จากเหตุการณ์เขื่อนดินอ่างเก็บน้ำเซน้ำน้อย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้เกิดการทรุดตัวจากพายุฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดรอยร้าวบริเวณสันเขื่อน ส่งผลให้มวลน้ำไหลท่วมพื้นที่ใกล้เคียงและบ้านเรือนประชาชน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง ซึ่งประจวบเหมาะกับเขื่อนดังกล่าวเป็นที่กักน้ำเพื่อผันไปใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ที่มีบริษัทไทยเกี่ยวเนื่องอยู่ด้วย เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปดำเนินการ เพื่อจะผลิตไฟฟ้าและส่งกลับมาขายในประเทศไทย
ซึ่งนอกเหนือจากประเด็นความเสียหายของตัวเขื่อนและบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบแล้วนั้น ยังมีอีกประเด็นที่น่าติดตามก็คือเมื่อเขื่อนพังแล้ว จะกระทบกับการผลิตไฟฟ้าเพื่อกลับมาขายให้ประเทศไทยหรือเปล่า แต่ยังโชคดีที่โรงไฟฟ้าดังกล่าวยังไม่ได้เริ่มเดินเครื่องในเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ซึ่งจะมีกำหนดการจ่ายไฟในช่วงเดือน ก.พ.2562 ที่จะถึงนี้
และโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยก็เป็นเพียงหนึ่งแหล่งไฟฟ้าเท่านั้นที่ประเทศไทยมีการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อมารองรับความต้องการใช้ไฟในประเทศ และเมื่อดูกันจริงๆ ในเทศไทยมีอีกหลายแห่ง ไม่ใช่แค่ สปป.ลาวเพียงประเทศเดียวหรือแห่งเดียว เพราะยังมีประเทศอื่นอย่างมาเลเซียและในลาวอีกหลายแห่งที่ไทยรับซื้อไฟมา ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติที่มีการซื้อขายไฟกันระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ก็อาจจะจริง เพราะหลายแห่งก็มีการดำเนินการในรูปแบบนี้
แต่เมื่อมาทบทวนอีกทางหนึ่ง นี่ก็คือความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดผลกระทบเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเรายังต้องอาศัยคนอื่นต่อไปอย่างนี้ ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องระยะทาง ภูมิศาสตร์ และการบริหารจัดการ ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยล่าสุด แต่หากเจอกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ ก็อาจจะทำให้เกิดผลกระทบหนักเช่นกัน ซึ่งตัวอย่างก็มีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา
อย่างเช่นเมื่อล่าสุด ที่มีฟ้าผ่าลงที่สายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ น่าน-หงสา ส่วนที่อยู่ในลาว ทำให้ระบบป้องกันทำงาน และสั่งหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าหงสาทันที เป็นผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าที่ส่งให้ระบบไฟฟ้าของไทยขาดหายไปจำนวน 1,300 เมกะวัตต์ และไฟดับที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเป็นวงกว้าง
นโยบายของรัฐบาลเมื่อพูดถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็เพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยทำการสำรวจและพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายไฟฟ้าให้ประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับแผนบริหารด้านพลังงานของประเทศไทย
ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศ สปป.ลาว นับว่ามีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่น โดยได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจระดับรัฐบาล ในการรับซื้อไฟฟ้าในปริมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2549 และหลังจากนั้นก็มีโครงการที่ร่วมกับซื้อขายมาเรื่อยๆ ทั้งโครงการเทิน-หินบุน, ห้วยเฮาะ, น้ำเทิน 2, น้ำงึม 2, หงสาลิกไนต์, ไซยะบุรี, น้ำเงี้ยบ 1 และโครงการส่วนขยายต่างๆ
นอกจากนี้ ในมาเลเซียก็มีหลายจุด อาทิ จุดเชื่อมต่อบูกิตเกหรี จุดกูรุน ที่ซื้อขายในระยะยาว ส่งมาใช้ในโซนภาคใต้ของประเทศไทย ถ้าในแหล่งต่างๆ เกิดปัญหาขึ้นมาก็จะมีปัญหากับการใช้ไฟในไทยแน่นอน ยิ่งภาคใต้เองนั้น ก็เริ่มจะมีสัญญาณส่งมาแล้วว่ากำลังผลิตไฟในพื้นที่นั้นใกล้เคียงกับความต้องการใช้ไฟแล้ว ซึ่งในอีกไม่กี่ปี จะมีปริมาณใกล้เคียงกันแล้ว และจะต้องนำไฟฟ้าจากพื้นที่อื่นๆ ส่งมาให้ใช้อีกถ้ายังไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าเป็นของตัวเองในพื้นที่
นี่คือปัญหาระดับประเทศ ที่ผู้คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าจะต้องมองให้ออก เพราะต้องยอมรับว่าจะให้คนเราไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ คงมีหลายคนทนไม่ไหวกับสภาวะแบบนั้น แค่ไฟดับชั่วโมงเดียวก็มีเสียงโวยวายจากหลายๆ กลุ่มแล้ว
และทำไมประเทศไทยถึงไม่ลดความเสี่ยงที่จะเกิด การป้องกันจุดบอดที่เคยมีมาตลอด ลดการพึ่งพาคนอื่น โดยให้เกิดการพัฒนาโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงที่จำเป็นในพื้นที่ที่จำเป็น ซึ่งนอกเหนือจากจะเป็นการรองรับสถานการณ์ไฟฟ้าแล้ว ยังสร้างความเจริญ อาชีพ และเศรษฐกิจให้หมุนเวียนต่อไปได้ในอนาคต.
ณัฐวัฒน์ หาญกล้า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |