ชีวิตและงานของ 'ศิวิมล อยู่คงแก้ว' ผุดไอเดีย 'หอเกียรติยศ-มนุษย์กบ' ผู้ปิดทองหลังพระ


เพิ่มเพื่อน    

ติดลมบนไปแล้วสำหรับ  เพจ Thai NavySEAL  ที่โด่งดังมาจากสถานการณ์ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จากการริเริ่มของ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.)  หรือ หน่วยซีล  ทำให้ชื่อของ “คุณเอื้อย“ศศิวิมล อยู่คงแก้ว ผู้ผลิตรายการสารคดีสำรวจธรรมชาติ on the world ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 กลายเป็นผู้หญิงที่ได้รับความสนใจอีกคนในขณะที่  ทั้งในฐานะ แอดมินเพจ และภริยา ของ พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผบ.นสร.

“ถ้าคนมองดีก็ดี มองไม่ดีก็ไม่ดี ว่า ทำไมเอาภริยาเข้ามายุ่งในหน่วย  มันก็อาจจะเป็นผลลบ สถานะตรงนี้มันต้องมีเส้นบางๆ ขวางอยู่ บังเอิญภริยาคนนี้ มีอาชีพนี้ สามารถที่จะทำตรงนี้ได้ ถ้าพี่จะบอกว่าพี่รู้จักมนุษย์กบมากกว่าผู้สื่อข่าวท่านอื่นๆ พี่ก็พูดได้นะ ในฐานะที่พี่เป็นผู้สื่อข่าวด้วย ในฐานะที่ใกล้ชิด และเห็น แต่ไม่ใช่ว่าใช้สิทธิ์ความเป็นภริยา แล้วจะเผยแพร่ได้หมด ยิ่งเรารู้เยอะ เรายิ่งรู้ว่าเราทำอะไรได้แค่ไหน   ถ้าเราเป็นสื่อมวลชนอยากเปิดเผยทุกเรื่องที่รู้ แต่พี่จะคำนึงว่าน้องๆ มนุษย์กบจะได้รับผลกระทบอะไรหรือเปล่า  เขาต้องกลับไปในพื้นที่อันตราย แต่เราไปถ่ายภาพหน้าเขา แต่ในฐานะที่เขาเป็นภริยา ก็รู้ว่าเขาเสี่ยงอย่างไร ก็จะรู้และเบรกตรงนั้นไว้  อันนี้เหมือนความเข้าใจกัน” 

                คุณเอื้อย เล่าว่า ที่รู้จักกับหน่วยซีลมานานไม่ใช่เพราะช่วงที่มาเป็นภริยา ผบ.นสร. แต่เป็นเพราะช่วงที่ยังทำสารคดีรายการสารคดี “ส่องโลก” ได้เกาะติดทำสกู้ป ในหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม ช่วงสัปดาห์นรก เมื่อช่วง พ.ศ.2533

“เพิ่งมารู้ว่าเรียนโรงเรียนเดียว รุ่นเดียวกัน ก็ตอนหลัง ตอนแรกไม่รู้เลย เรียนที่เดียวกัน จบการศึกษาก็ต่างคนต่างแยกย้ายกันไป จนพี่ไปทำรายการส่องโลก มาถ่ายนักเรียนนักทำลายใต้น้ำจู่โจม รุ่นที่ 18 ช่วงสัปดาห์นรก พี่น้อย (พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว) เพิ่งจบ จบรุ่นที่ 17 และเขาเข้ามาเป็นครูฝึกช่วงนั้นพอดี ก็เลยรู้จักกัน ซึ่ง 5 วัน ที่พี่ไปอยู่  ก็ยังไม่รู้ว่าคนนี้เป็นใคร ตอนที่เขียนบทเสร็จ ต้องเอาบทมาให้ทหารตรวจก่อนออกอากาศ ก็ได้มาคุยกับเขา ก็เลยได้รู้ว่าเป็นคนจังหวัดเดียวกัน เรียนโรงเรียนเดียวกัน รุ่นเดียวกัน...

ที่เลือกคนนี้เป็นคู่ชีวิต เพราะคุยกันรู้เรื่อง และเข้าใจงานพี่ ที่ค่อนข้างคล้ายๆ ผู้ชาย และเวลาไปทำงาน ก็จะทำงานกับผู้ชายหมด เวลาพี่เข้าป่า4-5 วันก็มีพี่เป็นผู้หญิงคนเดียว มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ปลัดจังหวัดร่วมคณะไปด้วย เขาก็ถามพี่ว่าแฟนคุณปล่อยคุณมาอยู่ในสภาพอย่างนี้ อยู่กับผู้ชายทั้งหมด พี่ก็บอกว่าเขาเข้าใจว่าพี่ทำงานอะไร  ทุกครั้งที่ออกไปทำงานเขาจะรู้ว่าพี่ไปไหน  ไปทำอะไร บางทีหลายครั้งเขามักจะบอกว่า ให้พี่แจ้งตำแหน่งมาหน่อยว่าพี่อยู่ที่ไหน อย่างน้อยจะได้ไปตามเอาร่างกลับมาได้  คือ เขาก็เข้าใจ เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้พี่ได้ทำในสิ่งที่พี่ชอบ คงเป็นจุดนี้มั้งที่เลือกเขา...”

เธอเล่าถึง ประสบการณ์ที่ไป เอเวอร์เรส และ แอนด์ตาร์กติกว่า  ถ้าจะว่าไปแล้วเอเวอร์เรส ในจุดที่ไป ไม่ใช่จุดที่ลำบากนะ  เป็นอะไรที่ค่อนข้างจะง่าย  ที่ลำบากจริงๆ จะเป็นจุดที่ลาดัก วันที่เดินไปบนแม่น้ำที่เป็นน้ำแข็ง ต้องเดินไป 7วัน หน้าหนาวแม่น้ำเส้นนี้จะเป็นน้ำแข็งตลอด  เลห์ เป็นเมือง  หมู่บ้านเป้าหมายจะอยู่ตรงนี้  ในหน้าหนาว ชาวบ้านที่อยู่ในบ้านเป้าหมายที่พี่จะไป จะออกไปที่เมือง ก็จะใช้เส้นทางแม่น้ำ เพราะถนนจะถูกบล็อกด้วยหิมะหมด รถยนต์จะแล่นเข้าไปไม่ได้  กลายเป็นเส้นทาง trekking  ที่มีชื่อเสียง นักท่องเที่ยวจะใช้เส้นทางดังกล่าวเข้าไปในหมู่บ้านนี้  และพี่จะเดินทางเข้าไปเป็นชุดแรกๆ เส้นทางยังไม่เป็นที่รู้จัก เหมือนเดินหายเข้าไปอยู่ในโลกไหนก็ไม่รู้ เราติดต่อกับข้างนอกไม่ได้ แต่เที่ยวนั้นลงทุนซื้อโทรศัพท์ดาวเทียมไป เมื่อไปถึงก็ยิงสัญญาณให้รู้พิกัดว่าเราอยู่ตรงนี้ บางทีเราเดินเข้าไป ถ้าเราหายไป คนที่บ้านจะไม่รู้ว่าเราหายไปที่ไหน

            “เหมือนตอนที่แอนตาร์ติก ช่วงที่สาหัสมากคือช่วงเดินทางจากออสเตรเลีย ไปที่สถานีที่แอนตาร์กติก ก็จะผ่านทะเลใต้ เป็นทะเลที่คลื่นลมแรงมาก  ไม่ใช่เส้นทางที่เรือสินค้าผ่าน เพราะแอนตาร์กติกไม่มีพื้นที่อะไรอยู่แล้ว แต่เรือวิจัยต้องผ่านตรงนั้น ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เรือวิจัยล่ม เกิดอะไรขึ้นมา ร้อยกว่าชีวิตจะไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน  ตอนนั้น ทางญี่ปุ่นให้ทุนวิจัยนักวิทยาศาสตร์ไทยผู้หญิง ที่เป็นอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปร่วมทีมด้วย ต่อมาญี่ปุ่นก็ได้ให้ทุนเพิ่มเติมให้พี่ที่เป็นสื่อเข้าไปด้วย เพื่อที่ถ่ายสารคดี การทำงานที่นี่ เพื่อให้ออกมาเผยแพร่ เราก็เลยเป็นหนึ่งในทีมญี่ปุ่นที่จะเดินทางเข้าไปทุกปี ก็จะไปอยู่ช่วง ซัมเมอร์ ของแอนตาร์กติก ประมาณ 4 เดือน ขาไปอยู่ในเรือ 3 สัปดาห์ ขากลับ 5 สัปดาห์ ซึ่งไม่เห็นแผ่นดินเลย อยู่ในเรือเดินทางมาตลอด”

                เมื่อถามถึง เพจ Thai NavySEAL  ในช่วงสถานการณ์ถ้ำหลวงฯ เธอบอกว่า  เพจนี้จะเหมือนเป็นสื่อที่ทุกคนส่งข้อมูลเข้ามา สิ่งใดที่น่าจะมีประโยชน์ในการทำงานก็จะส่งไปให้ ผบ.นสร.อ่าน  เพื่อดูว่าเป็นไปได้ไหม ทีมงานของ ผบ.นสร. ก็จะไปคุยต่อ  พี่ไม่ได้เป็นคนไปคุยกับเขาโดยตรง  และช่วงหลังที่เริ่มมีการโพสต์เป็นภาษาอังกฤษนั้น เพราะเริ่มมีคนเข้ามาเป็นต่างชาติเยอะขึ้น จริงๆ ก่อนหน้านั้นก็คงแปลในกูเกิ้ล เขาก็คงเข้าใจระดับหนึ่ง ต่อจากนั้น พี่ก็ให้ทีมงานซึ่งเป็นน้องนายทหารเรือนำที่พี่เขียนเป็นภาษาไทยไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ

คุณเอื้อย เล่าว่า  นอกจากตนเองที่ทำเพจดังกล่าวแล้ว ยังดึงน้องๆ ในหน่วย นสร. มาทำงานด้วย เพราะเรื่องพี่ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง อย่างรายละเอียดการปฏิบัติทางทหาร หรือ ความรู้สึกที่พวกเขาผ่านอะไรกันมา พี่ไม่ได้ลงไปสัมผัสโดยตลอด  ก็อยากให้เขาลงมาถ่ายทอด พี่จะมาสกรีนเรื่องภาษา ก่อนหน้านี้จะให้เขาโพสต์ข้อความเอง อยากถ่ายทอดอะไร เช่น น้องคนไหนได้โดดร่มฟรีฟอลครั้งแรกก็เป็นความรู้สึกของมนุษย์กบที่อยากถ่ายทอด  เขาก็จะถ่ายทอดอารมณ์ตรงนั้นออกมา พี่ก็ไม่ได้ทำเองทุกโพสต์

เธอยังกล่าวว่า ที่มาทำตรงนี้เป็นสิ่งที่บวกกัน ในการสื่อสารกับน้องๆ ในหน่วยเราก็จะง่ายขึ้น  ถ้าเป็นคนนอกหน่วย น้องๆ อาจไม่อยากเล่าให้ฟัง เพราะว่าหลายเรื่องเป็นความลับ หรือแม้แต่ช่วงของการฝึกนักเรียน บางเรื่องค่อนข้างเซนซิทีฟ แต่เขารู้ว่าพี่จะสกรีนเรื่องราวต่างๆ เพราะไม่ใช่ทุกเรื่อง ทุกภาพ ที่พี่ถ่ายมันจะหลุดออกไป  ถ้าสื่อข้างนอกมาเขาอาจต้องทำความเข้าใจว่าต้องคุม  แต่ปัจจุบันก็คุมยาก สมัยที่พี่ทำงานกับหน่วยปีแรกๆ 2533 สมัยนั้นใช้กล้องเบต้า ไม่ใช่ถ่ายแล้วจะส่งไปได้ทั้งโลกเหมือนปัจจุบันอันนั้นสกรีนกันได้  เขียนบทเสร็จก็ต้องให้เขาตรวจดูก่อน

“เมื่อก่อนไม่มีใครรู้จักหน่วยนี้ เมื่อตรวจฟุตภาพ ตัดต่อเสร็จแล้ว ก็ต้องเอามาให้เขาดูอีก ภาพที่ออกไปอย่างนี้โอเคนะ เราถึงจะออกอากาศได้  แต่ปัจจุบันแป๊ปเดียวเท่านั้นไปหมด เพราะฉะนั้นจึงละเอียดอ่อนกับหน่วยงานแบบนี้   ซึ่งทุกคนที่เขาเข้ามาก็อยากนำเสนอความจริงของหน่วย แต่เราก็ต้องคุยกับเขาให้เข้าใจว่าหน่วยเป็นอย่างนี้  “

เธอเล่าว่า  ช่วงที่มีผู้เริ่มติดตามมากขึ้น ก็ช่วงงานที่ถ้ำหลวงฯ  แต่วันแรกเลย ก่อนเข้าไปถ้ำหลวงยอดอยู่ที่ประมาณ 1.6 หมื่น หลังจากนั้นก็พรวดๆๆๆ แต่พี่ก็ไม่ได้นั่งดูว่าขึ้นมาเพราะอะไร โพสต์เสร็จก็ไม่ได้อ่านเลย คอมเม้นท์เยอะมาก พี่ไม่ได้อ่านเลย บางโพสต์คอมเม้นท์เป็นพัน แต่พี่จะไม่โต้ตอบ ใครเขียนมาดี หรือ ไม่ดี ก็ให้เป็นลักษณะธรรมชาติของหน่วยนี้ไป เราให้ข้อมูลเขา ใครคิดอย่างไรเราจะไม่โต้ตอบ เพราะถ้าตอบโต้ก็จะเกิดเป็นดราม่า  ทุกคนเสนอแนวทางมาเยอะมาก  ก็เสนอมา แต่ความจริงเรารู้ว่าหน้างานจริงๆ พื้นที่จริงเป็นอย่างไร  บางทีคนที่ไม่เคยเข้ามาในถ้ำ ไม่ได้อยู่หน้างานเขาก็ไม่รู้ว่าปัญหา อุปสรรคคืออะไร บางทีทำไมไม่เอาเป็นลักษณะ บอลลูน เป็นท่อ เข้าไป ซึ่งถ้ำไม่ใช่แม่น้ำ ที่เป็นทางปลอดโปร่ง ไม่ใช่ทะเล พี่ไม่มีการอธิบายต่อเพราะมันไม่จบ”

ถามว่า เมื่อผบ.ซีลคนนี้ออกไปแล้ว เพจ Thai NavySEAL จะอยู่ต่อไปหรือไม่?  “คุณเอื้อย” กล่าวว่า พี่อยากให้อยู่ แต่ก็ต้องแล้วแต่รุ่นต่อไปว่าจะมีนโยบายอย่างไร  แต่ว่ายุคนี้ถึงเวลาที่หน่วยต้องออกมาพูดบ้าง แต่ไม่ใช่พูดทุกเรื่อง  หน่วยต้องให้คนรู้ เพราะหลายๆ ภารกิจที่เป็นประโยชน์ บางอย่างคนต้องรู้บ้างว่า เขาเป็นคนที่มีคุณค่า ปิดทองหลังพระมาตลอด หลายงานที่เป็นผลงาน เขาไม่เคยออกมาเปิดตัวว่าเป็นฝีมือของเขา ทำเสร็จก็หายไปหมด

“มองว่าเขาทำงานกันหนัก เสี่ยงภัย เขาไม่ได้ออกมาเรียกร้องอะไรหรอก อย่างกรณี จับเรือสัญชาติออสเตรเลีย ที่เข้ามาขโมยวัตถุโบราณช่วงปี 2534 2535ในน่านน้ำไทย ในเส้นทางที่มีเรือสินค้าล่ม เขาจะมาดำขโมยวัตถุโบราณที่อยู่ในเรือที่ล่มขึ้นมาขาย ทางมนุษย์กบก็ทำงานข่าวกันในเรื่องนี้ จนนำไปสู่จับกุม ยึดคืน วัตถุโบราณมูลค่ามหาศาล เหล่านั้นมาได้ จนเกิดหน่วยงานโบราณคดีใต้น้ำที่จันทบุรี  และอีกหลายภารกิจที่หน่วยนี้ทำ ที่บรรพบุรุษในอดีตทำกันมา พี่อยากฟื้นเรื่องตรงนี้ ซึ่งไม่ใช่เป็นการฟื้นที่อยากจะยกยอคนของเรา อย่างน้อยสิ่งเหล่านี้ควรได้รับการบันทึกไว้ เรามีโครงการที่อยากทำคือ พิพิธภัณฑ์ของมนุษย์กบ สำหรับพี่อยากเรียกว่า หอเกียรติยศของนักทำลายใต้น้ำ เขาทำอะไรมาบ้าง สร้างอะไรให้กับประเทศชาติบ้าง ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาศึกษา ตอนนี้ก็คุยกันว่าควรจะมีนะ เพราะทำเสร็จงานก็หายไปกับรุ่นนั้นๆ ...

...อย่างกรณีของ น.ต.สมาน กุนัน สมัยก่อนจะไม่ได้รับการกล่าวถึงเหมือนในปัจจุบัน ตอนนี้กระแสโซเชี่ยลก็จะได้รับการพูดถึงมากขึ้น  โลกได้รับรู้มากขึ้น เรื่องแบบนี้จริงๆ ไม่เคยเกิด แต่เคยเกิดมาต่างวาระ ต่างเหตุการณ์  มนุษย์กบไปทำงานมีความเสี่ยงมากมาย ถูกจับได้บ้างว่าแฝง จะถูกยิงหัวแล้ว แต่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวหลบหลีกออกได้ เพื่อหลบหลีกจากสภาวการณ์ตรงนั้น ไม่เคยมีใครรู้ “

                สำหรับสถานะของภริยา และสื่อทำสารคดีที่ต้องเดินทางอยู่ตลอด เธอบอกว่า ในช่วง1เดือนอยู่บ้านไม่กี่วัน ลูกยังบอกเลยว่าแม่ไม่เคยอยู่บ้านครบ30วันเลย ทีมที่ทำสารคดีเวลาไปทำงานก็จะไปกับ ตากล้อง 2 คน และมีคนตัดต่อที่ออฟฟิศ และมีแผนกประสานงาน จะมีจริงก็ 3-4 คน ถ้ามีงานชนกันก็จ้างฟรีแล๊นซ์ การทำงานก็จะอยู่แค่นี้ กลับจากป่าเขา ก็มาเขียนบทเอง ตัดต่อ และเตรียมออกเดินทางต่อ ส่วนลูกชายเรียนด้าน digital Film and video production ที่แคนนาดา ก็ทำงานอยู่ที่นั่น ยังไม่กลับ

“กับพี่น้อย เจอก็เมื่อเสร็จงาน บางทีก็สวนกันกลางอากาศ คนนั้นบินไป คนนี้บินกลับ เขาก็มีงานของเขาเยอะ ถ้าจะบอกให้เขามีเวลาให้กับเรา ก็คงไม่ใช่ แต่ถ้าเขาว่างก็จะกลับบ้าน ทุกคนเวลาว่างก็จะกลับไปพัก ที่บอกว่าเขากลัวพี่ มันไม่ใช่หรอก เป็นเรื่องของความเกรงใจกันมากกกว่า  พี่อาจจะเจออะไรมามาก หลายเรื่องที่สนับสนุนมาได้ “เธอเล่าทิ้งท้าย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"