อึ้ง! พบเอสเอ็มอีไทยเมินจดทะเบียนนิติบุคคลสูงถึง 1.75 ล้านราย อ้างหลอนถูกเรียกเก็บ-ตรวจสอบภาษี ไม่มีเวลาไปจดทะเบียน ยุ่งยาก และได้รับข้อมูลที่ผิด พร้อมอ้อนรัฐบาลเร่งออกมาตรการปรับทัศนคติผู้ประกอบการรายเล็ก ขยายเวลานิรโทษกรรมตรวจภาษีย้อนหลัง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความคุ้มค่าของการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลว่า ปัจจุบันมีธุรกิจเอสเอ็มอีจดทะเบียนนิติบุคคลเพียง 7-8 แสนราย ซึ่งถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับเอสเอ็มอีทั้งหมดทั่วประเทศ 2.5 ล้านราย เพราะส่วนใหญ่อีก 1.75 ล้านราย หรือคิดเป็น 70% ยังไม่ยอมจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เนื่องจากความช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านมาตรการต่าง ๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้
สำหรับ 5 ปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนนิติบุคคล มาจากการกลัวเรื่องการถูกเก็บภาษีถึง 43% รองลงมาเป็นไม่มีเวลาไปจดทะเบียน 40.5% ได้รับการบอกเล่าที่ไม่ดีจากการจดทะเบียน 40.2% การจดทะเบียนนิติบุคคลทำได้ยาก เอกสารเยอะ 38.4% และการเป็นนิติบุคคลจะถูกกรมสรรพากรตรวจสอบได้ละเอียด 38.2%
“ส่วนใหญ่ที่เอสเอ็มอีไม่อยากเข้ามาจดทะเบียนนิติบุคคล มาจากเรื่องทัศนคติที่ยังมีความเชื่อเดิมๆ ว่าไม่ดี ทั้งที่จริงแล้วผลสำรวจทางวิชาการจากกลุ่มตัวอย่างเอสเอ็มอีทั่วประเทศ 1.25 พันตัวอย่างพบว่า การจดทะเบียนมีประโยชน์มากกว่าไม่จดทะเบียนถึง 76% ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 40.7% กำไรดีขึ้น 32.7% ราคาสินค้าดีขึ้น 24.2% และสภาพคล่องของธุรกิจปรับตัวดีขึ้น 27.4% ขณะที่เอสเอ็มอีที่ไม่จดทะเบียนนิติบุคคล มีการเติบโตน้อยกว่า” นายธนวรรธน์ กล่าว
นอกจากนี้ยังพบว่าธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลสามารถกู้เงินได้ง่ายกว่าธุรกิจที่ไม่จดทะเบียน 95.14% มีต้นทุนในเรื่องดอกเบี้ยถูกกว่า 64.78% มีภาระค่าใช้จ่ายภาษีน้อยกว่า 77.33% ได้รับความช่วยเหลือจากนโยบายรัฐเร็วกว่า 78.54% ได้รับความน่าเชื่อถือจากลูกค้ามากกว่า 91.87% และได้รับประโยชน์มากกว่าธุรกิจที่ไม่จดทะเบียนนิติบุคคลถึง 91.80% ตลอดจนขอสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น 65.18% คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยที่เปลี่ยนจากก่อนจดทะเบียน 1.36 ล้านบาท
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ขอเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการปรับทัศนคติเอสเอ็มอีเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมให้เข้ามาจดทะเบียนนิติบุคคลได้เพิ่ม ได้แก่ การขยายเวลาไม่ตรวจสอบบัญชีย้อนหลัง หรือนิรโทษกรรมออกไปจากเดิม นอกจากนี้ควรลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียน เมื่อเกิดวิกฤตธุรกิจต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ให้ความรู้ด้านบัญชีและการจดทะเบียน ให้ความมั่นใจและความคุ้มค่ากับเจ้าของกิจการว่าหากจดทะเบียนแล้วจะได้รับประโยชน์อย่างไร รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการจดทะเบียนให้เพิ่มมากขึ้น ลดความยุ่งยากของขั้นตอนการจดทะเบียนและขยายเวลาในการเก็บเอกสาร ลดหย่อนภาษีและดอกเบี้ย และอำนวยความสะดวกการติดต่อประสานงาน
สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนให้จดทะเบียนนิติบุคคลมาจากการที่รัฐบาลยกเว้นภาษีและลดหย่อนภาษีสำหรับผู้จดทะเบียนนิติบุคคล รองลงมาคือ ธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลจะจ่ายภาษีได้ถูกกว่าธุรกิจที่ไม่จดทะเบียน ธุรกิจที่จดทะเบียนมีการทำบัญชีอย่างถูกต้อง และธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลหากมีความต้องการใช้สินเชื่อสามารถยื่นเรื่องกู้ได้ง่ายกว่าธุรกิจที่ไม่จดทะเบียน
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) หรือ ธพว. กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เอสเอ็มอีไม่สนใจจดทะเบียนนิติบุคคล เป็นปัญหาจากทัศนคติเดิมซึ่งติดมาตั้งแต่ 50-60ปีที่แล้ว และต่อจากนี้มองว่าเอสเอ็มอีจะต้องปรับตัว เพราะอนาคตการกู้เงินจากสถาบันการเงินไทย จะต้องนำบัญชีที่ยื่นเสียภาษีกับกรมสรรพากรมาประกอบการพิจารณาปล่อยกู้ ซึ่งกระทบต่อผู้ประกอบการนอกระบบ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้
ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารยังได้ออกมาตรการสินเชื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่จดทะเบียน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ได้ง่าย และดอกเบี้ยต่ำพิเศษ เช่น สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 สำหรับนิติบุคคล คิดดอกเบี้ย1% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา 7 ปี ไม่ต้องใช้หลักประกัน ซึ่งถูกกว่าสินเชื่อทั่วไปสำหรับธุรกิจที่ไม่จดทะเบียนที่จะเสียมากกว่า 12% ส่วนการปล่อยกู้ของธพว.ในครึ่งปีแรก ปล่อยกู้ผ่านสินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 ไป 2 พันล้านบาท และสินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว 1.8 หมื่นล้านบาท
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |