รวมพลังประชารัฐกว่า 80 องค์กร จัดงาน ‘Thailand Social Expo 2018’ มหกรรมด้านสังคมครั้งแรกของประเทศไทย แสดงผลงานการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศเตรียมโชว์พื้นที่รูปธรรมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชนทุกมิติ เช่น ด้านเศรษฐกิจชุมชน เกษตรอินทรีย์ ธนาคารต้นไม้ใช้หนี้ ที่อยู่อาศัย ภัยพิบัติ สวัสดิการสังคม ฯลฯ เข้าชมฟรี ระหว่างวันที่ 3-5 สิงหาคมนี้ที่ศูนย์การประชุมฯ เมืองทองธานี
80 องค์กรร่วมงาน ‘Thailand Social Expo 2018’
(พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์)
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า กระทรวง พม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 80 องค์กร กำหนดจัดงาน ‘Thailand Social Expo 2018’ ซึ่งถือเป็นงานมหกรรมด้านสังคมครั้งแรกของประเทศไทย ด้วยการแสดงผลงานด้านสังคมของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน สตรี ครอบครัว ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ให้มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ด้วยคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันในสังคม
“การจัดงานครั้งนี้ จะมีการแสดงผลงานทางวิชาการด้านสังคมของรัฐบาล ผลงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางสังคมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ผลการคิดค้นและการดำเนินงานสำคัญในด้านสังคมของไทยและอาเซียน การประชุม เสวนาวิชาการ การจัดสวัสดิการและบริการต่างๆ สำหรับประชาชนทุกกลุ่มวัย จำหน่ายสินค้าราคาถูก ผลิตภัณฑ์ OTOP และชมการแสดงความสามารถจากทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่น นักดนตรีจากถนนสู่ดวงดาว (From Street to star ) การแสดงศิลปะ วัฒนธรรมของชุมชนต่างๆ” พลเอกอนันตพรกล่าว
รมว.พม.กล่าวด้วยว่า นอกจากจะจัดแสดงผลงานด้านสังคมดังกล่าวแล้ว การจัดงานครั้งนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจต่อสังคม รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาด้านสังคมของประเทศให้มีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและกลุ่มเป้าหมายต่อไป
งาน ‘Thailand Social Expo 2018’ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ 4 ด้าน คือ 1.การประชุมวิชาการ เสวนา ปาฐกถาพิเศษ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาสังคม และการนำเสนอรายงานสถานการณ์ทางสังคม ทั้งในเชิงประเด็นและกลุ่มเป้าหมาย 2.การแสดงผลงานนวัตกรรมด้านสังคมของประเทศไทย นวัตกรรมเพื่อพัฒนาสังคม ต้นแบบที่ดีของการพัฒนาสังคม เทคโนโลยีเพื่อสังคม 3.การแสดงผลิตผลด้านสังคมของภาคีเครือข่ายด้านสังคม และ 4.การแสดงศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายและภาคีเครือข่ายเพื่อเสริมสร้างเจตคติที่ดีและสร้างสรรค์ของคนในสังคม
นอกจากนี้ภายในงานจะมีการออกบูธของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวง พม. และกระทรวงอื่นๆ เช่น มหาดไทย แรงงาน ท่องเที่ยวและกีฬา พลังงาน ยุติธรรม ศึกษาธิการ วัฒนธรรม ดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ รวมทั้งภาคธุรกิจและเอกชน เช่น หอการค้าไทย บริษัทบางจาก ทีวีบูรพา โรงพยาบาลในเครือบางปะกอก รพ.รามคำแหง ตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ รวมทั้งหมดกว่า 80 องค์กร จำนวนบูธทั้งหมดประมาณ 150 บูธ
งาน ‘Thailand Social Expo 2018’ จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 5 สิงหาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 9.00 – 18.30 น. ณ ฮอลล์ 5-8 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ประชาชน นักศึกษา และผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานดังกล่าวได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดตั้งขึ้นในปี 2545 เป็นหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาสังคมของรัฐบาล ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย เด็กและเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย สถาบันครอบครัวและชุมชน
กระทรวง พม. ขับเคลื่อนงานด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐ พร้อมด้วยหลักการทำงานตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้วิสัยทัศน์ “กระทรวง พม.เป็นผู้นำด้านสังคมของไทยและอาเซียน มุ่งสู่คนอยู่ดีมีสุขในสังคมคุณภาพ” ตามนโยบายรัฐบาล “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ขัางหลัง”
เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศโชว์ผลงานพื้นที่รูปธรรมจัดการตนเอง
(สมชาติ ภาระสุวรรณ)
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า พอช.ได้ประสานงานกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศเพื่อนำผลงานพื้นที่รูปธรรมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งนวัตกรรมชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองมานำเสนอ ทั้งในรูปแบบการจัดเวทีเสวนา การพูดหรือนำเสนอแบบ TED Talk (การพูดเพื่อเผยแพร่ความคิดหรือประสบการณ์เพื่อจุดประกายพลังให้แก่ผู้ฟังโดยใช้เวลาสั้นๆ) พื้นที่ละ 5 นาที และการจัดเวทีสังเคราะห์ความรู้ ‘นวัตกรรมชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยมีผู้แทนจากประเทศอาเซียนเข้าร่วมในเวทีดังกล่าวด้วย
“การจัดงาน ‘Thailand Social Expo 2018’ ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ขบวนองค์กรชุมชนและเครือข่ายจะได้แสดงศักยภาพและความสามารถในการพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ เช่น เรื่องเศรษฐกิจฐานราก สถาบันการเงิน เกษตรอินทรีย์ สิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย การป้องกันภัยพิบัติ การจัดสวัสดิการชุมชน ฯลฯ มานำเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการใช้นวัตกรรมชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” ผอ.พอช.กล่าว
สำหรับพื้นที่รูปธรรมชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองที่จะนำมาเสนอในงานนี้ มีทั้งหมด 20 พื้นที่ทั่วประเทศ เช่น เมืองธรรมเกษตร (เกษตรอินทรีย์) จ.อำนาจเจริญ, แม่แจ่มโมเดล (แก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ลดหมอกควัน ปลูกไผ่ สร้างเศรษฐกิจชุมชน) อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, พังงาแห่งความสุข (พัฒนาเมืองแบบบูรณาและทุกมิติโดยประชาชนทุกภาคส่วนเป็นแกนหลัก) จ.พังงา, ตำบลหนองสาหร่าย (ต้นแบบธนาคารความดี,เกษตรอินทรีย์) อ.หนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี
การพัฒนาที่อยู่อาศัย เช่น บ้านพอเพียงชนบท บ้านมั่นคงชนบท (ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่) การพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าว, เศรษฐกิจฐานราก เช่น การพัฒนาธุรกิจชุมชน ต.เหมืองตะกั่ว อ.ป่าบอน จ.พัทลุง, ธนาคารต้นไม้ (ปลูกต้นไม้ใช้หนี้) เช่น ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร, ประมงพื้นบ้าน การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง เช่น เครือข่ายคนกินปลา ภาคใต้, การป้องกันภัยพิบัติ เช่น สภาองค์กรชุมชน จ.สิงห์บุรี ฯลฯ รวมทั้งกรณีศึกษาการพัฒนาชุมชนในกลุ่มประเทศอาเซียน
นอกจากการแสดงผลงานพื้นที่รูปธรรมและการเสวนาต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ภายในงานยังมีการจำหน่ายและแสดงผลิตภัณฑ์และของดีจากตำบลต่างๆ รวม 50 ตำบล พร้อมทั้งเรื่องเล่าจากชุมชน การแสดงวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น ฯลฯ โดยในวันเปิดงานวันที่ 3 สิงหาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษ
แม่แจ่มโมเดลพลัส
อำเภอแม่แจ่มมี 7 ตำบล มีพื้นที่ทั้งหมด 1,692,698 ไร่ ประชากรประมาณ 59,000 คน ประกอบด้วย คนเมือง ลั๊วะ ปะกาญอ (กะเหรี่ยง) และม้ง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำนา ปลูกหอมแดง กะหล่ำปลี เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ชาวบ้านปลูกสร้างบ้านเรือนและอยู่อาศัยมาก่อนปี พ.ศ.2504 แต่เมื่อมี พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ พ.ศ.2507 จึงทำให้ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกลายเป็นผู้บุกรุก ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
เมื่อเกิดปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ทางกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถจัดสร้างแหล่งน้ำให้แก่ชาวบ้านได้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นพื้นที่บุกรุกหรืออยู่ในเขตป่าสงวนฯ หน่วยงานรัฐจึงไม่สามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอแม่แจ่ม คือ 1,668,883 ไร่ หรือประมาณ 98.60 % อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ส่วนพื้นที่ที่ประชาชนมีเอกสารสิทธิ์ เช่น โฉนด, นส.3, นส.3 ก, สปก. ฯลฯ มีพื้นที่รวมกันเพียง 23,815 ไร่ หรือ 1.40 % ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้ประชาชนมีปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน เกิดผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ปัญหาหนี้สินจากการปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะข้าวโพด ยิ่งปลูกยิ่งเป็นหนี้ และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดภัยแล้ง แหล่งน้ำตื้นเขิน หมอกควันจากการเผาป่า น้ำป่า ผลกระทบจากการใช้สารเคมี ฯลฯ
จากปัญหาต่างๆ ดังกล่าว ชาวแม่แจ่ม ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยราชการ สถาบันการศึกษา ฯลฯ จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2552 โดยในช่วงแรกเน้นไปที่การจัดระเบียบควบคุมที่ดินทำกิน เพื่อยับยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่า ลดปัญหาหมอกควันจากการเผาเศษซากพืชไร่ ฯลฯ เรียกโครงการนี้ว่า ‘แม่แจ่มโมเดล’
ต่อมาในปี 2559 จึงได้ยกระดับจากการจัดการปัญหาการบุกรุกป่าและหมอกควันไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งระบบ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เรียกโครงการนี้ว่า ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’
นายสมเกียรติ มีธรรม ผู้ประสานงานโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส ขยายความว่า ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา อัตราขยายตัวของพื้นที่ทำกินในป่าต้นน้ำแม่แจ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ.2552-2559 พื้นที่ในเขตป่าสงวนฯ แม่แจ่มกลายเป็นไร่ข้าวโพดเพื่อส่งโรงงานผลิตอาหารสัตว์อย่างรวดเร็ว จาก 86,104 ไร่ในปี 2552 ในปี 2554 เพิ่มเป็น 105,465 ไร่ และปี 2559 เพิ่มเป็น 123,229 ไร่
ผลกระทบจากการขยายตัวของไร่ข้าวโพดบนพื้นที่สูง คือ เกิดปัญหาภัยแล้งจากการบุกรุกพื้นที่ป่า พอถึงช่วงฤดูฝนเกิดปัญหาหน้าดินถูกชะล้าง ดินทรายไหลลงไปในแหล่งน้ำ ทำให้แม่น้ำลำห้วยตื้นเขิน เกิดปัญหาน้ำแล้งตามมา ผลกระทบจากการใช้สารเคมี การเผาไร่ซากข้าวโพดที่มีปริมาณประมาณปีละ 95,000 ตัน ทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน ปัญหาระบบทางเดินหายใจ เฉพาะในอำเภอแม่แจ่มมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสูดดมหมอกควันประมาณปีละ 5,000 ราย
แต่ที่สำคัญคือปัญหาหนี้สินจากการทำไร่ข้าวโพด เนื่องจากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายไม่ให้บริษัทเอกชนรับซื้อข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้ชาวแม่แจ่มส่วนใหญ่ซึ่งปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือพื้นที่ป่าสงวนฯ ประมาณ 115,000 ไร่ ไม่มีตลาดรองรับ หรือต้องขายในราคาต่ำกว่าทุน ทำให้มีหนี้สินสะสม โดยในปี 2560 เกษตรกรในอำเภอแม่แจ่มเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมกันประมาณ 1,400 ล้านบาท และหนี้กองทุนหมู่บ้านอีกประมาณ 300 ล้านบาท (ไม่รวมหนี้อื่นๆ และหนี้นอกระบบ)
“ดังนั้นการก้าวให้พ้นจากวงจรปัญหาหนี้สิน การสร้างระบบการเกษตรที่จะมาทดแทนการปลูกข้าวโพด เช่น ไม้ไผ่ กาแฟ ไม้ผล เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ การแก้ปัญหาระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการต่างๆ มาสนับสนุน เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร การเชื่อมโยงระบบการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ (การแปรรูป) และปลายน้ำ (การตลาด) เพื่อให้เกษตรกรอำเภอแม่แจ่มหลุดพ้นออกจากเขาวงกตสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ตลอดไป” ผู้ประสานงานโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสกล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหา
‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’ ลดหมอกควัน-คืนพื้นที่ป่า
โครงการ ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’ (Mae Chaem Model Plus) คือ รูปแบบของการแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังกล่าว โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เช่น ผู้นำชุมชน ท้องถิ่น อำเภอ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ภาคเอกชน ธุรกิจ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานรัฐในระดับนโยบาย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ด้วยการยับยั้งการบุกรุกป่า หยุดปัญหาไฟป่า หมอกควัน การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ลดการใช้สารเคมี ฯลฯ ส่งเสริมการปลูกไผ่ กาแฟ ฯลฯ เป็นพืชเศรษฐกิจ พลิกฟื้นดอยหัวโล้นให้เป็นสีเขียว สร้างเมืองแม่แจ่มให้เป็น ‘เมืองป่าไม้’
เฉพาะการแก้ไขปัญหาหมอกควันจากการเผาไร่ จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทำให้จุดความร้อน (Hotspot) ลดลงจาก 384 จุดในปี 2558 เหลือ 30 จุดในปี 2559 พื้นที่เผาไหม้ลดลงจาก 563,798 ไร่ เหลือ 232,259 ไร่ และค่า PM 10 (ฝุ่นหยาบ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 – 10 ไมครอน) ลดลงจากค่าสูงสุดในปี 2558 อยู่ที่ 265 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหลือ 143 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้อำเภอแม่แจ่มได้รับรางวัลดีเด่นในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า โดยมีนายกรัฐมนตรีมาเป็นสักขีพยานมอบโล่รางวัล เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 ที่จังหวัดเชียงใหม่
ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ทำกินนั้น นายสมเกียรติกล่าวว่า จะใช้ฐานข้อมูลที่มีการสำรวจอย่างต่อเนื่องมาจัดทำเป็นข้อเสนอในการจัดระเบียบป่าไม้กับชุมชน เช่น พื้นที่ที่ถูกใช้ประโยชน์ภายในปี 2545 จำนวน 213,462 ไร่ (12.5 % ของพื้นที่ทั้งอำเภอ 1,692,698 ไร่) ให้รัฐจัดที่ทำกินในรูปแบบแปลงรวมตามนโยบายของรัฐบาลให้แก่ชุมชน พร้อมทั้งจัดหาแหล่งน้ำและระบบชลประทานที่เหมาะสมกับภูมินิเวศน์
พื้นที่ที่ถูกใช้ประโยชน์ปี 2546-2554 จำนวน 161,706 ไร่ หรือ 9.5 % (มติคณะรัฐมนตรีไม่ได้รองรับ ที่ดินยังเป็นของรัฐ) อนุญาตให้ชาวบ้านทำกินและอยู่อาศัยต่อไปอย่างมีเงื่อนไข โดยให้ชาวบ้านร่วมปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว รัฐและเอกชนร่วมสนับสนุนกล้าไม้ ปลูกไม้เศรษฐกิจ ไผ่ กาแฟ ไม้ผล ปลูกป่าเอนกประสงค์ ฯลฯ
พื้นที่ที่ถูกใช้ประโยชน์หลังปี พ.ศ.2554 จำนวน 86,359 ไร่ หรือ 5 % ให้คืนเป็นป่าถาวร โดยให้จ้างชาวบ้านปลูกและดูแลอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้มีรายได้ ปลูกไม้เป็นแนวกันชน สร้างกลไกชุมชนในการดูแลรักษาป่า ฯลฯ
“ทั้ง 3 แนวทางนี้จะทำให้อำเภอแม่แจ่มมีป่าไม้เพิ่มขึ้น 5 % มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอีก 9.5 % รวมเป็น 14.5 % หรือ 248,065 ไร่ ทำให้อำเภอแม่แจ่มได้ป่าเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่ 73 % เป็น 85.5 % โดยไม่มีความขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้น” ผู้ประสานงานโครงการแม่แจ่มฯ อธิบาย
ปลูกไผ่-แปรรูป สร้างเศรษฐกิจชุมชนแทนข้าวโพด
การพลิกฟื้นผืนป่าเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนตามโครงการ “แม่แจ่มโมเดลพลัส” นั้น นายสมเกียรติ มีธรรม ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวว่า จะเน้นการปลูกไผ่เพื่อแปรรูป มีเป้าหมายเพื่อยกระดับให้เกษตรกรมีอำนาจในการต่อรอง ซึ่งจะแตกต่างจากการปลูกข้าวโพดที่เกษตรกรกำหนดราคาขายไม่ได้ โดยเกษตรกรจะเป็นคนปลูก แปรรูป และเป็นเจ้าของร่วมในลักษณะของวิสาหกิจชุมชน โดยใช้พื้นที่ปลูก 1 ไร่/ 70 ต้น ซึ่งในการปลูกไผ่ช่วงแรกจะปลูกแบบผสมผสานหรือแทรกไปในแปลงข้าวโพด เมื่อไผ่โตและสามารถตัดขายได้แล้ว เกษตรกรจะค่อยๆ ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด เพื่อปลูกไผ่เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้การปลูกไผ่บนพื้นที่สูงหรือบนดอยจะช่วยป้องดินถล่มและช่วยอุ้มน้ำ เพราะไผ่มีรากฝอยแผ่กว้างและหนาแน่น ช่วยยึดหน้าดิน สร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่า ใบไผ่ที่ร่วงจะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดิน ไม่ต้องใช้สารเคมี ไม่ต้องเผาไร่เหมือนปลูกข้าวโพด เมื่อไผ่ที่ปลูกไปแล้วเริ่มโต ต้นไผ่ก็จะแตกหน่อแทงยอดขึ้นมาอีก เมื่อตัดไผ่รุ่นแรกไปแล้วก็จะมีไผ่ที่เติบโตตามมาหมุนเวียนให้ตัดได้ตลอดทั้งปี
ไผ่ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นไผ่พันธุ์ ‘ซางหม่น’ และ ‘ฟ้าหม่น’ ซึ่งเป็นไผ่ตระกูลเดียวกัน มีแหล่งกำเนิดที่อำเภอเชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้นำไปขยายพันธุ์ที่จังหวัดน่านจนได้ผลดี ลักษณะเด่น คือ ลำไม้ไผ่โตเร็ว ลำตรง เนื้อไม้หนา เหมาะนำไปแปรรูปเป็นตะเกียบ เฟอร์นิเจอร์ หน่อกินได้ ฯลฯ ใช้เวลาปลูก 2-3 ปีสามารถนำไปทำตะเกียบ ส่วนเศษที่เหลือจะนำมาผลิตเป็นถ่านอัดก้อนให้พลังงานความร้อนสูง ไม่มีควัน ปลูก 4 ปีสามารถนำไปทำเฟอร์นิเจอร์หรือสร้างบ้านได้
ขณะนี้มีเกษตรกรทั้ง 7 ตำบล 26 หมู่บ้านในอำเภอแม่แจ่มเข้าร่วม รวม 362 คน มีพื้นที่ปลูก 466 ไร่ รวม 30,337 ต้น และจะขยายพื้นที่เป็น 2,000 ไร่ภายในสิ้นปีนี้ มีเป้าหมายผลผลิต 10-30 ตัน/ ไร่ / ปี ราคาไผ่ดิบประมาณตันละ 1,000 บาท โดยมีแผนงานที่จะสร้างโรงงานแปรรูปขึ้นมาหลังจากที่ไผ่ให้ผลผลิตแล้ว มีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสนับสนุนเครื่องจักร สามารถนำมาผลิตเป็นตะเกียบ เศษไม้ที่เหลือนำมาเผาและอัดทำเป็นถ่านแท่ง มีตลาดรองรับ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น รวมทั้งผลิตเฟอร์นิเจอร์ โดยจะมีการฝึกอบรมช่างหัตถกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์ ฯลฯ
นอกจากนี้เศษไม้ไผ่ยังสามารถนำมาผลิตเป็นถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) เป็นวัสดุที่ประกอบด้วย คาร์บอนที่ได้จากถ่าน คาร์บอนที่ได้จากถ่านกัมมันต์มีความแข็งแกร่ง คงตัว ไม่ถูกละลายด้วยสารเคมีใด หรือไม่เป็นสนิม ใช้สร้างแผ่นเซลล์เชื้อเพลิง ใช้ผสมเพิ่มความแข็งแกร่งลงในปูนซีเมนต์ พลาสติก หรือวัสดุต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น ยางรถยนต์ ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยา อาหาร เป็นวัสดุประกอบสำคัญในการผลิตเซลล์เชื้อเพลิง ถ่านไฟฉาย เม็ดเชื้อเพลิงทดแทนให้ความร้อน ตลาดโลกมีความต้องการปีละ 10 ล้านตัน ราคาตันละ 30,000-40,000 บาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายถึงปีละ 400,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสจะเริ่มเดินหน้าแล้วโดยคนแม่แจ่มและภาคีที่เกี่ยวข้อง แต่หากขับเคลื่อนไปตามลำพังโดยกลไกของรัฐไม่ขยับเขยื้อน โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลที่จะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม เช่น เรื่องปัญหาที่ดินทำกินและปัญหาหนี้สินของเกษตรกรชาวแม่แจ่ม
ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้จริง มีพื้นที่รูปธรรมรองรับ มีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์พื้นที่รูปธรรมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ชาวแม่แจ่มจึงได้จัดทำข้อเสนอถึงคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลเชิงพื้นที่ ซึ่งมี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เป็นประธานฯ (ภายใต้การกำกับของ รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล) ที่ได้เดินทางมาศึกษาข้อมูลที่อำเภอแม่แจ่มเมื่อเร็วๆ นี้ ดังนี้
1. ให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณากลั่นกรองแนวทางการแก้ไขปัญหาตามแบบแม่แจ่มโมเดลพลัสให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ
2. ให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะทำงานการแก้ไขปัญหา และขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับพื้นที่อำเภอแม่แจ่มขึ้นมาหนึ่งชุด
วันนี้แม่แจ่มโมเดลพลัสเริ่มเดินหน้าแล้ว จากผืนดอยหัวโล้นกำลังกลายเป็นเมืองป่าไม้ เป็นป่าไผ่เขียวขจี ขณะที่เกษตรกรชาวแม่แจ่มก็มีความหวังที่จะปลดหนี้สิน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เหลือแต่เพียงรัฐเท่านั้นที่จะมีนโยบายสนับสนุนชาวแม่แจ่มให้เป็นจริงได้อย่างไร ?
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |