เลขาฯ สมช.เผยพบอาวุธสงครามล็อตเดียวกับที่เคลื่อนไหวในอดีต ไม่มั่นใจจะเกิดเหตุเมื่อใด หึ่ง! คสช.คุมตัวชายต้องสงสัยแล้ว "เพื่อแม้ว" โวย "ป้อม" จับแพะชนแกะอ้างเหตุไม่ปลดล็อก ซัด คสช.จับอาวุธบ่อยประจานความล้มเหลวตัวเอง "นิกร" ผวา 5 ม.ค.61 ครบ 90 วันต้องแจ้งจำนวนสมาชิก หากไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองประชุมได้สิ้นสภาพแน่ วอนทบทวนอีกครั้ง "สุริยะใส" หวั่นขยับเลือกตั้งต้นปี 62 "วัชระ" เหน็บ "โอ๊ค" บอกพ่อคืนเงินที่โกงไปแล้วกลับมาอยู่ใต้กระบวนการยุติธรรม โพลยังหวัง ครม.ชุดใหม่แก้ปัญหา ปชช.
เมื่อวันอาทิตย์ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการตรวจพบอาวุธสงครามที่ จ.ฉะเชิงเทรา กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบว่า ในเมื่อตรวจพบอาวุธก็คิดว่ายังมีที่อื่นอยู่ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุแล้วอาวุธที่พบเป็นล็อตเดียวกับที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในอดีต เพราะฉะนั้นเมื่ออาวุธยังอยู่จึงมั่นใจไม่ได้ ไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นได้ในตอนไหน ก็ต้องสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มขณะนี้ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดีย ขณะนี้พบว่ามีบางคนบิดเบือนข้อมูลทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนไหวมีวัตถุประสงค์เพื่อการเมือง เป็นกลุ่มเดิมๆ ที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศและควบคุมได้ยาก
มีรายงานข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคงเปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีพบอาวุธสงครามที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าอาวุธสงครามดังกล่าวน่าจะถูกนำมาทิ้งไว้เมื่อ 2-5 เดือนก่อน เพราะมีบางส่วนที่ไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ไม่มีการบรรจุหีบห่ออย่างมิดชิด ทำให้เปียกชื้นจนเกิดสนิมขึ้น คาดว่าเป็นการลักลอบนำมาทิ้งเพื่อหลบหนีความผิดจากนโยบายกวาดล้างอาวุธสงคราม อีกทั้งยังพบว่าอาวุธหลายรายการเชื่อมโยงกับการก่อเหตุรุนแรงทางการเมืองในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกช่วงปี 2557
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ร.อ.วิลิต จุลกะ ผบ.มว.รส.ศปภอ.ทบ.1 ได้ส่งตัวชายต้องสงสัยอายุ 54 ปี ที่อาจมีความเชื่อมโยงกับการพบอาวุธสงครามจำนวนมากในครั้งนี้ ให้หน่วยควบคุมตัวตามมาตรา 44 กรณีของอาวุธสงคราม โดยเจ้าหน้าที่ได้บันทึกประวัติและให้แพทย์ตรวจร่างกายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะครบกำหนดการควบคุมตัวในวันที่ 7 ธ.ค.นี้
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ว่าการตรวจพบอาวุธแล้วนำมาเหมารวมว่ายังมีความไม่เรียบร้อย ดังนั้นการปลดล็อกพรรคการเมืองจึงยังไม่สามารถทำได้ และคงต้องเลื่อนออกไปนั้น ดูจะเป็นการจับแพะชนแกะ และเหมารวมอย่างไม่มีเหตุผล และทำให้หลายคนเข้าใจว่ากลุ่มผู้มีอำนาจปัจจุบันกำลังต้องการยื้อเพื่อสืบทอดอำนาจออกไป ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อตัวพวกท่านเอง
"ทุกวันนี้พวกท่านรู้ดีอยู่แล้วว่าปัญหาปัจจุบัน ประเทศของเรากำลังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจค่อนข้างรุนแรง และประชาชนกำลังเผชิญภาวะความยากลำบากทางเศรษฐกิจอย่างมาก ต้นตอของปัญหาที่สำคัญคือการขาดความเชื่อมั่นและขาดความแน่นอนในการพาประเทศกลับคืนสู่ระบบปกติ ที่ทุกฝ่ายและนานาอารยประเทศยอมรับ การปลดล็อกพรรคการเมืองก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำตามกฎหมายพรรคการเมืองที่กลุ่มพวกท่านตราขึ้น อย่าทำให้การบริหารประเทศและการปฏิบัติตามกฎหมายกลายเป็นเรื่องอำเภอใจของพวกท่านที่จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ได้เลย เพราะจะยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือในระบบของประเทศยิ่งแย่หนักขึ้นไปกว่าเดิม"
นายภูมิธรรมกล่าวว่า การยื้อเวลาไปอย่างไม่มีข้อยุติ และการออกมาแถลงเหตุผลต่างๆ ในปัจจุบัน ดูเสมือนท่านทั้งหลายกำลังดูถูกความรับรู้และความเข้าใจของประชาชน อันที่จริงสังคมส่วนรวมมองเห็นและรับรู้ตรงกันอยู่แล้วว่า ตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ทุกฝ่ายในสังคมได้พยายามไม่สร้างเงื่อนไขหรือทำตัวให้เป็นอุปสรรคต่อการกลับคืนสู่ความสงบ เพราะต่างก็รู้ดีว่า สภาพความไม่เป็นประชาธิปไตย และการไม่รีบกลับคืนสู่ภาวะปกติ ล้วนเป็นปัญหาที่ร้ายแรงและส่งผลเสียต่อประเทศเป็นอย่างมาก รีบคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วเถิดอย่าพยายามใช้วาทกรรมยืดเวลาการอยู่ในอำนาจของท่านต่อไปเรื่อยๆ เลย
จับอาวุธประจาน คสช.
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สังคมอาจได้คำตอบว่าทำไมการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ละครั้งจึงต้องมีชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกฯ ด้านความมั่นคงและ รมว.กลาโหม อย่างต่อเนื่องทุกครั้ง พล.อ.ประวิตรพยายามทำตัวเสมือนเป็นยาสามัญประจำบ้านของรัฐบาล คสช. การตรวจพบเครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดที่ จ.ฉะเชิงเทรา หลายฝ่ายมองว่าเป็นระเบิดยื้อเลือกตั้ง หาข้ออ้างในการไม่ปลดล็อกการเมือง ระยะหลังที่มีข่าวพบระเบิด คนไม่ค่อยกลัวระเบิด แต่กลัวไม่ได้เลือกตั้งมากกว่า หลายครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ประกาศอย่างหนึ่ง พล.อ.ประวิตรก็จะประกาศหรือดำเนินการอีกอย่างหนึ่ง ที่ย้อนแย้งสวนทางกัน สังคมไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี
"คสช.อยู่มา 3-4 ปี มีเครือข่ายองคาพยพ มีกองกำลัง มีกฎหมาย มีเครื่องมือพิเศษ จนเลือกใช้ไม่ถูก ใครสะสม ใครเคลื่อนย้ายอาวุธ ไม่ทราบเลยหรือ ข่าวพบระเบิดจึงเท่ากับเป็นการประจานตัวเองของ คสช.วันนี้ไม่แน่ใจว่าโรดแมปของ พล.อ.ประยุทธ์กับโรดแมปพล.อ.ประวิตรคืออันเดียวกันหรือไม่ เป็นยุทธศาสตร์แยกกันเดินรวมกันตี ลับลวงพรางหรือไม่ รัฐบาลไม่มีความชอบธรรมที่จะมาตั้งเงื่อนไขกับประชาชนหรือหาเหตุอ้างความไม่สงบเพื่อยื้อเลือกตั้ง เพราะถ้าประชาชนตั้งเงื่อนไขบ้างว่า ถ้ารัฐบาล คสช.แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ ข้าวยากหมากแพง คสช.รับผิดชอบโดยการลาออกไป จะว่าอย่างไร" นายอนุสรณ์กล่าว
นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องอัพเดตสมาชิกพรรคภายใน 90 วัน แต่จนถึงขณะนี้ คสช.ยังไม่ปลดล็อกว่า ในวันที่ 5 ธ.ค.นี้ จะครบ 60 วันหลังการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว และจะครบ 90 วัน ในวันที่ 5 ม.ค.61 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 30 วันเท่านั้น ส่วนที่มีกรธ.และ สนช.หลายคนระบุว่า บางเรื่องสามารถทำได้โดยที่ยังไม่ต้องปลดล็อก เช่น การแจ้งจำนวนสมาชิกนั้น ตนในฐานะผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา และทำงานรับผิดชอบด้านนี้จะ 20 ปีอยู่แล้ว ยืนยันว่าทำไม่ได้ และได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง กกต.แล้ว เพื่อให้ประสานไปยังสำนักทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทางเลขาฯ กกต.ตอบมาแล้วว่าได้ประสานแล้ว เท่านั้นเอง แต่ไม่มีคำตอบว่าผลเป็นอย่างไร ขณะที่ กกต.ตอบมาทางพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยแล้วว่า หากไม่มีการประชุมพรรคเรื่องการแจ้งจำนวนสมาชิกไม่สามารถทำได้ จึงจำเป็นต้องมีการประชุมพรรคเสียก่อน
"ตอนนี้เหลือเพียงหนทางเดียวคือพรรคการเมืองต้องทำเรื่องไปขอขยายเวลา เพราะถ้าไม่ขยายเวลาพรรคการเมืองอย่างพรรคชาติไทยพัฒนาที่เคยถูกยุบพรรคไปครั้งหนึ่งแล้วตั้งขึ้นมาใหม่ ต้องสิ้นสภาพไปตามกฎหมาย สูญเสียความเป็นพรรคการเมือง เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับพวกเรา เรื่องนี้มีปัญหามากแน่นอน ปัญหาซับซ้อน จึงขอให้ไปทบทวนกันดูอีกครั้งหนึ่ง ไม่เช่นนั้นนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. คงไม่แสดงความหนักใจออกมาหรอก เพราะเขารู้ว่ากลไกมันคืออะไร แล้วเราจะใช้คำสั่ง คสช. หรือใช้ สนช.แก้รัฐธรรมนูญหรืออย่างไร ซึ่งทำไม่ได้ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญคือ การแก้เรื่องการเลือกตั้งออกไปเท่านั้นเอง ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับประเทศ ถ้ากลัวว่าจะมีปัญหาก็ปลดเป็นบางส่วน ปลดในส่วนที่ทำให้สามารถทำงานไปได้ เอาเฉพาะส่วนก็ได้ แต่ถ้าปล่อยไปอย่างนี้มีปัญหามากแน่ๆ “ นายนิกรกล่าว
เมื่อถามว่า การปลดล็อกไม่จำเป็นต้องรอให้กฎหมายลูกออกครบทุกฉบับก่อนหรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะกฎหมายฉบับอื่นไม่มีเวลากำหนด แต่กฎหมายฉบับนี้เวลาหมดไปทุกวัน ตัวนี้จะมีปัญหา
อดีต กกต.จี้ปลดล็อก
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นห่วงพรรคการเมืองในการเตรียมตัวเรื่องสมาชิกพรรคภายใน 90 วัน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จะครบกำหนดในวันที่ 5 ธ.ค.นี้ ว่า ตามข้อเท็จจริง ตนคาดว่านายมีชัยน่าจะนับวันครบกำหนดคลาดเคลื่อน เพราะกฎหมายพรรคการเมืองประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นหากนับตามกำหนดเวลาจริง จะต้องครบกำหนดในวันที่ 5 ม.ค. 2561 ไม่ใช่วันที่ 5 ธ.ค.
อย่างไรก็ตาม หากพรรคการเมืองทำตามกำหนดระยะเวลาวันที่ 5 ม.ค.2561 ไม่ทันตามกฎหมาย ก็สามารถยื่นเรื่องขอขยายเวลาได้ ในส่วนของพรรคได้ประสานงานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งพรรคจะเอารายชื่อของสมาชิกพรรคเดิมจาก กกต. มาเทียบกับรายชื่อที่พรรคมีอยู่ จากนั้นจะนำไปตรวจสอบกับทะเบียนราษฎรของ มท. เพื่อตรวจทานดูว่ารายชื่อใดยังมีอยู่ในข้อเท็จจริงตามทะเบียนราษฎรบ้าง
“การทำงานของพรรคในขณะนี้ เรื่องรายชื่อสมาชิกพรรคจะเสร็จทันในวันที่ 5 ม.ค.2561 แน่ ถึงแม้ว่าพรรคอาจจะต้องดำเนินการเรื่องนี้ยุ่งยากมากกว่าพรรคอื่นๆ เนื่องจากเรามีจำนวนสมาชิก 2-3 ล้านคน จึงอาจเกิดความยุ่งยากในการตรวจสอบรายชื่อสมาชิกพรรคจากทะเบียนราษฎรบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม พรรคตั้งใจจะตรวจสอบอย่างเต็มที่ เพื่อให้เสร็จตามกำหนดของกฎหมายพรรคการเมือง” นายองอาจกล่าว
นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. กล่าวถึงการที่คสช.ยังไม่มีการปลดล็อกว่า ระยะเวลาของการดำเนินการของพรรคการเมืองมีกำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองชัดเจน ซึ่งหากไม่ดำเนินการภายในเวลา บทลงโทษที่รุนแรงสุดคือการถูกยุบพรรค จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทางพรรคการเมืองเฝ้าติดตามอยู่ เพราะหากไม่มีการปลดล็อก ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทุกอย่างมันเป็นเรื่องทางการเมืองหมดเลย ดังนั้นหากพรรคทำอะไรไม่ได้เลย มันก็จะเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลไม่ประสงค์จะให้มีการเลือกตั้งในปีหน้าหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีการเลือกตั้ง ผลที่ตามมาก็อาจจะกระทบต่อเรื่องเศรษฐกิจได้ ดังนั้นเมื่อมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว ก็ควรจะต้องมีการปลดล็อกเพื่อให้พรรคการเมืองได้มีโอกาสทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดได้
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ประเด็นปลดล็อกพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ คสช.ต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ เพราะ พ.ร.ป.พรรคการเมืองได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2560 ผ่านมา 53 วันแล้ว พรรคการเมืองต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรคให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบ หากพรรคใดดำเนินการไม่ทัน ก็จะสิ้นสภาพความเป็นพรรคทันที แม้ พ.ร.ป.จะผ่อนปรนให้พรรคการการเมืองขอขยายเวลาการดำเนินการในกรณีต่างๆ ได้ แต่ก็จะมีปัญหาว่าจะขยายไปเท่าไร จะกระทบกรอบเวลาหาผู้สมัครของพรรคทันหรือไม่
หวั่นขยับเลือกตั้งต้นปี 62
"ถ้า คสช.ยื้อปลดล็อกไปจนถึง 5 ม.ค.2561 ยังไม่มีคำสั่งยกเลิก ก็แน่นอนจะกระทบเป็นลูกคลื่นกับกรอบเวลาที่บังคับพรรคการเมืองไว้ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่อาจดำเนินการไม่ทัน จนอาจกระทบต่อสถานะของพรรคการเมืองที่อาจสิ้นสภาพความเป็นพรรคได้ ถ้าดูตามรูปการณ์ในขณะนี้ ที่คาดกันไว้ว่าจะเลือกตั้งภายในเดือน พ.ย.2561 นั้น น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากแล้ว และอาจส่งผลให้ต้องขยับเวลาเลือกตั้งไปเร็วสุดเป็นต้นปี 2562 ค่อนข้างแน่นอน ถ้าภายใน 5 ม.ค.2561 ยังไม่มีคำสั่งปลดล็อกพรรคการเมือง" นายสุริยะใสกล่าว
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะทำให้ประเทศไทยได้นักการเมืองที่ดีหรือมีคุณภาพอย่างไร ว่า การจะมีนักการเมืองที่ดีหรือมีคุณภาพ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมายที่ควบคุม กำกับและวางกติกาในการเลือกตั้ง เพราะนอกจากในมิติทางกฎหมาย ก็ยังมีมิติด้านอื่นๆ ด้วย เช่น มิติทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ถ้าคาดหวังว่าจะได้ผู้แทนที่ดี ปราศจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียง หรือไม่มีเรื่องธุรกิจการเมือง ก็ต้องไปพัฒนาปัจจัยแวดล้อมของการเลือกตั้ง เช่น การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม หรือเรื่องที่จะทำให้ประชาชนตระหนักเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่การมีกฎหมายในครั้งนี้ ก็จะมีหลักการที่เปลี่ยนไป ในวิธีและระบบการเลือกตั้ง ซึ่งระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมนี้ จะทำให้ได้ ส.ส.ที่เข้ามาเป็น ส.ส.หน้าใหม่ไม่เกิน 5-10% แต่เชื่อว่า ส.ส.ที่เข้ามานั่งในสภาส่วนใหญ่จะเป็น ส.ส.หน้าเดิม เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยนั้นยังไม่เปลี่ยน
ส่วนนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องการชีวิตครอบครัวที่อบอุ่นกลับคืนมา โดยที่ครอบครัวไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกว่า ตนเห็นใจนายพานทองแท้ เหตุที่สิบกว่าปีที่ผ่านมาสังคมไทยไม่เหมือนเดิม เพราะบางคนในตระกูลนี้ใช่หรือไม่ มีโอกาสเป็นนายกฯ ถึง 2 คน แต่อยู่ในประเทศไทยไม่ได้ และไม่ใช่เพราะใครมากลั่นแกล้ง หากแต่เพราะโกงมหาศาลจนอยู่ในประเทศไม่ได้ใช่หรือไม่ นายพานทองแท้คงรู้ซึ้งรสการเมืองเป็นอย่างดีว่าหอมหวนและขมขื่นปานใด ความร่ำรวยจากการโกงประเทศชาติไม่สามารถทำให้มีความสุขได้หรือ บารมีทางการเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ผู้เป็นอา ไม่ได้ส่งผลให้นายพานทองแท้เกิดความนิยมชมชอบทางการเมืองหรืออย่างไร
"เมื่อนายพานทองแท้ออกมาอ้อนวอนขอครอบครัวที่อบอุ่นกลับคืนมา ผมก็ขอถามว่า แล้วครอบครัวของพี่น้องประชาชนที่ประสบเคราะห์กรรมจากการเผาบ้านเผาเมืองนับพันครอบครัว หรือครอบครัวของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เขาไม่ต้องการความอบอุ่นหรือ ถ้าไม่อยากให้ครอบครัวเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก ก็ต้องกล้าบอกกับนายทักษิณให้ยุติเคลื่อนไหวทางการเมือง และเคารพศาลยุติธรรม ซึ่งนายทักษิณจะยินยอมตามคำร้องขอของนายพานทองแท้หรือไม่ ก็ต้องรอคำตอบจากนายทักษิณต่อไป และต้องถามคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ผู้เป็นมารดาด้วยว่า พร้อมจะทำตามคำอ้อนวอนของลูกหรือไม่ หรือเพียงแค่ออกมาขอความเห็นใจในช่วงนี้เท่านั้น แต่คิดว่าสังคมยังมีโอกาสที่จะให้อภัย ถ้านายทักษิณสารภาพว่าใช้วิธีการโกงเงินของประเทศไปอย่างไร ได้เงินทั้งหมดเท่าไร ซุกซ่อนไว้ที่ไหน และมีข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน ที่ยอมเป็นทาสรับใช้มีใครบ้าง และนำเงินที่โกงทั้งหมดกลับคืนสู่ประเทศไทย ทั้งนี้ ต้องกลับมาอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรม อย่าใช้อภิสิทธิ์ใดๆ เหมือนเช่นที่ผ่านมา นายพานทองแท้ก็อาจได้ครอบครัวที่อบอุ่นกลับคืนมาก็เป็นได้" นายวัชระกล่าว
โพลยังให้โอกาส ครม.
นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่การปรับ ครม.ชุดใหม่ แล้ว รมต.ใหม่ใน ครม.ประยุทธ์ 5 ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ตามกฎหมายว่า ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับปัจจุบัน ครม.ชุดใหม่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้น รัฐมนตรีใหม่ที่เข้าถวายสัตย์ฯ เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2560 จึงต้องดำเนินการยื่นรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 29 ธ.ค.2560 นี้ จากนั้น ป.ป.ช.จะตรวจสอบและเปิดเผยต่อสาธารณะภายใน 30 วัน นับแต่วันครบกำหนด ซึ่งจะได้กำหนดวันที่เหมาะสมอีกครั้ง
วันเดียวกัน สวนดุสิตโพลเปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรกับ ครม.ประยุทธ์ 5 โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,195 คน ระหว่างวันที่ 28 พ.ย.-2 ธ.ค.2560 สรุปผลได้ ดังนี้ อันดับ 1 หวังว่าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เพื่อให้รัฐบาลทำงานได้ดีขึ้น 32.18%, อันดับ 2 คงต้องให้เวลาสักระยะ รอดูผลงานที่เป็นรูปธรรม 28.71%, อันดับ 3 ต้องการปรับการทำงาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน 17.48%, อันดับ 4 เป็นการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่ง 16.50%
สำหรับสิ่งที่ประชาชนคาดหวังต่อรัฐมนตรีใหม่ คือ อันดับ 1 ทำเพื่อบ้านเมืองและส่วนรวม สร้างผลงานให้เห็นเด่นชัด 49.46%, อันดับ 2 เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 40.99%, อันดับ 3ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น 16.16%, อันดับ 4 ขอให้ตั้งใจทำงานต่อไป นำสิ่งที่ผิดพลาดมาแก้ไขปรับปรุง 14.19%
ส่วนการปรับ ครม.ประยุทธ์ 5 จะสามารถทำให้รัฐบาลทำงานได้ดีขึ้นหรือไม่ อันดับ 1 น่าจะดีขึ้น 50.22% เพราะ รมต.ใหม่แต่ละท่านเป็นคนเก่ง มีประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ นำบทเรียนจากคนเก่ามาศึกษา แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ต้องเร่งสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับ, อันดับ 2 น่าจะเหมือนเดิม 42.67%เพราะปัญหาสะสมมานาน แก้ไขได้ยาก หลายเรื่องยังไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ปรับ ครม.หลายครั้งก็ยังเหมือนเดิม รูปแบบการทำงานเหมือนเดิม, อันดับ 3 น่าจะแย่ลง 7.11% เพราะการทำงานหยุดชะงัก ไม่ต่อเนื่อง เสียเวลา เสียงบประมาณ รัฐบาลกำลังประสบปัญหาในการทำงาน ฯลฯ
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจโพลเรื่อง เกาะติดความหวัง หรือ ความกลัว กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ 2,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24 พ.ย.-2 ธ.ค.2560 พบว่าประชาชนเกินครึ่ง หรือร้อยละ 56.4 มีความหวังต่อสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้ เพราะเห็นคนไทยรักกันผ่านก้าวคนละก้าวของพี่ตูน เชื่อมั่นในความรักความสามัคคีของคนไทย เห็นบ้านเมืองสงบ ปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง และมีการจัดระบบมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 43.6 ระบุยังคงมีความกลัวต่อสถานการณ์บ้านเมือง เพราะปัญหาปากท้อง คนในประเทศกำลังคิดต่าง มีแต่คนหาผลประโยชน์ตัวเอง ปัญหาอาชญากรรม ไม่ปลอดภัย ไม่บังคับใช้กฎหมายจริงจัง
เมื่อจำแนกตามช่วงอายุคน 3 วัย พบว่า กลุ่มคนเกษียณมีความหวังน้อยสุดคือร้อยละ 44.0 ในขณะที่กลุ่มคนวัยทำงานมีความหวังมากสุดคือร้อยละ 59.0 และกลุ่มวัยรุ่นร้อยละ 53.4 มีความหวังต่อสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้ ส่วนคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี มีความหวังต่ำสุดคือร้อยละ 53.9 เทียบกับผู้จบปริญญาตรีมีความหวังร้อยละ 60.3 และสูงกว่าปริญญาตรีมีความหวังร้อยละ 65.7
ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อจำแนกคนตอบแบบสอบถามออกตามอาชีพ พบว่า คนว่างงานมีความหวังต่ำสุดคือร้อยละ 33.3 และมีความกลัวสูงสุดคือร้อยละ 66.7 ในขณะที่อาชีพราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจมีความหวังสูงสุดคือร้อยละ 60.6 เมื่อจำแนกประชาชนออกตามภาคต่างๆ พบว่า คนในภาคใต้มีความหวังต่ำสุดคือร้อยละ 46.8 และคนภาคกลางมีความหวังสูงสุดคือร้อยละ 58.9.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |