ปัจจุบันโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป ครอบครัวมีรูปแบบหลากหลายและซับซ้อนขึ้น ขณะที่ดัชนีครอบครัวอบอุ่นอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องปรับปรุง “คนวัยทำงาน” เป็นกลุ่มที่ต้องรับภาระดูแลสมาชิกภายในบ้าน ทั้งพ่อแม่ที่เริ่มสูงอายุ และลูกๆ ที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ ดังนั้น องค์กรหรือที่ทำงานจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างความสุขส่งต่อไปถึงครอบครัว ภายใต้แนวความคิด “Happy Family”
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานสัมมนาและมอบรางวัลองค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข ประจำปี 2561 (Happy Family Award 2018) “ครอบครัวอบอุ่น องค์กรมั่นคง ชีวิตมั่งคั่ง” โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ และเอสเอ็มอีเข้าร่วมงานกว่า 20 องค์กร ซึ่งผลการตัดสินแบ่งรางวัลออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ รัฐบาล เอกชน รัฐวิสาหกิจ วิสาหกิจชุมชน และเอสเอ็มอี ประกอบด้วย รางวัลองค์กรดีเด่น ดีมาก และดี การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มุ่งเน้นเพื่อส่งเสริมการสร้างครอบครัวอบอุ่นของคนทำงานในองค์กร
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การให้ความสำคัญกับพนักงานในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาลึกเข้าไปจะเห็นว่า พนักงานในสถานประกอบการหลายแห่งขาดความสุขในการทำงาน เนื่องจากส่วนใหญ่มีภาระหน้าที่ครอบครัวต้องรับผิดชอบ มีค่าใช้จ่ายสูง เกิดภาวะเครียด ทำงานไม่มีความสุข เกิดการทะเลาะวิวาทกันเองในครอบครัว ยิ่งครอบครัวที่มีลูก การมีเวลาดูแลเอาใจใส่เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เด็กโตมาอย่างมีสุขภาวะที่ดี ดังนั้นการดูแลสุขภาพกาย ใจของพนักงานจึงมีความสำคัญ และจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะเจ้าของสถานประกอบการ เป็นหัวใจสำคัญของการสนับสนุนผลักดันให้เกิดองค์กรแห่งความสุข
ผู้จัดการกองทุน สสส.กล่าวต่อว่า สสส. โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันพัฒนากระบวนการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นของคนทำงานองค์กรในประเทศไทย โดยยึดแนวคิดสังคมที่ดีเริ่มต้นจากครอบครัวที่เข้มแข็ง อบอุ่น มีความสุข และสร้างให้เป็นพื้นที่องค์กรแห่งการเรียนรู้นำครอบครัวพนักงานไปสู่ความสุขที่เป็นรูปธรรม ต่อเนื่อง มีความยั่งยืน
ขณะนี้มีการดำเนินงานที่เป็นผลสำเร็จ คือ 1.เกิดเครื่องมือการวัดผลครอบครัวอบอุ่นต้นแบบ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรและพนักงานได้รู้ว่าจุดยืนในปัจจุบันครอบครัวตนเองอยู่ในจุดไหน 2.หลักสูตรการสร้างเสริมนักสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่น Happy Family เป็นหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติในระยะสั้น เพื่อที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ ฝึกทักษะแบบพี่เลี้ยงที่องค์กรได้เลือกสรรมา ซึ่งนักสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นก็จะสามารถนำข้อมูลที่ได้รับไปออกแบบกิจกรรมที่ทำให้พนักงานมีความสุขในชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงาน และชีวิตครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ผ่านการทำแผนบูรณาการและการทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายให้ครอบครัวอบอุ่น องค์กรมั่นคง ชีวิตมั่งคั่ง
“ผลจากการทำงานร่วมกันกว่า 100 องค์กร พบว่าครอบครัวพนักงานส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกัน มีเวลาร่วมกัน 62% หากมีการทำงานและผลักดันอย่างต่อเนื่องจะสามารถเพิ่มอัตราครอบครัวอบอุ่นมากขึ้นได้อย่างต่อเนื่องแน่นอน” ผู้จัดการ สสส.กล่าว
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวเสริมว่า ด้วยโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดความหลากหลายในด้านครอบครัวมากขึ้น มีอีกหลายครอบครัวที่มีสภาวะลำบากมากขึ้น ไม่ใช่แค่พื้นที่ชนบท ในเขตเมืองก็มีหลายครอบครัวที่เริ่มลำบาก มีแรงกดดันทางสังคมมากขึ้น ยิ่งเป็นครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ตามลำพัง หรือมีผู้สูงอายุที่ต้องเลี้ยงดู อีกทั้งเด็กเล็กและคนพิการ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาหลายด้านในครอบครัว ไม่ว่าจะเรื่องค่าใช้จ่ายหรือมีหนี้สินเกิดขึ้น กลายเป็นความเครียดจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ซึ่งกลุ่มที่ต้องรับผิดชอบภาระดูแลสมาชิกภายในบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงานที่ต้องรับภาวะความเครียดต่างๆ
ดังนั้นหากเปลี่ยนองค์กรให้เป็นพื้นที่สร้างความสุขก็จะช่วยส่งต่อไปถึงครอบครัวได้ ภายใต้แนวคิด Happy Family ซึ่ง สสส.ทำงานร่วมกับภาคีหน่วยงานต่างๆ สร้างองค์กรแห่งความสุข หรือที่เรียกว่า Happy workplace เพื่อเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการขับเคลื่อนงานการสร้างเสริมสุขภาพของคนในองค์กร
“จากรายงานสำนักงานสังคมเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า พ.ศ.2559 มีดัชนีความอบอุ่นในครอบครัวอยู่ที่ 67.98% ซึ่งอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง ทาง สสส.ตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหา โดยใช้ทิศทางและยุทธศาสตร์ 10 ปี ปฏิบัติหน้าที่ผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันผ่านทางภาคีเครือข่ายที่มีการบูรณาการภายใน เพื่อสร้างสุขภาวะที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญตั้งแต่เด็ก เยาวชน และครอบครัว การทำงานในครั้งนี้สอดคล้องกับแผนการทำงานนโยบายและครอบครัว ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัว ปี 2560-2564 ที่จะทำให้ครอบครัวได้รับการพัฒนามากที่สุด มีความเข้มแข็ง และได้ทำหน้าที่ตนเองอย่างเหมาะสม สมาชิกในครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นที่มาของการจัดงานในครั้งนี้” นางสาวณัฐยากล่าว
ด้านนายนิพนธ์ ประเสริฐผล รักษาการผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์และธุรการ บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) เล่าว่า เนื่องจากทำงานกับคนจำนวนมาก และบริหารคนภายในองค์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างต้องสร้างความเข้าใจอย่างมาก เพื่อลดปัญหาของพนักงานให้มากที่สุด หัวหน้างานจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเข้าใจและพร้อมพัฒนาศักยภาพบุคลากรในองค์กร ซึ่งรวมไปถึงการนำหลักแนวคิด Happy workplace ของทาง สสส.มาปรับใช้กับองค์กรอย่างจริงจังในเชิงปฏิบัติการ
“กระบวนการทำงานเริ่มจากการจัดตั้งทีมนักสุขภาวะสร้างสุข และเริ่มทำแบบสอบถามข้อมูลพนักงาน วัดประเมินผลด้วยเครื่องมือ Happinometer จึงพบว่า 61.3% พนักงานมีปัญหาเรื่องการเงินจำนวนกว่า 200 คน รวมหนี้สินกว่า 46 ล้านบาท โดยเฉลี่ยต้องมีการผ่อนชำระต่อเดือนคนละ 11,000 บาท จึงนำหลัก Happy Money เพื่อสร้างความตระหนัก รู้จักการออม จึงเริ่มทำ MOU กับธนาคารออมสิน ทำให้พนักงานมีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น โดยผ่อนชำระลดลงเหลือเพียง 4,000 บาท/เดือน ทำให้สภาพคล่องทางการเงินเพิ่มขึ้นถึง 66% ส่งผลให้พนักงานมีความสุขจากการทำงานมากขึ้น ส่งผลไปถึง Happy Family ครอบครัวพนักงานมีความสุขมากขึ้น มีรายได้จุนเจือครอบครัว ลดการขาด ลา มา สาย หรือลาออกเพราะหนีปัญหาหนี้สิน” นายนิพนธ์เล่าทิ้งท้าย
องค์กรแห่งความมั่นคง มั่งคั่ง และเต็มไปด้วยความสุข เป็นสิ่งที่คนวัยทำงานปรารถนา และหน่วยงานไหนผลักดันจนสำเร็จ อานิสงส์เหล่าดังกล่าวจะส่งตรงไปที่สถาบันครอบครัวได้รับความอบอุ่นกลับไปเช่นกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |