“การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข” โดยเฉพาะสัญญาณเตือนเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บของคุณตาคุณยาย เป็นสิ่งที่ลูกหลานควรให้ความใส่ใจ เพราะโรคบางชนิดสามารถป้องกันความรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ เช่น โรคซึมเศร้าและทำร้ายตัวเองในผู้สูงอายุ เป็นต้น เพราะภาวะดังกล่าวเป็นผลมาจากความเหงาและความโดดเดี่ยวแม้จะอยู่ท่ามกลางลูกหลานก็ตาม แต่ถ้าขาดความเอาใจใส่พ่อแม่ ปู่ย่าตาทวด ผลเสียที่ตามมาคือการเจ็บป่วยของร่มโพธิ์ร่มไทรประจำบ้าน ซึ่งภายหลังก็จะกระทบต่อจิตใจของผู้ดูแลเอง พี่แป้ง-วิภา เกียรติหนุนทวี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการผู้สูงอายุ รพ.ปากท่อ มีคำแนะนำเกี่ยวกับการเฝ้าสังเกต อาการป่วยของผู้สูงวัย เพื่อป้องกันและนำไปสู่การรักษาที่ตรงจุด
(วิภา เกียรติหนุนทวี)
พยาบาลวิภา ให้ข้อมูลว่า “สำหรับอาการป่วยลำดับแรกคือ “โรคซึมเศร้าและทำร้ายตัวเองในคนสูงวัย” เนื่องจากเป็นกลุ่มโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อยมาก และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวลูกหลานทุกคน ทุกครอบครัว ดังนั้นการหมั่นสังเกตไม่เพียงนำท่านเข้าสู่การรักษาได้รวดเร็ว แต่ยังป้องกันความสูญเสียในครอบครัวได้เช่นกัน สำหรับอาการที่พึงสังเกตโรคซึมเศร้า ได้แก่ ผู้สูงอายุพูดคุยน้อยลง ไม่กิน ไม่นอน น้ำหนักลด เบื่อหน่ายในชีวิต หรือจากที่เคยชอบออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านก็ไม่ยอมออกไป และเคยชอบอาบน้ำ แต่งตัวสะอาด ก็ไม่ยอมทำ แต่ปล่อยตัวให้เลอะเทอะ รุงรัง ตอบคำถามน้อย ขี้หงุดหงิดง่าย หรือบางรายก็บ่นให้ลูกหลานได้รู้ว่าไม่สบายตัว ปวดเมื่อยตามจุดต่างๆ ในลักษณะของการเรียกร้องความสนใจ
“ที่สำคัญเลยคือการบ่นว่าตัวเองเป็นภาระของลูกหลาน ตรงนี้เป็นจุดสังเกตโรคซึมเศร้าที่ผู้สูงวัยกำลังส่งสัญญาณเตือนให้ลูกหลานรู้ว่ากำลังจะคิดฆ่าตัวตายได้ ลูกหลานจึงต้องเฝ้าระวังและควรรีบเข้าไปพูดคุย เพื่อให้คุณตาคุณยายได้ระบายความรู้สึกออกมาเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับการรักษาจากแพทย์ กินยา กระทั่งการมอบความรัก ความอบอุ่นให้กับท่าน และใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น”
(สัญญาณเตือนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่คิดฆ่าตัวตาย ได้แก่ การบ่นว่าตัวเองเป็นภาระของลูกหลาน คนในครอบครัวควรหันมาสนใจชวนพูดคุยเพื่อกระชับความผูกพัน)
นอกจากนี้ ให้ลูกหลานพึงเฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยในผู้สูงวัย คือ “โรคอัลไซเมอร์” ซึ่งอาการของโรคนี้คือจะจำอะไรไม่ค่อยได้ ซึ่งภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่อการใช้ชีวิต และสัญญาณของโรคจะพบตั้งแต่การลืมปิดน้ำ-ไฟ กระทั่งการหลงวันและเวลา หรือจากที่เคยขับรถไปไหนมาไหนได้ แต่ลืมหนักมากจนจำวิธีขับรถไม่ได้ หรือเดินกลับบ้านตัวเองไม่ถูก หรือจำไม่ได้ว่าตัวเองชื่ออะไร และที่สำคัญลืมกระทั่งว่าวิธีตักข้าวกินเองทำอย่างไร เมื่อลูกหลานได้รับรู้ถึงอาการป่วยจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ก็จะนำไปสู่การรักษาและการดูแลที่ถูกต้องจากบุตรหลานมากยิ่งขึ้น และสามารถป้องกันอุบัติเหตุอย่างการพลัดตกหกล้ม หรือถูกรถเฉี่ยวชน เมื่อผู้สูงอายุป่วยความจำเสื่อม เดินหลงทาง เป็นต้น
(ผู้สูงอายุที่มีปัญหาปัสสาวะเล็ดอาจทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างไม่มีความสุข โดยเฉพาะผู้ที่ชอบเข้าสังคม ก็อาจทำให้เก็บตัวได้ การที่ลูกหลานพาไปพบแพทย์เพื่อรักษา โดยการสังเกตอาการ จะทำให้ท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น)
ปิดท้ายกันที่การเฝ้าสังเกตภาวะเสื่อมของร่างกายที่อาจเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น “อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่” ส่วนหนึ่งคือการที่หูรูดบริเวณกระเพาะปัสสาวะทำงานได้ไม่ดี เวลาที่ผู้สูงวัยไอหรือจาม กระทั่งผายลม ก็ทำให้ปัสสาวะไหลออกมา แม้จะเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้จากความเสื่อมของร่างกาย เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าลูกหลานให้ความใส่ใจ คอยซักถามหรือพาคุณพ่อคุณแม่ไปพบแพทย์ ตรงนี้จะทำให้ท่านใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ไม่เก็บตัวอยู่กับบ้าน และมีความสุข โดยเฉพาะเวลาที่ออกพบปะเพื่อนฝูง หรือทำธุระนอกบ้าน ก็เป็นไปอย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่ต้องกังวลกับปัญหาสุขภาพดังกล่าว ที่สำคัญยังทำให้คนสูงอายุรับรู้ว่า อันที่จริงแล้วลูกหลานห่วงใยและใส่ใจตัวเอง ก็ย่อมทำให้ครอบครัวอบอุ่นมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญโรคซึมเศร้าและภาวะโดดเดี่ยวก็จะไม่ถามหาท่านค่ะ”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |