สร้างปาฏิหาริย์การให้อภัย ดึงเด็กก้าวพลาดกลับสู่สังคม


เพิ่มเพื่อน    

              

            มีคำถามมากมายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำผิดพลาด ต้องผ่านเรื่องราวร้ายๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวหลังจากการกระทำผิด รวมทั้งระหว่างการบำบัด ฟื้นฟูตามกระบวนการยุติธรรม สุดท้ายพวกเขาเมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว จึงเกิดคำถามตามมาว่าจะกลับคืนสู่สังคมได้อย่างบริบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจได้จริงหรือไม่

            ด้วยการเล็งเห็นปัญหานี้ ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จึงจัดกิจกรรม “เติมฝัน ปั้นซูชิ” ด้วยการเชิญครอบครัวน้องแก้ม เหยื่อที่ถูกคนเมาทำร้ายจนเสียชีวิตบนรถไฟ มาร่วมแลกเปลี่ยนและสอนเด็กบ้านกาญจนาภิเษกปั้นซูชิ เพื่อช่วยเติมพลังใจให้เด็กที่เคยกระทำพลาดให้มีสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง และเปลี่ยนตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น จัดโดยเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อไม่นานนี้

            “ป้ามล” หรือนางทิชา ณ นคร  ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก อธิบายว่า คนที่กระทำความผิดส่วนมากเกิดจากต้นทุนที่น้อยจริงๆ ทั้งต้นทุนด้านเงินทอง ต้นทุนชีวิต ต้นทุนความคิด ความสามารถในการเรียนรู้การเลี้ยงดูของครอบครัว กระบวนการที่รัฐจัดให้และสังคมรอบข้าง ล้วนกดดันให้เขาลงมือกระทำ  โดยเฉพาะคนที่มีต้นทุนน้อยจะมีโอกาสก้าวพลาดได้มากกว่า ซึ่งการลงโทษรุนแรงจึงไม่ใช่คำตอบพวกเขา จึงสมควรได้รับการเห็นใจและให้อภัย

            สำหรับกิจกรรม “เติมฝัน ปั้นชูชิ” เป็นกิจกรรมต่อเนื่องมาจากปี 2558 ซึ่งครอบครัวผู้สูญเสียเคยมาสร้างประโยชน์ให้กับผู้กระทำความผิดหรือเด็กก้าวพลาด สืบเนื่องมาจากหลังน้องแก้มเสียชีวิตบนรถไฟระหว่างเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด เป็นข่าวใหญ่ ครอบครัวเสียใจมาก มีหลายคนเข้าไปให้กำลังใจ ร่วมกันเยียวยาในรูปแบบต่างๆ แต่ยังรู้สึกไม่ใช่คำตอบ อีกทั้งกระแสโทษประหารได้ถูกปลุกขึ้นมาและดูเหมือนจะมีความชอบธรรมในสังคมด้วยเพราะมีการให้คำจำกัดความว่า ข่มขืนเท่ากับประหาร

            ทางศูนย์ได้ให้เด็กวิเคราะห์ว่าเขารู้สึกอย่างไรบ้างในฐานะผู้กระทำ ซึ่งเด็กๆ ให้ความเห็นว่าการประหารชีวิตไม่ได้ช่วยอะไร แต่จะเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรง ถึงแม้โทษหรือการกระทำที่พวกเขาก่อจะรุนแรงแค่ไหนก็ไม่ควรประหาร เพราะการประหารเป็นการชวนให้สังคมเล่นกับความรุนแรง ทางที่ดีควรปล่อยให้เขาอยู่กับความรู้สึกพลาดในห้องขังตลอดชีวิต เจ็บปวดกว่าและไม่ควรปล่อยให้ไปทำร้ายใครได้อีก

            “ป้ามล” บอกว่า ครั้งก่อนที่ครอบครัวน้องแก้มจะมาหา เด็กๆ รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะรู้อยู่ว่าครอบครัวน้องแก้มเจ็บปวดแค่ไหน ทางเราเองอยากรู้ว่าเมื่อมีการเผชิญหน้าเด็กๆ จะมีปฏิกิริยาอย่างไร เพราะถึงแม้เด็กเหล่านี้จะไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุกับน้องแก้ม แต่ในเชิงกฎหมายและสัญลักษณ์ก็ถือว่าเป็นผู้กระทำ จึงได้ทำกระบวนการกับเด็กตามความหมายว่าเหยื่อหรือผู้เสียหายมาหา เราจะตีความอย่างไร เด็กๆ ให้ความหมายต่างกัน

            “บางคนดีใจที่เหยื่อยอมให้อภัย ไม่เกลียดพวกเขา และยอมให้โอกาสเขาได้เรียนรู้การให้อภัย เพราะก่อนที่จะถูกส่งมาบ้านต่างๆ เด็กบางคนเคยถูกญาติผู้เสียหายทำร้าย เพราะความโกรธแค้น แต่พอครอบครัวน้องแก้มมาสอนให้เขาทำซูชิ ยอมพูดคุยกับเขาเหมือนคนปกติ ทำให้เขามีความหวัง กำลังใจในการเปลี่ยนแปลงตัวเองและความคิดในทางที่ดีขึ้น”

            ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า นอกจากนี้การมาเยือนของครอบครัวน้องแก้มครั้งนี้สามารถบอกสังคมว่า ถึงแม้เขาเป็นเหยื่อที่ผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ มา โดยตรงยังให้อภัยผู้กระทำผิดได้ สังคมเองควรเปิดใจและยอมรับเด็กกลุ่มนี้ เพราะทุกคนมีโอกาสก้าวพลาดได้ การใช้ความรุนแรงตอบโต้จึงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย จากผู้เสียหายจะกลายเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง ทางรอดของปัญหาน่าจะเป็นการให้อภัยดีที่สุด ถึงแม้การให้อภัยผู้กระทำความผิดเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าทำได้จะเป็นปาฏิหาริย์ของการให้อภัย

            “ป้ามล” บอกอีกว่า ศูนย์ฝึกและอบรมบ้านกาญจนาภิเษกจะรับเด็กปีละ 6 รุ่นแต่ละรุ่นไม่เท่ากัน เพราะเราไม่สามารถควบคุมการรับเด็กโดยตรงได้ เคยรับสูงสุด 56 คนต่อรุ่น บางรุ่น 4 คน เนื่องจากเชิงนโยบายบ้านกาญจนาภิเษกถูกออกแบบให้เป็นโครงการนำร่องของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กำหนดให้รับเด็กต่อจากสถานพินิจฯ จากศูนย์ฝึก 4 แห่ง ได้แก่ บ้านกรุณา มุทิตา อุเบกขา และราชบุรี ไม่ได้รับจากศาลโดยตรง การนำเด็กออกมาจากความรุนแรงจากอาชญากรรมจึงไม่ใช่เรื่องของการอัดระเบียบวินัยอย่างเดียว ต้องให้อิสระทางความคิดกับเขาด้วย เขาจะได้รู้สึกมีค่า มีพลัง อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง

            ด้าน “แม่น้องแก้ม” กล่าวว่า การก้าวผ่านความเจ็บปวดครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกมันเลวร้ายและรุนแรงมาก ต้องใช้เวลาพอสมควร ช่วงแรกๆ รู้สึกโกรธ เกลียด อาฆาตแค้นทุกครั้งเมื่อนึกถึง ไม่ว่าจะเป็นทางการรถไฟฯ ที่ไม่ให้ความเป็นธรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจที่บอกว่าลูกทำตัวเหลวไหล เพราะแม่เชื่อว่าลูกแม่เป็นคนขี้กลัวมาก เขาไม่เคยเดินทางคนเดียวไปกับพี่สาวกับหลาน และวันเกิดเหตุก็โทร.คุยกันมาตลอดหยุดคุยกันแค่ 3 ชั่วโมงก่อนเขาหายไป    

            แม่จึงเชื่อว่าลูกไม่ได้เหลวไหลปีกว่าๆ ที่แม่จะทำใจได้ ทุกวันนี้แม่ใช้ธรรมะช่วยเยียวยาจิตใจ ทำให้ปล่อยวางได้มาก ส่วนเรื่องการให้อภัย เพราะแม่ได้บทเรียนแล้วว่าเด็กทุกคนมีสิทธิ์ก้าวพลาดได้ถ้ามีแรงผลัก แต่ถ้าได้รับโอกาสดีจะช่วยให้เขากลับตัวกลับใจได้ เด็กๆ บ้านกาญฯ ก็เช่นกัน

            "การที่แม่ให้อภัยและให้โอกาสเด็กๆ เพราะครั้งหนึ่งแม่ก็เคยผิดพลาดเกือบเสียลูกสาว คือพี่กัณ พี่สาวน้องแก้ม ตอนที่แม่เสียน้องแก้มใหม่ๆ เสียใจมาก ใช้ธรรมะเป็นที่พึ่ง เดินสายทำบุญวัดตามต่างจังหวัด หวังจะทำบุญให้น้องแก้มจนหลงลืมไปว่ามีพี่กัณอีกคนยังอยู่ ตัวพี่กัณเองหลังน้องจากไปก็ได้แต่โทษตัวเองว่าช่วยเหลืออะไรน้องไม่ได้ ทั้งที่ไปด้วยกันก็ได้เสียใจ หลังผ่านเรื่องแย่ๆ ซึ่งพี่กัณก็อยากมาบ้านกาญฯ นอกจากจะให้อภัยเด็กที่ก้าวพลาดให้กลับตัวกลับใจเป็นคนดีแล้ว ยังได้ทำบุญให้น้องแก้มด้วย อีกอย่างเชื่อว่าเด็กทุกคนมีโอกาสทำผิดพลาดได้ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ซึ่งการบำบัดด้วยความรัก ความเข้าใจ การให้อภัย จะช่วยให้คิดได้และเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนดีของครอบครัวและสังคมได้เหมือนที่พี่กัณเคยทำ" แม่น้องแก้มกล่าวทิ้งท้าย

            นายเอ (นามสมมติ) เยาวชนจากบ้านกาญฯ สะท้อนถึงความรู้สึกหลังจากที่ครอบครัวน้องแก้มได้เข้ามาให้กำลังใจว่า ครอบครัวน้องแก้มมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่และแกร่งกล้ามากที่ก้าวผ่านเรื่องเลวร้าย และยังให้อภัยเด็กที่ก้าวพลาดอย่างพวกเขาให้มีโอกาสทำกิจกรรมดีๆ แบบนี้ และขอบคุณที่จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพราะช่วยบำบัดเยียวยาพวกเราได้ระดับหนึ่ง พวกเราเองก็เชื่อว่าจะช่วยเยียวยาจิตใจครอบครัวน้องแก้มด้วยเช่นกัน อยากขอบคุณที่เสียสละเวลาเพื่อพวกเรา

            ขณะที่นายบี (นามสมมติ) เยาวชนบ้านกาญฯ อีกคน ระบุว่า การทำกิจกรรมเติมฝันปั้นซูชิกับครอบครัวผู้ถูกกระทำในครั้งนี้ ทำให้รู้เลยว่าพวกเขาแกร่งมากที่ก้าวข้ามความสูญเสียมาได้ และยังให้อภัยพวกเราถึงแม้จะไม่ได้ทำโดยตรง ทำให้เรามีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง พร้อมที่จะกลับไปอยู่ในสังคมแบบคนใหม่ที่ดีและเข้มแข็งกว่าเดิม

            “ผมมาจากบ้านราชบุรีด้วยคดียาเสพติด และได้ถูกส่งให้มาอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กเยาวชนบ้านกาญฯ ทำให้ได้รับโอกาสดีๆ มากมาย เพราะบ้านนี้ไม่มีการปิดกั้นทั้งด้านความคิด ได้มีโอกาสเป็นจิตอาสาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ และมีผู้ใหญ่ใจดีมาฝึกอาชีพชงกาแฟสดให้โดยเปิดขายทุกวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันเยี่ยมญาติเพื่อให้เด็กที่เรียนได้ฝึกฝีมือไปต่อยอดเป็นอาชีพหลังจากได้ออกจากศูนย์นี้ไป” นายบีกล่าว

            เชื่อว่าพลังการให้อภัยจากทุกๆ คนจะสามารถช่วยให้เด็กและเยาวชนที่เคยกระทำพลาดพลั้งไปสามารถเป็นคนดีคืนสู่สังคมได้. 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"