คำนี้ผมเพิ่งจะได้ยินเมื่อไม่นานมานี้ ฟังครั้งแรกก็แปลกหู เข้าใจว่าเป็นการเรียนรู้วิธีทุจริตหรืออย่างไร แต่ถ้าในความหมายนั้นก็อาจจะต้องเปลี่ยนมาเรียก “ทุจริตวิทยา” กระมัง
พอพลิกไปคิดอีกด้านก็เกิดคำถามว่า ควรจะมีสิ่งที่เรียกว่า “สุจริตศึกษา” หรือ “สุจริตวิทยา” เคียงคู่กันไปหรือไม่
เพราะผมเห็นว่าหากเราจะให้สังคมร่วมกันต่อสู้กับการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างจริงจัง ต้องศึกษาเรียนรู้และ “รู้เท่าทัน” เรื่องทุจริตด้วยการเอาความสุจริตเข้ากวาดล้างความชั่วร้ายของความคดโกงในทุกระดับ
แปลว่าเราต้องเจาะลึกถึงเรื่องทุจริตด้วยการเอาพลังสุจริตเข้าต่อต้านและสร้างสังคมใหม่อย่างจริงจังต่อเนื่องและไม่ยอมถอย ไม่ยอมเลิกรา
ภาษาทางการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 (2560-2564) เรียกปฏิบัติการนี้ว่า
“สร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต”
ที่อาจจะมาจากวลีฝรั่งว่า zero-tolerance แปลตรงตัวว่า “ความอดทนเป็นศูนย์” ต่อความชั่วร้ายที่โยงใยไปถึงคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ
การสร้างสังคมต่อต้านคนโกงต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเพิ่งรู้ความจนถึงแก่เฒ่า
ทำให้ผมคิดถึงคำว่า “สังคมคนสูงวัยต้านสังคมคนคดโกง”!
ต้องไม่ลืมว่าถ้าให้เด็กไทยโตมาพร้อมกับสิ่งแวดล้อมที่เห็นการโกงกินเป็นเรื่องปกติหรือแยกแยะไม่ออกว่าอะไรคือผลประโยชน์ส่วนตนและอะไรคือผลประโยชน์ส่วนรวม ก็ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดพลังเพียงพอที่จะต้านกระแสแห่งความคดโกงได้
หนึ่งในผลที่คาดหวังจากการรณรงค์รอบใหม่คือการสร้างความสามารถแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ความละอายและความไม่ทนต่อการทุจริต STRONG อันหมายถึง “จิตพอเพียงต่อต้านการทุจริต รู้หน้าที่ของพลเมืองและรับผิดชอบต่อสังคม”
ทัศนคติในบางส่วนของสังคมไทยที่น่ากังวลไม่น้อยก็คือความเชื่อที่ว่าพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบนั้นยอมรับได้หากการกระทำนั้นๆ เป็นประโยชน์กับตนหรือกลุ่มของตน
และหากเด็กไทยยังต้องการให้พ่อแม่ของตน “วิ่งเต้น” เพื่อให้สามารถเข้าโรงเรียนดังๆ หรือเล่นเส้นสายเพื่อให้ตัวเองได้เข้าทำงานในองค์กรบางแห่ง นั่นก็ย่อมเป็นการตอกย้ำว่า
“ค่านิยมแห่งอภิสิทธิ์ชน” ได้ครอบงำสังคมไทยอย่างเหนียวหนึบ ซึ่งเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงต่อการป้องกันและปราบปรามพฤติกรรมทุจริตอย่างชัดเจน
อีกทั้งยังจะต้องอบรมสั่งสอนเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ Conflict of Interests (CoI) อย่างรอบด้านลุ่มลึก โดยสามารถยกตัวอย่างในชีวิตประจำวันซึ่งมีอยู่กลาดเกลื่อนในเกือบทุกสาขาวิชาชีพให้ได้เห็นกันชัดๆ
สิ่งที่เรียกว่า “ทุจริตศึกษา” จึงต้องเริ่มตั้งแต่วันแรกที่เด็กเข้าเรียนหนังสือ เพราะ “วัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต” ไม่อาจเกิดได้หากมีการปลูกฝังค่านิยมผิดๆ ตั้งแต่วัยเด็ก
หรือหากบรรยากาศประจำวันในครอบครัวโอนเอียงไปในทาง “โกงเล็กโกงน้อยไม่เห็นเป็นไร” ความหวังที่จะสร้างสังคมใหม่ที่มีความโปร่งใสและยุติธรรมก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้
ผมเห็นเอกสารที่อธิบายหลักสูตร “ทุจริตศึกษา” หรือ Anti-Corruption Education แล้ว ก็พอจะเห็นเค้าลางของความพยายามอีกครั้งหนึ่งที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่สำหรับสังคมไทย
นั่นคือการปลูกฝังความพอเพียง วินัย ซื่อสัตย์สุจริต โดยดำเนินการผ่านสถาบันหรือกลุ่มตัวแทนที่ทำหน้าที่สร้างคนสำหรับทุกวงการ
เอกสารนี้กำหนดกลยุทธ์ไว้ 4 ขั้นตอนคือ
ปรับฐานความคิดทุกช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัยให้สามารถแยกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม
ส่งเสริมให้มีระบบและกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมเพื่อต้านทุจริต
ประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือต้านทุจริต
เสริมพลังการมีส่วนร่วมของชุมชน (community) และบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อต่อต้านการทุจริต
การจะดำเนินให้เกิดผลทางปฏิบัติตามกลยุทธ์ที่ว่านี้จะต้องทำหลักสูตร บทเรียน การเรียนการสอน การนำเสนอ และรูปแบบป้องกันการทุจริต รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมและสื่อการเรียนรู้สำหรับทุกช่วงวัย
พูดง่ายๆ คือจะต้องเอาเรื่องการต่อต้านทุจริตเข้าห้องเรียนและเข้าสู่กลุ่มคนที่อาจจะอ่อนไหวต่อความยั่วยวนของการเสนอผลตอบแทนเพื่อแลกกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในบางเรื่องบางจังหวะ
เขาแยกหลักสูตรออกเป็น 5 กลุ่มสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน, หลักสูตรอุดมศึกษา, หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ, หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช. และบุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจกับหลักสูตรโค้ช
ความริเริ่มเรื่อง “ทุจริตศึกษา” เป็นอีกก้าวหนึ่งที่น่าสนใจ
ปัญหาอยู่ที่ว่าพลัง “ทุจริตศึกษา” ต่อต้านการโกงในอนาคตจะสู้กระแสวัฒนธรรม “กินตามน้ำ” และ “โกงจนเป็นนิสัย” กับ “แตะที่ไหนโกงที่นั่น” ของวันนี้ได้มากน้อยเพียงใด?
ท้ายที่สุด หลักสูตร “ทุจริตศึกษา” จะได้ผลดั่งที่ตั้งเป้าหรือไม่ ย่อมจะต้องขึ้นอยู่ที่ว่า
“ความอดทนต่อทุจริตเป็นศูนย์” จะนำไปสู่ “ความสำเร็จเต็มร้อย” หรือไม่?.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |