(เทคนิคการก่อสร้างด้านพระเจดีย์ในแบบอยุธยา)
มองภายนอกกรุงเทพมหานครเป็นเมืองแสงสีที่ไม่เคยหลับใหล มีทั้งร้านอาหาร แหล่งช็อปปิ้งมากมายเหลือคณานับ เป็นเมืองทันสมัย แหล่งไอที แต่ในความเป็นจริงแล้วกรุงเทพฯ มีประวัติศาสตร์และความเก่าแก่ซ่อนอยู่ตามอายุของเมืองที่ตั้งมานาน 236 ปี นับตั้งแต่ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีพระองค์แรก รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน
เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี ได้พาคณะสื่อย้อนกาลเก่า เล่ารัตนโกสินทร์ ยินผ่านวรรณกรรม ในช่วงรัชกาลที่ 4 ผ่านสกุลบุนนาค ที่ย่านคลองสาน โดยมีอาจารย์จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมมาเป็นวิทยากรให้ความรู้
ย่านคลองสาน สถานที่อยู่อาศัยของราชสกุลบุนนาค ในสมัยรัชกาลที่ 4 แถบคลองสานเป็นย่านการค้า สถานที่แลกเปลี่ยนสินค้าที่มีความเจริญรุ่งเรือง แหล่งรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งอาหาร วัด บ้านเรือน และบุคคลในสกุลบุนนาคเป็นขุนนางผู้ถวายงานรับใช้งานในหลวง ร.4 ในช่วงนั้น และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญอย่างการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง การทำหน้าที่ทูตในการเจริญไมตรีต่างแดน และอีกมากมาย ที่ได้นำความเจริญเข้ามาในย่านนี้ ทั้งการขุดลอกคลอง การสร้างวัด และการพัฒนาในด้านต่างๆ
(ด้านหน้าวัดพิชัยญาติ)
หากจะเที่ยวชมย่านคลองสานให้ทั่ว วันเดียวคงไม่พอแน่ๆ จึงมีการเลือกเจาะสถานที่ไปไว้ 4 จุดด้วยกัน เริ่มจาก วัดพิชยญาติการามวรวิหาร หรือวัดพิชัยญาติ อ.จุลภัสสร ได้เล่าให้ฟังพร้อมกับพาเดินชมรอบๆ บริเวณวัด ว่า เดิมเป็นวัดร้างและสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ หรือทัต บุนนาค หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย พระคลังสินค้าในรัชกาลที่ 4 ได้เข้ามาบูรณะ ซึ่งในช่วงนั้นได้ทำการค้ากับจีน จึงได้นำวัสดุอย่างอับเฉาเรือ กระเบื้อง หินจีนมาประยุกต์ ที่วัดแห่งนี้จึงมีรูปแบบผสมผสานทั้งศิลปะไทยและจีน โดยผู้ทำการบูรณะก็เป็นช่างชาวจีน
(สามก๊กแกะสลักรอบอุโบสถ)
เดินเข้ามาด้านในก็จะเห็นรูปปั้นแกะสลักจีนตั้งอยู่หน้าทางเข้าอุโบสถ และสังเกตดูให้ดีวัดนี้ไม่มีช่อฟ้าใบระกาอย่างวัดไทยทั่วๆ ไป รอบๆ กำแพงยังมีหินศิลาเขียว นับว่าเป็นหินชนิดหนึ่งที่แกะสลักง่าย ได้แกะสลักตัวละครเรื่องราวของวรรณกรรมจีนชิ้นเอกอย่าง สามก๊ก ที่ไม่ต่อตอน ซึ่งบางจุดก็นับว่าเลือนรางไปตามกาลเวลา เดินต่อไปยังด้านหลังก็จะเห็นพระปรางค์ขนาดใหญ่
(ขึ้นพระปรางค์สักการะพระพุทธเจ้า 4 พระองค์)
รูปทรงพระปรางค์ลักษณะนี้ได้รับความนิยมในช่วงรัชกาลที่ 3 ทางขึ้นบันไดที่ถี่และชันจึงต้องระมัดระวัง ด้านในประดิษฐานพระพุทธเจ้า 4 พระองค์หันหลังชนกัน ด้านข้างเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ด้านข้างอีกฝั่งก็เป็นรอยพระพุทธบาท 4 รอย มองออกมาจากด้านในความสูงของพระปรางค์ยังสามารถทำให้เราได้เห็นวิวสวยรอบๆ วัดได้อีกด้วย
(บ้านจำลองสมเด็จย่า)
ไม่ไกลนัก เราได้เดินทางมายังซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 มุ่งหน้าสู่อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือที่เรียกกันติดปากว่า สวนสมเด็จย่า ที่เจ้าของที่ดินคนเดิมคือเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี หรือแพ บุนนาค ขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ได้เคยทำหน้าที่เป็นราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับฝรั่งเศส อีกทั้งในการเดินทางไปเยือนครั้งนั้นยังทำให้การเผยแผ่คริสต์ศาสนาของมิชชันนารีได้มีเสรีภาพเต็มที่ ก่อนที่ที่ดินแห่งนี้จะผลัดเปลี่ยนเจ้าของ และได้ถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้สร้างเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวของสมเด็จย่า โดยเราได้เข้าชมบ้านจำลองของสมเด็จย่าที่อิงตามในหนังสือแม่เล่าให้ฟัง ภายในบ้านได้จำลองห้องบรรทม ห้องครัว ห้องทำทอง ได้ให้เห็นถึงความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของพระองค์
(ร่องรอยกำแพงเก่า)
บริเวณด้านข้างเรายังได้เห็นร่องรอยของกำแพงเก่า สถาปัตยกรรมแบบจีนที่ถูกปกคลุมไปด้วยไม้เรื้อยสีเขียว ซึ่งเดิมแล้วเป็นอาคารทิม บริวาร หรือที่อยู่อาศัยข้าทาสบริวารของแพ บุนนาค ที่นี่ยังเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่คอยให้ความร่มรื่นแก่ผู้ที่แวะเวียนมาเยี่ยมชม หรือจะนั่งพักผ่อนก็มีลมพัดเย็นๆ ให้คลายร้อน หลบหลีกความวุ่นวายจากในเมืองได้ดีทีเดียว
เวลาใกล้เที่ยง เราก็เดินทางต่อไปยัง ล้ง1919 แวะทานข้าวพักผ่อน เดินชมบรรยากาศท่าเรือกลไฟเก่าแห่งนี้ ซึ่งมีบทบาททางการค้าที่สำคัญอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีอายุกว่า 100 ปี ซึ่งในปัจจุบันลูกหลานตระกูลหวั่งหลีได้พลิกฟื้นท่าเรือแห่งนี้ได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ที่นี่ได้รับการปรับปรุงให้โมเดิร์นมากขึ้น แต่ก็ยังคงโครงสร้างแบบเก่าไว้ มีจุดถ่ายรูป ร้านของฝาก ร้านอาหาร ก่อนกลับเราก็ได้ไปสักการะศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว เทพีแห่งท้องทะเล เสริมสิริมงคลให้กับชีวิต
(รั้วเหล็กสีแดงในปัจจุบัน)
นั่งรถต่ออีกสักพักเราก็มาถึงยังสถานที่สุดท้ายของการเดินทาง วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ หรือดิศ บุนนาค แม้จะดูแปลกไปสักนิด เพราะโดยส่วนตัวไม่เคยเห็นกำแพงวัดที่เป็นเหล็กสีแดง ปลายแหลมเช่นนี้ วิทยากรจึงได้เล่าให้ฟังว่ามีเรื่องเล่าว่ารั้วเหล็กนี้เดิมท่านดิศได้สั่งทำจากประเทศอังกฤษ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ในการล้อมเป็นกำแพงในพระราชวัง แต่เมื่อทอดพระเนตรเห็นแล้วไม่ทรงโปรด ท่านดิศจึงต้องนำกลับมาโดยใช้น้ำตาลทรายแลกเท่ากับน้ำหนักของรั้วเหล็ก และได้นำมาใช้ล้อมรั้ววัดแห่งนี้แทน
(พระบรมธาตุมหาเจดีย์)
จากนั้น เราก็ได้เขาไปสักการะพระบรมธาตุมหาเจดีย์ ที่แล้วเสร็จในสมัยของท่านช่วง บุนนาค ทางเดินขึ้นบันไดเล็กและแคบเล็กน้อย ทอดยาวไปตามรูปทรงของเจดีย์ พอเข้าถึงด้านใน เราต้องขอเงยหน้าขึ้นเพื่อชมเทคนิคการสร้างแบบอยุธยา ที่ตอนนี้ได้รับการบูรณะด้วยเทคนิคสมัยใหม่แล้ว ด้วยเมื่อก่อนนั้นยอดของเจดีย์เคยเอียงไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา แวะชมอุทยานเขามอ หรือที่เรียกกันว่าเขาเต่า ที่ได้จำลองภูเขากลางสระน้ำ มีศาลานั่งพักให้อาหารเต่าและปลาที่มีจำนวนมากทีเดียว แต่ละตัวก็ดูอ้วนพี แต่เมื่อโยนอาหารลงน้ำทั้งปลาและเต่าก็กรูกันมากินอย่างพร้อมเพียง เดินชมรอบๆ มีที่ตั้งของอนุสาวรีย์ปืนสามกระบอก พระมณฑปทรงกอธิก ประดิษฐานหลวงพ่อแขกและศาลาสุวพักตร์วิไลยพรรณ หรือศาลาฝรั่ง ประดับลวดลายแบบเรอเนซองส์
หนึ่งวันที่ได้เที่ยวชม ซึบซับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ถึงจะเป็นช่วงสั้นๆ ก็อดภูมิใจไม่ได้ที่สิ่งก่อสร้างในอดีตยังคงมีอยู่ให้ลูกหลานในปัจจุบันได้ชื่นชม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |