ตะเกียงสัมฤทธิ์แบบกรีกโรมัน
หลักฐานทางโบราณคดีใหม่ๆ และโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวของ 5 รัฐโบราณที่ปรากฏขึ้นบนแผ่นดินไทยในช่วงเวลาเดียวกัน ประกอบด้วย รัฐทวารวดี ละโว้ เจนละ ศรีจนาศะ ศรีวิชัย ซึ่งจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พ.ศ.2561 เรื่อง "จากบ้านสู่เมือง : รัฐแรกเริ่มบนแผ่นดินไทย" ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของผู้ชม เพราะเปิดมุมมองและกระตุ้นให้ทุกคนอยากค้นหาเรื่องราวในอดีต
ไม่เพียงแค่นิทรรศการเท่านั้น ที่งานนี้กรมศิลปากรยังจัดกิจกรรมบรรยายประกอบนิทรรศการ ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานฯ พระนคร เมื่อวันก่อน รวมผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี นายสมชาย ณ นครพนม นักโบราณคดีทรงคุณวุฒิ, นางสาวพัชรินทร์ ศุขประมูล ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ, นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ มาพูดคุยว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของชุมชนเกษตรกรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์จนเป็นสังคมเมือง พร้อมกับแนะนำโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ไม่อยากให้พลาดชม
เครื่องประดับทองคำ โบราณวัตถุล้ำค่า
นายสมชายกล่าวว่า นิทรรศการนี้ลงลึกพูดถึงผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม ตั้งแต่หลักฐานทางโบราณคดี เส้นทางการค้าโบราณ และเส้นทางการค้าใหม่จากการสันนิษฐานของนักโบราณคดี รวมทั้งการขุดค้นทางโบราณคดีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น แสดงการมีอยู่ของ 5 รัฐโบราณที่เป็นจุดเชื่อมต่อประวัติศาสตร์ไทย พื้นที่นิทรรศการสร้างสรรค์ด้วยบรรยากาศผู้ชมกำลังเดินทางเข้าไปหาบ้านเมืองที่มีการตั้งหลักแหล่งชัดเจน หนึ่งในไฮไลต์คือ ตะเกียงสัมฤทธิ์แบบกรีกโรมัน อายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6-7 ฝาหล่อเป็นรูปพระพักตร์เทพเจ้าซิเลนุส ด้ามจับหล่อเป็นลายปลาโลมา 2 ตัว เป็นเครื่องหมายเมืองที่อยู่ริมทะเล พบที่แหล่งโบราณคดีพงตึก จ.กาญจนบุรี เป็นเครื่องยืนยันชุมชนโบราณในภาคตะวันตกของไทยติดต่อค้าขายกับโลกตะวันตก คือ กรีก โรมัน รวมทั้งเปอร์เซีย มาชมได้ในนิทรรศการ
นิทรรศการพิเศษ 'จากบ้านสู่เมือง : รัฐแรกเริ่มบนแผ่นดินไทย" ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
นางสาวพัชรินทร์กล่าวว่า นิทรรศการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์บนแผ่นดินไทย เหตุผลทำให้บ้านเป็นเมืองมาจากพื้นฐานความเจริญ สังคม วัฒนธรรมที่มีอยู่ก่อน มีความจำเป็น ความต้องการของคนในชุมชน มีแรงกระตุ้นจากข้างนอก โดยหลุมเสาที่ราชบุรี มีเสา 6 เสา แสดงการอยู่เป็นหมู่บ้าน 4-5 พันปีมาแล้ว จากเดิมเร่ร่อนตามถ้ำ ทิ้งหลักฐานเป็นภาพเขียน รวมถึงพิธีฝังศพซับซ้อน สะท้อนสังคมที่มีผู้นำ หลุมฝังศพในภาคอีสาน บนโครงกระดูกพบหินอาเกต เป็นของหายาก และสินค้านำเข้าอาจติดต่อผ่านเส้นทางแม่น้ำโขงออกสู่ทะเล สินค้านำเข้าจากต่างแดน ยังมีหวีงาช้าง นำเข้าจากอินเดีย พบที่เมืองโบราณจันเสน จ.นครสวรรค์ อายุ 2 พันปี มาชมกันได้ ในนิทรรศการยังมีโบราณวัตถุจากเขาสามแก้ว จ.ชุมพร แรกเป็นสถานีการค้าของอินเดีย ต่อมาพัฒนาเป็นเมืองท่า จากนำเข้า ต่อมาเปลี่ยนเป็นผู้ผลิตเครื่องประดับ ส่งออกไปสู่แหล่งโบราณคดีในภูมิภาค
หวีงาช้างนำเข้าจากอินเดีย พบที่เมืองโบราณจันเสน
หลักฐานการกำเนิดรัฐโบราณบนแผ่นดินไทย ไม่ใช่มีแต่ชื่อ นางสาวเด่นดาวเผยว่า มีจดหมายเหตุจีน บันทึกชาวตะวันตก จารึกภายในดินแดนเอเชีย รวมถึงหลักฐานทางกายภาพ เช่น ชุมชน เมือง โบราณสถาน วัด โบราณวัตถุ บันทึกไว้ นิทรรศการนี้ให้ภาพทั้ง 5 รัฐ รัฐทวารวดี พ.ศ.1100-1700 รัฐละโว้ พ.ศ.1100-1800 รัฐเจนละ พ.ศ.1100-1500 รัฐศรีจนาศะ พ.ศ.1200-1500 รัฐศรีวิชัย พ.ศ.1100-1700 ผ่านหลักฐานต่างๆ จุดเด่นนำเสนอในบริบทของรัฐมากกว่าด้านศิลปวัฒนธรรมที่คนคุ้นเคย รัฐแรกเริ่มมีอายุยาวนานมากกว่า 600-700 ปี มากกว่าอยุธยาเสียอีก และเกิดในดินแดนต่างๆ ของไทยในช่วงเวลาร่วมสมัยกัน ลักษณะรัฐแรกเริ่มมีความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์ของคน รวมตัวกันด้วยความเชื่อ ศาสนา ขนบธรรมเนียม และศิลปกรรมที่มีเอกลักษณ์ ได้รับอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมจากอินเดีย-จีน ส่งต่อจากเมืองหรือรัฐชายฝั่ง
"ทวารวดีเป็นรัฐแรกเริ่มในภาคกลาง พบบันทึกจีน เรียกรัฐโตโลโปตี น่าจะมาจากภาษาสันสกฤต ทวารดี มีหลักฐานเหรียญเงิน ศรีทวารตีศวรปุณยะ ที่พบในไทย รัฐละโว้ เป็นนครรัฐชายฝั่งทะเล พบเหรียญลวปุระ ที่เมืองโบราณอู่ทอง มีภาพสลักกองทัพละโว้จากระเบียงปราสาทนครวัดติดในขบวนทัพพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แสดงอิทธิพลการเมืองเขมรโบราณเหนือละโว้ เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เสื่อมอำนาจ ละโว้เป็นอิสระ และเป็นพื้นฐานสำคัญก่อเกิดอยุธยา รัฐเจนละ รัฐแรกเริ่มบริเวณลุ่มน้ำมูล-ชี พบจารึกสำคัญพระเจ้าจิตรเสน รัฐศรีจนาศะ รัฐบริเวณที่ราบสูงโคราช พบจารึกศรีจนาศะ กล่าวถึงกษัตริย์อาณาจักรนี้ 4 พระองค์ และจารึกบ่ออีกาปรากฏนามรัฐศรีจนาศะ ส่วนรัฐศรีวิชัยบนคาบสมุทรภาคใต้ พบจารึกเกดุกัน บูกิ ที่เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย อีกหลักฐานสำคัญจารึกหลักที่ 23 สรรเสริญพระเจ้ากรึงศรีวิชัยสร้างปราสาท 3 หลัง สอดคล้องโบราณสถานสำคัญเมืองไชยา จ.สุราษฎร์ธานี วัดแก้ว วัดหลง นิทรรศการนี้ให้ภาพสำคัญพร้อมหลักฐานยืนยัน" เด่นดาวกล่าว
ศีรษะชาวต่างชาติ ศิลปะทวารวดี พบที่เมืองโบราณคูบัว ราชบุรี
ใครสนใจนิทรรศการพิเศษ จัดแสดงถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ เวลา 09.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เข้าชมฟรี
ศิลาจารึกบ่ออีกา ปรากฏนามรัฐศรีจนาศะ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |