จ่อฟัน5จนท.รับสินบน'ยุ่น'


เพิ่มเพื่อน    

    ป.ป.ช.จ่อแจ้งข้อหา 5 เจ้าหน้าที่รัฐรับสินบนข้ามชาติ "ไพรินทร์" ชี้ถ้าพบเจ้าท่าผิด ฟันทั้งอาญา-วินัย เชื่อไม่กระทบเชื่อมั่นนักลงทุน "มิตซูบิชิ" แจงเหตุเกิด ก.พ.58 กรณีขนย้ายเครื่องจักรโรงไฟฟ้าขนอม ยันให้ความร่วมมือตรวจสอบ
    ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีอัยการญี่ปุ่นชี้มูลความผิดบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ฯ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ไทย 20 ล้านบาท ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในไทย เมื่อปี 2556 กล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนว่า กรณีดังกล่าวมีการร้องเรียนมายัง ป.ป.ช.ระยะหนึ่งแล้ว โดยได้มีการประสานกับทางอัยการญี่ปุ่น และ ป.ป.ช.ได้มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวน มีความคืบหน้าแล้วประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ 
    นายวิทยากล่าวว่า กรณีดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน แม้กระทั่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ เช่น กรมเจ้าท่า หน่วยงานในท้องถิ่น และหลายหน่วยงาน มีบุคคลที่อยู่ในข่ายเกี่ยวข้องกับการเรียกรับสินบน 4-5 คน เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับพื้นที่ กรณีนี้ถือว่าสร้างผลกระทบต่อความมั่นใจในการลงทุนระหว่างประเทศ เรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะเกี่ยวพันกับการให้สินบนข้ามชาติ โดยในต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับล้วนมีความผิด 
    อย่างไรก็ตาม ไม่อยากกำหนดกรอบเวลาว่าจะสามารถสรุปสำนวนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เมื่อใด แต่สิ่งที่ดำเนินการไปแล้วนั้น มีความคืบหน้าไปมาก เหลือเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมเปิดโอกาสให้เข้ามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ต้องให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ คงไม่มีความจำเป็นต้องเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ใช้มาตรา 44 สั่งพักงานผู้ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากสามารถตรวจสอบตามขั้นตอนปกติ และใกล้เสร็จแล้ว
    "เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาจากการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตรงๆ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ แต่เขาฝ่าฝืนกระทำ ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทบการลงทุนระหว่างประเทศ ต่างประเทศต้องมีความเชื่อมั่นเมื่อจะมาลงทุนในประเทศไทยว่าเราจะให้ความเป็นธรรมกับเขา ไม่มีการเรียกสินบน แต่เมื่อมีกรณีแบบนี้ เราจะต้องให้ความสำคัญและจะขยายผลไปยังสถานที่อื่นๆ ด้วย ซึ่งอาจเกิดกรณีแบบนี้ ซึ่งกำลังตรวจสอบอยู่" ประธานอนุฯ ไต่สวนระบุ
    พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า กรณีนี้ ป.ป.ช.ไต่สวนอยู่นานแล้ว ทำมาอย่างเนื่อง และมีความก้าวหน้ามาก โดย ป.ป.ช.ได้ทำงานร่วมกับอัยการญี่ปุ่น ซึ่งเรื่องนี้มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน แต่ไม่ถึงระดับรัฐมนตรี เป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติในพื้นที่ โดย ป.ป.ช.มีการแจ้งข้อกล่าวหาบางคนไปบ้างแล้ว 
    ด้านนายศิระ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า กระทรวงได้ตรวจสอบกรณีรับสินบนนี้มาหลายเดือนแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาตรวจสอบในช่วง 2-3 วันที่มีข่าวออกมา ซึ่งไม่ได้ละเลย แต่ขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจน ก่อนที่จะไปกล่าวหาว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยจะเร่งรัดติดตามเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกระทรวง ส่วนจะต้องขึ้นแบล็กลิสต์บริษัทหรือไม่ ขออย่าเพิ่งตัดสินหรือคิดอะไรล่วงหน้า ให้ญี่ปุ่นตัดสินก่อนว่าได้ข้อเท็จจริงอย่างไร แล้วมีการกล่าวหาหรือลงโทษใครบ้าง เพราะกระทรวงต้องอ้างอิงจากญี่ปุ่น จะตัดสินเองล่วงหน้าไม่ได้
    นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคมนาคม กล่าวว่า หากเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่ามีความผิด ต้องถูกดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายในกระบวนการอาญา ขณะเดียวกันกรมเจ้าท่าต้องดำเนินการทางวินัยควบคู่ไปด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าเรื่องนี้จะไม่กระทบความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแน่นอน  
“เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 ที่เอกชนทำโครงการ เป็นการสร้างท่าเรือชั่วคราวขึ้นมา หลังจากเสร็จโครงการได้ถอนท่าเรือชั่วคราวออก ถือเป็นกรณีเฉพาะ ซึ่งหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าไปเกี่ยวข้อง และดำเนินงานที่ไม่ถูกต้อง จะถูกลงโทษ  เพราะนโยบายของกระทรวงคมนาคมจะต้องไม่มีการทุจริต” รมช.คมนาคมระบุ
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีการรับสินบนอย่างไร ต้องถูกลงโทษ แม้จะเกิดมาตั้งแต่เมื่อปี 2556 แต่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้  ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน
“ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้ขอข้อมูลจากกรมเจ้าท่าไปแล้ว ส่วนกรรมการที่กรมเจ้าท่าตั้งจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินัย กรณีนี้เป็นโครงการใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับหลายส่วน ตอนนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด โดยกรมเจ้าท่าจะต้องดูว่ามีส่วนที่เกี่ยวข้องตรงไหน เช่น เรือที่เข้าเทียบท่า ตรวจสอบจำนวนเที่ยว การแจ้งเข้า-ออกว่าดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายกำหนดหรือไม่, ตัวท่าเรือชั่วคราวมีการอนุญาตตามระเบียบข้อบังคับหรือไม่” นายจิรุตม์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าวเป็นที่รับรู้ผ่านรายการของสำนักข่าวญี่ปุ่นหลายแหล่ง ที่ระบุว่า สำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียวกำลังสืบสวนบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ประเทศญี่ปุ่น (MHPS) ในข้อหาละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันไม่เป็นธรรม ด้วยการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของทางการไทย เพื่อขนส่งอุปกรณ์สร้างโรงไฟฟ้า มูลค่ากว่า 60 ล้านเยน หรือประมาณ 20 ล้านบาท
    ขณะที่บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด  หรือ MHPS  ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องนี้อย่างเป็นทางการว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ มีการรายงานข่าวในประเทศไทยหลายบทความ ที่กล่าวถึงกรณีจ่ายสินบนที่เกี่ยวข้องกับ MHPS ทั้งนี้ มีการรายงานข่าวบางประเด็นที่อาจเกิดจากความเข้าใจผิดในกรณีดังกล่าว 
    โดยบริษัทขอยืนยันว่า ข้อเท็จจริงคือ MHPS ให้ความร่วมมือกับสำนักอัยการญี่ปุ่นในการดำเนินการสอบสวนคดีติดสินบน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่และชุมชนท้องถิ่นในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เหตุดังกล่าวเกิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 เมื่อ MHPS และผู้รับเหมาได้พยายามขนถ่ายเครื่องจักรขนาดใหญ่จากโรงไฟฟ้าขนอม 4 (Khanom IV) ไว้ที่ท่าเรือชั่วคราวใกล้เขตก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทางบริษัทขอยืนยันเพิ่มเติมว่า พนักงาน MHPS และผู้รับเหมาได้มีการจัดการปัญหาดังกล่าวโดยไม่ได้ปรึกษาลูกค้า ดังนั้นทางบริษัทขออภัยอย่างยิ่งสำหรับความไม่สะดวกที่เกิดกับลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องจากการรายงานข่าวที่ต่างกับข้อเท็จจริงที่บริษัทได้ยืนยันมาให้ข้างต้น
     วันเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (พ.ร.ป.ป.ป.ช.) ฉบับใหม่ว่า จะได้รับการโปรดเกล้าฯและบังคับใช้ในอีก 1-2 วันนี้ เพราะจะครบกำหนด 90 วันในวันที่ 24 ก.ค.นี้ ดังนั้น สิ่งที่สงสัยหรือลือกันไปนั้นไม่เป็นความจริง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"