เรายอม เอาชีวิตเข้าแลก


เพิ่มเพื่อน    

ภารกิจถ้ำหลวง หน่วยซีลไม่ใช่ฮีโร่

กับเรื่องเล่าที่หลายคนไม่เคยรู้

หลังทีม 13 หมูป่าอะคาเดมีร่วมกันให้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ หลังออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยตอนนี้ทีม 13 หมูป่าอะคาเดมี รวมถึงโค้ชเอก- เอกพล จันทะวงษ์ ได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติแล้ว

การนำทีม 13 หมูป่าอะคาเดมีออกมาได้อย่างปลอดภัย เกิดจากการร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่าย ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักดำน้ำจากหลายชาติที่มาช่วยในภารกิจนี้ แต่สำหรับคนไทย หัวเรือใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญก็คือ นักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ มนุษย์กบ จากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือที่เรียกกันว่า หน่วยซีล

พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือ ผบ.หน่วยซีล กล่าวถึงภารกิจสำคัญดังกล่าว โดยย้ำว่าหน่วยซีลไม่ใช่ฮีโร่ เพราะภารกิจดังกล่าวที่สำเร็จลุล่วงเกิดจากความสามัคคีของคนทุกฝ่าย ทั้งคนไทยและนักดำน้ำชาวต่างประเทศ ตลอดจนจิตอาสาที่มาช่วยกัน ดังนั้นทุกคนจึงเป็นฮีโร่ด้วยกันทั้งหมด โดย ผบ.ซีลได้เล่าแง่มุมภารกิจถ้ำหลวงที่หลายคนไม่รู้มาก่อน เช่นเรื่องแรงศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยปลุกใจคนที่ทำงานให้ผูกใจเป็นหนึ่งเดียวในการเข้าไปช่วยทีมหมูป่าจนสำเร็จ และย้ำว่าหลังจากนี้ ทางหน่วยซีลจะนำสิ่งที่เกิดขึ้นกับภารกิจถ้ำหลวงไปพัฒนาการฝึกของหน่วยซีล เช่น ในเรื่องการดำน้ำในถ้ำ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยซีลให้มีมากขึ้น

พล.ร.ต.อาภากร เล่าย้อนให้ฟังถึงภารกิจช่วยทีมหมูป่าว่า นับแต่หน่วยซีลได้รับการติดต่อให้เข้าไปปฏิบัติภารกิจดังกล่าวจนนำทีมหมูป่าออกมาได้ ตลอดช่วงดังกล่าวมีความรู้สึกเครียดกดดันอยู่ 3 ช่วง 

...ช่วงแรกคือช่วงที่เราโดนน้ำ ทำให้ต้องถอยร่นมาจนถึงสามแยก แล้วก็ถอยมาจนถึงโถง 3 โดนน้ำ ไล่มาจนถึงปากถ้ำ เราก็คิดว่าเราจะสู้อย่างไร ยิ่งเมื่อเวลาผ่านมาจนถึงวันที่น้องติดอยู่ในถ้ำเข้าสู่ช่วงวันที่ 8-9 น้องจะอยู่อย่างไร แล้วเราสูบน้ำออกมาจากถ้ำ เครื่องสูบน้ำประสิทธิภาพที่ไปสู้กับน้ำที่เข้ามา เครื่องสูบน้ำสู้ไม่ได้ เราก็ดูอยู่ว่าเราจะรอกันหรือไม่ แต่สุดท้ายเราก็ประกาศสู้ และมีการตั้งกองอำนวยการ ช่วงนั้นมีโจทย์ที่เยอะอยู่ แต่ก็โชคดีที่ทีมงาน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นนักดำน้ำประเทศไหน ก็เป็นทีมงานเดียวกัน

ช่วงที่ 2 ตอนช่วงจ่าแซม (น.ต.สมาน กุนัน) เสียชีวิต ซึ่งก่อนหน้านั้นกำลังพลของเราก็มีที่เจ็บป่วยอยู่เยอะ พักผ่อนไม่พอ แล้วก็ไปเจอควันของรถที่อยู่บริเวณหน้าถ้ำหลวง จนช่วงหลังเลยมีการให้รถไปจอดจุดอื่น เพราะควันของรถทำให้เวลาดำน้ำแล้วทำให้อ่อนเพลีย แสบคอ เพราะอากาศไม่บริสุทธิ์ จนมีคนเข้าโรงพยาบาล

เราต้องปิดเงียบหมด หน่วยซีลป่วยไม่ได้ บอกกับสังคมว่าหน่วยซีลป่วยไม่ได้ กำลังพลของผมต้องไม่ป่วย เวลาไปโรงพยาบาลต้องไม่บอกใครว่าป่วย แต่ก็ไม่มีใครถึงขั้นโคม่า จนสุดท้ายก็ไม่มีใครรู้ว่าป่วย แต่มารู้กันทีหลัง แต่ก่อนหน้านั้นไม่รู้กัน

...พอมาเจอกรณีที่จ่าแซมเสียชีวิต เราก็เครียดว่าจะทำอย่างไรกันดี เพราะการเสียชีวิตมีผลด้านจิตวิทยามาก สังคมก็ขวัญตก ซึ่งก่อนการแถลงข่าวการเสียชีวิตของจ่าแซม ผมก็ได้คุยกับทางกำลังพลของหน่วย ทั้งซีลประจำการและซีลนอกประจำการ ก็ปรากฏว่าทุกคนไม่ได้ขวัญตก ไม่มีการเสียขวัญ เพราะการทำงานการฝึกของเรามีความเสี่ยงตลอดเวลาอยู่แล้ว การเจ็บป่วย การเสียชีวิตเป็นเรื่องธรรมดา เพราะอย่างตอนที่ผมไปที่ถ้ำหลวงช่วงแรกๆ ก็มีอยู่วันหนึ่งต้องกลับมาเป็นประธานพิธีพระราชทานเพลิงศพกำลังพลของหน่วยที่เสียชีวิตจากการโดดร่ม ที่ก็เป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน คือเราจะมีการเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่ผมรับราชการมา คนในหน่วยก็เสียชีวิตไปหลายราย ผมก็ผ่านความเสียใจมาหลายรอบ โดยจ่าแซมเราก็เห็นแล้วเขาคือวีรบุรุษของคนไทย เป็นวีรบุรุษของโลกด้วย

จากความเครียดตรงนี้ พอแถลงข่าวผมก็ต้องยืนยันให้สังคมทราบว่าเราไม่เสียขวัญ กำลังพลของเราก็ยังฮึกเหิม เดินหน้าต่อ ซึ่งเราก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเสียชีวิตของจ่าแซมไม่สูญเปล่า โดยการทำงานของเราก็ได้กำลังใจมากมาย มีคนสนับสนุนเยอะ

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ ท่านได้เห็นและได้พระราชทานสิ่งของที่ใช้มาให้มากมาย พระองค์ท่านมีรับสั่งเลยว่าหากอยากได้อะไร ให้บอกมาเลยจะจัดหาให้ บางส่วนก็จัดหามาจากภูเก็ต เช่นขวดอากาศ โดยขวดอากาศ 200 ขวดแรกเราได้มาจากบริษัทเอกชน โดยเฉพาะของบริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต  จำกัด แต่ 200 ขวดหลังพระองค์ท่านก็พระราชทานมาให้”

...นอกจากนั้น อุปกรณ์บางอย่างที่หาซื้อไม่ได้ในประเทศไทย ก็ทรงซื้อมาให้จากต่างประเทศ บางชิ้นซื้อและส่งมาจากเยอรมันด่วนที่สุดเลย เช่น พวกสายรัดตัว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ในประเทศไทยไม่มีขาย ต้องสั่งมาจากเยอรมัน ท่านก็พระราชทานมาให้โดยด่วน แล้วเราก็นำมาให้นักดำน้ำและหน่วยของเราใช้ ซึ่งต่างชาติก็มีมาขอใช้ด้วยหากเขาขาด เพราะเขาก็ต้องใช้ ก็มาขอใช้ รวมถึง Wetsuits ที่น้องๆ ใช้ ตลอดจนผ้าห่มฟอยล์ท่านก็พระราชทานให้ พระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณมาก

ผบ.ซีล กล่าวต่อไปว่า ความกดดันครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในช่วงตอนตัดสินใจนำเด็กๆ ทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำหลวง จากตอนแรกเราก็เข้าใจว่า ทีมหมูป่าหลังเจอแล้ว เขาอาจจะอยู่ในถ้ำได้หลายวัน เพียงแค่นำอาหารไปให้แล้วหาวิธีนำทีมหมูป่าออกมาเท่านั้น พอน้ำขึ้นก็เจาะภูเขา แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเรามารู้ว่าปริมาณออกซิเจนเหลือน้อย ออกซิเจนในอากาศต้องมีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ในถ้ำเวลานั้นเหลือแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากเหลือแค่ 12 เปอร์เซ็นต์ ทีมหมูป่าก็จะแย่

...ทำให้เราเหลือเวลาน้อยมากในการทำงาน เราก็เครียดว่าจะทำอย่างไร เพราะการจะไปเจาะภูเขาแล้วให้น้องๆ ออกมา แทบเป็นไปไม่ได้เลย พอเราตัดสินใจว่าจะเข้าไป ผมก็คุยกับทีมดำน้ำของอังกฤษ ที่ก็มีความเป็นมืออาชีพมาก เขาอธิบายวิธีการให้เราฟัง ผมก็โล่งอกทันที เมื่อได้คุยกับเขาในวันนั้น โดยที่ตอนนั้นยังไม่ได้นำน้องๆ ออกมาจากถ้ำ แต่คุยกับทีมดำน้ำของอังกฤษเสร็จ จากที่ก่อนหน้านี้มืดมิดมากว่าจะนำน้องๆ ออกมาแบบไหน พอคุยเสร็จเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ทันที หลังเขาบอกวิธีการที่จะนำน้องๆ ออกมาจากถ้ำ

-ตอนที่มีการทำแผนนำทีมหมูป่าออกมาดังกล่าว เมื่อต้องขออนุมัติการตัดสินใจ ใช้เวลานานแค่ไหน?

ตอนที่ผมคุยกับ แกร์รี มิเชล ของอังกฤษ ที่ให้คำแนะนำในเรื่องการนำทีมหมูป่าออกมา ผมก็เสนอไปตามลำดับขั้น เพราะผมคิดแล้วว่าเป็นช่องทางเดียวที่สามารถทำได้ ซึ่งตอนนั้นผมก็เชื่อว่าทางข้างบนเขาเข้าใจอยู่แล้ว พอเสนอไปก็ใช้เวลาเป็นวันจนมีการอนุมัติ แต่ระหว่างที่เสนอไป ทางคณะเราก็คุยกันว่าระหว่างรออนุมัติ เราก็เตรียมการกันไปก่อน เช่น เรื่องการวางขวดอากาศ ทำคู่ขนานไปเลย พออนุมัติเสร็จเราก็ทำได้เลย

ตอนนั้นสิ่งที่ผมกังวลก็คือวิธีการ เพราะว่าเราโดนบีบจากน้ำที่เป็นช่วงหน้าฝน น้ำจะมา แล้วเท่าที่ทราบวันที่ 10 ก.ค. ตามสถิติน้ำอาจจะเต็มถ้ำ ผนวกกับอากาศในถ้ำที่น้อยลง ก็เป็นตัวบีบ เพราะออกซิเจนจาก 15 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 12 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาไม่นาน ทำให้ช่วงนั้นเราจะทำอะไรต้องมีแผนชัดเจนมากว่าวันนี้เราจะทำอะไร ต้องมีแผนเยอะและชัดเจน ไม่ให้เสียเวลาไปสักวัน พอวันแรกที่น้องๆ ออกมาชุดแรก 4 คน แล้วคนแรกปลอดภัย ผมก็เชื่อมั่น ซึ่งตอนนำออกมา มีการรายงานแจ้งให้ทราบตลอดในแต่ละจุด เช่น จากโถง 2 มาถึงโถง 3 เช่น ตอนนี้มาถึงโถง 3 แล้ว หลังเช็กร่างกายแล้ว ชีพจรเต้นเท่าไหร่ ก็จะมีการรายงานแจ้งตลอด

เมื่อถามว่า คนในสังคมมองว่าหน่วยซีลเป็นฮีโร่ พล.ร.ต.อาภากร-ผบ.หน่วยซีล ตอบหนักแน่นว่า เราพูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่าเราคือฮีโร่ เพราะว่าเราไม่ได้ทำกันฝ่ายเดียว คือเราฝึกมาตรงนี้ เราฝึกเพื่อให้ทำแบบนี้ให้ได้ แล้วก็มีคนอื่นมาช่วยกันเยอะหลายหน่วย รวมถึงจิตอาสา ในจุดงานที่เขาทำ ก็ถือเป็นฮีโร่ได้ เพราะคอยช่วยกันตลอด ขาดอะไรก็ไปหา ไปซื้อมาให้ ผมเหมือนกับว่าอยากได้อะไร เอ่ยไปไม่นาน ก็หามาให้เลย เช่น คนทำงานอยู่ ขาดรองเท้า กระเป๋ากันน้ำ บอกไปไม่นานก็หามาให้แล้ว ช่วยกันทุกส่วน อย่างพลทหารที่แบกลุยกันเข้าไปในโถง 3 แม้เขาไม่ได้ฝึกมาตรงนี้ แต่เขาก็มาช่วยกันทำงาน แบบนี้ เขาก็เป็นฮีโร่เหมือนกัน

-ช่วงที่เด็กๆ ยังไม่ได้ออกมา กระแสกดดันต่างๆ เช่น ในโซเชียลมีเดีย กดดันการทำงานหรือไม่?

ผมไม่ได้ติดตาม โชคดีไม่ได้ฟัง ทีวีก็ไม่เปิดดู เพราะเราอยู่ในถ้ำในหน้างาน ติดต่อสื่อสารอะไรไม่ได้

-ภารกิจถ้ำหลวงถือว่ายากสุดหรือไม่ เคยมีภารกิจยากกว่านี้หรือไม่?

ครั้งนี้ผมก็ถือว่ายากสุดในการทำงานลักษณะนี้ อย่างผมเคยไปโซมาเลีย ในภารกิจปราบปรามโจรสลัด แต่ตอนนั้นก็เป็นเรื่องของลักษณะงานแบบที่เจอคลื่นลม ก็จะเป็นอีกลักษณะ จะไม่ยากเหมือนครั้งนี้ เพราะที่ถ้ำหลวงใช้หลายอย่าง รวมถึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผูกใจเพื่อนร่วมงาน ที่ไม่ใช่แค่กำลังพลของหน่วย แต่คนที่มาช่วยงานทั้งหมด ต้องผูกใจเขาให้ได้ ให้เขายอมทำงานด้วยใจ

สิ่งยึดเหนี่ยว-ผูกใจผู้ร่วมภารกิจ

ลูกประคำครูบาบุญชุ่ม-การกอดผู้ร่วมงาน

สำหรับวิธีการเพื่อผูกใจ-ปลุกใจ ผู้ปฏิบัติงานในภารกิจดังกล่าว ผบ.ซีล เปิดเผยว่า ตอนนั้นก็มี พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร ท่านก็ให้ลูกประคำกับผม คนที่เอามาให้ ก็บอกว่าครูบาบุญชุ่มขอให้ผมผูกที่ข้อมือ แล้วก็ให้สายรัดข้อมือมาด้วย ผมก็ใช้ตรงนี้ในการปลุกใจ ผมก็ผูกให้ทุกคน อย่างตอนทำงาน ผมอาจพูดจาไม่ไพเราะ อาจมีข้อขัดแย้งกันบ้าง แต่ทุกคนมีจิตใจที่จะมาทำงาน ผมก็ไปขอโทษ ไปบอกเขาว่า อาจพูดจาไม่ค่อยดี แล้วผมก็โอบกอดเขาด้วย

...ผมกอดเยอะมากงานนี้ พอกอดเสร็จมันได้ใจ เราสู้กันด้วยใจ งานที่ทำไม่ได้ทำตามคำสั่ง แต่ทำกันด้วยใจจริงๆ คนจากหลายหน่วยงานที่ผมผูกให้เขา แล้วก็กอด ก็ได้ใจมาก ผมก็ไม่เคยกอดกับใครแบบนี้มาก่อน ผมอาจจะทำตอนไปเป็นทูตทหาร เคยกอดกับฝรั่งอะไรบ้าง แต่ผมเคยได้ยินว่าการกอดมันดี อย่างที่เคยมีการบรรยายกันในเรื่องการละลายพฤติกรรม ก็ให้มีการกอดกัน แต่ผมก็ไม่เคยทำตอนนั้น เพราะก็เขินด้วยซ้ำมากอดกัน แต่ตอนนั้นที่ถ้ำหลวงมันเครียดมาก แล้วผมก็พูดว่า ครูบาบุญชุ่ม ให้ลูกประคำนี้มา แล้วผมก็จะผูกให้ทุกคน เหมือนเป็นตัวแทน ผูกเสร็จผมก็กอดกับทุกคน ทุกคนก็มีใจที่ทำงาน

ตัวผมเองปกติก็ไม่ได้ห้อยพระเครื่องอะไร แต่ผมรู้ว่างานที่ถ้ำหลวงไม่ง่าย แล้วก็ตามความเชื่อของเราคนไทย เขาบอกว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ จากเดิมผมไม่ได้แขวนพระเลย ก็บอกน้องในหน่วยซีลคนหนึ่ง เขาจะศึกษาด้านนี้แล้วเขาเก่งด้วย ชื่อ บอย ผมก็คุยกับเขา น้องเขาก็ถอดสร้อยจากคอเขาให้ผมสวมที่คอเลย ผมยังใส่อยู่เลยวันนี้ จากปกติที่ไม่เคยห้อยเลย ตอนไปโซมาเลียก็ไม่ได้ห้อยพระ (ควักพระเครื่องที่ห้อยอยู่มาให้ดู) แล้วตอนที่อยู่ถ้ำหลวง ผมก็บวงสรวงหลายครั้งที่หน้าถ้ำเพื่อขอขมาหน้าถ้ำ เพราะก็เหมือนกับมนุษย์เราก็ไปรบกวนธรรมชาติด้วย ที่เขาอยู่ของเขาดีๆ แล้วมนุษย์เราไปรบกวน เราก็ขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าที่เจ้าทาง ว่าเราไม่ได้ตั้งใจมาลบหลู่ มารบกวน เราต้องการนำเด็กออกมา และขอให้คนที่ทำงานปลอดภัยจากการปฏิบัติหน้าที่

รวมทั้งก็ได้ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตรงนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านก็มีรับสั่งมาให้กองทัพเรือบวงสรวงที่กองบินทหารเรือ ที่อู่ตะเภา ที่จะมีพระรูปของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ แล้วเราก็มีบวงสรวงที่หน่วย นรข.เชียงแสน (กองบังคับการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงเขตเชียงราย) ที่มีพระรูปและได้อัญเชิญรูปหล่อของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือเสด็จเตี่ย มาที่หน้าถ้ำด้วย เราทำกันหลายวิธีมากงานนี้ใช้ทุกศาสตร์ พอเสร็จงานแล้ว ผมก็นำเหรียญสมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ทางหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือสร้างไว้เมื่อปี 2543 ที่เอาไป 2,000 เหรียญ ไปมอบให้คนทำงานทั้งหมด

        ผบ.หน่วยซีล ย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นงานนี้ต้องขอบคุณในหลายส่วน อย่างที่เคยบอกไปก่อนหน้านี้ เราไม่ใช่ฮีโร่ เพราะคำว่าฮีโร่ต้องให้กับหลายคนที่เขามาช่วยกันทำงาน อย่างคนที่เขาไม่ได้ฝึกมาเลย แต่เขามีจิตอาสาที่มาช่วยกันทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่เราฝึกมาทางด้านนี้ แล้วเราก็ทำงานในขีดความสามารถของเราให้เต็มที่.                        

หน่วยซีลเราคือทหารอาชีพ

ในคำถาม 'ภารกิจลับ' อิงการเมือง

      พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ที่มารับตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือ ผบ.หน่วยซีล ได้ร่วม 1 ปี และตอนนี้เหลืออายุราชการอีกร่วม 6 ปี กล่าวว่า จากประสบการณ์ในภารกิจถ้ำหลวง ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยไม่เคยมีการฝึกดำน้ำในถ้ามาก่อน ทำให้หลังจากนี้ หน่วยซีลอาจต้องเพิ่มเติมในหลักสูตรเรื่องการฝึกการดำน้ำ เพราะไม่รู้ว่าต่อจากนี้ไป การกู้ภัยในถ้ำแบบที่เกิดขึ้นที่ถ้ำหลวงจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เพียงแต่ว่าเราจะต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมในการทำงานของหน่วยซีลให้ได้หลายรูปแบบ

...การฝึกของซีล เราคงไม่ไปฝึกในถ้ำโดยตรงแบบนี้ แต่เราจะฝึกโดยมีอุปกรณ์ที่สามารถทำงานได้หลายลักษณะ และฝึกให้สามารถดำน้ำได้นานในสภาวะที่ไม่มีความกดอากาศมาเกี่ยวข้องกับการดำน้ำที่มีความกดอากาศมาเกี่ยวข้อง ที่ก็จะเป็นอีกลักษณะ  

      ผบ.หน่วยซีล กล่าวถึงบทบาทภารกิจของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือว่า ในภัยคุกคามรูปแบบใหม่ มีทั้งภัยจากการก่อการร้าย จึงต้องมีกำลังที่เคลื่อนที่ได้เร็ว มีความอ่อนตัว ความคล่องตัวในการทำงาน ซึ่งการต่อต้านการก่อการร้าย กองกำลังทหารหลักจะมีความอ่อนตัวน้อยกว่า ทำให้รูปแบบการฝึกก็จะมีการฝึกอีกแบบหนึ่ง ภัยการก่อการร้าย คนที่ก่อเหตุจะมองหาช่องโหว่ของเป้าหมายเพื่อลงมือปฏิบัติ ทำให้การที่จะปิดช่องโหว่ไม่ให้กระทำได้ต้องมีเทคนิคพิเศษ เพราะการก่อการร้ายที่จะเข้ามา คนทำจะอาศัยจังหวะเข้ามาทำ มันไม่เหมือนกับสมัยอดีต เวลาเกิดสงคราม กองกำลังทหารแต่ละฝ่ายก็จะมาประจันหน้ากัน แต่ละกำลังพลก็มารบกัน แต่ภัยการก่อการร้ายจะไม่ใช่ลักษณะดังกล่าว หนึ่งกองพลอาจจะแพ้คนแค่หยิบมือก็ได้ เพราะคนแค่หยิบมือ จะอาศัยก่อเหตุในจุดที่กองพลมีช่องโหว่ทำเพื่อให้เกิดการขวัญเสีย ส่งผลทางจิตวิทยา

      พล.ร.ต.อาภากร กล่าวต่อไปว่า สำหรับภารกิจของหน่วยซีลในเรื่องต่อต้านการก่อการร้าย ทางหน่วยซีลมีการฝึกกำลังให้มีความพร้อม ตอนนี้หน่วยซีลก็มีการส่งคนไปทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่งไปหลายปีแล้ว อย่างกรณีการป้องกันการโจมตีหน่วยฐานวิกโยธินที่ฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิตหลายคนในฐาน ก็มาจากที่หน่วยซีลส่งคนของเราไปอยู่ในฐาน

-การผลิตนักทำลายใต้น้ำ หรือมนุษย์กบในช่วงปัจจุบันเป็นอย่างไร?

ด้วยความที่หน่วยส่งคนไปอยู่ยังสถานที่ต่างๆ มาก ทำให้คนที่จะหมุนเวียนกลับมาฝึกค่อนข้างมีอัตราไม่เยอะ ทางเราก็มีแนวความคิดที่จะเสนอขอเพิ่มกำลังคนเหมือนกัน เพราะว่าถ้ามีกำลังคนเท่าปัจจุบันแล้วไม่สามารถทำให้เขามีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างมีรูปธรรม ตอนนี้ก็มีกำลังคนพอ แต่หากเพิ่มขึ้นได้ ก็ทำให้เช่น การฝึกคน ก็จะให้ฝึกไปอย่างเดียวเลย เสร็จแล้วก็ออกไปทำงาน แล้วก็หมุนเวียนรุ่นต่อไปมาฝึกอย่างเดียว ฝึกเสร็จรุ่นนี้ก็ออกไปทำงานต่อ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน จำนวนคนของเรา คนที่เหลือเพื่อมาฝึกจะมีไม่มากเพราะส่วนใหญ่ต้องออกไปทำงานกันหมด เพราะในความเป็นจริง ต้องมีอัตรากำลังไว้ 3ส่วนคือ ส่งไปทำงานหนึ่งส่วน แล้วเหลือไว้ 2 ส่วนคอยฝึกทบทวนตลอดทั้งปี แต่จริงๆ ก็ไม่ได้ถึงขนาดนั้น เพราะก็ส่งคนไปทำงานครึ่งๆ ของอัตรากำลัง คือทำงาน 1 ส่วน แล้วเหลือไว้ให้มากกว่าครึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อย

“ปัจจุบันก็เป็นที่ประจักษ์ว่าหน่วยของเรามีกำลังพลที่มีคุณภาพและสามารถใช้ได้กับภารกิจที่ชาติต้องการแล้วหน่วยอื่นทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันประเทศหรือเรื่องภัยพิบัติ ถ้ามีกำลังพลที่มีประสิทธิภาพอย่างเราเพิ่มขึ้นก็จะเป็นสิ่งที่ดี”

โดยหลังจากนี้หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือจะมีการฝึกคนให้มีความพร้อมเช่นเดิม แต่จะให้มีการเน้นมากขึ้นในเรื่องของสมรรถภาพทางด้านร่างกายของกำลังพล ที่ตอนนี้ผมก็คิดไว้แล้ว ในทางยุทธวิธีเราก็ฝึก แต่สิ่งที่เราทำได้เลย ก็คือเรื่องการทำให้มีความแข็งแรงทางด้านร่างกาย จากภารกิจถ้ำหลวงเห็นได้ชัดเจน คนที่ทำภารกิจได้ต้องมีร่างกายแข็งแรงเท่านั้น ผมก็ต้องการฝึกให้เขามีความแข็งแรงมากขึ้น โดยที่ผ่านมาเราก็มีการทำอยู่แล้ว แต่หากดูจากในต่างประเทศ เช่น หน่วยซีลของสหรัฐอเมริกา การฝึกคนของเขาเพื่อให้มีสมรรถภาพทางร่างกายที่ดี เขาก็จะมีโรงยิมดีๆ มีอุปกรณ์ที่ดี มีการฝึกสอนเรื่องการเล่นอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องเล่นเวตเทรนนิ่ง เพื่อให้รู้ว่าจะต้องมีการเสริมสร้างกล้ามเนื้ออย่างไรให้แข็งแรง

ตอนนี้ทางหน่วยก็ได้เริ่มทำเรื่องเหล่านี้มาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีการสร้างห้องเวตเทรนนิ่ง สั่งอุปกรณ์เครื่องเล่นเวต ที่ก็มีกำลังพลที่สนใจ ได้ไปอบรมการเป็นเทรนเนอร์ เพื่อจะได้มาแนะนำการฝึกที่ถูกต้อง รวมถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องโภชนาการ จากภารกิจถ้ำหลวง ทำให้ผมเห็นแล้วว่าจะต้องมีการพัฒนากำลังพลให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ให้สามารถทำงานในสภาวะยากลำบากได้นานขึ้น เพราะการดำน้ำไป 5 ชั่วโมง แล้วกลับมาใช้เวลาอีก 5 ชั่วโมง หากร่างกายไม่แข็งแรง จะทำไม่ได้ จะมีความเสี่ยงในเรื่องชีวิตของกำลังพล

ส่วนการฝึกของหน่วยซีลไทยกับต่างประเทศ ก็มีลักษณะเหมือนกัน เพราะเราก็นำหลักสูตรมาจากซีลของสหรัฐ เราส่งคนไปฝึกไปเรียน แล้วก็นำมาใช้ฝึกกับของเรา แต่ก็มีความแตกต่างกันในเรื่องภูมิอากาศ เพราะของสหรัจะเป็นเมืองหนาว แต่ของเราเป็นเมืองร้อน

ถามถึงการหาข่าวของหน่วยซีล ตามบทบาทภารกิจที่ได้รับมอบหมาย คนของหน่วยซีลที่ปฏิบัติภารกิจลับดังกล่าวต้องมีการฝึกเป็นพิเศษหรือไม่ ผบ.หน่วยซีล กล่าวตอบว่า ในหน่วยของเรามีภารกิจในเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย การต่อต้านการก่อวินาศกรรม การข่าว ตรงนี้จำเป็นต้องฝึกคน ดังนั้นอย่างที่เห็น ในเพจ Thai NavySEAL ที่มีการปิดหน้า ยิ่งคนที่ไปทำงาน ลับ จะยิ่งไปอีกรูปแบบหนึ่ง ก็สุดแล้วแต่วิธีการ เช่น ปกติทหารต้องผมสั้น แต่พวกที่ไปทำงานแบบนั้นก็ต้องอำพรางตัว ปัจจุบันเราต้องทำงานโดยการใช้การข่าวนำยุทธการ เราก็ต้องมีข่าวสารที่เพียงพอต่อการปฏิบัติการ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ

-หลังเห็นภาพข่าวการฝึกอย่างหนักของซีล จนถามกันว่าทำไมต้องฝึกหนักขนาดนั้น มาวันนี้หลังภารกิจถ้ำหลวงคนจะเข้าใจมากขึ้น?

เขาคงเข้าใจแล้ว ที่ผ่านมาเราฝึกกันหนัก แต่ไม่เกิดปัญหา ไม่เกิดภาวะวิกฤติที่ต้องใช้หน่วยซีลเรา  คนก็ไม่เข้าใจ ก็เหมือนบางครั้งผมก็เห็นคนมาบอกว่า ไม่ควรต้องมีการเกณฑ์ทหาร ก็ตอนนี้อยู่กันสบาย แต่หารู้ไม่ว่าในการอยู่กันสบายเกินไปของเราจะทำให้เราประมาท หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ เช่นที่เราเคยต้องเสียกรุง ก็เกิดจากที่บางทีเราอยู่กันสบายเกินไป อาจไม่ได้เตรียมกำลังพลไว้ให้พร้อม  ถามว่าถ้าเราไม่มีกำลังทหาร หากว่าเมื่อมีภัยเกิดขึ้นมาเราจะเตรียมทันหรือไม่ เราจะฝึกทหารทันหรือไม่ จะมีอาวุธยุทโธปกรณ์พอหรือไม่

พล.ร.ต.อาภากร ยกตัวอย่างมาเสริมความเห็นข้างต้นว่า อย่างที่พูดกันเรื่อง เรือดำน้ำ ทำไมต้องมีเรือดำน้ำ แต่ถามว่าหากมีภาวะวิกฤติ เมื่อมีการซื้อเรือดำน้ำไปต้องสั่งแล้วรออีกกี่ปีกว่าเรือดำน้ำจะมาถึง แล้วอีกกี่ปีกว่าเราจะฝึกคนให้มีความพร้อมในการใช้เรือดำน้ำ ปัจจุบันต้องมีการเตรียม ต้องคิดถึงอนาคตเพราะว่าในเรื่องภัยที่จะมาทำลายความมั่นคงของชาติ มาแล้วเราจะรับทันหรือไม่ จริงๆ กองทัพเรือมีการคิดในเรื่องนี้ กองทัพเรือมีการคิดตลอดเวลาว่าภารกิจของกองทัพเรือมีด้านใดบ้าง เรือดำน้ำก็เป็นสาขาหนึ่งของสงครามทางเรือ

...การมีเรือดำน้ำไม่ใช่เรื่องแปลก ประเทศอื่นเขาก็มีกัน แต่พอของเราจะมีบ้างก็มีการถามกันว่าทำไม เพราะเรือดำน้ำเมื่อมีการดำน้ำลงไปต่างประเทศ ยิ่งประเทศเพื่อนบ้านเราเขาป้องกันกันใหญ่โต ดูว่าเรือดำน้ำจะไปอยู่ตรงไหนในประเทศเขา แต่หากเราไม่มีเรือดำน้ำ เขาก็จะบอกสบาย เดี๋ยวเรือออกมาปากอ่าวก็เห็นแล้วตรวจจับได้ แต่หากเป็นเรือดำน้ำเมื่อปฏิบัติภารกิจดำน้ำลงไปแล้วจะไม่รู้ว่าเรืออยู่ตรงไหน

หน่วยซีลเองก็เช่นกัน เมื่อมีเรือดำน้ำเราก็ไปกับเรือดำน้ำ ไปปฏิบัติการลับในประเทศฝ่ายตรงข้าม ที่เมื่อมีเรือดำน้ำหน่วยซีลเราเองก็ต้องฝึกกำลังคนอีกเยอะ เมื่อกองทัพเรือต้องการซื้อเรือดำน้ำเพื่อให้เรามีความชำนาญด้านนี้ ผมว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร สังคมในเมืองเขาอยู่กันอย่างสุขสบาย เขาไม่รู้หรอกเพราะอยู่สบาย แต่ความสุขสบายที่เขาเป็นอยู่ แต่คนอย่างเรายอมเอาชีวิตเข้าแลก (เอามือตบหน้าอก) เรายอมเอาชีวิตเข้าแลกเลยเพื่อให้เขาอยู่อย่างสุขสบาย

...จากเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงกำลังของหน่วยเขายอมเสียสละชีวิตตัวเอง ที่เป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่มาก ทุกคนยอมเสี่ยง ตัวผมเองยังบอกเขาเลย ถ้าตัวเขาไม่พร้อมให้ไปนอนหลับ ไปพักผ่อนให้ร่างกายพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ถึงออกไปทำภารกิจ แต่พวกเขาบางทีดำน้ำกันในถ้ำ 7-8 ชั่วโมง หรือเกือบถึง 10  ชั่วโมง แล้วก็นอนไป 5 ชั่วโมง บางทีไม่พอ เพราะควรพักผ่อนให้พอจะได้ไปทำงานต่อได้ เพราะหากมีการสูญเสียอีกงานเจ๊งหมดเลย "จ่าแซม" เสียไปเราก็เสียใจอยู่แล้ว ขวัญของคนทั้งประเทศมันตกแล้ว  แต่ดีว่าเราสู้ แล้วกำลังพลพวกเขาไม่ยอม

“จ่าแซมหลังเสียชีวิตไปหนึ่งคน คนที่เคยฝึกซีลเขามาอีกเป็นสิบเลย มาเพิ่มอีก เพราะทุกคนไม่ยอมถอย ต้องมีคนอย่างเราในประเทศถึงจะรักษาประเทศชาติไว้ได้ นี่คือทหารอาชีพ เรายอมที่เราจะเป็นเราแบบนี้ คนสุขสบายในกรุงเทพฯ ก็ไม่รู้เรื่อง ก็เป็นนักเลงคีย์บอร์ดที่โคตรเก่งเลย”

เมื่อถามว่าภารกิจที่ถ้ำหลวงทำให้หน่วยซีลได้รับการกล่าวถึงในทางบวก ตรงนี้ก็มีการมองกันว่าก็ไปลบบางเรื่องที่คนมองกันว่า ก่อนหน้านี้หน่วยซีลไปเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะเวลามีม็อบการเมือง เรื่องดังกล่าว พล.ร.ต.อาภากร-ผบ.หน่วยซีล ตอบว่า คืออย่างนี้ทางหน่วยก็มีวิวัฒนาการของหน่วยมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เราก็ผ่านอะไรต่างๆ มา สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตก็เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร

-ก่อนหน้านี้มองกันว่า หน่วยซีลในยุคที่มีผู้บังคับบัญชา เช่น พล.ร.ท.วินัย กล่อมอินทร์ มีภาพไปเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของ คปท.และ กปปส. จนมีการพูดทำนองว่าหน่วยซีลที่เรียกกันว่ามนุษย์กบ แต่ตอนนั้นก็เป็นกบนอกกะลา เพราะเอาคนของหน่วยซีลไปใช้ในทางการเมือง แต่มาวันนี้คนมองว่าหน่วยซีลทำงานสร้างประโยชน์ให้ประเทศ จริงๆ เป็นเพราะมีการปรับตั้งแต่หลังการเมืองสงบลง หรือว่าทางหน่วยมีการปรับอะไรหรือไม่?

เราไม่ได้ปรับอะไร เราก็ทำงานของเราไป เพราะทหารกับการเมือง ทหารจะไม่ไปยุ่งกับการเมืองอยู่แล้ว เราทำหน้าที่ไปตามบทบาทหน้าที่ของเรา แต่ช่วงที่เกิดสถานการณ์การเมืองที่ถาม ตอนนั้นผมเป็นผู้ช่วยทูตทหารอยู่ที่ย่างกุ้ง ประเทศพม่า ก็ได้แต่มอง แต่จริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นก็เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาในตอนนั้นที่เขาตัดสินใจในเรื่องการใช้กำลัง ซึ่งในประเด็นนี้ผมคิดว่าเรามองข้ามไปดีกว่า เราก็ต้องทำงานให้ประเทศ ทำงานให้กองทัพเรือ เป็นทหารอาชีพ ที่ก็คือทำอาชีพทหารให้ดีที่สุด

      พล.ร.ต.อาภากร ยังกล่าวถึงกรณีปัญหาสมองไหล คือทหารที่อยู่ในหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือเคยฝึกหน่วยซีลแล้วลาออกจากราชการไปทำงานในภาคเอกชนว่า เรื่องดังกล่าว ช่วงหลังไม่ใช่ปัญหา เพียงแต่ก่อนหน้านี้หลังมีการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยความที่สนามบินต้องมีความปลอดภัยสูง จึงมีการรับสมัครแล้วพวกหน่วยรบพิเศษของเหล่าทัพต่างๆ ก็ไปสมัครกันเยอะ ทั้งกองทัพอากาศ กองทัพบก โดยในส่วนของกองทัพเรือ เฉพาะหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ไม่นับหน่วยอื่น มีออกไปร่วม 70 กว่าคน พอคนออกไปเยอะเราก็มีปัญหาไม่มีคนช่วยทำงาน แต่ถึงปัจจุบันเราไม่กังวลแล้วกับเรื่องนี้ เพราะทำให้เครือข่ายเรากว้าง มีอะไรก็ประสานกันได้ทันที

...อย่างคนของหน่วยที่ลาออกไปไปอยู่บริษัท เชฟรอนฯ, บริษัท ปตท.สผฯ  ซึ่งก็มีบางคนไปอยู่ในตำแหน่งระดับสูงขององค์กรเอกชน บางคนที่เคยอยู่กับหน่วยซีลแล้วไปทำงานเอกชน ปรากฏว่าตอนเกิดกรณีถ้ำหลวงเขาทำงานให้เชฟรอนอยู่ที่แอฟริกา เขาก็ยังบินจากแอฟริกามาช่วย เช่นเดียวกับที่เคยอยู่กับซีลแล้วอยู่ที่ ปตท.สผ.ก็มาช่วยที่ถ้ำหลวงเหมือนกัน คือพอเขาไปอยู่หลายที่ก็ทำให้เครือข่ายเรากว้างมีเครือข่ายเยอะ

...จากงานครั้งนี้ทำให้ผมเห็นว่าการระดมสรรพกำลังยามที่ประเทศมีภัยสงคราม กระทรวงกลาโหมต้องระดมสรรพกำลัง จากงานที่ถ้ำหลวงทำให้เห็นเลยว่า เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้คนที่มีความสามารถต้องระดมสรรพกำลังเข้ามา เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ เห็นชัดเจนจริงๆ เห็นเป็นรูปธรรมมากในครั้งนี้ เพียงแต่จะทำอย่างไรให้คนที่มา เมื่อหากเกิดสิ่งผิดพลาด เกิดการสูญเสียอะไรก็ต้องมีการดูแล มีการตอบแทนให้เขา เหมือนกับจ่าแซมที่เขาเป็นวีรบุรุษจริงๆ ก็ถือว่ากรณีนี้เป็นกรณีที่น่าสนใจ

ถามปิดท้ายว่าผู้ที่เป็น ผบ.หน่วยซีลที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครได้ขึ้นเป็นถึงระดับ ผบ.ทร. คำถามดังกล่าว พล.ร.ต.อาภากร-ผบ.หน่วยซีล ตอบสั้นๆ ว่า "ก็แล้วแต่กองทัพเรือ ก็ยังไม่เคยมี ก็แล้วแต่กองทัพเรือ แล้วที่ผ่านมาคนที่เป็นนักทำลายใต้น้ำแล้วจบโรงเรียนนายเรือมาก็มีไม่เยอะ".

.....................................................

ล้อมกรอบเพิ่ม... รูป... น.อ.อนันท์   สุราวรรณ์ 

'ไม่ใช่เสี่ยงที่ฝีมือศัตรู..แต่เป็นธรรมชาติ'

น.อ.อนันท์ สุราวรรณ์  ผู้บังคับการกรมรบพิเศษ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ  ได้รับมอบหมายให้รับช่วงการบัญชาการในโถง 3 เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงหลังจากพบทีมหมูป่าอะเคดามีทั้ง 13 คนว่า เดิมทางเราก็ได้เสนอแผน โดยคิดการสอนเด็กให้ดำน้ำ ไม่ให้เขาตกใจ ทำตามที่เราบอก จะจับมือมาเลย เราอยู่ข้างหน้าและข้างหลัง ให้เด็กอยู่ตรงกลางค่อยๆ พยุงออกมา ไม่ใช้เปล ค่อยๆ สาวเชือกนำออก แต่ตัดสินใจกันอยู่นานเพราะความปลอดภัยไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา แต่ขึ้นอยู่กับเด็ก ซึ่งเราควบคุมไม่ได้ แต่มีความเสี่ยงสูงเพราะเด็กไม่เคยดำน้ำ ต่อให้คุณไปสอนเขาแค่ 1-2 ชั่วโมงแล้วบอกว่าอย่าตกใจนะ อยู่เฉยๆ เราจะพาไป แต่เราไม่สามารถควบคุมเขาได้ ถ้าเกิดติดขัด ติดซอกหิน หรือหน้ากากไปโดนหินเกี่ยว ลอดช่องแล้วกระแทกหินน้ำเข้า หน้ากากดำน้ำหลุด จะทำอย่างไร เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สภาพมืดมาก ยิ่งเขาเป็นเด็ก เราจะเชื่อใจอย่างไรว่าจะไม่ตกใจ เราแก้ไขปัญหาให้เขาไม่ได้เพราะมองไม่เห็น มันคือความเสี่ยง ก็ต้องพิจารณาว่าต้องใช้วิธีไหน เพราะคนทั้งประเทศไม่รู้เหตุการณ์ เกิดเป็นอะไรขึ้นมาจะบอกว่าลูกหลานของเขาอยู่ในนั้นก็ปลอดภัยดีอยู่แล้ว ทำไมรีบเอาออกมา ถ้าคนไหนเป็นอะไรขึ้นมาจะยิ่งไปกันใหญ่

เมื่อมีนักดำน้ำต่างชาติที่เป็นมืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญเรื่องนี้โดยเฉพาะเสนอว่า มีวิธีการที่นำเด็กออกมาแล้วปลอดภัยจึงได้เลือกแนวทางนี้ ผมเข้าใจว่าข้างนอกเขาคงมีการถกแถลงหารือกันเป็นที่ตกลงใจว่าน่าจะใช้ได้ จากวิธีการและโปรไฟล์ของทีมดำน้ำทั้งหมดที่ได้รับความน่าเชื่อถือ

      "การทำวิธีของเขานั้น เขาบอกว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในฐานะ ผบ.ศอร.จึงตกลงใจยอมให้ทำตามวิธีนั้น แต่ถ้าไม่เชื่อรอให้น้ำลดก่อนดีกว่าคงยาก เพราะปัจจัยที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่ารอไม่ได้แล้ว ทั้งอากาศทั้งน้ำที่จะมาเมื่อไหร่รู้ แต่ปัจจัยที่คุณเสนอมามีทางรอดร้อยเปอร์เซ็นต์ ถามว่าคุณเป็น ผบ.เหตุการณ์จะเลือกอะไร คุณต้องเลือกการรอดร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ว่าจะต้องรอไปก่อนอาจจะตายทั้งหมดก็ได้ แต่วิธีการของเขาบางทีก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เมื่อวันนั้นมีคนบอกว่าจะมีทางรอดด้วยการใช้วิธีวางยา หรือวิธีการอื่นที่อะไรก็แล้วแต่ ถามว่าถ้าเปิดเผยวันนั้นจะถูกด่าไหม   กว่าจะทำได้ก็ถูกพวกคีย์บอร์ดว่ากันไป ผมจึงเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะขุดคุ้ยเรื่องนี้อีก เพราะทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน นำอุปกรณ์มาทุกอย่างโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ชาวนายังเสียสละเอาน้ำมาท่วมนา ก็ไม่เห็นมีใครเรียกร้อง รัฐบาลจะตอบแทนยังมีคนไม่เอา คนพวกนี้ไม่เห็นมีใครมาถามว่า คุณนำเด็กออกมาอย่างไร คุณวางยาเด็กหรือเปล่า เขาแฮปปี้กันหมด แต่คนที่ไม่ได้ช่วยเหลือซักนิดกลับมาขุดคุ้ยว่า คุณวางยาเด็กหรือให้ยาเด็กหรือไม่ เมื่อเด็กออกมาร้อยเปอร์เซ็นต์นั่นคือจบภารกิจแล้ว"

'ลูกน้อง' เจอโหด หนาวกรามค้าง

เมื่อถามถึงแนวทางในการเลือกซีลร่วมทีมไปกับนักดำน้ำต่างชาติ ผู้การฯ อนันท์ เล่าว่า เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าเสี่ยง ต่อให้คุยกันว่าทุกคนโอเคต้องทำแบบนี้ แต่มีความเสี่ยงว่าจะไม่ได้กลับมา คือมองตากันทุกคนก็รู้ ผมเองก็รู้ว่าส่งลูกน้องไปมีความเสี่ยงที่เขาจะไม่ได้กลับ แต่ทุกคนยินดีที่จะปฏิบัติ แต่ถ้าถามว่าใช้เหตุผลใดในการเลือกคนไปร่วมทีมนั้น ผมก็บอกได้ว่า 10-20 คนปฏิบัติงานร่วมกันมา เราจะรู้ว่างานนี้นะต้องเป็นเอ็ง นอกจากความสามารถแล้ว เราก็จะดูออกว่างานนี้ต้องคนนี้ งานที่จะไปตายได้ก็ต้องคนนี้แบบนี้ ต่อให้ทุกคนยกมือก็ต้องมีคนที่ถูกเลือกว่าต้องไปงานนี้

   ...คัดไป 4 คนแรก จัดเสบียงและน้ำดื่มเข้าไป รวมทั้งให้ไปหาข้อมูลกับเด็กว่าในเบื้องต้นเป็นอย่างไร แล้วก็เอามาบอกเรา ชุดที่ 2 ก็มีอีก 4 คน ชุดแรกเราบอกว่าไปหาข้อมูลแล้วรีบกลับมา ฝรั่งดำน้ำไปแค่ 5 ชั่วโมงครึ่ง แต่ชุดที่ส่งไปหาข้อมูลผ่านไป 6 ชั่วโมงก็แล้ว 7 ชั่วโมงก็แล้ว 10 ชั่วโมงก็แล้ว ทั้งหมดไม่มีใครกลับมาส่งข่าวเลยจนถึง 23 ชั่วโมง ทาง ผบ.นสร.ก็ถามว่าคนอยากรู้ว่าส่งคนเข้าไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ก็ตอบไม่ได้ ต้องรอต่อไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายกลับมา 3 คน ถึงรู้ว่าเส้นทางที่ไปโหดมาก  สำหรับเราไม่เคยเจออากาศเย็นมากในถ้ำ ยิ่งลึกยิ่งหนาว ฝรั่งเองอาจจะเคยชินกับฤดูหนาวอากาศ 20  องศาฯ เป็นเรื่องปกติ เพราะว่าเขาเข้าไปในถ้ำยังแต่งขาสั้นอยู่เลย ของเราบางคนกรามไม่ทำงาน เกร็งจนเป็นตะคริวหมด หาดพัทยาก็ไม่ได้พัก น้ำท่วมหมด บางช่วงโผล่ขึ้นมาได้แค่ลอยคอ ขาไม่ถึงพื้น บางช่วงแค่เอวเดินลุย สรุปคือตัวเขาเปียกมาตลอด จึงไปพักนอนในถ้ำอยู่กับเด็ก หมดแรงออกมาไม่ไหว  เมื่อรวบรวมถังอากาศจากกันทุกคนที่เหลือแล้ว พอที่จะดำออกมาได้แค่ 3 คน ทำให้ 3 คนที่อยู่กับหมอภาคย์ไม่ใช่คนที่เราส่งไปแต่แรก คนไหนสภาพร่างกายไหวก็ออกมาก่อน ก็ไปคุยตกลงกันใหม่ 3 คนที่มาถึงสภาพไม่ไหวแล้ว หนาวเหมือนเป็นโรค เข้าโรงพยาบาลไป 3 วัน

      น.อ.อนันท์ บอกเล่าเรื่องราวภารกิจถ้ำหลวงต่อไปว่า สำหรับภารกิจที่โถง 3 ส่วนใหญ่เป็นกำลังพลในส่วนของกรมรบพิเศษที่ 1 นสร. ซึ่งในปัจจุบันกรมรบพิเศษที่ 1 มีมนุษย์กบอยู่กว่า 340 นาย ถ้าไม่มีงานก็จะมีการฝึกประจำเดือน ในกองทัพเรือเรามีหน่วยงานที่ทำเรื่องการดำน้ำอยู่ 2 หน่วย คือหน่วยซีล และกองประดาน้ำ กรมสรรพาวุธ ซึ่งกองประดาน้ำภารกิจหลักคือดำน้ำลึก กู้เรือในทะเล การซ่อมทำใต้น้ำ เป็นภารกิจเชิงธุรการ หน่วยซีลเป็นการดำน้ำเชิงยุทธวิธี การปฏิบัติการทางทหาร เราก็จะดำน้ำแค่ขวดอากาศประมาณ 120 ฟุต แต่ประดาน้ำจะดำน้ำลึกมากกว่านั้น ซีลจะเน้นการดำน้ำเชิงยุทธวิธี โจมตีเป้าหมาย ข้าศึก การแย่งยึด โจมตีข้าศึกในแนวหน้า ภารกิจต่างกัน คนที่จะฝึกลักษณะประเภทนี้ต้องฝึกจิตใจคนอีกแบบ การฝึกหนักทางยุทธวิธีนี้ทำให้เลือกคนที่ไปตายได้ โดยที่ทุกคนยอมสมัครใจ ไม่ใช่พอถึงเวลาเรียกใครไม่ได้

ด้านชา-ไม่สนโลก แต่ 'ไม่เพี้ยน'

ถามถึงว่าคนส่วนใหญ่มองว่า "ซีล" เพี้ยนเพราะฝึกหนัก น.อ.อนันท์ กล่าวว่า ภารกิจลับเป็นเรื่องของการข่าวยาเสพติด การค้ามนุษย์ อย่าง ผบ.นสร.ท่านนี้เป็นผู้ช่วยทูตทหารทูตเมียนมา พล.ร.ท. ภิญโญ โตเลี้ยง อดีต ผบ.นสร.ก็เป็นผู้ช่วยทูต จบหลักสูตรมนุษย์กบจากต่างประเทศหลายคน ช่วงผมจบหลักสูตรใหม่เป็นจังหวะรัฐประหารช่วงปี 2534 สหรัฐฯ ระงับการช่วยเหลือทุนการศึกษา พอผ่านช่วงนั้นอายุเราก็ไม่เหมาะจะไปแล้ว แต่ยืนยันว่าไม่เพี้ยนหรอก คนที่มาฝึกกบคือคนที่รู้ว่ามาอยู่แล้วพร้อมที่จะตายได้ในทุกภารกิจ บางคนก็มองว่าผมเป็นคนเงียบๆ อายๆ ก็ไม่รู้นะ แต่เมื่อถึงเวลาก็อย่างที่เห็น   บางทีคนพวกนี้มันค่อนข้างด้านชากับเรื่องบางเรื่อง ทำให้คนอื่นมองว่าไอ้คนพวกนี้มันเพี้ยน มันเป็นคนที่ไม่สนใจใคร ไม่สนโลก เข้ากับคนอื่นไม่ได้ แต่มันไม่ใช่เพี้ยน เรื่องงานในหน้าที่ใช้ให้ผมไปทำเรื่องแบบนี้โอเค ซึ่งคนอื่นไม่มีใครไป สำหรับการปฏิบัติงานผมเคยเดินทางไปกองกำลังรักษาสันติภาพที่ประเทศติมอร์ฯ ก็ไม่มีอะไรเสี่ยงเป็นมุมรักษาสันติภาพ แต่งานที่ผมคุมลูกน้องไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ก็ที่ถ้ำหลวงแห่งนี้ มันไม่ใช่การเสี่ยงกับศัตรู แต่เป็นการเสี่ยงกับธรรมชาติที่ส่งลูกน้องไป และมีสิทธิ์ที่ทุกคนจะไม่ได้กลับมา ที่ไม่ใช่เป็นฝีมือของศัตรูแต่เป็นฝีมือของธรรมชาติ ที่ผ่านมางานทั่วไปของเราจะทำในทะเลเปิด พื้นที่ปฏิบัติการคือทะเล การฝึกดำน้ำลึกและนานเป็นเรื่องปกติ แต่เรามีเรือยางเซฟตี้ ดำลงไปเป็นคู่มองเห็นบัดดี้กัน มีความอุ่นใจ การทำงานนี้ไม่มีโอกาสที่จะเซฟตี้ เหมือนตัดหางปล่อยวัด  ต่อให้ไปเป็นกลุ่มเป็นคู่ก็ไม่เห็นกัน ความเป็นผู้บังคับบัญชา ต่อให้เชื่อมั่นในฝีมือลูกน้องแต่ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นได้

-ภารกิจที่ถ้ำหลวงลบภาพลักษณ์ว่าหลักสูตรพิเศษมีวิธีการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และหน่วยเคยไปเกี่ยวข้องการเมือง?

เรื่องเก่าๆ เป็นเรื่องเวลาในแต่ละช่วง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะไปเกี่ยวข้องแค่ไหนในแต่ละสถานการณ์  แต่ผมคิดว่าภารกิจนี้เป็นจังหวะและความโชคดีของหน่วย ที่มีโอกาสเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องนี้ ผมไม่ได้มองว่าเป็นการลบภาพลักษณ์ แต่บางคนก็ยังฝังใจอยู่ แต่อย่างน้อยก็ทำให้หน่วยของเรามีชื่อเสียง ทำให้คนรู้จักในมุมมองที่ดีมากขึ้น จะลืมหรือไม่ลืมเรื่องเก่าไม่รู้ แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทำเรื่องให้คนทั้งประเทศภาคภูมิใจ

-จะมีการเพิ่มการบรรเทาสาธารณภัยในหลักสูตร หรือเพิ่มการฝึกจนใกล้เคียงกับการทำหน้าที่แบบ Coast Guard ของสหรัฐฯ หรือไม่?

คงไม่ถึงขนาดนั้น เดิมเราเน้นการฝึกคน เรื่องของจิตใจ ความเป็นทีมมีอยู่แล้ว แต่เรื่องการเพิ่มเติมอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการทำงานเท่านั้น ก็จะลดความเสี่ยงที่เราผจญอยู่ให้ลดลงได้  อุปกรณ์ที่มีก็มีแค่อุปกรณ์ดำน้ำดูปะการังปกติ สิ่งที่น่าจะพิจารณาจัดหาเพิ่มเติม เช่น อุปกรณ์ดำน้ำในที่แคบ ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เช่น Gear เสื้อกั๊กมีห่วงเกี่ยวขวด อุปกรณ์ที่สามารถเกี่ยวถังอากาศได้ 3-4 ขวด ซึ่งฝรั่งเขามี ทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น คิดว่าหลักสูตรคงมีการปรับปรุง แต่ไม่ใช่เน้นเรื่องนี้ เพราะภารกิจของซีลต่างจากภารกิจกู้ภัย สำหรับมาตรฐานหลักสูตรยังเหมือนเดิม

-มีการมองว่า 'ซีล' เป็นคนเหนือคน มนุษย์พันธุ์พิเศษ?

ผมไม่อยากให้ใครพูดประมาณนี้ อย่าไปยกตนขนาดนั้น มันเป็นการฝึกที่หนัก และคุณผ่านได้ก็โอเค มันจบแล้ว ผมไม่ได้บอกว่าผมเก่งกว่าใคร และไม่อยากให้เปรียบเทียบว่าหลักสูตรนี้เก่งหรือหนัก  วัตถุประสงค์การฝึกมันต่างกัน ในการไปทำงานมันไม่ได้บอกว่าผมเก่งหรือไม่เก่ง แค่บอกว่าผมฝึกหลักสูตรนี่ผ่าน ผมพอแล้ว แล้วจะให้ผมไปฝึกหลักสูตรอื่นผมไม่ไปแล้ว เพราะว่าเบื่อแล้ว ไม่ใช่ว่าเราเก่งแล้วไม่ไปฝึกหลักสูตรอื่น มันไม่ใช่ คือผมไม่ใช่คนบ้าหลักสูตร จบนักเรียนนายเรือมา หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรแรกที่อยากมาฝึก เป็นเพราะเราอยากเป็นทหารตั้งแต่เด็ก ตอนเป็นนักเรียนนายเรือเราก็เห็นรุ่นพี่อย่างพี่โญ (พล.ร.ท.ภิญโญ โตเลี้ยง) พี่อาภากร (พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว) และพี่หลายๆ คนมาฝึก และมีก็มีหนังสือสารคดีหลักสูตรนี้ว่าหนักอย่างนั้นหนักอย่างนี้ เราก็อยากรู้ว่าหนักอย่างไร เลยไปลอง ก็แค่นั้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"