เปิดรับฟังความเห็นร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ ผุดกรรมการพิทักษ์คุณธรรม-รับพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ พบการทำผิดวินัยและจริยธรรมสืบสอบได้เอง พร้อมแจ้งผู้บังคับบัญชาลงโทษวินัย หากเพิกเฉยผิดวินัยร้ายแรง เดินหน้าแยกงานสอบสวน มี ผบช., ผบก.และ ผกก.สอบสวน รับผิดชอบ ตัดอำนาจ ผบช.พื้นที่ แต่งตั้งโยกย้ายเลื่อนเงินเดือนพลการไม่ได้ ให้แจ้งความสถานีไหนก็ได้ คดีสำคัญต้องแจ้งอัยการ
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ..... และร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาพ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้พิจารณาวาระที่หนึ่งเสร็จแล้ว เพื่อให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และจะนำความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับต่อไป ทั้งนี้สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2561
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 165 มาตรา มีสาระสำคัญดังนี้ ในมาตรา 25 ระบุให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “ก.พ.ค.ตร.” ประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา 27 กรรมการ ก.พ.ค.ตร. ต้องทำงานเต็มเวลา ให้เลขาธิการ ก.พ. เป็นเลขาธิการ และผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ ของ ก.พ.ค.ตร.
มาตรา 35 ให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “ก.ร.ตร.” มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบหรือการประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ ประกอบด้วย (1) ผู้ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประชุมร่วมกันคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน (2) ผู้ซึ่งเคยรับราชการในตำแหน่งตั้งแต่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือเทียบเท่าขึ้นไป และได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ จำนวนหนึ่งคน (3) ผู้ซึ่งเคยรับราชการในตำแหน่งตั้งแต่อัยการพิเศษฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไป และได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการอัยการ จำนวนหนึ่งคน (4) ผู้ซึ่งเคยรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจในตำแหน่งตั้งแต่ผู้บัญชาการ หรือเทียบเท่าขึ้นไปจำนวนสามคน ซึ่ง ก.ตร. คัดเลือกจากบุคคลและตามวิธีการที่กำหนดในมาตรา 36 (5) ทนายความซึ่งประกอบอาชีพทนายความมาแล้วไม่น้อยกว่ายี่สิบปี ซึ่งสภาทนายความคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน (6) ผู้แทนระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบลสองคน ซึ่งที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลคัดเลือกซึ่งอย่างน้อยต้องเป็นสตรีหนึ่งคน
มาตรา 43 เมื่อความปรากฏต่อ ก.ร.ตร. ไม่ว่าโดยทางใด ไม่ว่าจะมีผู้ร้องเรียนหรือไม่ว่าข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบ หรือมีความประพฤติหรือปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ ให้ ก.ร.ตร. มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลหรือไม่ โดย ก.ร.ตร.จะดำเนินการไต่สวนเอง หรือมอบหมายให้ข้าราชการตำรวจในสำนักงานจเรตำรวจดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อรายงานต่อ ก.ร.ตร. ตามประเด็นที่ ก.ร.ตร. กำหนดก็ได้
ในกรณีที่ ก.ร.ตร.พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีไม่มีมูลให้สั่งยุติเรื่อง แต่ถ้าเห็นว่ากรณีมีมูลและมีลักษณะเป็นการกระทำผิดวินัย ให้ ก.ร.ตร. ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น พร้อมพยานหลักฐานให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจเพื่อดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจผู้นั้น โดยไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 108 และมาตรา 109 แต่หากกรณีใดมีลักษณะเป็นการทุจริต ให้ ก.ร.ตร ส่งสำนวนและเอกสารเกี่ยวกับการไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ แล้วแต่กรณี โดย ก.ร.ตร.จะสั่งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการทางวินัยโดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐก็ได้ และในกรณีที่เห็นว่า เป็นการสมควรเพื่อระงับความเดือดร้อนของประชาชนหรือป้องกันความเสียหายต่อราชการ จะให้ผู้บังคับบัญชาสั่งพักราชการผู้นั้นไว้ก่อนก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่และอำนาจสั่งพักราชการไว้จนกว่าการดำเนินการทางวินัยจะแล้วเสร็จ โดยให้ถือว่าการสั่งพักราชการดังกล่าวเป็นการสั่งพักราชการตาม มาตรา 120
ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคสอง ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
มาตรา 57 ในกองบัญชาการหนึ่ง ให้มีผู้บัญชาการคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการตำรวจและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการของส่วนราชการนั้น และให้มีผู้บัญชาการสอบสวนคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านการสอบสวนภายในกองบัญชาการ
มาตรา 58 ผู้บัญชาการมีหน้าที่และอำนาจ และความรับผิดชอบดังต่อไปนี้ (4) พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรตำแหน่งตั้งแต่ผู้กำกับการลงไปภายในเขตอำนาจ แต่การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่รองผู้บังคับการสอบสวนลงไป ให้แต่งตั้งตามข้อเสนอของผู้บัญชาการสอบสวน (5) พิจารณาและสั่งเลื่อนเงินเดือนประจำปีข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรตำแหน่งตั้งแต่รองผู้บัญชาการลงไปภายในเขตพื้นที่ที่ไม่อยู่ในอำนาจของผู้บังคับการตามมาตรา 59 แต่การเลื่อนเงินเดือนข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่รองผู้บัญชาการสอบสวนลงไป ให้พิจารณาตามข้อเสนอของผู้บัญชาการสอบสวน (7) รายงานผลการปฏิบัติงานพร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรคต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทุกสี่เดือน
มาตรา 69 การประเมินตามมาตรา 68 ให้ประเมินตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) ความอาวุโสในการดำรงตำแหน่ง โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งนานที่สุด มีอาวุโสสูงสุด และได้รับคะแนน 50 คะแนน และผู้มีอาวุโสลำดับถัดไป ให้ได้รับคะแนนลดลงปีละ 5 คะแนน ในกรณีที่มีอาวุโสเท่ากัน ให้ได้รับคะแนนเท่ากัน ทั้งนี้ โดยให้นับตั้งแต่วันที่ดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่มีการประเมิน (2) ความรู้ความสามารถที่มีผลต่อการปฏิบัติงาน มีคะแนนเต็ม 20 คะแนน โดยให้ประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ตร. กำหนด (3) ความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ มีคะแนนเต็ม 30 คะแนน โดยให้ประเมินตามมาตรา 70 ในกรณีที่มีคะแนนประเมินเท่ากัน และไม่สามารถแต่งตั้งผู้ได้รับคะแนนเท่ากันทั้งหมด ให้แต่งตั้งตามความรู้ความสามารถอันเป็นที่ประจักษ์ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ตร. กำหนด
ส่วนร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา มีทั้งหมด 25 มาตรา มีสาระสำคัญดังนี้ ในมาตรา 7 ให้พนักงานสอบสวนในทุกท้องที่มีหน้าที่และอำนาจรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษที่มี ผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อตน ณ สถานที่ทำการที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่ ไม่ว่าเหตุจะเกิดขึ้นในท้องที่ใด และเมื่อรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแล้ว ให้มีหน้าที่สอบสวนเบื้องต้นเท่าที่จะพึงทำได้ แล้วรีบส่งคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนเบื้องต้นไปยังพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเร็ว และให้ถือว่าการร้องทุกข์ การกล่าวโทษ และการสอบสวนดังกล่าว เป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว และให้แจ้งให้ผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ ทราบด้วยว่าจะส่งเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจแห่งใด
เมื่อได้รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามวรรคหนึ่ง หรือรับแจ้งตามวรรคสองแล้ว ให้พนักงานสอบสวนออกใบรับให้ผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ หรือผู้แจ้ง แล้วแต่กรณีโดยพลัน และให้แจ้งให้ผู้ร้องทุกข์หรือผู้กล่าวโทษทราบถึงความคืบหน้าตามระยะเวลาที่ ก.ตร. กำหนด โดยการแจ้งดังกล่าวจะแจ้งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
มาตรา 12 ให้พนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าของพนักงานสอบสวนในสถานีตำรวจนั้น เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน
มาตรา 14 ในการแจ้งข้อหา พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาที่ยังมิได้มีหลักฐานพอสมควรที่แสดงว่าผู้ถูกกล่าวหาน่าจะได้กระทำความผิดนั้นมิได้
มาตรา 15 เพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรม เมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนคดีดังต่อไปนี้ เมื่อพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้ว ให้แจ้งให้พนักงานอัยการที่มีเขตอำนาจทราบด้วย (1) คดีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษขั้นต่ำให้จำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไป หรือโทษสถานหนักกว่านั้น (2) คดีตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (3) คดีอื่นตามที่อัยการสูงสุดกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติร่วมกันกำหนด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |