ครม.ไฟเขียวรถไฟทางคู่เส้นเด่นชัย-เชียงขอม เทงบ 8.5 หมื่นล้านบาท เปิดประมูล ก.ค.-ก.ย.นี้ คาดก่อสร้าง 4 ปีแล้วเสร็จ เปิดใช้ปี 65
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันอังคารว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการอนุมัติให้ดำเนินการโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางสายใหม่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร โดยอนุมัติงบประมาณการก่อสร้างทั้งหมด 85,345 ล้านบาท โดยให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการเปิดการประกวดราคาตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.2561 นี้ และให้ได้ผู้ชนะการประมูล และเริ่มก่อสร้างในปี 2562 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 4 ปีในการดำเนินงาน แล้วเสร็จและสามารถเปิดใช้บริการได้ในปี 2565
ทั้งนี้ การก่อสร้างจะแบ่งออกเป็น 3 สัญญา เพื่อดำเนินการในช่วงเด่นชัย-งาว, งาว-เชียงราย และเชียงราย-เชียงของ รวมทั้งสิ้น 26 สถานี และมี 4 อุโมงค์ ผ่านจังหวัดลำปาง พะเยา เชียงราย จนถึงเชียงของ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เลื่อนระยะเวลาการดำเนินงานมาจากเดิมที่กำหนดให้มีการประกวดราคาในปี 2564 แต่ล่าสุด ครม.ได้อนุมัติให้มีการประกวดราคาในปีนี้ จึงทำให้โครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จเร็วกว่ากำหนด 3 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ในปี 2568
"รัฐบาลเองจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่มีการอนุมัติให้ดำเนินการรถไฟสายนี้ เพราะจะช่วยแก้ปัญหาเดิมๆ ที่เคยมีอยู่ว่ารถไฟในประเทศไทยกว่า 90% เป็นรถไฟทางเดี่ยว ส่งผลให้ไม่สามารถสวนกันได้ หรือหากเกิดเหตุขัดข้อง ก็จะกระทบทั้งสายส่งผลให้รถไฟล่าช้าไปบ้าง และนี่ก็เป็นโครงการแรกๆ ที่ประเทศไทยจะมีการพัฒนาเส้นทางของรถไฟให้เป็นทางคู่ โดยเป้าหมายกำหนดไว้ว่าจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นรวมระยะกว่า 3,500 กิโลเมตร" นายณัฐพรกล่าว
นายณัฐพรกล่าวว่า การดำเนินโครงการก่อสร้าง รถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบรางสนับสนุนการขนส่ง โดยผู้โดยสารและสินค้ารองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และลดระยะเวลาในการเดินทางและการขนส่งสินค้า เพิ่มความเร็วในการเดินรถ และทำให้การเดินทางและขนส่งด้วยรถไฟตรงเวลามากขึ้น สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ
และเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จึงต้องทำการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตลอดเส้นทาง โดยผลจากการออกแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรมของโครงการ มีความจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินประมาณ 9,661 ไร่ เพื่อใช้ก่อสร้างทางรถไฟใหม่ จำนวน 2 ทาง ก่อสร้างสถานีรถไฟ ก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ ก่อสร้างสะพานและทางลอดใต้ทางรถไฟ ในท้องที่จังหวัดแพร่ ลำปางพะเยา และเชียงราย เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ตามวัตถุประสงค์ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค.2562
โดยค่าใช้จ่ายที่จะสามารถใช้จ่ายจากเงินงบประมาณคือค่าจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าจ้างที่ปรึกษาเท่านั้น สำหรับค่าก่อสร้างโครงการควรจะมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ตามความเหมาะสม และให้ รฟท. เป็นผู้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระหนี้เป็นรายปีต่อไป ขณะที่ค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืน ค่าเวนคืนและอสังหาริมทรัพย์ และค่าจ้างที่ปรึกษาในการประกวดราคา วงเงิน 10,820 ล้านบาท ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้กับรฟท. ส่วนค่าก่อสร้างและค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง วงเงิน 74,525 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลัง จัดหาเงินกู้ที่เหมาะสมและให้ รฟท.กู้ต่อ โดยให้สำนักงบฯ พิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นงบชำระหนี้ให้แก่ รฟท.
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 12.09% ซึ่งเป็นผลประโยชน์จากการเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางและการขนส่งสินค้า ลดระยะเวลาการเดินทาง ลดอุบัติเหตุทางถนน ลดการใช้พลังงานในภาพรวม รวมถึงเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้วด้วย เพื่อให้การลงทุนของภาครัฐมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางและขนส่งสินค้าจากการพึ่งพาถนนเป็นหลักไปใช้การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |