ขยับไปอีกขั้นกับการพลิกอนาคตประเทศไทย ด้วย ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ในแบบฉบับของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่วางรูปแบบการพัฒนาประเทศไทยไว้อย่างเป็นระบบถึง 20 ปี เพื่อเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาล เฉกเช่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ซึ่งล่าสุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
ท่ามกลางการจับตาจากหลายฝ่ายและข้อท้วงติงในหลายๆ ประเด็นเกี่ยวกับร่างดังกล่าวที่จะมีผลผูกพันกับทุกๆ รัฐบาลในอนาคต ที่จะต้องเดินตามยุทธศาสตร์นี้ รวมถึงหน่วยงานรัฐที่ต้องเดินตามพิมพ์เขียวที่จัดทำไว้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งในส่วนนี้จะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และยังมีผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
ขณะเดียวกันได้เกิดคำถามเชื่อมโยงไปถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติผู้บัญชาการเหล่าทัพ ในโผบัญชีรายชื่อการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2561 ด้วยว่า จะต้องมีการเพิ่มคุณสมบัติขั้นเทพด้วยหรือไม่ เพราะ ผบ.เหล่าทัพจะต้องควบตำแหน่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โผทหารรอบนี้จึงน่าจับตาว่า บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะวางใจให้ใครก้าวขึ้นมาอยู่ในหมากเกมนี้ด้วยกัน
ส่วนที่มองกันว่าการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นคนของ คสช.อยู่จะเป็นเรื่องทางการเมือง หรือจะเป็นการก้าวล่วงอำนาจการบริหารของรัฐบาลที่จะเข้ามาหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องหวานอมขมกลืนของฝ่ายการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาลในอนาคตที่จะต้องยอมรับ แต่บิ๊กตู่เองก็ให้ความมั่นใจไปแล้วส่วนหนึ่งว่า มีคนของกองทัพเพียงไม่กี่คน และที่สำคัญคณะกรรมการนี้ก็มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหน้าที่ติดตามประเมินผลเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนความคืบหน้าของร่างยุทธศาสตร์ชาติ ล่าสุดบิ๊กตู่นัดถกรอบที่ 4 ของปีเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณาเตรียมการจัดทำร่างแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้บรรลุ 20 เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งจะจัดทำ 1 แผนแม่บทต่อยุทธศาสตร์ และมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี โดยสามารถแบ่งช่วงระยะเวลาการพัฒนาตามแผนแม่บทเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 10 ปี
ขณะเดียวกัน ข้อเน้นย้ำสำคัญของ "บิ๊กตู่" ในการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาตินี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอดเป้าหมายและแนวทางลงสู่แผนระดับที่ 2 และแผนงาน โครงการในระดับต่าง ๆ โดยต้องคำนึงถึงประเด็นสำคัญ ทั้งแผนงานหรือโครงการที่จะบรรจุไว้ในแผนแม่บท ต้องมีความสำคัญและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้กำหนดรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง หรือหน่วยงานรับผิดชอบหลักที่จะเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการแต่ละกิจกรรม รวมทั้งต้องคำนึงถึงขีดความสามารถทางการเงินและการคลังของประเทศด้วย
พร้อมกันนี้ได้กำหนดวันคิกออฟประชุมเชิงปฏิบัติการนัดแรกอย่างเป็นทางการแล้ว คือวันที่ 6-8 ส.ค.นี้ ซึ่งบิ๊กตู่สั่งดึงข้าราชการกลุ่มขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ของแต่ละกระทรวงร่วมทีมจัดทำแผนแม่บทกับคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้วย เพื่อให้แผนดังกล่าวออกมาอย่างสมบูรณ์แบบสมกับเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล คสช.
และในส่วนของคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะ ขณะนี้ได้ลุยอย่างเต็มที่เพื่อให้ทันเตรียมการจัดทำแผนแม่บทในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ และตามกำหนดคาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้ช่วงเดือน ต.ค. จากนั้นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในเดือน พ.ย.61
ส่วนเมื่อร่างยุทธศาสตร์ชาติตกผลึกออกมาใช้ทางปฏิบัติแล้ว จะสามารถเดินหน้าไปได้ตลอดรอด 20 ปี ด้วยการนำของรัฐบาลชุดถัดไปได้หรือไม่ นั่นเป็นอีกโจทย์ที่ต้องจับตา
แต่ที่แน่ๆ อำนาจของ คสช.จะยังอยู่ควบคุมการทำงาน ผ่านกลไกของ "คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ" ต่อไปนั่นเอง!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |