(นักแสดงหนังใหญ่ โรงเรียนวัดขนอน)
กว่า 100 ปีที่การแสดงหนังใหญ่วัดขนอนยังเฉิดฉายอยู่บนเวที จนปี 2550 ทางยูเนสโกได้ประกาศให้หนังใหญ่วัดขนอนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ACCU) และยังได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม (The safeguarding of Intagible Cultural Heritage : ICH) หากนักท่องเที่ยวได้มาเยือน จ.ราชบุรี และมีเวลาพอ ก็ไม่น่าพลาดที่จะแวะชมการแสดงหนังใหญ่วัดขนอน
และเพื่อเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนและชุมชนมีรายได้ ล่าสุดทางอาสาสมัครจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี ได้ร่วมมือกับวัดขนอนและชุมชนโดยรอบ จัดทำโครงการ "ฟื้นตำนานด่านวัดขนอน" ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างพนักงานทีเอ็มบีทั่วประเทศ ลูกค้า เยาวชน โดยตั้ง 4 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1.ให้ชุมชนมีรายได้เสริม เกิดเงินทุนหมุนเวียน 2.มีศูนย์เรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ที่ยั่งยืน 3.สร้างเสริมสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมที่ดีในชุมชน และ 4.อนุรักษ์และต่อยอดวัฒนธรรมในชุมชน
ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า วัดขนอนสร้างสมัยใด แต่ในอดีตมีการกล่าวถึงด่านขนอน ซึ่งเป็นด่านเก็บภาษีอากรในสมัยกรุงสุโขทัย ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำแม่กลองที่คึกคักไปด้วยพ่อค้าแม่ขายที่เดินเรือสินค้ามาแลกเปลี่ยนซื้อขาย
(บรรยากาศการจัดแสดงเกี่ยวกับหนังใหญ่ในพิพิธภัณฑ์)
แต่สำหรับ "หนังใหญ่" ที่เป็นการแสดงพื้นบ้านในชุมชนวัดขนอน จากคำบอกเล่าของชาวบ้านบอกว่า "หนังใหญ่วัดขนอนได้เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีพ่อค้าเดินเรือคนหนึ่งได้นำหนังวัวมาถวายหลวงปู่กล่อม ทำให้หลวงปู่เกิดความคิดที่จะสร้างหนังตะลุง แต่ช่างศิลป์ในสมัยนั้นเห็นว่าหนังตะลุงที่เป็นของภาคใต้มีคนทำเยอะแล้ว แต่หนังใหญ่ชาวบ้านยังไม่มีโอกาสได้ชม จึงได้เกิดการสร้างหนังใหญ่ของภาคกลางขึ้น แต่ปัจจุบันกาลเวลาที่ผันเปลี่ยนไปทำให้ความนิยมการดูหนังใหญ่ลดลง เส้นทางการค้าเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาด้วย แต่ชุมชนวัดขนอนก็พยายามสืบทอดศิลปะในชุมชนจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน การแสดงหนังใหญ่วัดขนอนมีขึ้นในทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ วันละ 1 รอบ ในเวลา 11.00 น. นอกจากนี้ในทุกเทศกาลสงกรานต์ยังมีการแสดงที่ถือว่าเป็นงานใหญ่ประจำปี ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาวัดขนอนก็ได้เปิดตลาดด่านขนอนเพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน โดยมีการขายสินค้าท้องถิ่น พืชผักสวนครัว งานฝีมือ อาหารให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อพร้อมกับนั่งดูการแสดงหนังใหญ่กลางแจ้ง พลิกฟื้นย่านการค้าให้กลับมาอีกครั้ง
ภัทรวดี ปานเพ็ชร ผู้จัดการเขตธุรกิจสาขาธุรกิจราชบุรี ทีเอ็มบี กล่าวว่า ทางอาสาสมัครทีเอ็มบีได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์หนังใหญ่วัดขนอน โดยการลงพื้นที่สำรวจชุมชนและพื้นที่บริเวณวัดขนอน การแสดงหนังใหญ่ รวมถึงสำรวจปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังวัด และมีการร่วมพูดคุยกับพระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน และแกนนำชุมชน โดยให้เด็กและเยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลปะหนังใหญ่ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ทั้งการสนับสนุนให้มีผู้สืบทอดในการเล่นหนังใหญ่ รวมทั้งนักดนตรีที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการแสดง อีกทั้งยังได้ฝึกให้เด็กๆ ในชุมชนทำหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยว
นายหนังผู้อยู่เบื้องหลังในการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงหนังใหญ่ อ.จฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการแสดงหนังใหญ่วัดขนอน เล่าว่า ปัจจุบันการแสดงหนังใหญ่มีทั้งหมด 5 ชุด โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ในแต่ละปีจะเป็นการแสดงชุดใหญ่ ต้องอาศัยคนแสดงจำนวนมาก แต่สำหรับในวันธรรมดาที่แสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชมจะเลือกตอน "สืบมรรคา" ซึ่งเป็นตอนที่ย่อมาจากตอนหนุมานถวายแหวน นักแสดงก็เป็นนักเรียนโรงเรียนวัดขนอนและเยาวชนในชุมชนที่มีใจรักและภาคภูมิใจในศิลปะการแสดงของท้องถิ่นตนเอง
อ.จฬรรณ์ยังบอกอีกว่า การแสดงหนังใหญ่วัดขนอนอาจจะมีความคล้ายคลึงกับการเชิดหนังใหญ่ที่วัดสว่างอารมณ์ จ.สิงห์บุรี และวัดบ้านดอน จ.ระยอง แต่จุดเด่นที่แตกต่างออกไปคือมีการแสดงอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมทั้งเทคนิคในการฉลุลายบนหนังวัว และมีการพัฒนาประยุกต์ให้ร่วมสมัยมากขึ้น โดยร่วมกับการแสดงอื่นๆ แต่ยังคงยึดจารีตข้อปฏิบัติดั้งเดิมของหนังใหญ่ไว้ เพื่อให้หนังใหญ่เข้าถึงง่ายและเป็นที่รู้จักมากขึ้น และให้คนในชุมชนมีรายได้จึงดึงจุดขายอย่างหนังใหญ่มาสร้างเสริมตลาด ให้การมาเที่ยวที่วัดมีสีสัน นักท่องเที่ยวได้สนุกและมีความสุขกับการดูหนังใหญ่ไปด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มีการเพิ่มรอบการแสดงในวันนักขัตฤกษ์อีกด้วย
(ตลาดด่านขนอน)
ตลาดวัดขนอนมีขนาดกำลังพอดี ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป สินค้าที่นี่มีทั้งของกิน ผักสด เสื้อผ้าพื้นบ้านให้จับจ่ายเลือกซื้อเพลินๆ ด้วยเงินเบี้ย ซึ่งในอนาคตอาจจะให้นักท่องเที่ยวได้ใช้เบี้ยแทนเงินสดด้วย เราเดินชมตลาดเคล้ากับเสียงดนตรีไทยบรรเลง
พอถึงเวลาหนังใหญ่แสดงเรารีบวิ่งไปนั่งข้างหน้าเวทีกลางแจ้ง ชมการแสดงหนังใหญ่ แม้จะเป็นตอนกลางวันแต่นักแสดงราวๆ 10 คนก็ต่างเตรียมพร้อมอยู่ด้านหลังเวที พิธีกรเริ่มกล่าวแนะนำเนื้อเรื่องที่จะจัดแสดง ซึ่งเป็นเรื่องรามเกียรติ์ ตอนสืบมรรคา ซึ่งเป็นเรื่องราวการสู้รบระหว่างทศกัณฐ์และหนุมาน หลังจากนั้นเสียงระนาดเอกเริ่มบรรเลงบทเพลงนำ นักแสดงคนแรกก็ปรากฏขึ้นบนเวทีขนาดไม่ใหญ่มากนัก พร้อมกับนักแสดงที่ถือหนังใหญ่หนุมานเชิดขึ้นมาบนเวทีอย่างสง่า แขนทั้งสองข้างถือที่จับหนังใหญ่ขนาดใหญ่และท่าทางจะหนักไม่เบาอย่างมั่นมือ เชิดไปมาได้ราวกับมีชีวิต พร้อมกับโยกย้ายตามลักษณะท่าทางให้คล้ายกับลิง ร่างกายที่ดูแข็งแรงแต่อ่อนช้อย ขาทั้งสองข้างตั้งเหลี่ยมได้อย่างงดงาม
หากไม่ทราบมาก่อนว่าส่วนใหญ่แล้วนักแสดงที่นี่ยังเป็นนักเรียนชั้น ม.ต้น ก็คิดว่าเป็นนักแสดงมืออาชีพ ซึ่งทางโรงเรียนวัดขนอนได้ส่งเสริมให้นักเรียนที่สนใจได้เข้ารับการฝึกฝนการแสดงหนังใหญ่ การแสดงเริ่มเข้มข้นมากขึ้นเมื่อมีการประชันกองทัพทั้งของฝ่ายทศกัณฐ์และหนุมาน การเล่นกับแสงและเงาที่คล้ายกับการแสดงหนังตะลุงทำให้หนังใหญ่มีความน่าสนใจและครบรสมากยิ่งขึ้น
การได้มานั่งรับชมมหรสพที่ในอดีตนั้นหาโอกาสชมได้ยาก และในปัจจุบันก็มีหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น อีกทั้งยังได้มาจัดแสดงให้ชมกลางแจ้ง ไม่ต้องจองคิวหรือรอให้ถึงโอกาสพิเศษก็สามารถมาชมหนังใหญ่วัดขนอนได้
เพราะไม่เพียงการซึบซับศิลปะการแสดงอันเก่าแก่นี้ แต่ยังเป็นการต่อลมหายใจให้นักแสดงได้มีพลังในการสืบทอดต่อไปอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการแสดงหุ่นละครเล็ก การรำวงให้นักท่องเที่ยวได้มาร่วมขยับแข้งขยับขา หรือจะเดินชมตัวหนังใหญ่ที่บ้านเรือนไทย พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน ที่เก็บรักษาหนังใหญ่ทั้ง 313 ตัวไว้ในสภาพที่สมบูรณ์ โดยส่วนใหญ่เป็นตัวละครเรื่องรามเกียรติ์ ชุดหนุมานถวายแหวน และตอนอื่นๆ ในเรื่องรามเกียรติ์ ใต้ถุนเรือนก็มีการจัดแสดงเครื่องใช้ในอดีตให้ได้ชมกันด้วย
(ฉลาด ถาวรนุกูลพงศ์)
ในงานยังมีการสาธิตการทำหนังใหญ่ โดยครูฉลาด ถาวรนุกูลพงศ์ ครูอาวุโสผู้ฝึกสอนการแสดงหนังใหญ่ ได้บรรจงตอกลายหนุมานบนหนังวัวอย่างบรรจงท่ามกลางผู้คนที่เดินขวักไขว่ ครูฉลาดเล่าให้ฟังว่า ทำหน้าที่สอนการเชิดใหญ่ให้กับเด็กๆ มาหลายรุ่นตั้งแต่สมัยที่ยังบวชเป็นพระอยู่ที่วัดขนอน ส่วนใหญ่นักแสดงก็เป็นเด็กนักเรียนที่โรงเรียนวัดขนอน ที่มีตั้งแต่ชั้น ป.4 ไปจนถึง ม.3 ประมาณกว่า 10 คน จุดประสงค์ที่สอนเด็กๆ พวกนี้ก็คือ อยากให้เด็กๆ ได้เชิดหนังใหญ่ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมชองชุมชนเป็น และอยากให้มรดกศิลปะการแสดงนี้มีการสืบทอดไปยังคนรุ่นต่อๆ ไปด้วย เพราะไม่ใช่แค่เพียงท่วงท่าของการเชิดหนังที่ดูงดงามเท่านั้น แต่กระบวนการผลิตหนังใหญ่ล้วนเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
"ในอนาคตอีกสิบปียี่สิบปีก็ไม่อยากให้หนังใหญ่เป็นเพียงการแสดงที่ได้จารึกลงในประวัติศาสตร์หรือเรื่องเล่าที่บอกต่อกันมา แต่อยากให้มีการแสดงจริงตลอดไป" ครูฉลาดบอกความตั้งใจ
ผู้ที่สนใจเดินทางมายังวัดขนอนแล้วไม่อยากเสียเที่ยว สามารถมาชมการแสดงหนังใหญ่และอื่นๆ ได้ทุกวันเสาร์ เวลา 10.00 น. และวันอาทิตย์หรือวันนักขัตฤกษ์ เวลา 11.00 น. เพียง 1 รอบเท่านั้น สำหรับตลาดจะเปิดในทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |