“พาณิชย์”เผยอินโดนีเซียทำหนังสือแจ้งจะยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าลำไยจากไทย หลังถูกบล็อกก่อนหน้านี้ ชี้เป็นผลดีทำให้ลำไยไทยมีตลาดรองรับเพิ่ม ระบุยังเดินหน้าขอความร่วมมือผู้ประกอบการหยุดนำเข้ามะพร้าว 3 เดือน เพื่อช่วยดึงราคาในประเทศ คาดมะพร้าวอินโดนีเซียกระทบหนัก เหตุมีส่วนแบ่งตลาดในไทยกว่า 90%
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อต้นสัปดาห์ ได้รับหนังสือจากรัฐมนตรีเกษตรของอินโดนีเซียแจ้งมาว่าเตรียมยกเลิกการใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าพืชสวนปี 2561 ที่กำหนดพืชสวนที่สามารถนำเข้าอินโดนีเซียได้ในเดือนต่างๆ จะต้องไม่ตรงกับฤดูกาลผลไม้ของอินโดนีเซีย ซึ่งมีสินค้าไทยจำนวน 3 รายการที่อยู่ในรายการห้ามนำเข้า คือ ลำไย ทุเรียน และหอมแดง โดยหนังสือที่ทำมาถึงนั้นระบุว่าจะอนุญาตให้ไทยส่งออกลำไยไปยังอินโดนีเซียได้ และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้
“ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้แก้ไขปัญหาลำไยล่วงหน้า เพื่อหาตลาดให้กับผลผลิตที่ออกมาทั้งกระจายในประเทศและส่งออก โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าจะส่งออกไปอินโดนีเซียได้หรือไม่ได้ แต่เราก็แก้มาแล้ว จนวันนี้ราคาลำไยดีขึ้น แต่ถ้าส่งออกไปอินโดนีเซียได้ ก็นับเป็นข่าวดีอีก เพราะอินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกสำคัญ ไทยเคยส่งออกได้ประมาณปีละ 2 หมื่นตัน ทำให้ปีนี้มีตลาดรองรับเพิ่มขึ้นอีก”นายสนธิรัตน์กล่าว
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ได้เชิญผู้ประกอบการที่ใช้มะพร้าวในการแปรรูป เช่น กะทิ มาหารือถึงความต้องการใช้มะพร้าว หลังจากที่ได้มีการใช้มาตรการระยะสั้นห้ามนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเป็นการชั่งคราว 3 เดือน ตั้งแต่ส.ค.-ต.ค.2561 โดยผู้ประกอบการยืนยันว่าไม่กระทบ เพราะปีนี้ผลผลิตมะพร้าวมีมาก และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการไม่นำเข้า และใช้มะพร้าวในประเทศ ซึ่งจะทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ยังได้หารือถึงปัญหาการไม่ใช้มะพร้าวในประเทศ โดยผู้ประกอบการระบุว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องของราคาที่สูงกว่าราคานำเข้า โดยได้ยืนยันไปว่าปีนี้ผลผลิตมะพร้าวไทยจะเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ปริมาณ 2-3 เท่า ทำให้ราคาจะปรับตัวลดลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ใช้และต่อเกษตรกรเอง ที่ผลผลิตเพิ่ม แม้ราคาลด แต่เฉลี่ยแล้วจะขายได้ราคาสูงขึ้น ซึ่งล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้มีต้นทุนต่ำลงและแข่งขันกับมะพร้าวนำเข้าได้
ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศไปตรวจสอบการนำเข้ามะพร้าวย้อนหลังไปจนถึงปี 2560 ว่าผู้ประกอบการที่ขออนุญาตนำเข้ามีการนำเข้าไปใช้ตามที่แจ้งไว้หรือไม่ เพราะพบว่า ก่อนหน้านี้มีการนำเข้าสูงเกินจริง ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าการนำเข้าไม่ได้นำไปใช้เอง แต่นำไปขายต่อ ก็จะมีมาตรการลงโทษต่อไป เช่น ไม่ออกใบอนุญาตให้นำเข้า เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ตั้งแต่ต้นปี 2561 กระทรวงเกษตรอินโดนีเซียได้ใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าพืชสวน โดยห้ามนำเข้าลำไยช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตลำไยของไทยออกมาก คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 700 ล้านบาท ส่วนทุเรียน อนุญาตให้นำเข้าได้เฉพาะเดือนก.ค. เสียหาย 200 ล้านบาท และหอมแดง ห้ามการนำเข้าตลอดปี เสียหาย 150 ล้านบาท รวมความเสียหายทั้งหมด 1,000 ล้านบาท ไทยจึงได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รับทราบถึงแนวทางการห้ามนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ 3 เดือน เพื่อแก้ปัญหามะพร้าวราคาตกต่ำ และอีกด้านเป็นการส่งสัญญาณถึงอินโดนีเซีย ที่มีส่วนแบ่งตลาดมะพร้าวในไทยกว่า 90% รองลงมา คือ เวียดนาม 5% ซึ่งในที่สุดอินโดนีเซีย ก็ยอมที่จะยกเลิกการใช้มาตรการ ส่วนมาตรการห้ามนำเข้ามะพร้าวของไทยยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |