ข่าวเรื่อง เขื่อนแตก ในลาวคราวนี้...ทำให้อดย้อนคิดไปถึงครั้งซึ่งเคยมีโอกาสร่วมเดินทางไปกับท่าน ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ไปพูดคุยเรื่องการซื้อๆ-ขายๆ ไฟฟ้ากับประเทศลาว เมื่อหลายสิบปีที่แล้วขึ้นมาไม่ได้ เพราะคราวนั้น...ฝ่ายลาวเขาได้พาไปเยี่ยมชมเขื่อนน้ำเทิน หรือน้ำงึม ก็จำไม่ได้ซะแล้ว จำได้แต่บรรยากาศ ความรู้สึก ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายลาว ที่ออกจะปลาบปลื้มยินดี ภูมิอก ภูมิใจ ต่อเขื่อนที่ว่า ซึ่งอุบัติขึ้นมาในประเทศลาวซะเหลือเกิน...
-----------------------------------------------------
คือไม่เพียงสีหน้า แววตา...ขณะมองทอดไกลไปตามผืนน้ำอันกว้างใหญ่ ไพศาล จะแสดงออกถึงความชื่นชมต่อความสวยสดงดงามของวิวทิวทัศน์ซึ่งปรากฏอยู่เบื้องหน้า แม้จะเต็มไปด้วยซากระเกะระกะ ของยอดไม้ที่ถูกผืนน้ำกลืนกินไปเป็นแถบๆ จนแม้แต่บริเวณสันเขื่อนที่ไม่ค่อยมีใครก้มๆ ลงมามอง จะเต็มไปด้วยคราบฟองน้ำขุ่นๆ ข้นๆ ไม่ต่างไปจากน้ำโคลน แต่เมื่อคิดรวมไปถึง รายได้ ที่เป็นตัวเงิน ตัวทอง ซึ่งเขื่อนดังกล่าวสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าออกขาย ให้กับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง อย่างประเทศไทย หรือเวียดนาม เป็นต้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายลาวบางราย ถึงกับอดไม่ได้ที่จะปรารภขึ้นมาเป็น คำถาม ว่าเหตุใดบรรดาพวกที่ถูกเรียกว่า เอ็นจีโอ ในฝั่งไทย ซึ่งออกจะมีฤทธิ์ มีเดช กว่าเอ็นจีโอในฝั่งลาวประมาณร้อยเท่า พันเท่า ถึงได้จงใจตั้งหน้า ตั้งตา จะคัดค้าน ต่อต้าน บรรดา เขื่อน ทั้งหลายซะเหลือเกิน...
---------------------------------------------------
และจะด้วยเหตุเพราะ คำถาม ที่ว่า...อาจยังไม่ได้รับ คำตอบ ที่แจ่มแจ้ง ชัดเจน หรือเพราะบรรดาผู้มีอำนาจ หน้าที่ ผู้บริหารบ้านเมือง เขาไม่อยากหา คำตอบ ให้มากเรื่อง มากราว ก็มิอาจสรุปได้ ประเทศเล็กๆ อย่างลาว ที่มีเนื้อที่แค่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประเทศไทย จึงกลายเป็นประเทศที่เต็มไปด้วย เขื่อน นับเป็นร้อยๆ ไปแล้วก็ว่าได้ในทุกวันนี้ เฉพาะปริมาณเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่สร้างเสร็จไปแล้ว ร่วมๆ 30 เขื่อน ที่กำลังสร้าง เสร็จมั่ง-ไม่เสร็จมั่ง อีกร่วมๆ 40 เขื่อน และที่ยังอยู่แผนในนโยบาย หรือที่เตรียมจะสร้าง ถ้าว่ากันตามที่อธิบดีกรมนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานของลาว ได้บอกกล่าวไว้ในการประชุมสภาแห่งชาติ เมื่อครั้งปี พ.ศ.2557 มีจำนวนอีกร่วมๆ 100 เขื่อน โดยมีเป้าหมายเพื่อจะผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 20,000 เมกะวัตต์ออกขาย อันจะส่งผลให้ประเทศลาว กลายเป็น แบตเตอรี่แห่งภูมิภาค ให้จงได้...
------------------------------------------------------
ความหวัง ความฝัน ที่จะทำให้ประเทศเล็กๆ ซึ่งไม่ได้มีทรัพยากรที่มีคุณค่า ราคา อะไรมากมายซักเท่าไหร่ แถมยังไม่ได้มีทางออก-ทางไป เชื่อมโยงกับท้องทะเล ให้กลายเป็นประเทศ แบตเตอรี่แห่งภูมิภาค ว่าไปแล้ว...ก็คงไม่ได้ต่างอะไรไปจากความหวัง ความฝัน ประเภท ต้องการให้ประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ที่มีเนื้อที่ มีทรัพยากร มีภูมิศาสตร์เชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ กลายเป็นฮับโน่น ฮับนี่ เป็นอีอีซง อีอีซี เป็น ศูนย์กลาง อะไรต่อมิอะไรที่สามารถดลบันดาลเงินๆ-ทองๆ ชนิดรวยไม่เสร็จ จำแลงแปลงกลายเป็นเสือตัวที่สี่ ตัวห้า แห่งเอเชีย ทำนองนั้น อันถือเป็นสิ่งที่ประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนาทั้งหลาย มักชอบฝันๆ ออกไปในแนวนี้ จนอาจลืมคิด ลืมนึกถึง ความจริงทางธรรมชาติ หรือ ความสำคัญของธรรมชาติ ได้ไม่ยากซ์ซ์ซ์...
------------------------------------------------------
ด้วยเหตุนี้...เมื่อความจริงทางธรรมชาติ ปรากฏตัวขึ้นมาให้เห็นแบบจะจะ จังๆ ประเทศที่เต็มไปด้วย เขื่อน กองระเกะระกะไปแทบทั้งประเทศ และแม้เขื่อนนั้นๆ จะถูกนิรมิตขึ้นด้วยเทคโนโลยีอันก้าวหน้า ล้ำสมัย เพียงใดก็ตาม เช่น เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในประเทศลาวเป็นต้น ที่มีบริษัทเกาหลีอย่าง SK Engineering and Construction บริษัท Korea Western Power รวมทั้งบริษัท ราชบุรี โฮลดิ้ง ของไทย ร่วมถือหุ้นในโครงการเกือบทั้งหมด เลยหนีไม่พ้นต้องแตกดังโพละเอาดื้อๆ!!! ส่งผลให้พี่น้องชาวลาวกว่า 6,600 ครอบครัว ต้องบ้านแตก สาแหรกขาด ไร้ที่นา คาที่อยู่ ส่วนที่สูญหาย สูญเสีย ก็ยังมิอาจคาดคำนวณได้ ต้องเผชิญกับชะตากรรม ที่ไม่ต่างอะไรไปจากพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ป่าไม้ ภูเขา ห้วยละหานลำธาร ต่างเคยเผชิญมาแล้ว จากเขื่อนแต่ละเขื่อนที่ทยอยสร้างขึ้นมาตามลำดับ...
-----------------------------------------------------
อันที่จริง...ผู้นำรุ่นใหม่ๆ ของลาว อย่างเช่นท่านนายกรัฐมนตรี ทองลุน สีสุลิด เท่าที่เคยสัมผัสกันมาบ้าง ไม่ว่าตอนที่ตัวเรายังเมาวอดก้าอยู่ในรัสเซีย หรือในโรงแรมที่เมืองไทย ท่านออกจะเป็นคนที่ก้าวหน้า ทันสมัย และมีวิสัยทัศน์ปรีชาญาณค่อนข้าง เข้าท่า มิใช่น้อย ถึงได้ตัดสินใจปิดป่า ลดการทำลายภาวะสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทันทีที่ท่านขึ้นมามีบทบาทอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่ก็นั่นแหละ...เรื่องของทิศทางประเทศ เรื่องของยุทธศาสตร์การพัฒนา มันเป็นเรื่องที่มีกระบวนการต่อเนื่องยาวนาน จนไม่ใช่แค่เรื่องของบุคคลใด บุคคลหนึ่ง...
---------------------------------------------------
อย่างไรก็ตาม...ภายใต้ ความจริงแห่งธรรมชาติ ก็ใช่ว่าจะมีแต่ด้านร้ายเสมอไป อย่างน้อยที่สุด...ด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่เชื่อมโยงสนิทแนบแน่นกันมานานแสนนาน ระหว่างชาวไทย-ชาวลาว ซึ่งมิอาจตัดขาดจากกัน เหมือนเช่นสายน้ำในแม่น้ำโขงที่ไม่อาจตัดออกจากกันได้เลยแม้แต่น้อย สิ่งเหล่านี้ย่อมมีส่วนสรรค์สร้าง ธรรมชาติแห่งหัวจิต-หัวใจ ของผู้คนทั้งสองฝั่งฟาก ให้ต้องหาทางช่วยเหลือ เยียวยา ร่วมเสียสละ บริจาค ร่วมส่งใจ ส่งความห่วงใย ถึงกันและกันอย่างมิอาจปฏิเสธได้ พี่น้องชาวลาวเคยเป็นห่วง เป็นใย ทีม หมูป่าอะคาเดมี แบบไหน อย่างไร บรรดาชาวไทยทั้งหลาย ก็ควรเป็นห่วง เป็นใย ต่อชะตากรรมของพี่น้องชาวลาวในลักษณะไม่ต่างไปจากกัน ส่วนจะช่วยทุเลา บรรเทาเบาบาง ความทุกข์ ความเดือดร้อนทั้งหลาย ได้มาก-น้อยขนาดไหน อันนั้น...ก็เป็นอีกเรื่อง แต่นี่แหละก็คือ ความสำคัญของธรรมชาติ ที่มิอาจลืมเลือนได้โดยเด็ดขาด...
---------------------------------------------------
พูดง่ายๆ ว่า...ไม่ว่าประเทศลาว-ประเทศไทย จะเดินหน้า มุ่งหน้า ไปในทางไหน ใครจะสร้างประเทศให้เป็น แบตเตอรี่แห่งภูมิภาค หรือให้เป็น อีอีซีแห่งเอเชีย ตามความหวัง ความฝัน ของผู้มีอำนาจรายใดก็ตามแต่ แต่ชาวลาว-ชาวไทย คงต้องหันมามุ่งสร้างสรรค์ธรรมชาติแห่งหัวจิต-หัวใจ ระหว่างกันและกัน เอาไว้ ให้แข็งแกร่ง มั่นคง ยั่งยืนเข้าไว้นั่นแหละดี เพราะสิ่งเหล่านี้นี่เองที่สามารถใช้เป็น คำตอบ ได้ในทุกช่วง ทุกระยะ ของ โศกนาฏกรรมแห่งการพัฒนา ได้เสมอๆ...
-----------------------------------------------
ปิดท้ายด้วยวาทะวันนี้ จาก Louis L’Amour... The trail is the thing, not the end of trail. Travel too fast and you miss all you are traveling for. - เส้นทางต่างหากที่สำคัญ ไม่ใช่สุดท้ายปลายทาง ฉะนั้นถ้าหากคุณเดินทางเร็วไป คุณอาจพลาดไปจากสิ่งที่คุณต้องการจะได้จากการเดินทางนั้นๆ...
-------------------------------------------
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |