อีกครั้งหนึ่งในชีวิตคนข่าวที่ผมได้ขึ้นเวทีทำหน้าที่ตั้งคำถามเพื่อให้ได้คำตอบที่สาธารณชนต้องการทราบ และความพร้อมของคนตอบคำถามเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมาที่เชียงราย
ผมได้รับการทาบทามให้ทำหน้าที่เป็นพิธีกรในรายการ “ส่งหมูป่ากลับบ้าน” ราวๆ หนึ่งสัปดาห์ก่อนวันจริง
คำถามแรกของผมคือ สังคมต้องการทราบอะไร และผู้ที่ตอบมีความประสงค์จะตอบหรือไม่
คำถามที่ตามมาสำหรับคนทำข่าวที่พยายามจะรักษามาตรฐานอันเหมาะควรในสถานการณ์เช่นนี้คือ สังคมมีสิทธิ์ที่จะรู้เรื่องราวของหมูป่า ซึ่งล้วนเป็นเยาวชนเพียงใด
ความละเอียดอ่อนของการถาม-ตอบในกรณีนี้มีหลายประเด็น เพราะมีความโยงใยกับความเป็นห่วงความรู้สึกของเยาวชน, การที่จะให้หมูป่ากลับไปใช้ชีวิตตามปกติอย่างไร้การรบกวนหรือละเมิดความเป็นส่วนตัวจากส่วนต่างๆ ของสังคมทั้งในและต่างประเทศ
ขณะเดียวกันเรื่องราวอันมหัศจรรย์ของกรณีถ้ำหลวงได้กลายเป็นข่าวคราวไปทั่วโลก ทุกรายละเอียดอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอย่างปฏิเสธไม่ได้
เมื่อผมได้รับคำบอกเล่าว่า สื่อมวลชนทุกแขนงจะส่งคำถามมาเพื่อให้คณะทำงานกลั่นกรอง เพื่อให้แน่ใจว่าคำถามที่จะใช้ในรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” พิเศษครั้งนี้จะมีการถ่วงดุลอันเหมาะสมระหว่างความอยากรู้อยากเห็นของผู้คน กับการเคารพในสิทธิส่วนตัวของสมาชิกหมูป่าและคุณพ่อคุณแม่ ผมก็เบาใจไปหนึ่งเปลาะ
คณะทำงานที่ว่านี้ประกอบด้วย นายแพทย์, นักจิตวิทยา, จิตแพทย์, ฝ่ายผู้ว่าราชการจังหวัด, กรมประชาสัมพันธ์และหน่วยซีล ซึ่งได้พิจารณากันอย่างรอบด้านแล้ว
ผมเข้าร่วมประชุมตอนบ่ายของวันพุธ เพื่อได้พูดคุยกับทุกๆ ท่านที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการงานนี้
ผมขอพูดคุยกับหมูป่าทั้งทีมเพื่อซักซ้อมต่อหน้าคณะทำงานทั้งหมด
ผมแจ้งต่อที่ประชุมว่ารายการนี้ควรจะเป็นการ “ตั้งวงสนทนากับหมูป่า” มิใช่การสัมภาษณ์ในความหมายปกติของการรายงานข่าว
บรรยากาศการสนทนาและซักซ้อม ทำให้ผมมั่นใจว่าทุกอย่างน่าจะดำเนินไปอย่างเรียบร้อย เพราะชุดคำถามนั้นเมื่อแลกเปลี่ยนสอบถามทีมหมูป่าต่อหน้าผู้เกี่ยวข้องทั้งคณะ ก็เป็นที่ยอมรับกันพร้อมหน้าว่าน่าจะตอบโจทย์ของทุกฝ่ายได้
ผมดีใจมากที่ได้สัมผัสกับหมูป่าทั้งทีม แล้วได้เห็นว่ามีสุขภาพกายและใจที่เข้มแข็งสดชื่นดั่งที่คณะแพทย์ได้ยืนยันตั้งแต่เริ่มการประชุม
เมื่อได้พูดคุยกับน้องๆ แล้วยิ่งมีความสุขที่ได้เห็นเขามีอารมณ์ชื่นบาน นอกจากจะพูดคุยกันเองอย่างสนุกสนานและสดชื่นตอนที่มีการซ้อมเดาะลูกบอลในห้อง ยังเห็นลูกหมูกับพี่ๆ ซีล 3 คน และ “หมอภาคย์” (พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน) หยอกล้อกันอย่างสนิทสนมและมีความสุข
ระหว่างที่เราซ้อมการถาม-ตอบนั้น หมูป่าทุกคนมีความกระตือรือร้นที่จะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในส่วนที่เกี่ยวกับตนเอง เพราะได้รับทราบว่าก่อนหน้านี้มีข้อมูลที่แพร่ในโซเชียลมีเดียที่ไม่ถูกต้องหลายข้อ
ผมสังเกตได้ว่าหมูป่าทุกคนต้องการจะให้เราปฏิบัติต่อเขาอย่างปกติธรรมดา ไม่ต้องทำอะไรพิเศษให้พวกเขา และต้องการจะให้สังคมเห็นว่าพวกเขาจะทำตัวเป็นคนดี เพื่อตอบแทนความห่วงใยและความช่วยเหลือจากทุกๆ ฝ่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ดังนั้นเมื่อขึ้นเวทีเราจึงได้ยินได้ฟังการเล่าเรื่องของหมูป่าที่พวกเขาพร้อมจะเล่าเพื่อให้ตรงกับความเป็นจริง...อีกทั้งเรายังได้ฟังคำตอบใสๆ ซื่อๆ น่าประทับใจและสร้างความซาบซึ้งให้กับคนทั้งประเทศอย่างยิ่ง
หากจะมีการโยนคำถามระหว่างรอคำตอบจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง ก็เป็นวิธีการทำให้การสนทนาลื่นไหลตามรูปแบบของรายการที่ควรจะเป็น เพื่อช่วยให้คนแรกได้มีจังหวะคิดหาถ้อยคำที่จะอธิบาย ขณะที่อีกคนหนึ่งมาช่วยเติมเต็มด้วยการเสริมในประเด็นที่มีส่วนโยงใยกัน
การแซวกัน การล้อเล่นบนเวทีให้ได้บรรยากาศการสนทนาที่เป็นกันเอง จึงทำให้เราได้ยินเสียงหัวเราะจากคนฟังที่เป็นกองทัพสื่อมวลชนเป็นระยะๆ ที่ทำให้หมูป่าเองก็ยิ้มแย้มและมีความรู้สึกอบอุ่น
การทำหน้าที่วันนั้นเป็นอีกวันหนึ่งที่ผมทำงานด้วยความสุขในฐานะมืออาชีพสื่อมากว่า 50 ปี จะเรียกว่าเป็นเหมือนเพื่อนรุ่นพี่มาชวนคุย หรือ “คุณตาคุยกับหลานๆ” ด้วยความรักเอ็นดูและชื่นชมให้ได้ประจักษ์ต่อคนทั้งประเทศไทยและทั้งโลกก็ไม่ผิดนัก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |