ทรัมป์อยากเป็นมิตรกับรัสเซีย แต่เป็นมิตรเพื่อใคร


เพิ่มเพื่อน    

        หลังการวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดจากผู้แทนรัฐสภาทั้ง 2 พรรคใหญ่ ประธานาธิบดีทรัมป์ชี้แจงว่าตนพูดผิด จริงๆ แล้วต้องการพูดว่า “ผมคิดว่า ‘มี’ เหตุผลว่าทำไมรัสเซียแทรกแซงเลือกตั้ง” แทนคำว่า ‘ไม่มี’ เหตุผลที่รัสเซียจะแทรกแซงเลือกตั้ง

        ในตอนแรกประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ใช่คนเดียวที่เปลี่ยนท่าทีมองรัสเซียเป็น “คู่แข่งขัน” แทนการเป็น “ปรปักษ์” (enemy) ส.ส. ส.ว.บางคนคิดเห็นตรงกับทรัมป์ รอดูผลงานของรัฐบาล แต่เมื่อการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐกับรัสเซียดำเนินไปสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนทิศ

        สมาชิกรัฐสภาหลายท่านทั้งจากพรรครีพับลิกันกับเดโมแครตตำหนิทรัมป์อย่างเปิดเผย ยกตัวอย่าง วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต มาร์ค วอร์เนอร์ (Mark Warner) วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน มาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio) แถลงข่าวร่วมกันว่าประชาคมโลกต้องรับรู้ว่าชาติประชาธิปไตยเข้าไม่ได้กับรัฐบาลปูติน หรือระบอบอำนาจนิยมใดๆ ต้องร่วมกันต่อต้านการรุกรานจากรัสเซีย

        วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน เบน ซาซ์ (Ben Sasse) กล่าวว่า “ชาวอเมริกันผู้รักชาติทุกคนควรเข้าใจว่าปูตินไม่ใช่เพื่อนอเมริกา และไม่ใช่คู่หูของประธานาธิบดี”

        พอล ไรอัน (Paul Ryan) แกนนำสำคัญของพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า “เรายืนเคียงพันธมิตรนาโตและทุกประเทศที่กำลังเผชิญการรุกรานจากรัสเซีย”

รัสเซียแทรกแซงเลือกตั้งอเมริกาหรือไม่ :

        ตั้งแต่สิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปลายปี 2016 กระแสข่าวรัฐบาลรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งดังหนาหูขึ้นทุกที ประธานาธิบดีโอบามาใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของท่านลงนามให้สืบสวนเรื่องนี้และดำเนินเรื่อยมา ล่าสุดคณะลูกขุนใหญ่ชี้ว่าจารชนรัสเซีย 12 คนเกี่ยวข้องกับการแฮกข้อมูลพรรคเดโมแครตหวังช่วยทรัมป์ให้ชนะเลือกตั้ง บ่งชี้ว่ารัฐบาลรัสเซียแทรกแซงกิจการภายใน บ่อนทำลายประชาธิปไตย เป็นภัยความมั่นคงร้ายแรง จำต้องปฏิบัติต่อรัสเซียในฐานะปรปักษ์ ลงโทษรัสเซียอย่างใดอย่างหนึ่ง

        การพิจารณาคดีของศาลมาจาก กลุ่มหน่วยงานข่าวกรองที่ได้ร่วมสรุปแล้วว่ารัฐบาลปูตินแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016

      หลังการประชุมสุดยอด ทรัมป์เชื่อว่ารัสเซียไม่ได้แทรกแซงเลือกตั้ง เหตุเพราะประธานาธิบดีปูตินปฏิเสธอย่างแข็งขัน คำพูดนี้อาจตีความว่าประธานาธิบดีสหรัฐเชื่อคำพูดของผู้นำรัสเซียมากกว่าหน่วยงานข่าวกรอง สถาบันศาลสหรัฐ

        หลังถูกวิพากษ์อย่างหนัก ทรัมป์กล่าวซ้ำว่าตนยังเชื่อมั่นหน่วยงานข่าวกรองทั้งหมด แต่หากต้องการสร้างอนาคตที่ดีกว่าจำต้องมองข้ามอดีต เพื่อ 2 มหาอำนาจนิวเคลียร์จะเดินหน้าไปด้วยกัน

การพูดกลับไปกลับมา :

        ถ้าพิจารณาอย่างละเอียด เมื่อทรัมป์เอ่ยถึงรัสเซียจะมีลักษณะเหมือนหลายประเด็น คือ กลับไปกลับมา (flip-flop) บางครั้งพูดแง่บวก บางครั้งพูดแง่ลบ บางครั้งบอกว่าจะทำแล้วเปลี่ยนเป็นยังไม่ทำ

        ดังที่ได้เสนอในบทความก่อนว่าในช่วง 100 วันของตำแหน่งประธานาธิบดี ลักษณะหนึ่งของโดนัลด์ ทรัมป์ คือนโยบายต่างประเทศที่เปลี่ยนกลับไปกลับมา ไม่ตรงกับที่หาเสียง เรื่องนี้อาจตีความว่าเป็นการใช้กลยุทธ์ “คาดเดาไม่ได้” (unpredictable) ป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ล่วงหน้า จะไม่พูดตรงความจริง ดังที่ทรัมป์เคยพูดในช่วงหาเสียงว่าเป็นความลับ ไม่อาจเปิดเผยความจริง (บางครั้งที่พูดจึงเป็นเท็จ)

        ผลจากการที่เป็นเช่นนี้อาจมองว่าทำให้ “สามารถพูดเท็จ” หรือพูดโกหกสาธารณะ ไม่มีใครคาดเดาได้ว่ากำลังพูดความจริงหรือโกหก ทั้งยังสามารถพูดเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายตามความเหมาะสม เช่น เรื่องที่ทรัมป์พูดเป็นนัยโทษรัฐบาลเยอรมนีทรยศนาโต พร้อมๆ กับที่ชื่นชมว่าเป็นพันธมิตรในช่วงเวลาเพียง 2 วัน

        ประธานาธิบดีทรัมป์กลายเป็นบุคคลที่สามารถสร้างข่าวเท็จ (fake news) ในขณะที่มักกล่าวโทษสื่อหรือผู้อื่นว่ากุข่าวเท็จ ไม่น่าเชื่อถือ มีเจตนามุ่งร้าย หว่านความแตกแยก สร้างความเกลียดชัง เป็นศัตรูต่ออเมริกา

ทรัมป์อยากคืนสัมพันธ์ปกติกับรัสเซีย :

      หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าประชุมสุดยอดกับปูติน ประธานาธิบดีทรัมป์เปรยว่าควรให้รัสเซียอยู่ในที่ประชุม G-7 อีกครั้ง หลังถูกขับออกจากกลุ่มในยุคโอบามาครั้งเหตุการณ์รัสเซียยึดไครเมียเมื่อปี 2014

        ทรัมป์แสดงท่าทีอย่างเปิดเผยว่าอยากคืนสัมพันธ์ระดับปกติกับรัสเซีย แม้ว่าปัจจุบันจะขัดแย้งกันหลายเรื่อง

      ในช่วงประชุมนาโต ทรัมป์กล่าวว่าอียูคือปรปักษ์ (foe) ตัวสำคัญที่สุดของสหรัฐในขณะนี้ รัสเซียเป็นปรปักษ์เช่นกัน จีนเป็นปรปักษ์ทางเศรษฐกิจ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเลวร้าย ความหมายคือพวกเขาเป็นคู่แข่ง (competitor) ผมเคารพผู้นำประเทศเหล่านี้ ผมรักประเทศเหล่านี้ แต่ในเรื่องการค้าพวกเขาเอาเปรียบเราและหลายประเทศที่ว่าคือสมาชิกนาโต อีกทั้งพวกเขาไม่เพิ่มงบกลาโหมอย่างที่ควร

        คำว่าปรปักษ์หรือศัตรู (foe) ตามความหมายของประธานาธิบดีทรัมป์ในที่นี้ ตีความได้ว่าไม่ใช่ศัตรูที่ต้องทำลายล้าง มองในเชิงคู่แข่งการค้าทำนองบริษัทคู่แข่ง เน้นเรื่องเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน

        แต่การเอ่ยว่าทั้งอียู จีน และรัสเซียล้วนเป็นปรปักษ์ทำให้เกิดภาพว่ารัสเซียไม่แตกต่างจากอียู (พันธมิตรนาโต) เพราะทั้งหมดคือคู่แข่ง เป็นการลดทอนภัยคุกคามจากรัสเซีย สวนทางกับที่นักยุทธศาสตร์ นักการเมืองอเมริกันหลายคนเห็นว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามร้ายแรง

        ถ้ามองในแง่บวก การลืมอดีตเริ่มสัมพันธ์ใหม่เป็นแนวทางที่ใช้กัน แต่ต้องลงรายละเอียดว่าจะไปด้วยกันอย่างไร ในเรื่องใด เพราะมีหลายประเด็นที่สหรัฐกับรัสเซียขัดแย้งชัดเจน เช่น กรณีความมั่นคงของยูเครน ซีเรีย อิหร่าน เรื่องเยอรมันกับหลายประเทศในอียูซื้อน้ำมันจากรัสเซีย (ที่ทรัมป์เพิ่งกล่าวหารัฐบาลแมร์เคิลว่าร่วมมือกับศัตรูนาโต) ประเด็นสงครามการค้ากับจีนที่กำลังร้อนแรง การที่รัสเซียเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สำคัญของจีน ฯลฯ มีคำถามว่ารัฐบาลสหรัฐพร้อมจะให้รัสเซียฟื้นฟูประเทศเต็มที่ บนพื้นฐานที่รัสเซียมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนใช่หรือไม่

เป็นมิตรเพื่อใคร :

        ในเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่างประเทศ การเป็นมิตร หรือแม้กระทั่งเพียงลดความเป็นปรปักษ์ ลดการเผชิญหน้า จะส่งเสริมบรรยากาศสันติภาพโลกได้เป็นอย่างดี ความขัดแย้งในหลายภูมิภาค หลายประเทศจะลดลง แต่แนวทางนี้สวนทางยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐที่มองเรื่อยมาว่ารัสเซียกับจีนเป็นปรปักษ์ เป็นภัยคุกคามร้ายแรง

        ดังนั้น จะเป็นการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่หากรัฐบาลทรัมป์เปลี่ยนท่าทีต่อรัสเซีย

        เรื่องที่หลายคนกังวลคือทรัมป์ใช้โอกาสนี้เจรจาลับกับปูตินเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และไม่มีผู้ใดรู้เพราะเป็นการพูดคุยในที่ลับ มีเพียงล่ามส่วนตัวเท่านั้นที่เข้าร่วม (แต่ล่ามส่วนตัวของทรัมป์อาจถูกเชิญออกนอกห้องก่อนการหารือจริงๆ)

        หากสหรัฐคืนดีกับรัสเซีย ย่อมเป็นไปได้ว่าจะยุติคดีที่หน่วยงานหลายฝ่ายกำลังเดินหน้าจับผิดรัฐบาลรัสเซียที่แทรกแซงเลือกตั้ง ช่วยให้ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี

        การเป็นมิตรย่อมดีกว่าศัตรู คำถามคือเป็นมิตรเพื่อใคร

        มีอย่างน้อย 2 บุคคลสำคัญที่พูดต่อสาธารณะว่าประธานาธิบดีทรัมป์ “ขายชาติ” (treasonous) นั่นคืออดีตผู้อำนวยการ CIA จอห์น เบรนนัน (John Brennan) กับแกนนำรีพับลิกัน พอล ไรอัน

แก้ไขอย่าแก้ตัว นิวเคลียร์อเมริกา :

        วันต่อมาหลังการประชุมสุดยอด ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตข้อความว่าบางคนเกลียดความจริงที่ว่าผมกับประธานาธิบดีรัสเซียไปด้วยกันได้ดี “พวกเขาต้องการทำสงคราม”

        ประเด็นการลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ทดสอบความจริงใจของทรัมป์ หากรัฐบาลทรัมป์รักสันติจริง ข้อเสนอที่หลายฝ่ายเอ่ยถึงเสมอมาคือให้ลดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์

ปัจจุบันสหรัฐมีนิวเคลียร์เกือบ 6,800 หัวรบ รัสเซีย 7,000 หัวรบ ฝรั่งเศสมีราว 300 หัวรบ อังกฤษ 225 จีนมีเพียง 270 หัวรบ อินเดียมี 120-130 หัวรบ ปากีสถานมี 130-140 หัวรบ อิสราเอล 80

ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่าในโลกนี้มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่มีเป็นพันหัวรบ สามารถทำลายล้างโลกได้หลายรอบ หากสหรัฐกับรัสเซียต่างปรับลดเหลือ 2,000 หัวรบ จำนวนเท่านี้เพียงพอต่อการเป็นมหาอำนาจ ป้องปรามได้ทุกประเทศทั่วโลก การปรับลดจำนวนหัวรบให้เหลือไม่กี่พันจะเป็นข้อพิสูจน์ว่าประธานาธิบดีทรัมป์หวังสันติภาพจริงตามที่พูดหรือไม่

        หรือว่าเป็นอีกเรื่องที่ทรัมป์พูดกลับไปกลับมา เอาแน่เอานอนไม่ได้

        กลับไปสู่แนวคำถามเดิม พูดกลับไปกลับมาเพื่อใคร

        นี่คือคำถามที่ควรถาม สังคมควรหาคำตอบ.

-------------------------

ภาพ : เป็นมิตรดีกว่าเป็นศัตรู

ที่มา : https://www.facebook.com/DonaldTrump/photos/a.488852220724.393301.153080620724/10161273941595725/?type=3&theater


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"