คืบหน้ารัฐบาลดิจิทัล


เพิ่มเพื่อน    

      ขอมาอัพเดตความก้าวหน้าของประเทศไทยซะหน่อย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2018 ที่จัดขึ้นโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) พบว่า มีเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับ "รัฐบาลดิจิทัล" ที่มี ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) มาเป็นผู้ถ่ายทอดนั้น เนื้อหาที่ได้ฟังนั้นมีความน่าสนใจมาก

        เพราะว่าสิ่งที่ ดร.ศักดิ์กับทีมงาน DGA กำลังดำเนินการอยู่นั้น เรียกได้ว่ามันคือการพลิกโฉมบริการภาครัฐครั้งใหญ่เลยทีเดียว และที่สำคัญมันเกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคน ในฐานะผู้ใช้บริการ 

        เรื่องแรก คือ เรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ เชื่อว่าบางท่านทราบแล้ว บางท่านยังไม่ทราบ ก็คือว่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 เป็นต้นไป ทางรัฐบาลจะยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ในการติดต่อราชการ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล

        นอกจากการยกเลิกสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนแล้ว ทาง DGA ก็มีไทม์ไลน์การทำงานชัด ก็คือ เดือน ต.ค.2561 เริ่มยกเลิกสำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล และเดือน ม.ค.2562 เปิดใช้ระบบ Citizen Feedback ให้ประชาชนประเมินความพึงพอใจในการใช้บริการ แสดงความคิดเห็นและข้อร้องเรียน เป็นต้น

        งานนี้ทาง ดร.ศักดิ์ บอกกล่าวเลยว่า หากประชาชนคนไทยไปใช้บริการ แล้วยังมีหน่วยราชการขอสำเนาเอกสารแบบนี้อยู่ ให้รีบมาฟ้องได้เลย เพราะทำแอปไว้รองรับข้อร้องเรียนอยู่แล้ว 

        ภารกิจของ "DGA" นับว่ามีความสำคัญมาก เพราะในเวลานี้เรื่องของรัฐบาลดิจิทัลมันกลายเป็นสิ่งที่ต้องกระทำแล้ว โดยในเวลานี้หลายประเทศในยุโรป หรือแม้กระทั่งเพื่อนบ้านของเราอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็พยายามผลักดัน บริการดิจิทัลของภาครัฐ ให้ออกมามากที่สุด

        ที่สำคัญเรื่องบริการภาครัฐก็ถูกจัดเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการจัดลำดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย   หากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆ ประเทศไทยของเราก็จะถูกเหยียบหัวข้ามไปเรื่อยๆ

        นี่เองจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจากการไปค้นข้อมูลพบว่า  "DGA" ได้ร่างโรดแมป หรือ DGA Milestone ใน 1-2 ปีข้างหน้าไว้ชัดเจนมาก แบ่งได้เป็น 7 ภารกิจ 1.ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทะเบียนข้อมูลดิจิทัลภาครัฐ  (โครงการลดการขอสำเนาเอกสารราชการ) 2.ระบบบริการดิจิทัลภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ 3.ศูนย์ข้อมูลกลางภาครัฐ 4.ศูนย์ข้อมูลเปิดภาครัฐ และกรอบการกำกับดูแลข้อมูล 5.ระบบติดต่อสื่อสารภาครัฐ 6.การป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลภาครัฐ 7.โปรแกรมการเปลี่ยนผ่านบริการภาครัฐสู่ยุคดิจิทัล

        ดร.ศักดิ์เล่าว่า งานใหญ่ของ "DGA" คือการ "เปิดข้อมูลภาครัฐ" ซึ่งจะต้องมีการบูรณการข้อมูลทั้งหมด จากทุกหน่วยงาน มาสร้างเป็นระบบเปิด เพื่อให้เกิดการต่อยอด และนำไปใช้สร้างประโยชน์ทางธุรกิจต่อ ยกตัวอย่าง สิ่งที่จะต้องทำ คือ การเปิดเผยสัญญาจัดซื้อ จัดจ้าง ของราชการทั้งหมด ให้สาธารณชนรับทราบ จากนี้จะไม่มีอีกแล้ว การมุบมิดทำ ซึ่ง การทำแบบนี้ จะช่วยให้เกิดความโปร่งใส และลดปัญหาการคอร์รัปชันไปได้มากเลยทีเดียว

        "จากนี้ไม่มีอีกแล้ว ปรินต์สัญญาแปะไว้หน้าหน่วยงาน ซึ่งไม่มีใครมาเห็น จากนี้ทุกสัญญาโครงการภาครัฐจะต้องถูกเผยแพร่ออกบนสื่อออนไลน์สาธารณะ ซึ่งยืนยันข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ความลับ สิ่งที่ความลับทางราชการ มีแค่เรื่องความมั่นคงและข้อมูลส่วนตัวประชาชนเท่านั้น"

        หน้าที่ของภาครัฐในเวลานี้ คือ การเปิดเผยข้อมูล และต้องเป็นระบบเปิดที่ภาคเอกชนสามารถเข้ามาใช้ข้อมูลของภาครัฐได้โดยง่าย มันหมดยุคแล้วที่ภาครัฐจะเสียเงินทำแอปพลิเคชันให้ประชาชนใช้ ตอนนี้ภาครัฐมีแอปพลิเคชันให้บริการประชาชนกว่า 300 แอป แต่ถามว่ามีประชาชนที่ไหนใช้บ้าง?? คำตอบไม่มี หรือมีก็น้อยมาก

      โดยส่วนตัวเชื่อว่าการเปิดข้อมูล ภาครัฐ และให้เอกชน หรือสตาร์ทอัพไปใช้ประโยชน์จะส่งผลดีต่อประเทศมากกว่า ซึ่งปัจจุบันข้อมูลของรัฐ อย่างสภาพอากาศ การจราจร ข้อมูลที่ดิน ข้อมูลการขออนุญาตก่อสร้าง ข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ถ้านำไปใช้ถูกต้องจะส่งผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจมหาศาล และที่สำคัญมีแต่คนอยากรู้ข้อมูลเหล่านี้ด้วย.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"