‘ธนาคารความดี’ ตำบลหนองสาหร่าย ใช้ความดีกู้เงินแสน ส่งเสริม ‘ชาวนาอัจฉริยะ’ ใช้เทคโนโลยีใหม่ช่วยลดต้นทุน


เพิ่มเพื่อน    

ตำบลหนองสาหร่าย  อ.พนมทวน  จ.กาญจนบุรี  ถือเป็นต้นแบบของชุมชนที่มี ‘ธนาคารชุมชน’ หรือสถาบันการเงินชุมชนเอาไว้ช่วยเหลือจุนเจือกันเอง  ช่วยให้ชาวบ้านลดปัญหาหนี้นอกระบบ  มีแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปประกอบอาชีพหรือนำไปใช้จ่ายยามจำเป็น  ที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือ  สามารถใช้ ‘ความดี’ ของตัวเองมาค้ำประกันเงินกู้ได้  นอกจากนี้ยังมีกลุ่มวิสาหกิจทำนา  ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยทำนา  ใช้โดรนบินฉีดพ่นสารชีวภาพ-กำจัดแมลง  และใช้เครื่องพยากรณ์อากาศมาช่วยลดต้นทุนการผลิต

 

จากหนี้หมู่บ้าน 86 ล้านบาทสู่สถาบันการเงินชุมชน

ตำบลหนองสาหร่ายมีทั้งหมด 9 หมู่บ้าน  เนื้อที่ประมาณ 27 ตารางกิโลเมตร  ประชากรประมาณ  3,600 คน  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา  ปลูกอ้อย  ข้าวโพด  ผักต่างๆ  เลี้ยงวัว  แพะ  ปลา  เป็ด  ไก่  ค้าขาย  รับจ้างทั่วไป  ฯลฯ  มีการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ  เช่น  มีกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)  กลุ่มอาชีพต่างๆ  เช่น  กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์  กลุ่มทำนา  กลุ่มปลูกผัก  กลุ่มเลี้ยงปลา  กลุ่มแม่บ้าน  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  กองทุนสวัสดิการ  กลุ่มฌาปนกิจ  ฯลฯ

ศิวโรฒ  จิตนิยม  ประธานสถาบันการเงินชุมชนตำบลหนองสาหร่าย  เล่าว่า  จากการสำรวจข้อมูลในตำบลเพื่อนำมาจัดทำแผนแม่บทชุมชนในปี 2545  พบว่า  ชาวบ้านในตำบลหนองสาหร่ายมีรายได้รวมกันประมาณปีละ  76   ล้านบาท  มีรายจ่ายรวมกันปีละ 72 ล้านบาท  แต่มีหนี้สินรวมกันมากกว่า  86 ล้านบาท  และต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละกว่า 10 ล้านบาท  จึงมีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน  และเพื่อเป็นแหล่งทุนของตำบล  โดยการรวมคนทั้งตำบลมาออมเงินรวมกัน  จากเดิมที่แต่ละหมู่บ้านมีการรวมกลุ่มกันออมทรัพย์แบบหมู่บ้านใครหมู่บ้านมันและเปิดทำการเพียงเดือนละ 1 ครั้ง  จึงนำไปสู่การจัดตั้ง ‘สถาบันการเงินชุมชนตำบลหนองสาหร่าย’ ขึ้นมา

“ตำบลเรามีประชากรประมาณ  3,000 กว่าคน  หากเราออมเงินรวมกันวันละ 1 บาท  ปีหนึ่งจะได้เงินรวมกันประมาณ 1 ล้านบาท  และต้องใช้เวลาถึง 80 ปีจึงจะปลดหนี้ได้หมด (มีหนี้รวมกัน 86 ล้านบาท)  แต่ถ้าออมวันละ 2 บาทจะใช้เวลาปลดหนี้ 40 ปี   และถ้าออมวันละ 3   บาทหรือประมาณเดือนละ 100 บาท  เราก็จะปลดหนี้ได้ภายใน  20 ปี  เราจึงนำแนวคิดนี้มาจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชนฯ เพื่อให้ชาวบ้านมาออมเงินได้ตลอดทั้งเดือน”  นายศิวโรฒบอกถึงแนวคิด

การจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชนตำบลหนองสาหร่ายมีการวางแผนและดำเนินการอย่างเป็นระบบ  เช่น  ในปี 2548  จัดประชุมกรรมการกองทุนหมู่บ้านทุกหมู่บ้านเพื่อรวมกองทุนหมู่บ้านเป็นสถาบันการเงินฯ, ประชุมร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และพัฒนาการอำเภอพนมทวน  เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมขั้นตอนในการจัดตั้งสถาบันฯ,  ประชุมร่วมกับสภา อบต.หนองสาหร่ายและตัวแทนกลุ่มองค์กรทุกกลุ่มในตำบลเพื่อทำประชาคมและลงมติในการเข้าร่วมจัดตั้งสถาบันฯ  และจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ (ผู้จัดการ, ผู้ช่วย  ฝ่ายการเงิน สินเชื่อ  บัญชี  ตรวจสอบ  ฯลฯ)  เมื่อทุกอย่างมีความพร้อมสถาบันฯ จึงเปิดดำเนินการในเดือนสิงหาคม 2549  โดยเปิดให้ชาวบ้านนำเงินมาฝากได้ตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์  เหมือนกับธนาคารทั่วไป

“เราแจกกระปุกออมสินให้สมาชิกทุกคนเพื่อเอาไว้ออมเงิน  โดยมีหลักคิดว่า ‘ไม่ต้องออมจากรายได้    แต่ให้ออมจากรายจ่าย’  คือลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง  เช่น  ลดการซื้อหวย  ลดดื่มเหล้า  ลดบุหรี่  เมื่อมีเงินเหลือก็นำมาออม อย่างน้อยเดือนละ 100 บาท  คนที่เหลือมากก็ออมมาก  เมื่อสถาบันฯ มีเงินออมมากก็นำมาให้สมาชิกกู้ยืมไปประกอบอาชีพ  หรือนำไปใช้จ่ายที่จำเป็น  เช่น  เป็นค่าศึกษาเล่าเรียนของลูกหลาน  หรือใช้จ่ายในยามที่เจ็บป่วย  เมื่อสถาบันฯ มีผลกำไรก็นำมาช่วยเหลือสมาชิกหรือพัฒนาชุมชนต่อไป”  ประธานสถาบันฯ กล่าว

 

ธนาคารความดีตำบลหนองสาหร่าย

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าสถาบันการเงินชุมชนตำบลหนองสาหร่ายจะเปิดดำเนินการแล้ว  และสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางด้านการเงินให้แก่ชาวบ้านได้ในระดับหนึ่ง  แต่เมื่อพบปะพูดคุยและสอบถามชาวบ้านๆ ได้สะท้อนออกมาว่า “ชีวิตยังไม่มีความสุข”

นี่จึงกลายเป็นคำถาม  และทำให้ศิวโรฒนำไปจุดประกายคิดต่อว่า  “ทำอย่างไรชาวบ้านจึงจะมีความสุข ?”  และนำไปสู่การถอดบทเรียนร่วมกันในตำบลจนค้นพบว่า  มีปัจจัยอย่างน้อย 9 ประการที่จะทำให้ทุกคนในตำบลมีความสุข  คือ 1.มีผู้นำดี  ผู้ตามดี  2.สุขภาพดี  3.อาชีพดี  4.กลุ่มองค์กรดี  5.สวัสดิการดี  6.ครอบครัวดี  7.สามัคคีดี  8.จิตใจดี  และ 9.มีสัจจะ

จากความดีทั้ง 9 ประการดังกล่าว  ศิวโรฒและคณะกรรมการสถาบันฯ จึงนำไปขยายเป็น ‘ธนาคารความดี’ ในช่วงปลายปี 2549-2550  โดยการให้สมาชิกสถาบันการเงินฯ ทุกคนจดบันทึกความดีของตน  และนำมารายงานในที่ประชุมหมู่บ้านทุกเดือน  เพื่อให้ที่ประชุมรับรอง  เมื่อที่ประชุมหมู่บ้านรับรองแล้ว  จะผ่านไปยังที่ประชุมในระดับตำบล (สภาองค์กรชุมชนตำบล) เพื่อรับรองและบันทึกในธนาคารความดี  ซึ่งความดีของสมาชิกที่ผ่านการรับรองแล้ว  สามารถนำไปใช้แทนหลักทรัพย์เพื่อค้ำประกันเงินกู้ของตนเองจากสถาบันฯ ได้  (กลุ่มออมทรัพย์หรือสถาบันการเงินชุมชนทั่วไป  หากสมาชิกจะกู้เงินจากกลุ่มหรือสถาบันฯ จะต้องมีสมาชิกคนอื่นมาค้ำประกัน  หรือใช้หลักทรัพย์ต่างๆ ค้ำประกัน)

ปัจจุบันธนาคารความดีชุมชนตำบลหนองสาหร่าย  กำหนดความดีเพิ่มขึ้นเป็น 23 ความดี (เพิ่มจาก 9 ข้อ) คือ  10.เรียนรู้ดี  11.มีความกตัญญูดี  12.ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย  13.ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม  14.ประหยัด  พอเพียง 15.เก็บออมดี  16.นิยมใช้ของไทย  17.มีวิถีชีวิตตามหลักประชาธิปไตย  18.มีวินัยดี  19.ตรงเวลา  20.ละเว้นสิ่งเสพติดและอบายมุข  21.มีมารยาทและวัฒนธรรมไทย  22.มีส่วนร่วมดี  และ 23.สิ่งแวดล้อมดี

สำหรับความดีทั้ง 23 ข้อนั้น  มีเกณฑ์หรือตัวชี้วัดในแต่ละข้อ  เพื่อประเมินว่าสมาชิกรายใดผ่านเกณฑ์หรือไม่  เช่น  ข้อ 3.อาชีพดี  มีเกณฑ์ชี้วัด  คือ 1.มีอาชีพสุจริต  ไม่ผิดกฎหมาย  2.มีรายได้พอเลี้ยงดูครอบครัว (ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ. 23,000 บาท/ปี) 3.ไม่มีคนว่างงานในครอบครัว  ข้อ 6.ครอบครัวดี  มีเกณฑ์ชี้วัด เช่น  1.ไม่มีการทะเลาะเฆี่ยนตี  2.ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1   ครั้ง   ข้อ 7.สามัคคีดี เช่น 1.ไม่ทะเลาะวิวาทในชุมชน  2.ร่วมมือกันทำงานส่วนรวมเสร็จตามกำหนด  ข้อ 8.จิตใจดี  เช่น  มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  บริจาคให้วัด  โรงเรียน  ชุมชน

ข้อ 9.มีสัจจะ  มีเกณฑ์ชี้วัด  เช่น  ซื่อตรง (ยืมเงิน/กู้เงิน ชำระคืนตามกำหนด) ข้อ 23.สิ่งแวดล้อมดี  มีเกณฑ์ชี้วัด  เช่น  1.ใช้สารเคมีอย่างเหมาะสม  ลดการใช้สารเคมี  2.ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้  3.คัดแยกขยะ  4.ไม่เผาตอซัง

“ถ้าสมาชิกมีความดี  4 ข้อ  คือ  ข้อ 3.อาชีพดี  ข้อ 6.ครอบครัวดี  ข้อ 7.สามัคคีดี  ข้อ 8.จิตใจดี  และผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัด รวม 11   ข้อ  สามารถกู้ยืมเงินได้ไม่เกิน 20,000 บาท  ถ้ามีความดี  9 ข้อ  สามารถกู้เงินได้  40,000 บาท  มีความดี  11 ข้อ  กู้เงินได้  60,000 บาท โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลมาค้ำประกัน ”  ศิวโรฒยกตัวอย่าง

(รูป 4)

 

นอกจากนี้หากสมาชิกรายใดที่ผ่านเกณฑ์ความดีทั้ง 23 ข้อ  (ตัวชี้วัดรวม 67 ข้อ) สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท  หากใช้ความดีค้ำประกัน  เสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 บาทต่อปี,  หรือหากกู้ไม่เกิน 20,000 บาท  ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย,  กู้เพื่อประกอบอาชีพ  เสียดอกเบี้ยร้อยละ 9 บาทต่อปี  ชำระคืนตั้งแต่ 1-8 ปี  ฯลฯ 

 

แปลงความดีเป็นที่ดินทำกิน

ศิวโรฒ กล่าวด้วยว่า  นอกจากสมาชิกสถาบันการเงินฯ สามารถใช้ความดีเป็นหลักประกันค้ำเงินกู้แล้ว  หากสมาชิกรายใดมีความเดือดร้อน  ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง  สถาบันฯ จะนำที่ดินสาธารณะในตำบลมาให้สมาชิกได้ประกอบอาชีพ  เช่น  ในหมู่ที่ 4  มีที่ดินสาธารณะจำนวน 8 ไร่  สถาบันฯ แบ่งให้สมาชิกที่ขาดแคลนที่ดินทำกินจำนวน 4  ครอบครัวๆ ละ 2   ไร่  โดยไม่เสียค่าเช่า  แต่สมาชิกที่จะเข้ามาทำกินก็จะต้องมีความดีต่างๆ  เช่น  ช่วยเหลืองานส่วนรวม

จิตติมา  วรรณะ  อายุ 53 ปี  อยู่หมู่ที่ 4 บ้านหนองขุย  เล่าว่า  ครอบครัวมีทั้งหมด 8 คน  (สามี  ลูกและหลาน)  เป็นสมาชิกสถาบันการเงินฯ  ตั้งแต่ปี 2549  เมื่อลูกชายแต่งงานในปี 2553 จึงกู้เงินจากสถาบันฯ จำนวน 160,000 บาท  โดยใช้ความดี 23 ข้อมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน  ตอนนี้ชำระเงินกู้คืนหมดแล้ว  ต่อมาในปี 2558  ทางสถาบันฯ นำที่ดินสาธารณะในหมู่บ้านมาให้สมาชิกที่มีความดีและมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอมาให้ใช้ประกอบอาชีพครอบครัวละ 2 ไร่   ตนจึงใช้ที่ดินปลูกข้าวโพดฝักอ่อน

“ข้าวโพดฝักอ่อนมีระยะปลูก 50 วันจึงเก็บฝักขายได้  ปีหนึ่งจะปลูกได้  4 ครั้ง  ราคาขายประมาณกิโลฯ ละ 18 บาท  ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวราคาจะขึ้นเป็น 40 บาท  ปลูกรอบหนึ่งจะมีรายได้ประมาณไร่ละ 10,000 บาท  ก็ถือว่าพออยู่ได้  ทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว  และดีใจที่สถาบันฯ เห็นความดีของเรา  เพราะฉันกับสามีก็ช่วยเหลืองานส่วนรวม  เวลาสถาบันฯ มีงานอะไรก็จะไปช่วย”  จิตติมาเล่าถึงความดีที่ได้รับการตอบแทน

ปัจจุบันสถาบันการเงินชุมชนตำบลหนองสาหร่ายมีสมาชิกทั้งตำบลจำนวน 3,600 คน  มีกลุ่มต่างๆ  ประมาณ 50 กลุ่มเข้าร่วมเป็นสมาชิก  มีเงินออมรวมกันประมาณ  15 ล้านบาท  และมีเงินหมุนเวียนประมาณ 50 ล้านบาท  มีบริการต่างๆ เช่น  โอนเงินผ่านธนาคารออมสิน  ธกส.  รับชำระเงิน  ต่อทะเบียนรถยนต์  จำหน่ายปุ๋ย  วัสดุภัณฑ์การเกษตร  ฯลฯ  มีบัตร ATM ให้สมาชิกสามารถใช้บริการได้ทุกธนาคาร

นอกจากนี้ตำบลหนองสาหร่ายยังมีกองทุนสวัสดิการตำบล  มีสมาชิกประมาณ 2,800 คน  โดยให้สมาชิกออมเงินเข้ากองทุนคนละ 400 บาท/ปี  ช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย  เช่น  เกิด  ช่วย 1,000  บาท  แต่งงานช่วย 2,000 บาท  เจ็บป่วยช่วย 50-300 บาท/คืน  เสียชีวิตช่วย 6,000-10,000 บาท (ตามอายุการเป็นสมาชิก)  มีกลุ่มอาชีพและวิสาหกิจต่างๆ  เช่น  ธุรกิจน้ำดื่มชุมชน  ปั้มน้ำมันชุมชน  กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์  กลุ่มวิสาหกิจทำนา  โรงสีข้าว  ตลาดกลางรับซื้อข้าวเปลือก  ฯลฯ  รวมทุนทั้งหมดประมาณ  94 ล้านบาท  สามารถสร้างทุนหมุนเวียนทั้งตำบลได้ประมาณ 495   ล้านบาท 

‘ชาวนาอัจฉริยะ’ ใช้โดรน-พยากรณ์อากาศช่วยทำนา

แรม  เชียงกา  ประธานกลุ่มวิสาหกิจทำนาตำบลหนองสาหร่าย  เล่าว่า  ชาวบ้านตำบลหนองสาหร่ายส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา  มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 8,000 ไร่  นิมปลูกพันธุ์ข้าวหอมจังหวัด หอมปทุม  หอมมะลิแดง  ในปี 2558  มหาวิทยาลัยรังสิตได้สนับสนุนงบประมาณและความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อช่วยในการทำนาให้แก่กลุ่มฯ  (และใช้เป็นที่ฝึกงานของนักศึกษาคณะนวัตกรรรมเกษตร ม.รังสิต)  เช่น  การสร้างโรงสี  ยุ้งข้าว  โรงอบข้าว  เครื่องบรรจุข้าว  ฯลฯ  ใช้งบประมาณ 19 ล้านบาท  ก่อสร้างเสร็จและเริ่มสีข้าวในปี 2559  สามารถสีข้าวเปลือกได้วันละ  8 ตัน  ได้ข้าวสารวันละ 3-4 ตัน

วิสาหกิจโรงสีข้าวชุมชนบริหารงานในรูปแบบ ‘คณะกรรมการกลุ่มวิสาหกิจทำนาตำบลหนองสาหร่าย’   โดยมีชาวนาในตำบลเป็นสมาชิกกลุ่มฯ จำนวน 220  คน  ถือหุ้นๆ ละ 100  บาท  มีทุนเริ่มต้นประมาณ  700,000 บาทเศษ  และจัดตั้งตลาดกลางรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาทั่วไปและสมาชิกเพื่อนำมาสีบรรจุถุงขายในชื่อ ‘สาหร่ายทอง’  โดยแต่ละปีจะรับซื้อข้าวเปลือกประมาณ  10,000 ตัน  คิดเป็นเงินประมาณปีละ 100 ล้านบาท 

ส่วนการทำนาโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หรือ ‘ชาวนาอัจฉริยะ’ นั้น  แรมเล่าว่า  กลุ่มวิสาหกิจฯ ได้สนับสนุนให้ชาวนาใช้โดรน  หรือ ‘อากาศยานไร้คนขับ’ มาใช้ในแปลงนา  เพื่อฉีดพ่นฮอร์โมน  หรือสารชีวภาพบำรุงต้นข้าว  และฉีดพ่นสารชีวภาพกำจัดแมลงและศัตรูพืช  โดยไม่ใช้สารเคมี  เช่น  ใช้น้ำหมักจากสะเดา  ตะไคร้  ฯลฯ  นอกจากนี้โดรนยังสามารถบินเพื่อถ่ายภาพแมลงในนาข้าวได้  ทำให้รู้ว่าในนาข้าวมีแมลงชนิดใด  จะกำจัดโดยใช้สารตัวใด  ซึ่งในช่วงแรกได้ใช้วิธีการจ้างโดรนมาฉีดแปลงข้าว  ในราคาไร่ละ  100 บาท  แต่ขณะนี้กลุ่มวิสาหกิจฯ ได้สั่งซื้อโดรนมาจากประเทศเยอรมันแล้วจำนวน  2 เครื่อง  (ราคาเครื่องละ 450,000 บาท) เพื่อนำมาบินฉีดพ่นให้สมาชิกและรับจ้างทั่วไปเพื่อให้มีรายได้เข้ากลุ่มฯ

“ข้อดีของโดรนมีหลายอย่าง  เช่น  ประหยัดเวลาและแรงงาน  เพราะโดรนสามารถบรรทุกน้ำหนักได้สูงสุด 15   ลิตร  บินฉีดพ่นนาข้าว  4 ไร่ได้ภายใน 10 นาที  และภายใน 1 วันโดรนสามารถฉีดพ่นได้สูงสุดถึง 200   ไร่  ถ้าเทียบกับแรงงานคน  คนหนึ่งจะฉีดพ่นได้ไม่เกินวันละ 20   ไร่  นอกจากนี้การฉีดพ่นด้วยโดรนยังทำได้ทั่วถึง  ฉีดข้าวและแมลงได้ครอบคลุมทั้งแปลง  แต่ถ้าใช้คนฉีด  แมลงจะบินหนีไปแปลงอื่น  คนไล่ตามแมลงไม่ทัน”  แรมบอกถึงประโยชน์ของโดรน  และขยายความว่า  การใช้โดรนสามารถใช้กับพืชผลชนิดอื่นๆ ได้  และจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 20-40 %

นอกจากการใช้โดรนช่วยลดต้นทุน  ประหยัดเวลาและแรงงานแล้ว  แรมบอกว่า  กลุ่มวิสาหกิจทำนาตำบลหนองสาหร่ายยังใช้เครื่องพยากรณ์อากาศมาช่วยในการทำนาด้วย  โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์จากมหาวิทยาลัยมหิดล  มีรัศมีพยากรณ์ครอบคลุมทั้งตำบล  (ประมาณ 30   ตารางกิโลเมตร)  และมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ดูการพยากรณ์อากาศ  ทำให้รู้ล่วงหน้าเรื่องลม  แดด  และฝน  ซึ่งจะละเอียดและแม่นยำกว่าการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิมยมวิทยา  เพราะกรมอุตุฯ จะพยากรณ์เป็นวงกว้างทั่วทั้งประเทศ  แต่ของกลุ่มฯ จะพยากรณ์เฉพาะในรัศมีของตำบล  ทำให้เตรียมตัวได้ล่วงหน้า  เช่น  หากพยากรณ์ว่าวันนี้จะมีฝน  ชาวนาก็จะไม่ฉีดพ่นสารต่างๆ ในแปลงนา  เพราะน้ำฝนจะชะล้างสารที่ฉีดพ่นเอาไว้  ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของธนาคารความดีตำบลหนองสาหร่าย  และการเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการทำนา...

ติดตามเรื่องราวการพัฒนาชุมชนตำบลหนองสาหร่ายและการพัฒนาตำบลต่างๆ โดยใช้แนวทาง ‘นวัตกรรมชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง  สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ได้ในงาน  ‘Thailand Social Expo 2018’  ระหว่างวันที่ 3 – 5 สิงหาคม 2561  ตั้งแต่เวลา 9.00 – 18.30 น. ณ ฮอลล์ 5-8  ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค  เมืองทองธานี  จังหวัดนนทบุรี  ประชาชน  นักศึกษา  และผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานดังกล่าวได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"