เลื่อนเลือกตั้ง! ยึดเวลาใช้กม.90วันอ้างสอดรับคำสั่งหัวหน้าคสช.


เพิ่มเพื่อน    

 

  เลื่อนโรดแมปเลือกตั้งอีกถึง ก.พ.62 สนช.ไฟเขียวหน่วงเวลาประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. 90 วัน หลังประกาศราชกิจจาฯ โฆษก กมธ.อ้างให้สอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้า คสช.53/2560 ปัดไม่มีใบสั่ง "เนติบริกร" ยันไม่มีการหารือกับรัฐบาล ขณะที่ "สมชัย" ซัดผลงานชิ้นโบดำอีกครั้ง ย้อน สนช.ถามผู้เกี่ยวข้องหรือยัง ไม่ใช่มโนไปเอง "เพื่อไทย" เตือนกระทบความน่าเชื่อถือและความมั่นคงประเทศที่นายกฯ เคยประกาศเลือกตั้งพ.ย.61 เหน็บจะทำให้กลายเป็นตัวตลกเหมือนเด็กเลี้ยงแกะ ปชป.ชี้บิดเบือนเจตนารมณ์ รธน. 

    ที่รัฐสภา เวลา 17.40 น. วันที่ 19 มกราคม นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จสิ้นทุกมาตราแล้ว และจะมีการแถลงรายละเอียดภาพรวมทั้งหมดในวันที่ 22 ม.ค. ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ มีมติเสียงข้างมากให้แก้ไขมาตรา 2 ของกฎหมายดังกล่าว โดยกำหนดให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ 90 วัน นับแต่วันประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จากเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
    "ที่ประชุมพิจารณาอย่างรอบด้านและเป็นอิสระ ไม่ได้มีใบสั่งจาก คสช. ซึ่งกรรมาธิการฯ เห็นว่าเนื่องจากมีคำสั่งของ คสช.ที่ 53/2560 ในการกำหนดกระบวนการทางธุรการของพรรคการเมืองที่จะเริ่มขึ้นในเดือน มี.ค. จึงเห็นว่าควรจะต้องมีการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับคำสั่ง คสช.ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการเสนอให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาในสัปดาห์หน้าอีกครั้งว่าจะเห็นชอบหรือไม่"
    เมื่อถามว่า หากที่ประชุม สนช.เห็นชอบตามเสียงข้างมากของกรรมาธิการฯ ในมาตรา 2 จะมีผลให้การเลือกตั้งขยับออกไปจากกำหนดการเดิมในเดือนพ.ย.2561 หรือไม่ นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ยอมรับว่าอาจจะต้องมีการขยับออกไปบ้าง โดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นช่วงปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562 ทั้งนี้ ยืนยันว่าการพิจารณาของกรรมาธิการฯ มีหน้าที่เฉพาะในเรื่องเนื้อหาของกฎหมายเป็นหลัก ไม่ได้พิจารณาเชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมืองหรือความมั่นคงแต่อย่างใด
    มีรายงานแจ้งว่า มติให้ปรับแก้มาตรา 2 ในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90วัน ของ กมธ.เสียงข้างมาก สนช. เพื่อให้สอดคล้องตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น เกิดจากการที่สมาชิกสนช.พิจารณาคำสั่งดังกล่าวแล้วเห็นว่า หากกำหนดให้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับทันที เมื่อประกาศในราชกิจจาฯ อาจขัดกับคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เนื่องจากข้อ 1 ของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ระบุให้แก้ไขมาตรา 141 (4) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยกำหนดว่า การจัดประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง เพื่อแก้ไขข้อบังคับ ตลอดจนเลือกกรรมการบริหารพรรค ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับจากวันที่ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558
     ส่วนข้อ 8 ของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ระบุว่า การจะยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง ให้ ครม.เสนอ คสช.พิจารณายกเลิกเมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจาฯ ดังนั้นหากให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.บังคับใช้ทันที กรอบเวลาที่พรรคการเมืองต้องทำตามมาตรา 141 (4) ภายใน 90 วัน จะเหลื่อมเวลากับการเลือกตั้ง ที่จะต้องประกาศภายใน 150 วันทันทีที่กฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับประกาศใช้
เลื่อนเลือกตั้ง ก.พ.62
     รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หากวันที่ 25 ม.ค. ที่ประชุมใหญ่ลงมติเห็นชอบตามที่ กมธ.เสียงข้างมากปรับแก้ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจาฯ 90 วัน จะส่งผลให้โรดแมปเลือกตั้ง ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ประกาศจะมีในเดือน พ.ย.นี้จะเลื่อนออกไปยังต้นปี 2562 ทันที เพราะโรดแมปที่พล.อ.ประยุทธ์ให้สัญญาไว้ เป็นไปตามกำหนดกรอบเวลาการพิจารณากฎหมายของ สนช.ที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จะประกาศใช้อย่างช้าในเดือน มิ.ย.นี้ แล้วจึงกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 150 วัน ซึ่งการเลือกตั้งจะอยู่ระหว่างเดือน ก.ค.-พ.ย.นี้ ดังนั้นการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ภายหลังประกาศในราชกิจจาฯ 90 วัน กรอบเวลากำหนดวันเลือกตั้ง 150 วัน จะเริ่มนับได้ในเดือน ก.ย.เมื่อกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ ทำให้กรอบเวลากำหนดวันเลือกตั้งจะอยู่ระหว่างเดือน ต.ค.61- ก.พ.62  
    ก่อนหน้านั้น มีความเห็นจากหลายฝ่ายถึงเรื่องดังกล่าว โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวก่อนการประชุม กมธ.ว่า การพิจารณากฎหมายนั้นคงไม่ได้คำนึงถึงว่าใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ หรือว่าเป็นประโยชน์กับใคร แต่ต้องเป็นประโยชน์โดยรวมให้มากที่สุด ส่วนที่ว่าหากขยายเวลาออกไป อาจจะทำให้นายกฯ ผิดคำพูดกับประชาคมโลกว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.ปี 2561 หรือไม่นั้น คิดว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับนายกฯ หรือ คสช. แต่เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติที่รับผิดชอบในการออกกฎหมาย 
    "เมื่อท่านรับปากแล้วก็ต้องเดินไปตามนั้น แต่เมื่อกฎหมายออกมาอย่างไรท่านก็ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งระยะเวลา 3 เดือนที่เพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์กับใครมากมาย เรื่องนี้เป็นเรื่องของเหตุผลมากกว่า ว่ามีเหตุผลอะไร และจำเป็นถึงขนาดนั้นหรือไม่มากกว่า อย่าเริ่มต้นที่การสงสัยว่าเป็นใบสั่งหรือไม่" นายเสรีกล่าว
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่ทราบรายละเอียดเรื่องดังกล่าว ทราบตามที่สื่อนำเสนอ ต้องฟังว่าเหตุผลของเขาคืออะไร ฟังขึ้นหรือไม่ ตอนนี้ยังตอบอะไรไม่ถูก ทั้งนี้ ไม่แน่ใจหากขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจริงจะกระทบโรดแมปเลือกตั้งหรือไม่ ตนลองนับเวลาดูอาจจะไม่กระทบหรือกระทบก็ได้ ดังนั้นอย่าปักใจว่าจับไต๋ได้ว่าจะยืดเลือกตั้งแน่ รอฟังก่อนว่าจะขยายเวลาเท่าไหร่หรือไม่ เพราะอะไร หากเหตุผลฟังไม่ขึ้น ก็คงต้องติติง แต่ถ้าเหตุผลฟังขึ้น ก็ต้องปล่อยกันไป เรื่องนี้ไม่มีการหารืออะไรมาที่รัฐบาล นายกฯ ยังเปรยกับตนถึงเรื่องนี้ ตนตอบได้เพียงว่ายังไม่ทราบรายละเอียด และเรื่องนี้เราคงใช้วิป สนช.เป็นช่องทางสื่อ
    เมื่อซักว่า รัฐบาลควรมีสัญญาณหรือดักคอ สนช.ว่าไม่ควรเลื่อนโรดแมปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขอไม่ตอบ เพราะไม่รู้ว่าควรหรือไม่ และจะทำอย่างไร หากทำคงไม่บอกให้สื่อรู้ ส่วนรัฐบาลจะเบรก สนช.หรือไม่ ขณะนี้ตนตอบไม่ถูก เมื่อชัดเจนอาจจะตอบได้
    “มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ถ้าถามว่ามีโอกาสคลาดเคลื่อนไปหรือไม่ ก็ตอบว่ามีโอกาส แต่ไม่ได้แปลว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ สื่อลองนับนิ้วดู แต่ผมไม่สมควรพูด” นายวิษณุกล่าวเมื่อถามว่า ณ วันนี้ โรดแมปการเลือกตั้งยังจะมีในเดือน พ.ย.61 ตามที่นายกฯ เคยบอกหรือไม่ 
ถามผู้เกี่ยวข้องหรือยัง
     ด้ายนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า การขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายต้องมีเหตุผล ซึ่งตามประเพณีปฏิบัติกฎหมายส่วนใหญ่จะมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่กฎหมายบางฉบับที่อาจกำหนดระยะเวลาให้มีผลใช้บังคับในอนาคตได้ เช่น อีก 90 วัน อีก 180 วันข้างหน้า ซึ่งอาจจะมาจากความจำเป็นหรือความไม่พร้อมของส่วนต่างๆ ส่วนที่จะมีการกำหนดให้มีผลบังคับใช้ทอดออกไป ก็ต้องดูว่า สนช.ใช้เหตุผลอะไร หากบอกว่าพรรคการเมืองไม่พร้อม เตรียมการไม่ทัน สนช.ได้ถามพรรคการเมืองหรือยัง เขาอาจจะบอกว่ามีเวลาจำกัดก็จริง แต่เขาสามารถทำทัน และถามมายัง กกต.หรือยัง เพราะถ้าถามมาที่ตนก็จะบอกว่ากฎหมายเขียนมาอย่างไร ในฐานะฝ่ายปฏิบัติเราก็ทำได้
    "สนช.ได้ถามประชาชนหรือยังว่าอยากจะเลือกตั้งหรือยัง ไม่ใช่มโนคิดกันไปเอง และหากเป็นเรื่องนโยบายว่ารัฐบาลและ คสช.ยังเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะให้มีการเลือกตั้ง สนช.ก็ควรทำหนังสือสอบถามหรือยืนยันจากครม.หรือ คสช.ถึงนโยบายดังกล่าว สนช.จะได้ไม่เป็นแพะต่อสังคม และคงได้รับการประทับตราโบดำอีกครั้ง หลังจากที่ผ่านกฎหมายหลายฉบับที่ไร้มาตรฐานเช่น กรณีเซตซีโร กกต. กสม. แต่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อจนครบวาระ และยังให้ ป.ป.ช.อยู่ต่อจนครบวาระได้แม้ขาดคุณสมบัติ และมีประธาน ป.ป.ช.ที่มีคุณสมบัติต้องห้าม หรือแม้กระทั่งการละเลยที่จะตรวจสอบผู้ผ่านการคัดเลือกจากสายศาลที่ไม่มีการลงคะแนนโดยเปิดเผย ซึ่งขัดกับ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. น่าอับอายจริงๆ" นายสมชัยกล่าว
    นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถ้าทำจริงตามข่าว อาจส่งผลให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป แต่ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่าทำทำไม ประเทศได้ประโยชน์อย่างไร นักการเมืองไม่ได้เดือดร้อนว่าจะเลือกตั้งช้าไปสองสามเดือน ถ้ามีชุดคำอธิบายที่ดีพอ แต่ตนไม่อยากให้ความน่าเชื่อถือของท่านนายกฯ ที่ประกาศว่าจะให้มีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.2561 ได้รับผลกระทบ เพราะจะทำให้การทำงานยากขึ้น และมันจะลามไปยังความน่าเชื่อถือของประเทศ เพราะเคยมีการตกลงในคำแถลงการณ์ร่วมที่ทำกับฝ่ายสหรัฐอเมริกา และต่อมาสหภาพยุโรปก็ยึดเอาคำพูดของท่านนายกฯ ที่จะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.2561 จนยอมที่จะติดต่อทางการเมืองกับไทยอีกครั้ง นอกจากนั้นนักธุรกิจนักลงทุนไทยก็เห็นว่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งย่อมเป็นปัจจัยลบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ 
    "จึงอยากให้ สนช.และรัฐบาลคิดให้ถี่ถ้วน และเห็นแก่ประเทศ ให้โอกาสประเทศที่จะเดินหน้าตามครรลอง และอย่าประเมินสติปัญญาของคนไทยที่รู้เท่าทันความพยายามเช่นนี้ต่ำเกินไป ไม่อยากเห็นความขัดแย้งรอบใหม่ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความปรองดอง แต่คิดว่ายังมีสมาชิก สนช.ที่มีจิตสำนึก ไม่เห็นแก่ประโยชน์ทางการเมือง และไม่สร้างภาระให้ประเทศ” นายนพดล กล่าว
    นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุชัดเจนจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.61 ทุกฝ่ายต่างให้เกียรติในคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ เฝ้ารอการเลือกตั้งช่วงปลายปี ที่จะทำให้อะไรต่างๆ ในประเทศดีขึ้น เช่น เรื่องเศรษฐกิจที่ตอนนี้ย่ำแย่ ประชาชนก็คาดหวังว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วปัญหาเศรษฐกิจจะมีคนเข้ามาขับเคลื่อนให้ดีขึ้น แต่อยู่ๆก็มีกระแสข่าวกรรมาธิการ สนช. ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำ 5 สายเตรียมใช้ช่องกฎหมายเพื่อเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งที่ นายกฯ พูดไว้ออกไปเป็นต้นปี 62 เหมือนไม่ให้ความสำคัญกับคำพูดดังกล่าว และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ต่อไปใครจะให้น้ำหนักคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์อีก เรื่องนี้คนในแม่น้ำ 5 สายต้องคุยกัน เพราะการทำเช่นนี้เป็นการหักหน้าผู้นำประเทศ และจะทำให้กลายเป็นตัวตลก เป็นเหมือนเด็กเลี้ยงแกะ ที่จะไม่มีใครให้น้ำหนักในคำพูดของท่านอีก        
บิดเบือนเจตนารมณ์ รธน.
     นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นกันว่า หากมีการขยับโรดแมปเลือกตั้งจาก พ.ย.61 ออกไป จะกระทบความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและต่างประเทศอย่างรุนแรง ถือเป็นการทำลายความมั่นคงของประเทศทั้ง 2 ด้าน ผู้ที่มีส่วนขยับโรดแมปดังกล่าวต้องรับผิดชอบหรือไม่ ขอให้วิญญูชนช่วยพิจารณา จากรายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีซี ซึ่งได้รายงานข่าวไปทั่วโลกเมื่อ 10 ต.ค.60 สรุป พล.อ.ประยุทธ์ได้แถลงว่า หลังจาก พ.ร.ป.พรรคการเมืองมีผลใช้บังคับ คสช.จะพิจารณาเวลาจัดทำกิจกรรมพรรคการเมืองเพื่อผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองต่อไป ไม่ต้องการถ่วงเวลาใดๆ ทั้งสิ้น....โดยในเดือน มิ.ย.61 จะประกาศวันเลือกตั้ง ส่วนในเดือน พ.ย.61 จะให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป..."
    นายชวลิตกล่าวอีกว่า จะมีการเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้งออกไปหรือไม่ ซึ่งคงจะเป็นการซื้อใจหรือวัดใจกันว่าผู้มีหน้าที่ในบ้านเมืองจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง หรือจะรักษาความมั่นคงของประเทศด้วยการสร้างความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศในการทำตามสัญญา 
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า การหน่วงเวลาบังคับใช้กฎหมายส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษี เพื่อให้หน่วยงานราชการหรือประชาชนปรับตัวเข้ากับระบบภาษีใหม่ คราวนี้เป็นการหน่วงเวลาเพื่อยืดการเลือกตั้ง เท่าที่จำได้ไม่เคยปรากฏเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน เหมือนกับการบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้เลือกตั้งใน 150 วัน หลังกฎหมายใช้บังคับหากเราย้อนเวลาหาอดีต การบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดวิกฤติในประเทศเกือบทุกครั้ง ก่อนนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยพยายามแก้รัฐธรรมนูญก็เกิดวิกฤติ เพราะประชาชนเห็นว่าบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาครั้งนี้ การหน่วงเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ก็เท่ากับบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เพียงแต่ครั้งที่แล้วเป็นการบิดเบือนโดยผู้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ครั้งนี้โดยผู้มาจากเผด็จการ
    ขณะที่นายภราดร ปริศนานันทกุล พร้อมด้วยนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล และนายศิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา กลุ่มนิวบลัดหรือแกนนำรุ่นใหม่ของพรรค แถลงถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ โดยนายภราดรกล่าวถึงกระแสข่าวที่จะมีการยืดระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ออกไป 90 วัน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองที่จะตั้งใหม่ว่า ตามหลักกฎหมายสามารถทำได้ แต่เบื้องต้นยังไม่มีความชัดเจนว่ากรรมาธิการฯ จะแก้ไขตามกระแสข่าวหรือไม่ แต่การออกมาให้ข่าวเช่นนี้ จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อนายกรัฐมนตรี เนื่องจากนายกฯ ได้ประกาศว่าจะเดินหน้าเลือกตั้งตามโรดแมป เพราะหากมีการขยายระยะเวลาจริง ก็จะต้องทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก 90 วัน 
    ด้านนายกรวีร์กล่าวว่า หากวันเลือกตั้งมีความชัดเจนตามโรดแมป และกติกาที่เป็นไปอย่างเป็นธรรม ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ทุกพรรคการเมืองย่อมยอมรับได้ แต่ขอให้กรรมาธิการฯ ที่พิจารณากฎหมายดังกล่าว อย่ามองว่าพรรคการเมืองเป็นปฏิปักษ์ ขอให้รับฟังความเห็นผู้ที่จะต้องเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎหมายด้วย ไม่เช่นนั้นนักการเมืองจะรู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้ง เสียประโยชน์ ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต
เคาะที่มา สว.15 กลุ่ม
    ขณะเดียวกัน พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ โฆษก กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. แถลงว่า ที่ประชุม กมธ.ได้แบ่งกลุ่มและกระบวนการเลือก ส.ว. ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้การแบ่งกลุ่มผู้สมัคร ส.ว.จาก 20 กลุ่ม เหลือ 15 กลุ่ม โดยเป็นการควบรวมกลุ่ม ไม่ได้ตัดกลุ่มใดออก และปรับเปลี่ยนวิธีการเลือกในมาตรา 40-42 ยกเลิกระบบการเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มให้เป็นการเลือกกันเองโดยตรง และยังคงวิธีการเดิมคือ ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ซึ่งมี กมธ.เสียงข้างน้อยที่เป็นตัวแทนจาก กรธ. ได้เสนอวิธีการป้องกันการฮั้ว กำหนดให้กลุ่มอาชีพใดที่มีผู้สมัครไม่ได้รับคะแนนเสียงสักคะแนนเดียวเกิน 10% เช่น ในกลุ่ม ก. มีผู้สมัคร 30 คน แล้วมี 3 คนไม่ได้คะแนนเลย ให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือกครั้งนี้ ให้ถือว่าไม่สุจริตและไม่เป็นธรรม ให้ผู้อำนวยการจัดการเลือกตั้งต้องจัดให้ผู้สมัครที่เหลือในกลุ่มนั้นเลือกกันเองใหม่ โดยผู้ที่ไม่ได้รับคะแนนเลือกนั้น หมดสิทธิ์ที่จะเลือกและได้รับเลือก  
    เมื่อถามว่า การปรับลดเหลือ 15 กลุ่ม จะทำให้ได้ส.ว.ครบ 200 คนได้อย่างไร พล.ร.อ.ธราธรกล่าวว่า ทั้ง 15 กลุ่มเมื่อเลือกแล้วจะได้ ส.ว.กลุ่มละ 13 คน รวมแล้ว 15 กลุ่มจะได้ 195 คน ที่ประชุมจึงให้พิจารณากลุ่มที่มีผู้สมัครมากที่สุดเรียงลำดับ 1-5 จะได้เพิ่มอีกกลุ่มละ 1 คน ซึ่งจะเป็นการกระจาย ส.ว.ในแต่ละกลุ่มอาชีพ ก็จะได้ ส.ว.ครบ 200 คน จากนั้นส่งให้ กกต.ประกาศผลต่อไป ทั้งนี้ ในวันที่ 23 ม.ค. ทาง กมธ.จะมีการประชุมสรุปก่อนส่งร่างฯ ให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาในวันที่ 26 ม.ค.
    ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ทุกอย่างจะมีข้อดีข้อเสีย แต่ตนไม่ได้เกี่ยวข้องในกรณีนี้อย่างใกล้ชิด จึงนึกไม่ออกว่าต้องทำอย่างไร แต่คิดว่าต้องระวังกรอบในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เขียนไว้ว่าอย่างไรในบทเฉพาะกาล เพราะต่อไปถ้าบทเฉพาะกาลหมด จะต้องไปสู่ระบบการเลือก แต่ว่าช่วงบทเฉพาะกาลได้แบ่ง ส.ว.200 คน กับ 50 คน ซึ่งวันนี้จะมีปัญหาตรงที่ 50 คน ไม่ได้มีปัญหาตรงที่ 200 คน 
     วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เขียนเอกสารด้วยลายมือแจกให้ ครม.เมื่อ 16 ม.ค. ระบุว่ามีกลุ่มการเมืองและสื่อพยายามจะล้มรัฐบาล และ คสช.ว่า "ดูอยู่แล้ว" ต่อมาเมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่ากลุ่มการเมืองที่จ้องล้มรัฐบาลคือกลุ่มใด พล.อ.ประวิตรไม่ตอบคำถามดังกล่าว ก่อนเดินเลี่ยงกลุ่มสื่อมวลชนและขึ้นรถออกจากทำเนียบรัฐบาลทันที.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"