ออกเถอะ 'เสี่ยป้อม' เสียสละเพื่อ 'คสช.'


เพิ่มเพื่อน    

ประเด็นอื้อฉาวเรื่องแหวนเพชรเม็ดโตและนาฬิกาจำนวน 25 เรือน มูลค่าเกือบ 40 ล้านบาทของ  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สร้างความลำบากใจให้คนในแม่น้ำ 5 สาย รวมทั้งกองหนุน คสช. เพราะจำเลยสังคมในร่างผู้บังคับบัญชาไม่สามารถชี้แจงสร้างน้ำหนักความเชื่อถือให้คนหมู่มากได้ 

โดยเฉพาะคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บอกแต่เพียงว่าเป็นของเพื่อนที่ยืมมาใส่เท่านั้น และได้ส่งคืนไปทั้งหมดแล้ว พร้อมกับลั่นวาจาว่าหากคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้ว่าผิดก็จะออกจากตำแหน่ง 

ขณะที่สังคมฝากความหวังไว้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะกล้าหาญอย่างอดีตผู้นำจีนคนหนึ่งชื่อ เติ้งเสี่ยวผิง ที่เคยพูดว่า อย่าเอาผลประโยชน์ชาติไปตอบแทนบุญคุณส่วนตัว หรือไม่ และผลที่ออกมาสร้างความผิดหวังเพราะเลือกประคับประคองพี่ใหญ่ว่า “ปัญหาเรื่องนาฬิกาต่างๆ ที่นักการเมืองออกมาพูด ขอให้กลไกได้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจน ขอร้องว่าช่วงนี้อย่าใช้วาทกรรมเหล่านี้มาสร้างเวทีทางการเมือง และ พล.อ.ประวิตรก็พร้อมที่จะตอบเรื่องเหล่านี้ด้วย"

พร้อมโยนภาระการตรวจสอบไปที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่บัดนี้ยังเอาตัวเองไม่รอด และมีสภาพพะอืดพะอมไม่กล้าตรวจสอบ คสช.อย่างเต็มที่เพราะเป็นผู้แต่งตั้งตนเอง อีกทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  (สนช.) ก็เพิ่งลงมติต่อวีซ่าให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทำหน้าที่ต่อไปเป็นเวลา 9 ปี ทั้งที่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญจำนวน 7 คน จาก 9 คน ซึ่งหลายฝ่ายฟันธงว่าจะทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองต่อไปในอนาคต

โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องวินิจฉัยปัญหาทับซ้อนตัวเอง จากกรณี สนช.จำใจเตรียมยื่นตีความคุณสมบัติของ ป.ป.ช. หลังก่อนหน้านี้ สนช.ได้ให้การรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในตำแหน่งต่อไป ทั้งที่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ  

 ซึ่งหากศาลตัดสินว่ามีความผิดจะมีผลกระทบตามมาที่ สนช.หรือไม่ ที่ลงมติหมิ่นเหม่ต่อการขัดรัฐธรรมนูญ เทียบเคียงกับกรณี  ส.ส.พรรคเพื่อไทยลงมติ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ที่กำลังตรวจสอบไต่สวนในชั้นอนุกรรมการ ป.ป.ช.  ขณะเดียวกันหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าไม่ผิดอาจเกิดวิกฤติศรัทธาตามมา

รวมทั้งยังกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและองค์กรอื่นๆ ที่เชื่อมโยง คสช.และกองหนุนทั้งหมด  จะไม่สามารถเอาตัวรอดได้ หากยังเลือกดื้อแพ่งและรักษาสภาพของ พล.อ.ประวิตรที่ขณะนี้ไม่ต่างจากซากศพ โดยไม่สนใจข้อเรียกร้องจากสังคมและประเพณีปฏิบัติ ที่ผู้ติดตามการเมืองเรียงหน้าออกมาเรียกร้องสปิริตของผู้นำประเทศที่อ้างว่าเป็นคนดีอาสาเข้ามาปฏิรูปประเทศ

 โดยเฉพาะข้อเรียกร้องจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่าอยากให้ชี้แจงต่อสาธารณะให้ชัดเจน เพราะถ้าสังคมสงสัยไม่เชื่อแล้วปล่อยให้ยืดเยื้อ จะกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล ทำให้ขาดความเชื่อมั่นและการสนับสนุนจากประชาชน

            แม้กรณี ป.ป.ช.เมื่อชี้แล้วก็จะมีผลทางกฎหมายตามอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่ตอนนี้สังคมเกิดความไม่เชื่อมั่นในตัว ป.ป.ช.ด้วย หากยืนยันว่ายืมเพื่อนมาใส่ก็ชี้แจงรายละเอียดว่ามีกี่เรือน ยืมจากใคร สังคมจะได้จบเรื่องนี้ไป แต่ถ้ายังชี้แจงเพียงเท่านี้ การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะยังอยู่ในสภาพเดิมและไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล

      นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าอย่างน้อยที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ต้องคุยกับ พล.อ.ประวิตร ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เรื่องนี้กระทบความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และแปลกใจอยู่ว่านายกฯ ใช้คำพูดว่าอย่าเอาวาทกรรมทางการเมืองมาพูด ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องวาทกรรมแต่เป็นเรื่องพฤติกรรม

          "ผมพยายามชี้ให้เห็นว่าในฐานะนักการเมือง ถูกรัฐบาลชุดนี้ต่อว่าต่อขานว่าการเมืองเก่าๆ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จึงชี้ให้เห็นว่ามาตรฐานในรัฐบาลผมที่เป็นนักการเมืองเก่า มีความชัดเจนและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มีปัญหาที่สังคมสงสัย รัฐมนตรีก็ลาออก ทั้งๆ ที่ ป.ป.ช.ยังไม่ได้ชี้ว่ามีความผิด และสุดท้ายก็ไม่ได้มีความผิดด้วย ดังนั้นหากท่านนายกฯ ยังอยากใช้คำว่าธรรมาภิบาลอยู่ ก็ควรสะสางเรื่องนี้ให้เรียบร้อยด้วยการสร้างมาตรฐานทางการเมือง อย่างน้อยที่สุดก็คือมาตรฐานการชี้แจงให้เกิดความโปร่งใสต่อสังคม"

อดีตนายกฯ ระบุว่าเข้าใจถึงความสำคัญของ พล.อ.ประวิตรที่มีต่อรัฐบาล รวมถึงความผูกพันที่มีต่อกัน แต่สิ่งที่ขอคือทำอย่างไรให้เกิดความโปร่งใสต่อสังคม ถ้ามีข้อเท็จจริงที่มั่นใจว่าถูกต้องก็ชี้แจงให้สังคมเข้าใจและมั่นใจด้วย แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ สภาพของรัฐบาลและการทำงานก็จะได้รับผลกระทบ

"ผมเป็นห่วงไปถึงการแก้ปัญหาและบรรทัดฐานของสังคมด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่า คสช.เข้ามาบอกว่าจะทำให้การเมืองดีขึ้น หากมีปัญหาความเสื่อมศรัทธาขององค์กรอิสระและ ป.ป.ช.ตามมาอีกจะยิ่งเป็นปัญหาใหญ่" อดีตนายกฯ กล่าวเรียกร้อง

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กทม.และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรียกร้องให้นายกฯ ใช้อำนาจมาตรา 44 กับ พล.อ.ประวิตร โดยยกตัวอย่างเทียบเคียงเช่น การใช้มาตรา 44 ปลดผู้ว่าฯ กทม.ออกจากตำแหน่ง และตั้งคนที่รัฐบาล คสช.ต้องการ ก่อนที่จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินการตามกลไกกฎหมาย หรือการโยกย้ายข้าราชการทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นออกจากตำแหน่งไปหลายร้อยคน โดยไม่มีข้อมูลรายงานผลการสอบสวนใดๆ ว่าแต่ละกรณีทุจริตหรือไม่อย่างไร

อดีตแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวต่อว่า หลายคนถูกให้ออกจากตำแหน่งไปโดยไม่มีการสอบสวนความผิดจนเกษียณอายุราชการไป ยกตัวอย่างเลขาธิการ สปสช. นายกฯ ให้พ้นตำแหน่งจนเกษียณอายุราชการ แต่ไม่มีการเรียกสอบสวนเลย ปิดคดีไปดื้อๆ หรือกรรมการกองทุน สสส.หลายคนที่ถูกให้ออกตามมาตรา 44 และต่อมาสอบแล้วไม่พบว่ามีเรื่องทุจริต  

          “มาตรฐานเดียวกันนี้จึงควรนำมาใช้กับกรณีของ พล.อ.ประวิตร เพื่อสอบให้ได้ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ เหมือนกับที่ท่านเคยทำกับคนอื่นๆ มาแล้ว ... และเรื่องนาฬิกานี้ก็จะเป็นบทพิสูจน์ว่าทั้งคนและกลไกภาครัฐในการปราบโกงจะเป็นกลไกที่ได้รับความเชื่อถือ หรือจะเป็นเพียงปาหี่ให้มหาชนโห่เท่านั้น” น.ส.รสนาเรียกร้อง

            นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกร้องเช่นกันว่า พล.อ.ประยุทธ์จะต้องแสดงจุดยืนให้ประชาชนเห็นชัดๆ ได้แล้ว บัดนี้ถึงแม้ข้อมูลจะมากพอ และย่อมจะมีความเห็นแล้ว แต่กลับโบ้ยไปที่กลไกการตรวจสอบ และพยายามปิดฟ้าด้วยฝ่ามือไม่ให้นักการเมืองออกมาวิจารณ์ แถมยังเน้นอีกว่า พล.อ.ประวิตรจะตอบเรื่องนี้ เป็นท่าทีรับประกันว่าจะไม่มีคำตอบแบบโอเวอร์ เอ๋อมั่ว

          “การแสดงจุดยืนออกมาอย่างนี้ ผมคิดว่าทำให้ท่านหมดความชอบธรรมในการเป็นผู้นำของประเทศเราไปพร้อมกับ พล.อ ประวิตร” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว 

เมื่อฟังจากเหตุและผลดังกล่าวที่นำเสนอไป ขณะที่ฝ่ายตกเป็นจำเลยแม้จะมีการชี้แจงแต่ก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อถือได้ เท่ากับต้องยอมรับสภาพว่าถูกพิพากษาไปแล้ว ทั้งนี้หากนำ พล.อ.ประวิตรมาเปรียบเทียบเป็นร่างกายมนุษย์ และ คสช.ยังต้องการจะรักษาอำนาจและอยู่ในเส้นทางตามยุทธศาสตร์ของตัวเองต่อไป ในทางการเมืองจำเป็นจะต้องตัดเนื้อร้ายดังกล่าวออกไปก่อนจะที่ลุกลามถึงขั้นเสียชีวิต     

ด้วยเหตุนี้ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ควรจะต้องเสียสละด้วยการลาออก หรืออย่างน้อยก็ต้องพักงานหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรักษาองคาพยพของ คสช.ให้อยู่รอดต่อไป  ช่วยลดกระแสขาลงของรัฐบาลที่ถูกรุมกระหน่ำเข้ามาทุกด้านไม่ว่าจะปัญหาทางการเมืองหรือปากท้อง ที่สำคัญยังช่วยลดวิกฤติศรัทธาที่มีต่อนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญให้ดีกรีเบาบางลง  

นอกจากนี้ยังทำให้บรรดากองหนุนเลิกกระอักกระอ่วนใจ ขณะที่คอการเมือง สังคม สื่อมวลชน จะได้เลิกคาใจในมาตรฐานของรัฐบาลชุดนี้ ที่เคยประกาศนโยบายว่าจะไม่ทนต่อการคอร์รัปชันอีกต่อไป  สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่อวดอ้างว่าเป็นฉบับปราบโกง มิใช่เป็นกฎหมายฉบับหมกเม็ดเกื้อหนุนผู้มีอำนาจอย่างที่ถูกกล่าวหาอีกด้วย.                                    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"