พิพิธภัณฑ์แห่งชาติทางด้านเทคนิคในกรุงปราก ส่วนที่จัดแสดงยานพาหนะและการขนส่ง
ประตูห้องพักที่นี่ปิดเสียงดังเพราะใช้แรงดึงปิดอัตโนมัติที่แรงมาก ขนาดประตูห้องอื่นปิดก็ยังได้ยินมาถึงห้องของเรา อีกอย่างที่ทำให้ไม่น่าพักก็คือห้องพักค่อนข้างคับแคบ จนต้องทำที่เก็บกระเป๋าและสัมภาระส่วนตัวผู้เข้าพักไว้ใต้เตียง แล้วดึงออกมาคล้ายลิ้นชัก แม้ว่าการต้อนรับ ห้องนั่งเล่น และห้องน้ำจะดูดี แต่การนอนสำคัญที่สุด ผมจึงจองที่พักใหม่ตั้งแต่เมื่อคืนก่อนนอน
หนุ่มเติร์กตกอับตื่นขึ้นหลังจากผมเข้าห้องน้ำไปอาบน้ำแต่งตัวเสร็จแล้ว เขาบอกว่าเมื่อวานได้นอนแค่ 2 ชั่วโมงเช้านี้จึงตื่นสายกว่าปกติ พูดเสร็จก็ดึงลิ้นชักใต้เตียงแล้วหยิบถุงขนมปังแผ่นและเนยกระป๋องออกมา “นี่คืออาหารเช้าของผม คุณสนใจไหม” ผมตอบว่ากำลังจะเช็กเอาท์ออกไปกินข้างนอก แล้วยื่นเบียร์ Gambrinus กระป๋องให้เขาไป “คงเป็นเครื่องดื่มที่เข้ากับมื้อเช้าของคุณ” เขาขอบอกขอบใจเป็นการใหญ่
หนุ่มเติร์กยังไม่รู้ว่าจะเดินทางกลับบูดาเปสต์ได้เมื่อไหร่ เพราะต้องรออะไรบางอย่าง ผมฟังไม่ค่อยถนัด เข้าใจว่าน่าจะรอเงินจากใครสักคน เขากำเหรียญบนที่นอนแล้วแบมือให้ผมดูว่าทั้งเนื้อทั้งตัวมีแค่นี้ สาเหตุเพราะดื่มกินจนลืมตัวที่เมืองกรากุฟ ประเทศโปแลนด์ จนต้องมานอนตัวลีบอยู่ที่กรุงปราก ครึ่งทางระหว่างกรากุฟและบูดาเปสต์ เมืองหลวงของฮังการี ที่เขาฝึกงานอยู่
ผมออกจากห้องพักนอนรวมลงไปเช็กเอาท์ พนักงานต้อนรับสาวสวยคนเดียวกับตอนเช็กอินเข้ามาทำงานแล้ว เธอบอกให้ผมลองจองที่พักอื่นในเครือของ Hostel Ananas แห่งนี้ (Ananas หมายถึง “สับปะรด”) มีชื่อ Hostel Mango, Hostel Apple, Hostel Orange ผมถามว่า“มีแตงโมไหม ผมชอบแตงโม” เธอตอบ “ไม่มี” พนักงานชายที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ช่วยตอบมาอีกว่า “ไม่แน่ ในอนาคตอาจจะมี” น้ำเสียงเหมือนรำคาญ
“กำแพงเลนน่อน” สามารถเขียนข้อความได้ตามใจชอบ อีกหนึ่งจุดนิยมของนักท่องเที่ยว
ระหว่างทางไปยัง SG1 Hostel อีกฝั่งของแม่น้ำวอลตาวา (Vltava) ผมเดินผ่านร้านอาหารคล้ายๆ ข้าวราดแกงบ้านเราจึงแวะเข้าไปดู เขาทำอาหารหลายอย่างแยกใส่ไว้ในกระบะสเตนเลส มีทั้งสลัด, ซุป, แกง, ผัด, มันบด และข้าวบาสมาติ ให้ลูกค้าเข้าแถวหยิบจานตักอาหารเอาตามสะดวกแล้วไปให้แคชเชียร์ชั่งน้ำหนักเพื่อจ่ายเงิน ยอมรับว่าเป็นครั้งแรกที่เห็นการขายแบบนี้
ผมตักเข้าบาสมาติราดผัดผักเละๆ และแกงเนื้อแบบไม่เผ็ดแยกใส่อีกจาน แกงเนื้อนี้อยู่ในกลุ่มอาหารที่ใส่รวมกับกับข้าวอย่างอื่นไม่ได้ น้ำเปล่าอีก 1 ขวด ชั่งน้ำหนักแล้วพนักงานคิดราคาออกมาได้ 162 โครูนา หรือประมาณ 240 บาท แล้วเดินไปนั่งกินที่โต๊ะซึ่งทางร้านจัดไว้หลายตัว
รสชาติอาหารค่อนข้างจืดแต่ผมก็กินจนหมดแทบไม่เหลือกลิ่นเพราะเมื่อคืนมีเพียงเบียร์และมันฝรั่งแผ่นที่ตกถึงท้อง อิ่มแล้วก็แบกกระเป๋าออกเดิน ผ่าน “ไทเกอร์ผับ” (U Zlateho Tygra) ที่โด่งดังในบรรดาคอเบียร์ ถัดจากไทเกอร์ผับคือ “พิพิธภัณฑ์แอปเปิล” (Apple Museum)ซึ่งเพิ่งเปิดเมื่อ 2 ปีก่อน มีข้อความเขียนติดกระจกว่ารวบรวมสิ่งสะสมของแอปเปิลไว้มากที่สุดในโลก นอกจากนี้ก็มีประโยคเด็ดๆ จากปาก “สตีฟ จ็อบส์” ผู้ล่วงลับติดไว้หลายข้อความ ผมเลี้ยวเข้าถนนชาร์ลส์ ผ่านหน้าร้านขายของที่ระลึกของโกรันซึ่งมีลูกจ้างทำหน้าที่อยู่ 1 คน ตัวเขาเองคงอยู่ในออฟฟิศห่างออกไปประมาณครึ่งกิโลเมตร
เมื่อข้ามทางรถรางก็เข้าสู่บริเวณเชิงสะพานชาร์ลส์ฝั่งเมืองเก่าเพื่อจะข้ามไปสู่ฝั่งปราสาทกรุงปราก หรืออาจเรียกฝั่ง Lesser Town บนสะพานที่สุดแสนอลังการในสไตล์โกธิก โดยเฉพาะปฏิมากรรมพระเยซูและเหล่านักบุญ (ส่วนมากสไตล์บาโร้ก) ที่ตั้งเรียงรายไปตามขอบแนวของสะพานทั้ง 2 ฝั่งจำนวน 30 ชิ้น นักท่องเที่ยวเดินกันขวักไขว่แต่ไม่ถึงกับรีบร้อน เพราะบนสะพานชาร์ลส์มีอะไรน่าสนใจเสมอ โดยเฉพาะดนตรีสด บ้างเล่นเดี่ยว บ้างเล่นเป็นวง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดนตรีแจ๊ส หรือแม้แต่หุ่นไม้ตัวเล็กๆ ที่แสดงท่าท่างเหมือนคนจริงๆ ถูกบงการชักใยโดยมือที่ชำนาญระดับนักมายากล ต่อให้รีบไปทำธุระหรือมีนัดด่วนยังไง คนเดินบนสะพานแห่งนี้จะต้องหาเรื่องอ้อยอิ่งเสียหน่อยจนได้
ประติมากรรมทารกหัวโตด้านนอกอาคาร Museum Kampa
ถึงเกสต์เฮาส์ SG1 ที่เคยพักเมื่อคราวมาเที่ยวกรุงปรากครั้งก่อนราวบ่ายโมงนิดๆ ยังไม่ถึงเวลาเช็กอินตอนบ่าย 3 จึงต้องฝากกระเป๋าไว้กับรีเซ็พชั่นสาวแล้วลงจากเกสต์เฮาส์เดินไปยัง “กำแพงเลนน่อน” (Lennon Wall) ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน กำแพงสำหรับเขียนอักษรสันติภาพแห่งนี้กลายเป็นกำแพงกราฟฟิติเรียบร้อยแล้ว เพราะไม่ว่าที่ใดในโลกพวกนักพ่นสีจะรี่ไปฝากรูปฝังรอยไว้ อย่าว่าแต่ที่สาธารณะเลย สถานที่หวงห้ามก็ไม่มีข้อยกเว้น อาจกลายเป็นความท้าทายของนักพ่นสีบางท่านด้วยซ้ำไป
มีนักดนตรีเปิดหมวกเล่นเพลงจอห์น เลนน่อน อยู่ที่กำแพง คู่รักในชุดวิวาห์เข้าไปโพสต์ท่าให้ตากล้องลั่นชัตเตอร์ ผมเดินออกมาเมื่อนักดนตรีเล่นเพลง Stand by me ไปได้ราวครึ่งเพลง แวะนั่งพักที่สวนสาธารณะแล้วเดินไปริมน้ำวอลตาวา สะดุดตาที่รูปปั้นคนยืนประนมมือหันหน้าไปทางสะพานชาร์ลส์ ซึ่งนั่นก็คือ “รูปปั้นแห่งความเป็นหนึ่ง” ของ “ศรี ชินมอย” ผู้นำและครูทางจิตวิญญาณผู้อุทิศชีวิตให้กับการสอนฝึกปฏิบัติภายในและทำกิจกรรมสันติภาพทั่วโลก แม้จะเกิดในครอบครัวฮินดูในเมืองจิตตะกอง เขตบอลเกลตะวันออก ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่ท่านศรีก็รับลูกศิษย์จากทุกศาสนามาถ่ายทอดวิชาสมาธิเพื่อความเป็นหนึ่งให้ รวมแล้วมีลูกศิษย์ทั่วโลกราว 7 พันคน
ข้างๆ รูปปั้น “ศรี ชินมอย” คือ Museum Kampa พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่ ภายนอกอาคารมีประติมากรรมขนาดใหญ่เป็นรูปทารกหัวโตคล้ายใส่เฮดการ์ดมวยคุกเข่าคลานอยู่สามสี่ชิ้น จากนั้นเดินห่างจากริมน้ำออกมา ผ่าน Karel Zeman Museum พิพิธภัณฑ์ทางด้านสเปเชียลเอ็ฟเฟ็กต์ที่ใช้ในภาพยนตร์ ของ “คาเรล ซีมาน” ยอดผู้กำกับหนังแฟนตาซีชาวเช็กในยุค 1940’s – 1950’s แล้วเดินไปเรื่อยๆ จนลอดใต้เชิงสะพานชาร์ลส์ ผ่านพิพิธภัณฑ์ผีและตำนานกรุงปราก ก่อนเข้าไปเช็กอินที่โฮสเทลประมาณบ่าย 3 ครึ่ง
ห้องพักรวมของที่นี่จะมีชื่อเรียกตามชื่อคนดังของประเทศ ผมได้ห้อง Jagr ซึ่งมาจากชื่อของ Jaromir Jagr อดีตนักฮ็อกกี้ผู้ยิ่งใหญ่ ในห้องมี 8 เตียง มีสัมภาระของผู้เข้าพักอีกคนวางอยู่เพียง 1 เตียง นอนงีบได้ครู่หนึ่งก็ตื่นแล้วเดินไปยังจตุรัสมาโลสทรานกาที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 100 เมตร สตรีคนหนึ่งนั่งอยู่ในกรง เมื่ออ่านบอร์ดนิทรรศการข้างๆ จึงรู้ว่าเธอรณรงค์การไม่ใช้เสื้อขนสัตว์ มีภาพเขียนของสัตว์ที่ต้องสูญเสียผิวหนังและชีวิตเพื่อเป็นอาภรณ์ของมนุษย์ผู้นิยมความหรูหราจำนวนหลายภาพ ผมเดินต่อไปเรื่อยๆ ขึ้นเนินไปยังปราสาทกรุงปราก ถ่ายรูปมากมายเพื่อชดเชยการมาครั้งก่อนที่กระเป๋าสตางค์บรรจุเมมโมรีการ์ดบันทึกภาพถูกขโมยที่กรุงปารีส
การรณรงค์ไม่ใส่เสื้อขนสัตว์ที่มุมหนึ่งของจัตุรัสมาโลสทรานสกา ไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจ
ขากลับผมเดินลงอีกทาง ข้ามสะพานชาร์ลส์ฝั่งไปยังถนนชาร์ลส์ ผ่านร้านนวดไทยที่ครั้งที่แล้วมีคนอยู่บนชั้น 2 ใส่หน้ากากเหมือนตัวละครในหนังเรื่อง Scream ถือธงเขียนข้อความ “ฉันรักนวดไทย” เรียกแขก คราวนี้แต่งเป็นโจ๊กเกอร์จากหนัง Batman บอกราคานวด 9.99 ยูโร ตามมาตรฐานทั่วทั่งกรุงปราก ผ่านร้านโกรัน เลี้ยวขวาผ่านพิพิธภัณฑ์แอปเปิล แล้วเข้าไปยังไทเกอร์ผับ ปรากฏว่าลูกค้าแน่นตั้งแต่เวลาประมาณ6 โมงครึ่ง ร้านนี้หากต้องการที่นั่งจะต้องจองล่วงหน้ากันเป็นเดือนๆ
ผมสั่งเบียร์ที่มีอยู่แบบเดียว คือเบียร์สด Pilsner บริษัทเบียร์ดังผลิตใส่ถังสำหรับร้านนี้โดยเฉพาะ คนกดเบียร์ยังเป็นลุงคนเดิมแต่ดูเหมือนแกจะผอมลงไปหน่อย (เหลืออ้วนไม่มาก) แต่เบียร์ในแก้วขนาด 0.45 ลิตร ราคา 45 โครูนาเท่าเดิม รับเบียร์จากลุงแล้วเดินไปยังที่วางแก้วข้างกำแพงร้านฝั่งหนึ่งสำหรับยืนตั้งหลัก ฝรั่งหนุ่ม 2 คนมาขอวางแก้วด้วยแต่ท่าทางไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไหร่ ต่อมาที่วางแก้วข้างประตูทางเข้า-ออกคนว่าง ผมจึงย้ายไปยืนดื่มตรงนั้น หมดแก้วก็ออกจากร้านเพราะเมื่อยเท้าเหลือเกิน
เดินผ่านจัตุรัสเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว คนขอทานหมอบราบหน้าผากแนบพื้นเปิดหมวกรับเหรียญซึ่งเป็นท่าของมืออาชีพ บ้างมีหมาน่าสงสารนั่งประกบ มีนักเปียโนบรรเลงอยู่กลางจัตุรัส ผ่านร้านนวดไทยขนาดใหญ่ดูดี แต่รถสามล้อที่จอดโชว์หน้าร้านน่าจะมาจากเวียดนาม แล้วก็มาถึงผับชาโปรูจ
วันนี้มีโต๊ะว่างหลายตัวเพราะยังหัวค่ำ นักท่องเที่ยวอังกฤษกลุ่มใหญ่โต๊ะข้างๆ ส่งเสียงดัง เอะอะโวยวาย และพูดกันอย่างหยาบคาย บ้างตบโต๊ะ ผมหันไปมองบาร์เทนเดอร์ เขาส่ายหน้าอย่างเอือมระอา ดื่ม Krusovice ได้แก้วเดียวก็เดินกลับ ผ่านสะพานชาร์ลส์อีกรอบ แวะ “บลูไลท์บาร์” อีกร้านที่เคยดื่มเมื่อครั้งที่แล้วแต่วันนี้คนน้อยและไม่มีพนักงานให้ความสนใจจึงเดินออกมาอีก
มุมมองกรุงปรากจากบันไดทางลงของมหาปราสาท
ใกล้ๆ กันมีร้านลึกลับที่แก๊งเกย์แห่งกรุงปรากเคยชวนมาครั้งที่แล้วซึ่งอยู่บนชั้น 2 ของอาคารโบราณที่ไม่สนใจการบูรณะซ่อมแซม แต่พบว่าร้านนี้ไม่ลึกลับอีกต่อไปแล้วเพราะคิวคนหิวเบียร์ยาวเหยียด แถมไม่มีเพลงฟัง จึงเดินกลับ แวะซื้อเบียร์ร้านชำของชาวเวียดนาม และก็เป็นอย่างที่ได้บรรยายไว้เมื่อฉบับที่แล้วว่าราคาแพงกว่าร้านทั่วไป
ระหว่างเปิดกระป๋องจิบอยู่ตรงระเบียงทางเดินของโฮสเทล มีหนุ่มนักศึกษาเกาหลี 2 คนเข้ามาคุยด้วย คนหนึ่งเรียนที่อเมริกา อีกคนเรียนที่กรุงโซล เล่าให้ฟังว่าวันนี้ไปกระโดดร่มแบบฟรีฟอล (Free Fall) มา สนุกตื่นเต้นเหลือเกิน ราคา 7 พันโครูนา “ที่นี่ขึ้นชื่อและราคาถูกสุดแล้ว” คนหนึ่งยืนยัน
ตื่นเช้าอีกวันพบว่ามีเพื่อนร่วมห้องเพิ่มมาอีกคน ไม่แน่ใจว่าเขามาเช็กอินตอนไหน ผมอาบน้ำแล้วก็เดินไปร้านอาหารจีนที่ส่วนมากลูกค้าจะสั่งกลับบ้านแต่มีที่นั่งในร้านด้วย ผมสั่งข้าวราดปลาผัดผัก ป้ายเขียนว่า “ไทยสไตล์” ซึ่งมีหลายเมนูที่เขียนว่าเป็นอาหารไทย ผัดเสร็จต้องไปรับที่เคาน์เตอร์ เสิร์ฟมาในจานพลาสติกและซ่อมพลาสติก ราคา 109 โครูนา (ไม่มีช้อน) ปลาถูกนำไปชุบแป้งทอดซึ่งเมื่อเอาแป้งออกจะเหลือชิ้นเล็กนิดเดียวและมีน้อยชิ้น รสชาติออกหวานๆ แต่กินจนหมดเพราะเมื่อวานกินไก่ทอดแม็คโดนัลด์เป็นมื้อค่ำไม่ค่อยอิ่ม เช้านี้จึงหิวกว่าปกติ เสร็จแล้วก็เดินไปกินกาแฟที่แม็คโดนัลด์สาขาเดิม ราคา 35 โครูนา รสชาติไม่เลวและถูกกว่าร้านอื่นๆ
เมื่อรู้สึกสดชื่นขึ้นก็เดินไปซื้อตั๋วรถรางจากเครื่องที่ป้ายมาโลสทรานสกาแบบเที่ยวเดียวราคา 24 โครูนา ขึ้นสาย 12 ไปยัง National Technical Museum พิพิธภัณฑ์แห่งชาติทางด้านเทคนิค มีเจ้าหน้าที่ในชุดไปรเวทขึ้นมาตรวจตั๋ว คนแรกเป็นชายวันประมาณ 30 ปี หมอนี่มั่วนิ่มไม่ได้เติมเงินหรือใช้ตั๋วที่หมดอายุแล้ว เจ้าหน้าที่จึงขอบัตรประชาชนเขียนใบสั่งให้ไปจ่ายค่าปรับ
สะพานชาร์ลส์ เป็นที่ทำมาหากินของศิลปินหลากหลายประเภท ภาพนี้เป็นมุมมองจากเชิงสะพานฝั่ง Lesser Town
พิพิธภัณฑ์ทางด้านเทคนิคกรุงปรากเก็บค่าเข้าชมคนละ 190 โครูนา และค่าถ่ายรูปอีก 100 โครูนา มีข้อแม้ห้ามใช้ไม้เซลฟี่และขาตั้งกล้อง แบ่งส่วนจัดแสดงออกเป็น : ยานพาหนะและการขนส่ง, ห้องดาราศาสตร์, วิวัฒนาการแห่งการถ่ายภาพนิ่งและภาพยนตร์, สตูดิโอสถานีโทรทัศน์, เหมืองแร่, เทคโนโลยีการพิมพ์, โลหะวิทยา, เทคโนโลยีเกี่ยวกับเครื่องใช้ในบ้าน, เคมีรอบๆ ตัวเรา, วิวัฒนาการของการวัดเวลาหรือนาฬิกา, สถาปัตยกรรม, การก่อสร้าง และการออกแบบ
ส่วนการแสดงที่ได้รับความนิยมและมีขนาดกว้างขวางที่สุด ยกให้ส่วนที่เป็นยานพาหนะและการขนส่งซึ่งมีลักษณะเป็นห้องโถงสี่เหลี่ยมหลังคาสูง บริเวณพื้นชั้นล่าง หรือชั้น 0 แสดงรถยนต์ที่มาจากเชคโกสโลวาเกียและประเทศใกล้เคียง หัวรถจักรไอ้น้ำ และตู้รถไฟ ส่วนชั้นที่เหลือคือชั้น 1 ถึง ชั้น 3 (รวมทั้งหมด 4 ชั้น) มีลักษณะเป็นระเบียงทางเดินรอบห้องทั้ง 4 ด้าน เพื่อให้ภายในอาคารนี้มีลักษณะโล่ง อีกทั้งบนเพดานใช้สำหรับห้อยเครื่องบินหลากยุคหลายรุ่นด้วยเชือกและเส้นลวดลงมาอยู่กลางห้อง ดูเหมือนว่าเครื่องบินเหล้านี้กำลังบินอยู่จริงๆ
เมื่อเดินขึ้นบันไดไปยังชั้น 1 ก็พบกับของสะสมที่เป็นจักรยานยนต์จอดอยู่ไล่เรียงไปตามผนังห้อง ซึ่งดูแล้วมีการเรียงตั้งแต่ยุคแรกๆ เรื่อยมา ชั้น 2 เป็นของสะสมประเภทชิ้นส่วนเครื่องบินหรืออากาศยาน รวมถึงโมเดล ที่จัดเรียงในลักษณะเดียวกัน เช่นเดียวกับชั้น 3 ที่จัดแสดงจักรยานโบราณ โมเดลเรือ และชิ้นส่วนของการขนส่งทางน้ำ
ไม่ทันจะมีเวลาเดินดูส่วนอื่นๆ เวลาก็ปาเข้าไปเกือบ 17.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่พิพิธภัณฑ์ปิดให้บริการ ได้แต่เข้าไปกินแซนวิชและดื่มเบียร์ Staropramen แก้วเล็กในโรงอาหารของพิพิธภัณฑ์เป็นมื้อเที่ยง ซื้อของที่ระลึกจากร้านในพิพิธภัณฑ์แล้วเดินไปที่เบียร์การ์เด้นบนเนินเขาเลตนา ริมแม่น้ำวอลตาวา มองเห็นอาคารบ้านเรือนของกรุงปรากอีกฝั่งอัดเรียงกันแน่นหนา คนหนุ่มสาวมากหน้าหลายตาออกมาดื่มเบียร์กันตั้งแต่หัววัน แต่ผมตัดใจเดินไปขึ้นรถรางกลับเข้าเขตเมืองเพราะมีนัดกับโกรันตอนประมาณ 1 ทุ่ม
บนรถรางสาย 12 สายเดิม เจอคนตรวจตั๋วคนเดิม และเขาก็จับคนลักไก่ได้อีกเหมือนเดิม.
แถวของจักรยานยนต์โบราณในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติทางด้านเทคนิค กรุงปราก
รถแข่ง NW 12 HP “Rennzweier” ปี ค.ศ. 1900 ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติทางด้านเทคนิค กรุงปราก
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |