คสช.ป้องกลุ่มสามมิตร เคลื่อนไหวตามกรอบกฎหมาย ยันทหารทุกคนต้องระมัดระวังตัว ใครทำผิดกฎหมายมีมาตรการลงโทษ "เพื่อแม้ว" ไล่ส่ง "สุภรณ์" อย่าเล่นละครน้ำเน่ารบกวนย่าโม เอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เปลี่ยนจุดยืนการเมือง แฉเหตุถูกตัดขาดเพราะเคลื่อนไหวมวลชนโดยพลการทำเสียขบวน ก่อนไปช่วยพรรคพลังท้องถิ่นไทยแล้วเบนเข็มซบพลังประชารัฐ พี่ชายแรมโบ้ซวย ต้องขอเว้นวรรค
เมื่อวันศุกร์ พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีการเคลื่อนไหวและปรากฏการณ์การใช้พลังดูดส.ส.ของพรรคการเมืองในช่วงนี้ว่า การเคลื่อนไหวอะไรก็ตามที่ยังทำภายใต้กรอบกฎหมาย ทาง คสช.เพียงแค่ติดตามดูความเคลื่อนไหวเท่านั้น ดังนั้นทุกคนต้องดำเนินการตามกรอบกฎหมายและอำนาจหน้าที่ ต่างคนต่างไม่ละเมิด ก้าวล่วงกัน ส่วนผู้บังคับใช้กฎหมายก็บังคับใช้อย่างถูกต้องเป็นธรรม ก็จะทำให้บ้านเมืองสงบสุขร่มเย็น การบริหารราชการแผ่นดินก็เดินต่อไปได้ตามกรอบโรดแมป เพื่อนำไปสู่ความมุ่งหมายร่วมกันของคนไทย คือมีการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2562 ซึ่งทุกอย่างยังคงเป็นไปตามนี้ และยังไม่มีอะไรที่จะทำให้ต้องทำให้นอกเหนือไปจากนี้ได้
พล.ต.ปิยพงศ์กล่าวว่า ส่วนการเคลื่อนไหวของนักการเมืองที่ลงไปพบปะพูดคุยกับประชาชนและลงพื้นที่ต่างๆ นั้น ขอย้ำว่า คสช.ติดตามการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองทุกกลุ่ม ซึ่งสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน คสช.ประเมินว่ายังไม่มีอะไรเป็นพิเศษที่ต้องน่าวิตกและห่วงใยจนนำไปสู่ความไม่เรียบร้อยของบ้านเมือง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่กลุ่มสามมิตรใช้พลังดูดส.ส.พรรคเพื่อไทยและแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตามภูมิภาค ขัดคำสั่ง คสช.หรือไม่ พล.ต.ปิยพงศ์กล่าวว่า ถ้าไม่ขัดกฎหมาย คสช.จะติดตามเฝ้าดูเท่านั้น และจะไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ใครมีพฤติกรรมแบบไหน ถ้าไม่ขัดกฎหมายกิจกรรมดังกล่าวก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ถ้าเริ่มขัดกฎหมาย คสช.จะมีมาตรการแจ้งให้ทราบ จากนั้นก็ตักเตือน ห้ามปราม ระงับยับยั้งให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
“คสช.ไม่สามารถจะไปทำอะไรที่ผิดกรอบกฎหมาย ทำเกินอำนาจหน้าที่ได้ แล้วไปกลั่นแกล้งใครจนสร้างความอยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับกลุ่ม ฝ่ายการเมืองใดๆ ได้ ซึ่ง คสช.ก็ปฏิบัติภายใต้กรอบกฎหมายด้วยเช่นกันกับทุกคน และทุกสายตาของประชาชนคนไทยทั่วประเทศก็ติดตามดูการทำงานของรัฐบาล คสช. ดังนั้นเราก็ต้องพึงระมัดระวัง ในแง่ผู้บังคับใช้กฎหมายก็ต้องเคารพกฎหมายด้วย” ทีมโฆษก คสช.กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาล คสช.จะไม่ถูกติดตามเหมือนกลุ่มคัดค้าน จะกลายเป็นสองมาตรฐานหรือไม่
ส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการใช้ทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับพลังดูด ส.ส.นั้น พล.ต.ปิยพงศ์กล่าวว่า ทหาร เป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาล เราทำงานภายใต้อำนาจ หน้าที่และภารกิจที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการมา เราไม่สามารถทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ได้
“สังคมและประชาชนรวมทั้งโลกโซเชียลมีเดียจะจับจ้อง ตรวจสอบ ติดตามดูความเคลื่อนไหวของทหารอยู่แล้ว ทหารทุกคนก็ต้องระมัดระวัง อย่าไปทำอะไรที่นอกลู่นอกทาง คงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะทหารทุกคนต้องประพฤติ ปฏิบัติตนตามกฎหมาย และระเบียบวินัย ถ้าอะไรที่ทำผิดกฎหมาย และกรอบอำนาจหน้าที่ ภารกิจ เราก็มีมาตรการลงโทษอย่างเข้มงวดอยู่แล้วทั้งทางวินัยและทางอาญา” พล.ท.ปิยพงศ์กล่าว
เพื่อแม้วไล่ส่ง"สุภรณ์"
ด้านนายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคไทยรักไทย อดีตแกนนำคนเสื้อแดง ขอถอนคำสาบานต่อย่าโมเพื่อลงสนามการเมืองอีกครั้งว่า หากนายสุภรณ์จะทำการเมือง ไม่อยากให้รบกวนย่าโม อย่าอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเปลี่ยนแปลงจุดยืนทางการเมือง ไม่อยากให้นายสุภรณ์ตัดพ้อว่าพรรคเพื่อไทยไม่เห็นหัว เพราะสถานการณ์เช่นนี้ทางพรรคไม่ได้ทำกิจกรรมทางการเมืองหรือติดต่อใคร ซึ่งทุกคนประสบเหมือนกันหมด
"นายสุภรณ์ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ยึดอำนาจในปี 2557 และหันไปให้ความร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคงตั้งแต่ต้น ฉะนั้นอย่ามาบ่นว่าพรรคไม่ให้การดูแลหรือไม่ได้รับเกียรติ หากจะไปก็เป็นสิทธิที่จะไป สุดท้ายผู้ตัดสินก็คือพี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งของนายสุภรณ์ หากไปแล้วก็ไม่ว่ากัน ขอให้โชคดี แต่ถึงขนาดถอนคำสาบานได้ มองว่าเป็นละครชีวิตไปเสียหน่อย อย่าทำตัวน้ำเน่ามากเกินไป" นายสมคิดกล่าว
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง แกนนำพรรคเพื่อไทยภาคอีสาน กล่าวว่า กรณีนายสุภรณ์จะถอนคำสาบานต่อหน้าย่าโมเพื่อกลับมาเล่นการเมืองกับกลุ่มสามมิตร ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ก็ต้องตอบคำถามสาธารณชนให้ได้ว่ามีเหตุผลอะไร เพราะเคยสาบานต่อย่าโมซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวโคราชให้ความเคารพนับถือ และขณะนั้นสาธารณชนทั่วไปก็เข้าใจว่านายสุภรณ์เลิกเล่นการเมืองเด็ดขาดแล้ว ส่วนที่ระบุว่าถูกพรรคเพื่อไทยทอดทิ้งในยามที่ตกระกำลำบาก ก็ไม่เป็นความจริง พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับสมาชิกและอดีต ส.ส.ของพรรคทุกคน แต่เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ทุกคนก็ถูกสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองโดยสิ้นเชิง และถูกจับตามาโดยตลอด ทุกคนก็เข้าใจในสถานการณ์ขณะนั้นดี ขณะเดียวกันนายสุภรณ์ก็ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยและประกาศเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเด็ดขาด โดยผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยก็เห็นใจ นายสุภรณ์เองก็ทราบดี
"ขออวยพรให้โชคดี แต่ความเป็นพี่เป็นน้องก็ยังคงอยู่ เพราะเราเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา สำหรับสนามเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่นายสุภรณ์เคยลงสมัครส.ส. ปัจจุบันพรรคเพื่อไทยมีนายสัมภาษณ์ อัตถาวงศ์ ซึ่งเป็นอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และเป็นพี่ชายของนายสุภรณ์ เพียงแต่รอให้ คสช.ปลดล็อกให้ทำกิจกรรมทางการเมือง พรรคเพื่อไทยก็จะได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อไป" นายประเสริฐกล่าว
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า สำหรับกรณีนายสุภรณ์ตัดสินใจไปทำงานการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากในระยะหลังไม่ลงรอยทางความคิดทั้งกับผู้ใหญ่ในพรรค แกนนำเสื้อแดงบางคน ที่ทำให้ทั้งพรรคก็เข้าไม่ได้ จะหันไปร่วมงานมวลชนก็ไม่ได้เหมือนกัน ช่วงที่นายสุภรณ์ยังทำงานให้คนเสื้อแดง การจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางมวลชนคนเสื้อแดงหลายครั้งเป็นการกระทำโดยพลการ ไม่ได้นำมาปรึกษาหารือกับคนในพรรค แกนนำคนเสื้อแดง ซึ่งบางเรื่องส่งผลลบต่อพรรคและแนวทางการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ก่อนที่จะไปทำงานการเมืองกับซีกพลังประชารัฐ นายสุภรณ์ได้ไปช่วยงานการเมืองกับ พรรคพลังท้องถิ่นไทย ที่มีนายชัช เตาปูน เป็นหัวหน้าพรรค มีการตกลงกันทางวาจาทำงานการเมืองร่วมกัน
"พอกระแสพลังประชารัฐเริ่มแรง บวกกับมีการยื่นเงื่อนไขเรื่องคดีความ เรื่องการให้พื้นที่การเลือกตั้งบางเขตในนครราชสีมาเข้ามาควบคุมดูแล จึงทำให้เบนเข็มไปยังขั้วดังกล่าว จึงสร้างความงุนงงให้กับพรรคพลังท้องถิ่นไทยเช่นกัน ตกลงนายสุภรณ์จะเอาอย่างไรแน่ เพราะอีกด้านหนึ่งก็ถือว่ายังมีสัญญาใจในการทำงานการเมืองร่วมกัน แต่ในวันนี้กลับให้สัมภาษณ์เปิดตัวเหมือนกับพร้อมไปร่วมงานพลังประชารัฐแล้ว"
พี่ชายแรมโบ้ขอเว้นวรรค
รายงานจากพรรคเพื่อไทยเผยอีกว่า หลังจากนายสุภรณ์มีทีท่าจะย้ายขั้วทางการเมือง มีความพยายามจากอดีต ส.ส.นครราชสีมาบางรายที่จะเป็นกาวใจให้กับทั้งพรรคและคนเสื้อแดง แต่ทั้ง 2 ฝ่ายยืนยันว่า เมื่อไปเป็นตัวเดินให้กับทางพลังประชารัฐ มันก็ยากที่จะกลับมาร่วมงานการเมืองกันได้อีก และเมื่อนายสุภรณ์ย้ายขั้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังตกมาถึงนายสัมภาษณ์ อัตถาวงศ์ พี่ชายนายสุภรณ์ ที่ในวันนี้ยังเป็นสมาชิกพรรค และเป็นหนึ่งในแคนดิเดตที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งใน จ.นครราชสีมา ในนามพรรคเพื่อไทย แต่พอเกิดกรณีดังกล่าว สร้างความลำบากใจให้กับนายสัมภาษณ์ จึงได้มาปรึกษากับอดีต ส.ส.ในพรรคบางคน ขอเว้นวรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ขอลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ เพราะกลัวกระแสชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดงไม่เลือก ที่ไม่เพียงจะไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ยังจะส่งผลกระทบมายังพรรค แต่ยังยินดีที่จะช่วยงานพรรคเพื่อไทยในส่วนอื่นต่อไป
ขณะที่นายสัมภาษณ์ อัตถาวงศ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และพี่ชายนายสุภรณ์ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น ระบุเพียงว่า ทราบข่าวต่างๆ จากสื่อเหมือนกัน ขออนุญาตยังไม่ให้รายละเอียดใดๆ
ที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา จากการสอบถามประชาชนชาว จ.นครราชสีมา ซึ่งอาศัยอยู่รอบลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ศูนย์รวมจิตใจของชาวโคราช ถึงเรื่องที่นายสุภรณ์จะมาขอถอนคำสาบานเพื่อกลับมาเล่นการเมืองอีกครั้ง โดยนางอรุณรัตน์ ตอบกลาง อายุ 63 ปี กล่าวว่า คำพูดของนักการเมืองแบบนี้เชื่อถือไม่ค่อยได้ เพราะถ้าอยากจะเป็นนักการเมืองที่ดี ต้องพูดจริง ทำจริง มีความหนักแน่น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประชาชน โดยเฉพาะช่วงที่หาเสียง ซึ่งจะต้องเสนอนโยบายต่างๆ ให้กับประชาชนได้รับรู้ และตัดสินใจเลือกเข้ามาพัฒนาบ้านเมือง ถ้าพูดอย่างทำอย่างใครจะเชื่อถือได้ การที่นายสุภรณ์พูดเช่นนี้ จะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือให้กับตัวเขาเอง ซึ่งประชาชนทุกวันนี้ฉลาดพอที่จะรู้ว่านักการเมืองแบบไหนน่าเลือกมาเป็นผู้แทนประชาชน ไปทำงานในรัฐสภา
ด้านนายประสงค์ ฉุนจะโปะ อายุ 73 ปี กล่าวว่า ตนอาศัยอยู่ที่ลานย่าโมมานานกว่า 10 ปีแล้ว และเห็นนักการเมืองมากมายได้มากราบไหว้ขอพรทุกครั้งก่อนเลือกตั้ง ซึ่งย่าโมถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวโคราช และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ดังนั้นการที่นักการเมืองจะมาสาบานอะไร ก็ควรที่จะยึดถือไปประพฤติปฏิบัติให้ได้ ไม่ใช่พูดอย่างทำอย่างเหมือนของเล่น ถ้าอย่างนั้นอย่าเสียเวลามาสาบานเลยดีกว่า การที่นักการเมืองจะพูดกลับไป กลับมาอย่างนี้ ตัวเองก็น่าจะรู้ตัวดีว่าสมควรหรือไม่ ที่จะเสนอตัวมาสมัครเป็นผู้แทนให้ประชาชนเลือก ก็ขอให้พิจารณาดูด้วยตัวเอง ซึ่งตนเป็นคนหนึ่งที่จะไม่เลือกคนแบบนี้มาเป็นผู้แทนฯ แน่นอน
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวทางการจัดทำไพรมารีโหวตว่า แนวทางที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคิดขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ ทั้งการให้สมาชิกในเขตเพียง 100 คนมาให้ความเห็น หรือให้ทำในระดับจังหวัด ตามบทเฉพาะการของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรือทำแบบภาคที่มีผู้เสนอขึ้นมา มันเป็นไพรมารีโหวตอย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะสิ่งที่พูดกันนั้นมองว่าไม่ใช่การมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคอย่างแท้จริง หรือต้องการแค่ให้เป็นเพียงแค่พิธีการตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะการให้คนแค่ไม่กี่คนมาเลือกผู้สมัครของพรรค มันไม่ได้ความเห็นของสมาชิกพรรคทั้งเขต และในรัฐธรรมนูญเขียนเพียงแค่ให้มีการรับฟังความคิดของสมาชิกพรรคอย่างกว้างขวาง ไม่ได้พูดให้ทำไพรมารีฯ เสียด้วยซ้ำ
"ดังนั้นจะคิดวิธีการใดก็ควรให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ อาจให้พรรคการเมืองไปสอบถามสมาชิกให้ทั่วถึง โดยส่งแบบสอบถามไปถามสมาชิกว่าเห็นด้วยกับผู้สมัครที่พรรคจะส่งลงหรือไม่ ก็ถือว่าสมาชิกได้มีส่วนร่วมแล้ว หากทำตรงนี้ได้ การเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนการเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็ไปหาวิธีการมาให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงอีกครั้งหนึ่ง" นายชูศักดิ์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |