24 ก.ค.61- ที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จัดเสวนาหัวข้อ “ปราบโกงต้องแรงและเร็ว ถอดบทเรียนจากมาเลเซีย”
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวเปิดงานตอนหนึ่ง ว่า 4 ปีที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาทุจริตมีความคืบหน้าระดับหนึ่ง มีการนำผู้กระทำผิดระดับที่สูงพอสมควร รวมถึงระดับรัฐมนตรี มาลงโทษบ้าง กระบวนการยุติธรรม ศาล และองค์กรอื่นมีการพิจารณารวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ 2 ปีที่แล้วมีการตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้วจะมีความรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา มีการออก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่เป็นการลดโอกาสทุจริต และเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม และล่าสุด 2 วันที่ผ่านมา พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้แล้ว
“เราอยากจะเห็นเป็นยักษ์ที่มีกระบอง ไม่ใช่ถือไม้จิ้มฟัน หวังว่า พ.ร.ป.ฉบับนี้จะทำให้การปราบปรามและการป้องกันการทุจริตได้ผลดีขึ้น ในทางทฤษฎีเราต้องสามารถนำผู้ทุจริตระดับสูงมาลงโทษให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ประเทศฮ่องกง เกาหลี และจีน แสดงให้เห็นแล้วว่าจริงจังกับเรื่องนี้ แต่ไทยยังห่างไกลความหวังที่ตั้งเอาไว้”นายประมนต์ กล่าว
นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับใหม่แรงและเร็วขึ้น เร็วคือ ใน 2 ปีต้องทำคดีให้แล้วเสร็จ ยกเว้นบางกรณีจะขยายเป็น 3 ปีได้ เมื่อก่อนถ้าจำเลยหนีจะดำเนินคดีไม่ได้ แต่กฎหมายใหม่หากมีการดำเนินการแจ้งผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดทุกวิถีทางแล้วไม่มา สามารถพิจารณาลับหลังได้ ถ้าหนีอายุความจะหยุดตั้งแต่ตอนหนี กลับมาค่อยนับต่อ แต่กระบวนการพิจารณายังเดินไป สามารถริบทรัพย์ ยึดทรัพย์ แสวงหาทรัพย์ได้ นอกจากนี้ โทษยังแรงขึ้น
“กรณีนายนาจิบ แสดงให้เห็นว่ากรรมการ ป.ป.ช.มาเลเซีย ทำงานตรวจสอบจริงจังแม้ในช่วงที่นายนาจิบยังมีอำนาจรัฐ จะเห็นว่าทันทีที่นายนาจิบหมดอำนาจวันเดียว กระบวนการสามารถดำเนินการได้เลย ซึ่งถ้ามีกรรมการ ป.ป.ช.เป็นพวกกับนายนาจิบ ต่อให้นายนาจิบแพ้เลือกตั้งคดีก็อาจไม่เดิน หันมาดูประเทศไทย ถ้าหากกรรมการ ป.ป.ช.เป็นพวกกันกับผู้มีอำนาจทางการเมือง แม้อำนาจการเมืองจะเปลี่ยนก็อาจทำอะไรไมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากมีกลไกที่เอื้อประโยชน์ทำให้สามารถรักษาฐานของการเป็นพวกกันไว้ได้ในระยะยาว นี่จะเป็นปัญหามาก”นายเจษฎ์ กล่าว
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า เวลาการเมืองเปลี่ยนขั้ว อัยการมักจะเจอการบ้านให้ทำตลอดคือ ผู้อำนาจใหม่จะส่งเรื่องให้ตรวจสอบผู้มีอำนาจเก่า จะเห็นว่าอำนาจเป็นทั้งมิตรและศัตรู ส่วนกรณีนายนาจิบที่มีการมองว่าระหว่างมีอำนาจได้นั่งกดทับกระบวนการตรวจสอบไว้ด้วยนั้น ส่วนประเทศไทยเรื่องลักษณะนี้ตนยอมรับอย่างหนึ่งว่าจะหวังอะไรที่ขาวสะอาดร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แม้แต่อัยการก็ไม่ได้ขาวร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกที่มีทั้งคนดีและไม่ดี
“แต่อยากให้นึกเสมอว่าเมื่อท่านหมดอำนาจเมื่อไร กระบวนการเช็กบิลจะตามมาทันที สมัยก่อนแม้เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย พอขั้วเก่าลงจากอำนาจ ขั้วใหม่ที่เข้ามาก็ตรวจสอบขั้วเก่า ก็เช็กบิลกันอย่างนี้ การตรวจสอบมีอายุความ และระยะเวลายาวนานพอสมควร ทุกท่านประมาทไม่ได้ พออำนาจหมด โอกาสนั่งทับก็หมดไปด้วย ไม่สามารถนั่งทับได้ตลอด”นายโกศลวัฒน์ กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |