ไทยมี 'กันชน' และ 'กระสุน' : แต่เราฝืนตลาดโลกไม่ได้!


เพิ่มเพื่อน    

เมื่อได้นั่งลงถาม-ตอบกับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าฯแบ็งก์ชาติในหัวข้อสำคัญของเศรษฐกิจไทย...หนึ่งในคำถามใหญ่คือไทยจะรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมขณะที่ธนาคารกลางมะกันประกาศขยับทุกไตรมาสหรือถี่กว่านั้นได้จริง ๆ หรือ?

คำตอบชัด ๆ คือ เราฝืนตลาดโลกไม่ได้ครับเพราะระบบการเงินโลกมันเชื่อมโยงกัน

ประโยคต่อไปน่าจะส่งสัญญาณอะไรบางอย่างได้

ถึงแม้วันนี้เราจะยังไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่เราก็เริ่มเห็นอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของเราค่อย ๆ ปรับขึ้น สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินโลก...

เราสามารถซื้อเวลาได้ระยะหนึ่งก็เพราะ กันชนด้านต่าง ๆ ที่ไทยได้สร้างเอาไว้

รวมถึง การตุนกระสุนเอาไว้เผื่อจะต้องใช้รักษาป้อมปราการเอาไว้

กันชนที่ว่านี้มีอะไรบ้าง?

อันแรกคือการใช้เงินจากต่างประเทศค่อนข้างน้อย พึ่งพาเงินตราจากข้างนอกไม่มาก หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ ภาครัฐคืนนี้ต่างประเทศไปเยอะมากในช่วงที่ผ่านมาเพราะสภาพคล่องในประเทศสูง

ภาคเอกชนมีหนี้ต่างประเทศอยู่บ้าง ส่วนใหญ่กู้มาเพื่อลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะธุรกิจยักษ์ของไทยที่ไปลงทุนข้างนอก

สถานการณ์วันนี้จึงต่างจากช่วง วิกฤตต้มยำกุ้งที่ไทยไปกู้เงินต่างประเทศมาใช้กันมโหฬาร เกิดปัญหาความไม่สมดุลระหว่างสกุลเงินต่าง ๆ

ตอนนี้สถานการณ์กลับกัน

กันชนอีกด้านหนึ่งคือต่างชาติถือพันธบัตรรัฐบาลของไทยเพียงร้อยละ 10

ขณะที่ประเทศรอบบ้านเรา บางประเทศตัวเลขนี้สูงถึงร้อยละ 40

ด้วยเหตุนี้ หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ประเทศเหล่านั้นจะตกอยู่ในสภาพอ่อนไหวกว่าไทย

กันชนอีกแถวหนึ่งที่สำคัญคือทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยวันนี้ค่อนข้างสูง เท่ากับ 3.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

และหากเทียบกับหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหนี้ระยะสั้น ระยะยาว หนี้ทางการ หนี้ภาคเอกชน ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าประมาณ 1.5 เท่า

อีกกันชนหนึ่งที่ไม่ได้ค่อยได้พูดถึงกันคือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงมากใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ปีนี้คาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 9 ของจีดีพีหรือคิดเป็นเงินก็ประมาณ 40,000 ล้านเหรียญ เพราะเราได้จากการขายสินค้าออกไปและรายได้จากนักท่องเที่ยวเข้ามา

เหตุนี้แหละที่ผู้ว่าธนาคารกลางไทยบอกว่าเมื่อมี กันชนที่แข็งแกร่งก็ทำให้มีอิสระในการทำนโยบายการเงินเพื่อตอบโจทย์สถานะเศรษฐกิจในประเทศได้

แต่ถ้าอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยถี่และต่อเนื่อง ก็ไม่แน่

ดร.​วิรไทย้ำ เราไม่มีทางฝืนตลาดเงินตลาดทุนโลกได้

แปลว่าแม้จะมี กันชนและ กระสุนที่ช่วยเป็นเกราะกำบังได้ในช่วงนี้ อะไร ๆ ที่คาดไม่ถึงก็อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ

จึงเป็นที่มาของคำเตือนว่า ความเสี่ยงยังสูง คนไทยอย่าชะล่าใจเป็นอันขาด

คำแนะนำก็คือแม้คนไทยจะคุ้นชินกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็อย่าประมาท

อาศัยโอกาสที่ดอกเบี้ยยังถูกอยู่นี่ก็ล็อกซะ , ล็อกอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ทำให้ตราสารยาวขึ้น ก็ลดความเสี่ยงเวลาที่ต้องต่ออายุ เวลาที่ตราสารระยะสั้น ๆ ครบกำหนด เวลาที่ต้อง roll over ก็จะได้ไม่ค่อยมีปัญหา

อัตราดอกเบี้ยต่ำไม่ได้แปลว่าไม่มีปัญหา

การที่อัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานานก็สร้างผลข้างเคียงหลายอย่าง...เรามีผู้ออกที่เราต้องดูแลด้วย ไม่ใช่มีแต่ผู้กู้อย่างเดียว คนไทยต้องมีความมั่นคงการเงิน เราจะเป็นสังคมผู้สูงวัย ดังนั้นเรื่องของผลตอบแทนจากการออมก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องดูแลให้สมดุล...

การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานานมาก ๆ ก็ทำให้เกิดพฤติกรรมที่มักจะประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร และพยายามมุ่งแต่จะหาผลตอบแทน

ผลที่ตามมากมีปัญหาเช่นลักษณะ กึ่ง ๆ ธนาคารเงาเช่นกรณีที่มีคนถอนเงินฝากธนาคารไปฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ เขาเอาเงินไปทำอะไร ทำไมเขาถึงได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า อาจมีความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ และขณะเดียวกันเราก็เห็นกรณีของตราสาร ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่เรียกว่า unrated bond ที่คนเข้าไปลงทุนกันเยอะในช่วงปีสองปีก่อนหน้านี้

นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่า search for yield หรือการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยไ่ม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงอย่างรอบด้าน

เรื่องของดอกเบี้ยจึงเป็นเรื่องของทุกคน ขึ้นก็กระทบบางกลุ่ม ลงก็กระเทือนอีกบางคน

ท้ายที่สุดการ บริหารความสมดุลคือหัวใจของคนบริหารธนาคารกลางอย่าง ดร.​วิรไทนี่แหละ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"