ปัญหาขยะมูลฝอย ที่เกิดจากการอุปโภค บริโภค กิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ชุมชน ตลาด ร้านค้า และโรงงาน ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ทำให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องทั้งทางน้ำและทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดก๊าซเรือนกระจก ที่มีสาเหตุจากขยะเทกอง ที่ปล่อยก๊าซมีเทน ซัลเฟอร์กับคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ปัญหาขยะในทะเลที่ส่งผล กระทบต่อสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ในทะเล
สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกิดมาจากพฤติกรรมการบริโภคและการแยกขยะจากต้นทางการจัดการขยะที่ไม่ได้มาตรฐานก่อให้เกิดมลพิษ รวมถึงการไม่เกิดการนำกลับมาใช้ซ้ำ
จากผลดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาขยะล้มเมือง ซึ่งจากผลการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าประเทศไทยมีปริมาณขยะสูงขึ้นต่อเนื่องขึ้นทุกปี ซึ่งรายงานจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่าขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทยปี 2559 มีปริมาณถึง 27.06 ล้านตันต่อปี เทียบเท่าตึกใบหยก 2 จำนวน 140 ตึก คิดเป็นประมาณ 74,130 ตันต่อวัน เฉลี่ยเป็นปริมาณขยะ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ยังไม่รวมขยะตกค้างสะสมที่เพิ่มขึ้นทุกปีไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านตัน
จากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นนั้น บางส่วนสามารถที่จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ หรือขยะอินทรีย์ แต่บางส่วน ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ยาก หรือนําไปรีไซเคิลแล้วไม่คุ้มทุน ต้องนำไปกำจัด ได้แก่ ซองขนม กล่องโฟม ถุงพลาสติก และยังมีบางส่วนที่เป็นขยะอันตราย ต้องนําไปกําจัดหรือบําบัดด้วยวิธีเฉพาะ เช่น หลอดไฟ ขวดยา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีความพยายามในการรีไซเคิลและกำจัดขยะอย่างถูกต้องมากขึ้น แต่แนวโน้มปริมาณขยะในแต่ละปีเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน รวมถึงการกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี อาทิ การเทกอง เผากลางแจ้ง เผาในเตาที่ไม่มีระบบกำจัดมลพิษทางอากาศ และฝังกลบแบบเทกองควบคุม หรือไม่ถูกจัดการเลย ทำให้เกิดการตกค้างและเป็นมลพิษจำนวนมาก โดยเฉพาะขยะกลุ่มพลาสติกซึ่งข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณปีละ 2 ล้านตัน และในจำนวนนี้มีส่วนหนึ่งที่ถูกทิ้งลงในทะเล ส่งผลให้ประเทศไทยติดอันดับที่ 6 ของโลกที่ทิ้งขยะลงทะเล
ดังนั้น เพื่อลดปัญหาดังกล่าวทั้งภาครัฐและเอกชนได้พยามยามรณรงค์ให้ลดการทิ้งขยะ รวมถึงการรีไซเคิลขยะ โดยส่วนภาคเอกชนเองเริ่มรณรงค์คัดแยกขยะในองค์กร นำส่วนที่ยังใช้ประโยชน์ได้ไปรีไซเคิลหรือจำหน่าย ช่วยกันฝังกลบขยะอินทรีย์ให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ หรือทำปุ๋ย ส่วนที่เหลืออยู่ใช้วิธีเผาทำลายด้วยเตาเผาขยะเทคโนโลยีสูงที่มีระบบควบคุมอากาศ โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า น้ำมัน หรือแก๊ส
อย่างกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี ดำเนินโครงการความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีสำหรับถนนจากพลาสติกรีไซเคิล” เพื่อเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นส่วนประกอบในการทำถนนยางมะตอย โดยโครงการนี้จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในทะเลและในชุมชน รวมถึงคุณสมบัติของพลาสติกจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของถนน พร้อมลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการทำถนน และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมประเทศไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างเป็นรูปธรรม
แต่ก็ต้องยอมรับว่า แม้ภาคเอกชนและรัฐบาลจะพยายามลดขยะโดยการรีไซเคิลและการส่งเสริมโครงการโรงไฟฟ้าขยะ แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดขยะไปได้หมด เพราะ ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นนั้นมีจำนวนมากกว่าการกำจัด
และส่วนหนึ่งมีปัจจัยมาจากผู้บริโภคเช่นกัน ที่ไม่ยอมรับที่ให้มีโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ของตัวเอง เพราะกลัวเรื่องปัญหามลพิษ การส่งกลิ่น และยังมีปัญหาของการเสียประโยชน์ของผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่น ทำให้มีการคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะมาโดยตลอด จนในหลายพื้นที่ไม่สามารถสร้างได้
ที่สำคัญอีกประการ คือ การสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้างอย่างมีนัยแอบแฝง บ้างก็ไม่เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง บ้างก็เปิดเผยข้อมูลเมื่อมีเหตุการณ์คัดค้านเกิดขึ้น บ้างก็แปลงทุนก่อนทำการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพราะเกรงว่าราคาที่ดินจะเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มที่คัดค้านนั้นบ้างก็มาคัดค้านเพราะไม่เข้าใจ บ้างก็เป็นส่วนหนึ่งของผู้เสียผลประโยนช์ บ้างก็ค้านเพราะเป็นอาชีพ มักอ้างเพื่อประโยชน์ของประเทศ ปะปนกันไปหมด จนทำให้หลายๆ โครงการต้องชะลอหรือเลิกล้มไป สร้างความสูญเสียให้กับประเทศอย่างมากมาย
ดังนั้น หากจะคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการเหล่านี้ น่าจะเปิดใจยอมรับข้อมูลของแต่ละฝ่ายอย่างจริงใจ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าโครงการเหล่านั้นเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แล้วค่อยยกมือคัดค้านหรือเห็นด้วย จะดีกว่าไหม
อย่าเอาแต่หลับหูหลับตาคัดค้านจนทำให้ประเทศเสียโอกาส ล้าหลังเพื่อนบ้านไปมากกว่านั้น.
บุญช่วย ค้ายาดี
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |