รณรงค์“แปรงฟันเรื่องสนุก”ลดสถิติเด็กไทยฟันผุเกินครึ่ง


เพิ่มเพื่อน    

“ฟัน” มีหน้าที่สำคัญให้เด็กสามารถบด เคี้ยว กัดอาหาร และพูดชัด ฉะนั้นสุขภาพของช่องปากและฟันที่ดีของลูก จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความใส่ใจและดูแลกันตั้งแต่วัยเล็กอย่างถูกวิธี เพราะหากผู้ปกครองละเลยหรือสั่งสอนแบบผิดๆ อาจเป็นผลร้ายต่อฟันของลูกได้โดยไม่รู้ตัว

               ดังนั้นเพื่อรณรงค์กระตุ้นให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็กให้ความสำคัญกับการแปรงฟันในเด็กเล็กตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้นอย่างถูกต้อง และปรับเปลี่ยนทัศนคติให้การแปรงฟันแก่เด็กว่าเป็นเรื่องสนุกและมีประโยชน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับเครือข่ายเด็กเล็กฟันดี วิถี SELF CARE จัดกิจกรรม “การแปรงฟันเป็นเรื่องสนุก” ขึ้น ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK PARK ชั้น 7 CENTRAL WORLD เมื่อไม่นานนี้

               รศ.ดร.ทพ.จรินทร์ ปภังกรกิจ ผู้จัดการเครือข่ายเด็กเล็กฟันดี วิถี SELF CARE กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กไทยอายุ 3 ปี ฟันผุร้อยละ 52 ที่น่าตกใจคือ เริ่มมีฟันผุตั้งแต่อายุ 9 เดือน สาเหตุสำคัญที่ทำให้ฟันน้ำนมในเด็กเล็กผุ เกิดจากผู้ปกครองเริ่มแปรงฟันให้เด็กช้า ทำให้สุขภาพช่องปากของเด็กไม่สะอาด มีโอกาสเกิดฟันผุได้ง่ายมากขึ้น

               ปัญหาฟันผุในเด็กเล็กส่งผลทำให้เด็กมีพัฒนาการการเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กที่สุขภาพฟันดี ซึ่งในปีนี้ เครือข่ายเด็กเล็กฟันดีฯ ร่วมกับ สสส.ได้เร่งรณรงค์ส่งเสริมให้แม่แปรงฟันให้ลูกตั้งแต่ฟันน้ำนมเริ่มขึ้นซี่แรก และฝึกทักษะการแปรงฟันให้แก่ผู้ปกครองในพื้นที่นำร่อง 11 พื้นที่ ผลปรากฏว่า ผู้ปกครองเด็กร้อยละ 80 มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการแปรงฟันให้ลูกที่ถูกต้องตามคำแนะนำมากขึ้น โดยเครือข่ายเด็กเล็กฟันดีฯ เตรียมพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบและขยายแนวทางการทำงานทั่วประเทศในระยะต่อไป

               สำหรับโรคฟันผุเกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากรวมตัวกับเศษอาหารและน้ำลายสะสมกันเป็นคราบเหนียว ที่เรียกว่า คราบฟัน หรือคราบแบคทีเรีย ซึ่งจะเกาะอยู่บนผิวของฟัน แบคทีเรียเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพน้ำตาลและแป้งให้เป็นกรด มีฤทธิ์ทำลายแร่ธาตุที่ผิวฟันจนก่อให้เกิดเป็นรู โดยเริ่มจากขนาดเล็กๆ และลุกลามใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นโรคฟันผุ 

               โดยการแปรงฟันถือเป็นการรักษาสุขอนามัยทางช่องปาก และเป็นวิธีการป้องกันโรคในช่องปากที่ง่ายและได้ผลดีที่สุด ศ.พิเศษ ทพญ.ชุติมา ไตรรัตน์วรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมเด็ก เผยว่า วิธีป้องกันฟันผุในเด็กเล็กที่ดีที่สุดคือ ผู้ปกครองควรแปรงฟันให้เด็กตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกเริ่มขึ้น และแปรงฟันให้ต่อเนื่องจนกว่าเด็กมีพัฒนาการข้อมือที่แข็งแรง ใช้สายตากับมือประสานกันได้ดี ประมาณอายุ 7-8 ปี เด็กจึงจะสามารถแปรงฟันได้เอง แต่ผู้ปกครองดูแลให้แปรงฟันให้สะอาด และกระตุ้นให้เด็กแปรงฟันเป็นประจำจนเป็นนิสัย

               เคล็ดลับในการแปรงฟันที่ถูกต้องคือ ข้อ 1 สร้างความคุ้นเคยให้เด็กตั้งแต่แรกเกิด โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกเช็ดทำความสะอาดสันเหงือกทุกวัน ข้อ 2 แปรงฟันให้เด็กตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น โดยใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ จะช่วยลดโอกาสฟันผุได้ถึงร้อยละ 15-30 ข้อ 3 เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่ม หน้าตัดเรียบ หัวเล็ก มีด้ามจับใหญ่ จับถนัดมือ  

               ข้อ 4 ใช้ยาสีฟันเล็กน้อยที่ปลายขนแปรงพอชื้น ข้อ 5 ให้เด็กอยู่ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน หรือนอนบนตัก เพื่อให้เด็กอยู่นิ่ง ทำให้มองเห็นและแปรงฟันได้ง่ายขึ้น ข้อ 6 สร้างบรรยากาศในการแปรงฟัน เช่น เล่านิทาน ร้องเพลง หรือใช้แปรงมีสีสัน มีตัวการ์ตูน ข้อ 7 แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาบน้ำเช้าและเย็น หลังแปรงสามารถเช็ดฟองออกด้วยผ้าสะอาด และอย่าลืมสำรวจความสะอาดหลังแปรงฟัน ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ โดยใช้หลอดกาแฟสีเข้มตัดปลายให้มน แล้วขูดเช็กที่ผิวฟันเด็กว่าสะอาดหรือไม่

               ด้าน ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ แก้วสุทธา คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และรองผู้จัดการเครือข่ายเด็กเล็กฟันดี วิถี SELF CARE กล่าวว่า เครือข่ายเด็กเล็กฟันดี วิถี SELF CARE ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปที่สนใจปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ดีต่อการแปรงฟันแก่เด็กว่าเป็นเรื่องสนุก น่าทำ และมีประโยชน์ ประกอบด้วย  

               ข้อ 1 จัดกิจกรรม Capture & Post กิจกรรมถ่ายภาพรอยยิ้มพร้อมฟันซี่แรก แล้วโพสต์บนเพจ “เด็กเล็กฟันดี วิถี Self Care” ภายใต้แนวคิด “รักแรกยิ้ม” Love at First Cheese

               ข้อ 2 กิจกรรม Shoot & Share ถ่ายภาพคู่กับ Mascot NooNoo (สัญลักษณ์ของโครงการ) ข้อ 3 กิจกรรม Hands On เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงกับวิธีการแปรงฟันเด็กเล็กที่ถูกต้อง ข้อ 4 เกมเสริมทักษะและเกร็ดความรู้ในการดูแลฟันเด็กเล็ก เช่น “หลอดกายสิทธิ์” Magic Straw ฟันสะอาดง่ายๆ เหมือนเสกได้ และสนุกกับการทำความรู้จักฉลากแปรงสีฟันเด็กเล็กกับเกม “อะไรอยู่ข้างหลัง” What’s on The Back? เช็ดฟองยาสีฟันออกหลังแปรง และข้อ 5 การเล่านิทานประกอบเพลง “คุณฟองนักแปรงฟัน” ของครูชีวัน วิสาสะ เพื่อรณรงค์กระตุ้นให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแปรงฟันให้ลูกตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น

               ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการมอบรางวัลนวัตกรรมในการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็กเล็กที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ แอปพลิเคชันดูดวงฟันหนูน้อย หนังสือนิทานทะลุมิติเพื่อลูกรักฟันดี และ EZYgel สีย้อมฟันที่แสนจะใช้ง่ายให้กับทุกครอบครัว เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารช่วยกระตุ้นการแปรงฟันที่ให้ลูก

               ทั้งนี้ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมนี้ย้อนหลัง หรือกิจกรรมรณรงค์ดีๆ ที่จะมีต่อไปในอนาคตได้ที่เพจโครงการ https://www.facebook.com/deklekfundee/

               การป้องกันไม่ให้ปัญหาเรื่องฟันผุ ผู้ปกครองต้องใส่ใจและดูแลปัญหาสุขภาพฟันของลูกอย่างใกล้ชิด รวมถึงควรพาเด็กไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้ฟันของบุตรหลานสามารถใช้ประโยชน์ไปได้ยาวนาน.

 

ถกแก้ปัญหาภัยสูบบุหรี่ภาคใต้

               นายสัมพันธ์ มูซอดี ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา กรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า รู้สึกตกใจที่สถิติการสูบบุหรี่ของภาคใต้สูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ บทบาทหน้าที่อีกประการหนึ่งของสำนักประชาสัมพันธ์คือ การกำกับดูแลการปฏิบัติงานของสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในพื้นที่ และประสานความร่วมมือกับสื่อมวลชนเพื่อพัฒนาเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ของรัฐในภูมิภาค

               ดังนั้นสื่อมวลชนจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นให้คนภาคใต้รับทราบข้อมูล สถานการณ์การสูบบุหรี่ และมีบทบาทอย่างมากในการช่วยกันสื่อสารรณรงค์ เพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยภาคใต้ที่ 1 ใน 2 ยังสูบบุหรี่ รวมไปถึงกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการเลิกสูบบุหรี่ และร่วมปกป้องเด็กๆ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการเสพติดบุหรี่

               ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ภาคีของ สสส. เปิดเผยข้อมูลการสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์การบริโภคยาสูบของคนไทย พบว่าในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2534-2558) จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 12.2 ล้านคน ในปี 2534 เป็น 10.9 ล้านคนในปี 2558 โดยอัตราสูบระดับประเทศในเพศชาย 39.9% เพศหญิง 1.8% และภาคใต้เพศชายร้อยละ 49.6 เพศหญิงร้อยละ 1.2 การสำรวจในปี พ.ศ.2558 พบว่า ในภาคใต้มีผู้สูบบุหรี่ 1.8 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุ 15-18 ปี 59,300 คน โดยตามสถิติแล้ว ผู้ที่ไม่สามารถเลิกสูบได้ ครึ่งหนึ่งจะเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่

               ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการที่สำคัญในการทำให้การสูบบุหรี่ลดลงคือ การสกัดเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าสู่วงจรของการเสพติดบุหรี่ เพราะเมื่อเริ่มสูบและติดแล้ว มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่สามารถเลิกได้ อีกร้อยละ 70 จะติดไปจนตลอดชีวิต ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมกันปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 โดยมีสาระสำคัญคือ มีมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้เด็กเข้าถึงบุหรี่ยากขึ้น เช่น การห้ามขายบุหรี่แก่เด็กอายุ  20 ปี การห้ามแบ่งซองขาย ห้ามโชว์ซองบุหรี่ที่ร้านขาย ห้ามขายบุหรี่ในสถานที่ต่างๆ ที่เยาวชนทำกิจกรรม ห้ามบริษัทบุหรี่โฆษณาและส่งเสริมการขายด้วยวิธีต่างๆ เป็นต้น ที่สำคัญหากมีการปฏิบัติตามกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะอย่างจริงจัง นอกจากจะคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่แล้ว จะส่งผลให้เยาวชนเข้ามาเสพติดบุหรี่น้อยลงด้วย

               “ดังนั้นสื่อมวลชนจึงมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายนี้ เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต ด้วยการนำข้อมูลไปเผยแพร่ให้แก่ประชาชนได้ตระหนักถึงอันตรายจากการสูบบุหรี่ เพื่อสร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมถึงปกป้องเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของบุหรี่” เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ภาคีของ สสส.กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"