“ประยุทธ์” ลั่นปี 2561 ปีแห่งการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ คนร.ประชุมนัดแรกในปีจอ ตีกลับแผน ขสมก.ขอขึ้นค่ารถเมล์ 2 บาท พร้อมบี้ “เจ้าจำปี-รฟท.” เร่งงาน ตีเส้นธนาคารอิสลามต้องทำกำไรพร้อมหาพันธมิตร
เมื่อวันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยยอมรับว่า ปัญหารัฐวิสาหกิจมีการสะสมมายาวนาน จึงต้องอาศัยทุกคนช่วยกันแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นแนวทางของการปฏิรูปประเทศ หากไม่ทำตอนนี้ ปัญหาต่างๆ อาจกลับไปสู่ที่เดิมได้ และจะทำให้เป็นภาระของรัฐบาลในโอกาสต่อไป วันนี้ทำเพื่อประเทศและเพื่อรัฐบาลต่อไป
“ปีนี้ถือได้ว่าจะเป็นปีแห่งการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นที่ยอมรับสู่ระดับสากล สังคมและประชาชน อย่าให้มีการบิดเบือนในทุกเรื่อง ขอให้ทุกคนทำงานด้วยความระมัดระวัง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แถลงผลการประชุม คนร.ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่งประจำปี 2560 รวมทั้งรับทราบแผนขับเคลื่อนองค์กรระยะยาว และแผนปฏิบัติการปี 2561 ตามที่รัฐวิสาหกิจเสนอ ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจแล้ว
โดยในส่วนของ บมจ.การบินไทยนั้น คนร.ได้สั่งการให้เร่งนำระบบ Revenue Management System (RMS) และระบบ Network Management System (NMS) มาใช้ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และควบคุมค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายฝ่ายช่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้และสร้างความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งต้องคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการด้วย นอกจากนี้ยังได้สั่งให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับการบินไทย พิจารณารูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และพิจารณาเส้นทางการบินและแบบฝูงบินให้มีความสอดคล้องกับธุรกิจ รวมทั้งพิจารณาแผนนำสายการบินไทยสมายล์มาสนับสนุนการบินไทยด้วย
ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้รายการการจัดซื้อรถโดยสาร NGV จำนวน 489 คัน และจัดทำแผนขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาวแล้ว ซึ่ง คนร.ได้ให้ ขสมก.พิจารณาทิศทางการให้บริการของ ขสมก.ที่ชัดเจน สอดคล้องกับแผนปฏิรูปเส้นทางที่กรมการขนส่งทางบกได้เริ่มดำเนินการแล้ว และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นด้วย เช่น รถไฟฟ้า รถไฟ และทางเรือ เป็นต้น ส่วนการขึ้นค่ารถ ขสมก.อีก 2 บาท ซึ่งรถโดยสารธรรมดาจากเดิม 6.50 บาท เพิ่มเป็น 8.50 บาท และรถโดยสารปรับอากาศเพิ่มอีกระยะละ 2 บาทนั้น ได้สั่งให้กระทรวงคมนาคมกลับไปดูรูปแบบธุรกิจเช่นกัน แล้วค่อยกลับมานำเสนอที่ประชุม คนร.อีกครั้ง
นายเอกนิติกล่าวต่อว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รายงานว่าได้ลงนามสัญญาการก่อสร้างทางคู่จำนวน 5 เส้นทางแล้ว โดยจะก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จในปี 2563 และอยู่ระหว่างจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถและซ่อมบำรุงในโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. ส่วนแผนในระยะยาว คนร.ได้สั่งให้ รฟท.พิจารณาทิศทางให้สอดคล้องกับภารกิจขององค์กรและภารกิจของกรมการขนส่งทางราง รวมทั้งโครงสร้างของธุรกิจการขนส่งระบบรางในอนาคต รวมทั้งให้ รฟท.เร่งศึกษาต้นทุนมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพเพื่อประกอบการพิจารณาราคาค่าโดยสารยุติธรรม และให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการด้วย
“ที่ประชุม คนร.ได้มีมติให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank ออกจากแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร และมอบหมายให้กระทรวงการคลังกำกับติดตามการดำเนินงานของ ธพว.ต่อไป หลังมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู” นายเอกนิติกล่าว
สำหรับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) มีความคืบหน้าที่สามารถแยกหนี้ดีหนี้เสีย และดำเนินการโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) ในส่วนของลูกค้าที่ไม่ใช่มุสลิมไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัดแล้ว ส่วนความคืบหน้าในการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้คลังสามารถปรับโครงสร้างทางการเงินให้ ธอท. และรองรับการสรรหาพันธมิตร อยู่ระหว่างเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา นอกจากนี้ คนร.ยังได้กำหนดเป้าหมายให้ ธอท.มีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิในปี 2561 และสามารถหาพันธมิตรภายใน มี.ค.นี้
ด้าน บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ได้จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรระยะ 10 ปีแล้ว ซึ่ง คนร.ได้สั่งการให้ทีโอที และ กสท สร้างความชัดเจนในการนำดิจิทัลมาใช้เพื่อกำหนดทิศทางการให้บริการ รวมทั้งพิจารณาภารกิจการให้บริการโทรคมนาคมของทีโอที, กสท, บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด, บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน และมีรายละเอียดแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้เทียบเท่าเอกชนด้วย
นายเอกนิติกล่าวด้วยว่า คนร.มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและพัฒนาระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ เพื่อยกระดับการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีระบบธรรมาภิบาลที่ดีเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ยั่งยืนในระยะยาว โดยมีนายรพี สุจริตกุล กรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นประธานอนุกรรมการ มีอำนาจหน้าที่วิเคราะห์ระบบการกำกับดูแลและระบบธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งสภาพปัญหาและอุปสรรคการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบการกำกับดูแลและธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสม
"การประชุม คนร.ครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาว แก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจอย่างเป็นระบบในเชิงโครงสร้าง กำหนดสัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชนในกิจการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยภาครัฐยังคงลงทุนหรืออุดหนุนในส่วนที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดผ่านบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะทำให้ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง" นายเอกนิติระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |