนนได้เป็นประจำนั้น
มีปัญญาอย่างเดียวทำไม่ได้ ต้องมีเงิน มีอิทธิพล มีพวกในสำนักเทศกิจและในแต่ละเขตด้วย จึงจะทำได้
และที่ตั้งๆ กัน ไม่ใช่ ๑ คน ๑ เจ้าของนะ............
คนเดียวแหละ "เจ้าของ" ที่เห็นพรึ่ด นั่นสาขาขยาย!
นี่คือปัญหากรุงเทพฯ จาก "แผงลอย" ประเภทยึดทั้งฟุตปาธ ซึ่งน่ารังเกียจมาก
ไม่มีตรงไหนเป็นเสน่ห์ที่จะเรียกเป็นวิถี และใช้กล่าวอ้างเป็นสิ่งสร้างความเจริญให้สังคมได้เลย
ที่ กทม.เขาให้จาก ๖ โมงเย็น ไปถึง ๒ ยาม ตั้งร้าน-ตั้งแผงได้ ทั้งในถนนและบนทางเท้าถนนข้าวสาร
นั่นเหลือหลาย-เหลือล้นแล้ว ยังไม่พอใจ ถ้า กทม.กลัวเจ๊คนนั้น ปล่อยให้ได้คืบเอาศอกละก็
ไปกราบเธอซะ!
"หาบเร่" อย่างสมัยก่อนตะหาก คือ "เสน่ห์" ทางท่องเที่ยวเป็นวิถีเอกลักษณ์ไทย สร้างความเจริญให้ประเทศได้แท้จริง
"หาบเร่" คือวิถีพอเพียง
เป็นแม่ค้าชาวบ้าน-ชาวสวน บ้างหาบผลหมากรากไม้จากสวน ใส่หาบสะพายเร่ไปวางขาย เย็นกลับบ้าน
บ้างทำขนมไทยๆ ใส่หม้อ ใส่กระจาด นุ่งผ้าจูงกระเบนหรือผ้าถุง สวมเสื้อคอกระเช้า ไม่ก็เสื้อแขนกระบอก
สวมงอบ หาบกระบุง-กระจาดด้วยไม้คาน เดินเหมือนนางละคร เร่ขาย
ไม่ปักหลักเป็นเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ยึดถนน ครองถิ่นอยู่กับที่ ทำเลอะเทอะเหมือนแผงลอยวันนี้
ลองนึกภาพดูซี "หาบเร่" เหมือนลำธารน้ำไหล ใส เย็นสะอาด มีเสน่ห์
แล้วนึกภาพ "ร้านค้า-แผงลอย" ประเภท "เอาแต่ได้" เปรียบเทียบ
เหมือนคลองในกรุง น้ำนิ่ง ดำ เหม็น สกปรก สร้างภาพลักษณ์อุจาด เป็นวิถีทราม สร้างแต่เสื่อมสถานเดียว
กทม.ทำดีและทำถูกแล้ว ที่จัดระเบียบเรื่องนี้ จะดียิ่งขึ้น ถ้าทำต่อเนื่อง จนเป็น "วิถี กทม."
ชาวบ้านเขารู้นะ...........
ว่าที่เละเทะทุกวันนี้ เพราะพ่อค้า-แม่ขาย "ฝ่ายเดียว" หรือเพราะ "แต่ละเขต" ก็ด้วย
"สำนักเทศกิจ" นั่นน่ะ สบายดีอยู่หรือ?.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |