เมื่อผมชวนครูบ้านนอก คุยเรื่องปฏิรูปการศึกษา


เพิ่มเพื่อน    

      เราได้ยินได้ฟังเรื่อง “ปฏิรูปการศึกษา” ที่มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติมาหลายชุดแล้ว ล่าสุดผมได้ยินบางท่านในคณะกรรมการบางชุดบอกว่านี่เป็น “Mission Impossible” เพราะเป็นภารกิจที่ยากเย็นแสนเข็ญจริงๆ

        พอได้สนทนากับครูชนบทอย่างคุณสุนทร กุมรีจิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโสนที่ อ.ขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ใน Suthichai Live วันก่อน ก็ได้มุมมองของคนที่อยู่ใจกลางปัญหาของโรงเรียนที่ไกลปืนเที่ยงที่ผมเห็นว่า “เข้าประเด็น” กว่าไปฟังสัมมนาระดับชาติหลายครั้ง

        ผมถาม “ครูบ้านนอก” อย่างคุณสุนทรว่ามีความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาอย่างไร คำตอบที่ผมได้น่าจะส่งตรงถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาทีเดียว

        “ผมเสนอว่าเรายกเลิกคำว่าปฏิรูปการศึกษาได้แล้ว เพราะที่ผ่านมามันไม่ใช่การปฏิรูป มันเป็นการปรับโครงสร้างของกลุ่มบุคคลผู้บริหารการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงต้องปฏิรูปที่สถานศึกษา ว่าทำอย่างไรจึงจะจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีคุณภาพ เป็นคนดี เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ด้านสติปัญญาและมีคุณธรรม มีจริยธรรมที่ดีงาม รู้จักรักษาทรัพยากรของชาติ มีความสมัครสมานสามัคคี และรักษาความมั่นคงของชาติให้ได้...”

        ครูชนบทท่านนี้บอกต่อว่า

        “แต่เวลาทำกลับกลายเป็นการปรับโครงสร้าง มีศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด มีศึกษาธิการเขต นั่นคือการปรับโครงสร้าง แล้วก็เอางบไปซื้อรถประจำตำแหน่ง ไปจัดห้องใหม่ เงินเหล่านี้ถ้าหากเอามาให้โรงเรียน โรงเรียนก็จะสามารถหาครูที่ดีที่แท้จริง ทุกวันนี้ครูดีๆ ครูที่แท้จริงกำลังจะหายไป เพราะใครก็เข้ามาเป็นครูได้ ครูจะต้องผ่านการเรียนรู้ มีจรรยาบรรณ ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิรูปสถาบันการผลิตครู ให้เป็นสถาบันการผลิตครูโดยเฉพาะ...

        “การผลิตครูต้องเหมือนผลิตแพทย์ ก่อนที่แพทย์จะออกมาผ่าตัดได้ต้องเป็นนายแพทย์ชั้นสูง มีความสามารถใช้เครื่องมือ อ่านสรีระได้ว่าคนป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างไร จึงมาเป็นแพทย์ได้ ส่วนคนที่เป็นครูไปเก็บที่ไหนมาเป็นครูก็ได้ จะมาแก้ปัญหาความโง่ของคน จะไปช่วยสร้างคนไปพัฒนาประเทศชาติได้อย่างไร...”

        หรือพูดให้ชัดก็คือ การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงย่อมหมายถึงการสร้างครูที่มีจิตวิญญาณที่เป็นครูที่แท้จริงให้เป็นรูปธรรม

        “ถ้าได้ครูดีครูเก่งมาสอนทุกโรงเรียน ก็ไม่จำเป็นต้องมีโรงติว ไม่ต้องมีสำนักติว การปฏิรูปการศึกษาจึงหมายถึงการให้สถานศึกษาเขามีอิสระและความคล่องตัว มีงบประมาณเพียงพอ มีครูที่มาจากแหล่งผลิตดีๆ ที่เหมือนการผลิตแพทย์ดีๆ เหมือนเป็นวิศวกรสังคม...”

        กระทรวงศึกษาธิการมีงบประมาณแต่ละปีสูงกว่ากระทรวงส่วนใหญ่ทั้งนั้นไม่ใช่หรือ? ผมถาม

        ครูบ้านนอกตอบว่า “ใช่ครับ 5 แสนกว่าล้านบาทครับ แต่ถูกใช้ไปกับโครงการใหญ่ๆ เป็นร้อยเป็นพันโครงการ ซึ่งอยู่ที่กรม อยู่ที่กระทรวง โรงเรียนเป็นหน่วยผลิต กระทรวงเป็นหน่วยสนับสนุน แต่เงินงบประมาณไปอยู่ที่กระทรวงเสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นเงินเดือนประจำส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งไปขับเคลื่อนโครงการตามนโยบายต่างๆ และโครงการเหล่านี้แหละที่ทำให้เด็กอ่านหนังสือไม่ออก...”

        ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

        “เพราะเมื่อเดินตามนโยบายนี้ พอจะทำโครงการอะไรก็เรียกผู้บริหารโรงเรียน เรียกครูไปอบรมครั้งละ 3 วัน 7 วัน และครูก็ต้องมานั่งทำเอกสารรายงานต่างๆ ให้ขับเคลื่อนอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นเป็นการดึงครูออกจากห้องเรียน...มีการสำรวจแล้วว่า ในจำนวน 200 วันที่เปิดการเรียนการสอนนั้น ครูไม่ได้สอนเสีย 80 วัน...ดังนั้นถ้าไม่ดึงครูออกจากห้อง ให้ครูสอนจริงๆ เด็กก็จะอ่านหนังสือออกกันทุกคน และเด็กก็จะทำกิจกรรมได้...”

        ครูสุนทรบอกว่า การปฏิรูปต้องไม่เน้นอยู่ข้างบน และต้องไม่เอาผู้บริหารโรงเรียนและครูออกจากห้องเรียนบ่อยๆ

        “อย่างเมื่อวานนี้ ครูของโรงเรียนนี้ก็ไปอบรม 4 คน ออกไป 3 วัน 4 วัน แล้วเด็กอยู่ยังไง? เด็กก็กระจัดกระจาย วุ่นวาย ที่เหลืออยู่ก็ดูแลกันไม่ทั่วถึง...มันไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนเรานะครับ มันเหมือนกันทั้งประเทศ...แม้ว่าช่วงหลังจะเปลี่ยนนโยบายให้อบรมวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังต้องใช้เวลาวันธรรมดาอยู่ดี...”

        ครูใหญ่สุนทรบอกว่าที่กลับมาโรงเรียนบ้านโสน เพราะต้องการจะกลับมาพัฒนาโรงเรียนที่บ้านเกิด แม้จะเคยฝันไปรับตำแหน่งบริหารในโรงเรียนที่ใหญ่กว่า

        “แต่ผมเชื่อในอุดมการณ์ที่ต้องการจะพัฒนาโรงเรียนที่บ้านเกิดของตัวเอง...ผมไม่ได้บ่นว่าเหนื่อย แต่ผมอยากเห็นการปฏิรูปการศึกษาที่ลงมาที่ผู้เรียน ไม่ใช่ที่กระทรวงหรือโครงสร้างใหญ่ข้างบนอย่างเดียว.....”

        นี่คือความในใจของครูบ้านนอกที่กำลังปฏิรูปโรงเรียนเล็กๆ ในชนบทด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนและชุมชน ไม่มีปากไม่มีเสียงอะไร และหากผมไม่ชวนคุย ผอ.โรงเรียนชนบทท่านนี้ก็คงไม่แสดงความเห็นที่สะท้อนถึงความเป็นไปจริงๆ ในห้องเรียนห่างไกลเมืองหลวงแห่งนี้

        ผมเห็นด้วยเต็มประตู...ปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มที่สร้างครูที่เป็นครูครับ!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"