ดร.วิรไท: บาทแข็งบาทอ่อน : เตรียมรับความผันผวนต่อเนื่อง!


เพิ่มเพื่อน    

      ถ้าคุณคิดว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลลาร์ทุกวันนี้มีความหวือหวามากเกินไป จงเตรียมใจสำหรับความน่าตื่นเต้นมากขึ้นอีก ขอบอก

      ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าฯ ธนาคารกลางบอกผมระหว่างการสัมภาษณ์พิเศษวันก่อนว่า

        “ผมเชื่อว่าแนวโน้มเรื่องนี้จะผันผวนสูงขึ้นต่อเนื่อง...”

      ทำไมหรือ? คำตอบคือปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ มีแต่จะสูงขึ้น

      เช่นสงครามการค้า, นโยบายเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ๆ รวมไปถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

      จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักธุรกิจไทยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

      ผมถามว่าแบงก์ชาติเข้าไปแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด

      ได้คำตอบว่า

        “เราก็เข้าไปดูแลในหลายช่วงเวลา บางช่วงที่มีเงินไหลเข้าแรง ในระยะสั้นๆ เราก็เข้าไปดูแลหน่อย...แต่ชัดเจนว่า เราไม่มีนโยบายที่เข้าไปแทรกแซงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า เราเข้าไปทำเพื่อป้องกันไม่ให้การทำงานของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเกิดความผันผวนจนกระทบภาคเศรษฐกิจ”

      ดร.วิรไทยอมรับว่าช่วงนี้แบงก์ชาติก็เข้าไปดูแลบ้างในบางจังหวะ

        “เพราะถ้าเงินบาทอ่อนค่าเร็วไป ก็มีปัญหากับผู้นำเข้า อย่าลืมว่าเราก็ต้องนำเข้าสินค้าจำเป็นๆ  หลายอย่าง เช่นน้ำมันเราก็ต้องนำเข้า...ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว”

      เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเหรียญสองด้าน

      ปีที่แล้ว ผู้คนบ่นว่าบาทแข็งไป แต่คนลืมมองไปว่ามันเป็นปัญหาจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับทุกสกุลทั่วโลก

        “ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดส่วนใหญ่เป็นปัจจัยนอกประเทศ...ในทางตรงกันข้าม คนก็อาจจะบอกว่าบาทอ่อนค่าลง สาเหตุสำคัญก็เพราะคนกังวลเรื่องความเสี่ยงหลายอย่าง”

      ทิศทางนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นเร็ว เงินก็ไหลกลับเข้าไป ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหลายๆ สกุล

        “เราต้องไม่ลืมว่าเราใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว เราไม่ได้มีค่าเงินที่กำหนดไว้ที่ค่าใดค่าหนึ่ง และจริงๆ ก็ยากที่จะกำหนดเพราะมันมีปัจจัยภายนอกประเทศเยอะมากที่มากระทบตลอดเวลา...”  ผู้ว่าฯ อธิบาย

      พร้อมเสริมว่า

        “เราช่วยดูแลในบางช่วง ในบางจังหวะที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างเร็วเพื่อให้ภาคเอกชนมีเวลาที่จะปรับตัว...แต่ที่สำคัญที่สุดเลยคือการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการทุกคนที่จะต้องเกี่ยวข้องกับธุรกรรมด้านต่างประเทศ...”

      คำแนะนำจากผู้ว่าฯ ธนาคารกลางของไทยคือ

      ๑.กระจายสกุลเงินในการใช้ ไม่ผูกไว้กับเงินสกุลใดสกุลหนึ่ง

      ๒.เลือกใช้เงินสกุลที่สอดคล้องกับประเทศที่เป็นคู่ค้าของเรา เช่นในบางช่วงเรายังเห็นการส่งออกไปยุโรปไปญี่ปุ่นที่ใช้เงินดอลลาร์เป็นหลัก แล้วเวลาที่เงินดอลลาร์เปลี่ยนด้วยปัญหาของเงินดอลลาร์เอง มันก็กระทบกับสกุลเงินต่างๆ ถ้าเราใช้ยูโร หรือใช้เงินเยน ซึ่งเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับเรา ก็จะไม่ค่อยมีผลกระทบมากนัก

      ยิ่งเจอตัวแปรปรวนที่ชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ก็ยิ่งต้องพร้อมจะรับความผันผวนระดับโลกกันเลยทีเดียว!

      (พรุ่งนี้: อัตราดอกเบี้ยไทยจะทวนกระแสโลกได้หรือ?)

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"