24 ก.ค.61- จากกรณีที่เกิดเหตุ ชายผู้เป็นพ่อวัย 52 ปี ตัดสินใจกระโดดจากชั้น 8 อาคารศาลอาญา ลงมาเสียชีวิต ภายหลังรับฟังผลพิพากษาคดีนายธนิต ทัฬหสุนทร ลูกชายถูกแทงตายเมื่อปี 2559 ที่ศาลยกฟ้องเนื่องจากพยานโจทก์ยังขาดน้ำหนัก ล่าสุดมีข้อมูลจากตำรวจและอัยการ ระบุถึงเยาวชน (สงวนชื่อ-สกุล) ชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยแห่งหนึ่ง สาขาช่างยนต์ที่ถูกอัยการฟ้องร่วมกระทำผิดข้อกล่าวหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และร่วมกันพาอาวุธมีดปลายแหลมไปในที่สาธารณะ กรณีร่วมกับนายณัฐพงษ์ เงินคีรี จำเลยคดีฆ่านายธนิต แยกเป็นอีกสำนวนต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนั้น
นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ตามที่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีดังกล่าวนั้นเข้าสู่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเมื่อปี 2560 ซึ่งศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาไปแล้วช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา โดยจำเลยให้การรับสารภาพ และโจทก์ได้สืบพยานประกอบคำรับสารภาพแล้ว ศาลจึงได้นำมาตรการแทนการพิพากษาคดีกับจำเลย ตามกระบวนพิจารณาคดี พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาใช้บังคับกับจำเลย โดยมีการกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยและครอบครัวต้องปฏิบัติ และให้ตั้งนักจิตวิทยาของศูนย์ให้คำปรึกษา เป็นผู้จัดทำตามแผนที่ศาลกำหนดไว้ซึ่งศาลนัดพร้อมเพื่อฟังผลการปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ในวันที่ 23 เม.ย. 2562 ต่อไป ซึ่งระหว่างนี้เยาวชนต้องไปปฏิบัติตามแผนดังกล่าว
นายสุริยัณห์ อธิบายถึงขั้นตอนคดีในศาลเยาวชนว่า เมื่อจำเลยให้รับสารภาพแล้วและมีการกำหนดแผนบำบัดฟื้นฟูแทนมาตรการมีคำพิพากษา เยาวชนที่ต้องเป็นจำเลยจะต้องปฏิบัติให้ครบทุกประการ หากพบว่าผิดเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง กระบวนการตามกฎหมายศาลเยาวชน ก็จะนำคดีดังกล่าวมาทำเป็นคำพิพากษาลงโทษกำหนดโทษทางอาญาใหม่ และถ้าจะมีการอุทธรณ์คดีในส่วนของเยาวชนนี้จึงจะดำเนินการได้หลังกระบวนการพิพากษาโทษ ดังนั้นคดีในศาลเยาวชนนี้จึงยังไม่สิ้นสุดกระบวนการเพราะต้องรอตรวจสอบและฟังผลการปฏิบัติเงื่อนไขแผนบำบัดฟื้นฟูให้ครบถ้วน
เมื่อถามถึงกรณีมีพยานในคดีหลักที่ฝ่ายโจทก์ไม่สามารถนำมาสืบได้ เนื่องจากพยานป่วยต้องรักษาอาการทางจิตนั้น การรับฟังน้ำหนักพยานมีมากน้อยเพียงใด นายสุริยัณห์ อธิบายว่า การรับฟังพยาน หากพยานที่ป่วยทางจิตเข้าสู่กระบวนสืบพยานในศาลก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเบิกความว่าสามารถสื่อสารและถ่ายทอดเรื่องราวได้ จึงไม่ใช่ว่าจะไม่รับฟังเลยเสียทีเดียว อย่างไรก็ดีการรับฟังพยานต่างๆ นั้น ศาลต้องทำด้วยความระมัดระวัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับที่มีกล่าวถึงประจักษ์พยาน ในคดีนายณัฐพงษ์ หรือโจ้ เงินคีรี ตกเป็นจำเลย ฆ่านายธนิต ที่อัยการยื่นฟ้องไว้ต่อศาลอาญา ที่ก่อนหน้านี้มีการเผยแพร่ข่าวว่าไม่สามารถนำตัวมาเบิกความเป็นพยานได้ เพราะมีอาการป่วยทางจิตนั้น
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงทราบว่าพยานดังกล่าวได้ประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์คว่ำ และได้รับบาดเจ็บทางสมอง หลังจากที่เกิดเหตุในคดีนี้แล้ว ซึ่งครอบครัวของพยานดังกล่าวก็ได้เสนอข้อเท็จจริงส่วนนี้ไปแล้วเมื่อระหว่างการพิจารณาคดี จึงไม่สามารถที่จะนำตัวพยานดังกล่าวมาเบิกความได้ การชั่งน้ำหนักพยานบุคคลนั้นหากเป็นพยานที่มีลักษณะอาการทางจิตหรือด้านสมองนั้น ก็ต้องระมัดระวังยิ่งขึ้น เพราะต้องได้รับคำยืนยันจากแพทย์ผู้รักษาด้วยว่า ผู้ป่วยที่จะมาเป็นพยานนั้นสามารถรับฟังและสื่อสารได้ปกติหรือไม่ จะสามารถรับแรงกดดันจากการถูกถาม ถูกซักค้านได้หรือไม่เพียงใด เพราะการบวนการสืบพยานในศาล อัยการโจทก์ และทนายความจำเลย ใช้สิทธิซักถามและซักค้านพยานได้เต็มที่เพื่ออำนวยความยุติธรรม ขณะที่หากแพทย์พบว่าผู้ป่วยทางจิตหรือด้านสมองนั้นไม่สามารถสื่อสารได้ในเวลาปกติ หรือยังคงมีสภาพหลอน ที่ไม่สามารถแยกได้ระหว่างความจริงกับภาพหลอน เช่นนี้พยานดังกล่าวก็ไม่สามารถนำสืบได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |