ปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ชาวยะลาผู้ชุบชีวิตภูมิปัญญาท้องถิ่น
ผ้าทอพื้นบ้านปะลางิง ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ในอดีตนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม โพกศีรษะหรือนำมาคาดเอว อีกนัยหนึ่งเพื่อบอกสถานะทางสังคม หากเป็นชนชั้นขุนนางผ้าปะลางิงที่ใช้จะถักทอด้วยไหมแท้ทั้งหมด ส่วนสีจะพิมพ์ทับด้วยทอง ลวดลายเย็บตกแต่งด้วยแล่งเงินแล่งทองให้ดูสมฐานะ แต่ในกลุ่มชาวบ้านใช้เป็นผ้าฝ้าย
ผ้าชนิดนี้ถูกค้นพบว่ามีการใช้จริงตามหลักฐานทางภาพถ่ายในหอจดหมายเหตุ ในปี 2472 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาส จ.ปัตตานี โดยชาวบ้านที่มารอรับเสด็จได้แต่งกายด้วยผ้าปะลางิง หลังจากนั้นผ้าพื้นบ้านชนิดนี้ได้เลือนหายไปกว่า 80 ปี
ผ้าโบราณที่ใช้แกะลวดลายเพื่อฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง
ความพยายามฟื้นฟูผ้าปะลางิงเกิดขึ้นเมื่อ ปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มศรียะลาบาติก ได้ศึกษาค้นคว้าและถักทอผ้าปะลางิงขึ้น 2 ผืน เป็นลายผ้าจวนตานี ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จ.กรุงเทพฯ พร้อมตัวแม่พิมพ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มศรียะลาบาติกผู้นี้ยังได้ผลิตผ้าปะลางิงลายโบราณต่างๆ จำนวน 32 ผืน แต่น่าเสียดายหลังจากนั้นผ้าทั้งหมดตกอยู่ในมือของชาวต่างชาติ
อย่างไรก็ตาม การชุบชีวิตผืนผ้าปะลางิงให้กลับมาอีกครั้งยังไม่หยุดเท่านี้ นายปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มศรียะลาบาติกและเจ้าของผลิตภัณฑ์ผ้าปะลางิง เล่าว่า หลังเรียนจบตนทำงานออกแบบอยู่ที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งมีเหตุการณ์ทำให้กลับบ้านเกิด อ.เมือง จ.ยะลา ได้พบผ้าเก่าของยาย เป็นผ้าปะลางิงลายโบราณ สัมผัสแล้วรู้สึกได้ถึงความแตกต่างจากผ้าทอภาคใต้ทั่วไป ทำให้ตนได้เริ่มศึกษาความเป็นมา รวมถึงกระบวนการทำลวดลายต่างๆ ของผ้าชนิดนี้ ยิ่งมาพบภาพโบราณปี 2472 ทำให้ตนไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมทั้งจากหอสมุดและผู้รู้ลายผ้าโบราณ ระยะเวลากว่า 8 ปี นับตั้งแต่ ปี 2552 ทำให้ตนเกิดความตั้งใจและมุ่งมั่นในฟื้นฟูและอนุรักษ์ พร้อมกับประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ด้วย
ชาวบ้านวาดลายของผ้าปะลางิงอย่างชำนาญ
จากการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ทำให้ปิยะรู้ว่ากระบวนการทำผ้าปะลางิงมีความซับซ้อนและขั้นตอนยากกว่าผ้าบาติก ทั้งการทอ การพิมพ์ลาย การมัดย้อม หรือแม้กระทั่งการสร้างบล็อกไม้พิมพ์ เหมือนรวบรวมเทคนิคการทำผ้าของภาคใต้มาอยู่ในผ้าหนึ่งผืน นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของผ้าผืนนี้ หากจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพื้นที่ เพื่อนำเส้นใยมาทักทอ โอกาสเจริญเติบโตค่อนข้างน้อย เพราะสภาพภูมิอากาศที่มีฝนบ่อย อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผ้าปะลางิงไม่ได้ถูกสืบทอดด้วยเช่นกัน
เหตุนี้ ปิยะจึงเดินทางไปยังกลุ่มทอผ้าใน อ.ชนบท จ.ขอนแก่น เพื่อเรียนรู้กระบวนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้า ใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านกว่า 3 เดือน ขณะเดียวกันก็ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการย้อมสีธรรมชาติของคนใต้ให้แก่ชาวบ้านที่ อ.ชนบท เป็นการแลกเปลี่ยน ที่กลุ่มศรียะลาบาติกเป็นแหล่งส่งเส้นไหมสำคัญเพื่อใช้ทอผ้าปะลางิงด้วย
ส่วนลวดลายของผ้าปะลางิง เขาให้ข้อมูลว่า แรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมท้องถิ่นและวิถีชีวิตใต้ เช่น ลายจากกระเบื้องโบราณ ลายจากช่องลมตามสถาปัตยกรรมเก่า ลายจากแม่พิมพ์ขนมโบราณ ลายการละเล่นว่าว หรือการแกะลายผ้าโบราณต่างๆ นอกจากนี้มีลวดลายที่ถูกพัฒนาขึ้นอีกกว่า 200 ลาย
ลวดลายผ้าปะลางิงบนบล็อกไม้ในการพิมพ์ผ้า
เสน่ห์จับใจ ปิยะเน้นว่าเป็นเทคนิคการพิมพ์ลายด้วยเทียนจากบล็อกไม้ ทำให้ผ้ามีความพิเศษแตกต่างจากผ้าทั่วไป บล็อกต้องทำจากไม้ที่มีความแข็งและเหนียวอย่าง ไม้มะม่วงป่า ไม้ขาวดำ ส่วนของแป้นต้องเป็นไม้เนื้อแข็ง และด้ามจับที่ต้องทำจากไม้เตง ไม้สัก เพื่อเพิ่มน้ำหนักในการกดลาย และเทียนที่ใช้ต้องเป็นเทียนหัวเชื้อ เพื่อให้ได้ความคมของลาย
เนื้อผ้าก็มีส่วนสำคัญ เขาบอกถ้าเป็นผ้าฝ้าย เทียนที่ใช้ต้องมีความเหนียวมาก ผ้าคอตตอนเทียนมีความเหนียวปานกลาง หากเป็นผ้าไหมเทียนที่ใช้ไม่เหนียวเลย ทำให้ลวดลายที่ปรากฏบนผ้ามีความคมชัดและถูกต้องตามแม่พิมพ์ ความยากต้องฉับไวในการวางสีเพื่อใช้คู่สีที่ตัดกันอย่าง สีเขียวตัดสีม่วง สีแดงตัดสีเขียว เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของสี และการเขียนดอก ดังนั้น ในขั้นตอนนี้ตนเองจะเป็นคนขึ้นดอกก่อนจะส่งต่อผู้เขียนลาย ทำให้ผ้าแต่ละผืนมีลายและสีที่ไม่ซ้ำกัน
"กว่าผ้าปะลางิงจะเป็นที่ยอมรับและรู้จักแพร่หลาย กลายมาเป็นแบรนด์ศรียะลาบาติกของชุมชน ลูกค้าต้องจองกันข้ามปี เป็นผลจากความร่วมมือของชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง ไม่ว่ากลุ่มช่างไม้ ช่างทอผ้า ช่างย้อมผ้า เป็นสังคมแบบพหุวัฒนธรรม ทำงานกันแบบครอบครัว มีความอบอุ่น เป็นสิ่งที่อยากให้ผู้เที่ยวชมได้เข้ามาสัมผัส แล้วจะลืมภาพลบของสามจังหวัดชายแดนใต้ไป" ปิยะกล่าว
พื้นที่สร้างสรรค์ผ้าปะลางิงของกลุ่มศรียะลาบาติก จ.ยะลา
ผ้าปะลางิงมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีกระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องประดับตกแต่งบ้าน ทางกลุ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ สายการบิน และรีสอร์ตต่างๆ รวมถึงได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ ทำให้ชาวยะลามีรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ปัจจุบันมีการสืบทอดการทำผ้าปะลางิงควบคู่กับการอนุรักษ์และเผยแพร่ไปยังกลุ่มเยาวชน สถาบันการศึกษา สะท้อนให้เห็นการนำภูมิปัญญาวัฒนธรรมสร้างอาชีพ ซึ่งเป็นอีกแนวอนุรักษ์ผ้าปะลางิงไม่ให้สูญหาย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |